ปราบโกงยุคดิจิทัล คืนอำนาจ “ประชาชน” ร่วมตรวจสอบ

แม้ทุกรัฐบาลจะมี “นโยบายปราบโกง” แต่ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) กลับไม่ได้ดีขึ้น

มาถึงวันนี้เรายังมี “กลโกงรูปแบบใหม่” ท้าทายภารกิจ “ปราบ-ปราม-ป้องกัน-ทุจริต-คอร์รัปชัน” ที่อาจต้องอาศัย “มือปราบจากภาคประชาชน” ร่วมกันตรวจสอบมากขึ้น

ส่วนต่างของเงินที่เกิดจากปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เป็นจำนวนเงินที่รวมกันแล้วเทียบได้กับงบประมาณของหลายกระทรวงฯ ใช้เพื่อพัฒนาประเทศไทย โดยข้อมูลเฉพาะปีล่าสุด (ปี 2565) ของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. รายงานตัวเลขที่ ป.ป.ช. สามารถป้องกันทุจริตคอร์รัปชัน ได้อยู่ที่ 40,483.10 ล้านบาท ครอบคลุมภาคกิจด้านการปราบปราม, ตรวจสอบทรัพย์สิน, และการป้องกันเฝ้าระวังการทุจริต ซึ่งนี่ยังไม่นับรวมการทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบอื่น ที่อยู่นอกเหนือการตรวจสอบจาก ป.ป.ช. สะท้อน ความเสียหายมูลค่ามหาศาลจากการโกง ซึ่งไม่รู้ว่าตกอยู่ในมือของใคร และไม่สามารถตรวจสอบได้

ภาพ : องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย

แม้ทุกรัฐบาลจะมีนโยบายปราบโกง แต่ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI)ไม่ได้ดีขึ้น แถมยังแนวโน้มแย่ลงจาก รูปแบบกลไกใหม่ ๆ ที่ตรวจสอบได้ยาก และ แนวโน้มการขยายตัวของการการทุจริตเชิงนโยบาย (การใช้อำนาจ และกฎหมายคอร์รัปชัน) กลายเป็นโจทย์ยากของรัฐบาลใหม่ที่ต้องเร่งเดินหน้าปฏิบัติการ “ปราบโกง-ปรามทุจริต-ป้องกันการคอร์รัปชัน” อย่างจริงจัง

ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี 2565
ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ให้คะแนนประเทศไทย 36 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1 คะแนน แต่ก็ยังอยู่ใน อันดับที่ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก สถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยไม่ได้ดีขึ้นมากนัก

ขณะที่ หน่วยงานที่ตรวจสอบความผิดปกติของภาครัฐ อย่างหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ก็ยังถูกตั้งคำถามถึงการตรวจสอบ เช่น กรณีล่าสุด ที่ศาลปกครองสูงสุด ชี้ขาดให้ ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลคดีนาฬิกายืมเพื่อนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อความโปร่งใส แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่การเปิดตัวเลขที่ชัดเจน กลายเป็นคำถามสำคัญถึงการปราบโกงในยุคดิจิทัล ที่ไม่อาจพึ่งพาหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งได้เพียงอย่างเดียว ยังต้องเพิ่มอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลให้กับภาคประชาชนมากขึ้นในยุคที่กลโกงเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โกงแอนะล็อก สู่โกงดิจิทัล

แม้จะยังไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ ส.ส. ของพรรคก้าวไกล หลายคนก็ออกมาวาดลวดลายตรวจสอบกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่ออกมาเปิดโปงการเก็บ “ส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก” ที่ใช้รูปแบบของสติ๊กเกอร์ติดบริเวณรถ เป็นสัญลักษณ์ให้รับทราบทั่วกันว่าจ่ายส่วย และผ่านด่านได้ มูลค่าตั้งแต่ 3 พันบาทถึงเกือบ 3 หมื่นบาท ตัวเงินหมุนเวียนในกระบวนการที่ผิดกฎหมายปีหนึ่งหลักหมื่นล้านบาท ประเด็นนี้มีผลโพลสำรวจแรงจูงใจคนขับรถบรรทุก พบว่า มากกว่า 70% ที่ยินดีจ่าย เพราะลดต้นทุน

“ส่วยบ่อนออนไลน์” ถูกเปิดเผยออกมาพร้อมวลี “เป้รักผู้การเท่าไร” เรื่องนี้เรื่องใหญ่ทั้งความอุกอาจ ตัวเงิน และผู้เกี่ยวข้อง เพราะมีนายตำรวจระดับผู้การจังหวัดถูกกล่าวหาในคดีนี้ เป็นรูปแบบของการเรียกรับเงินจากธุรกิจพนันผิดกฎหมาย มูลค่ารวม 140 ล้านบาท

“ส่วยตำรวจ” อย่างข่าวการเลื่อนยศของตำรวจหญิง จาก สิบตำรวจตรี เป็นร้อยตำรวจเอก ในระยะเวลาที่ถูกวิจารณ์ว่า เร็วมาก ระดับผู้บังคับบัญชาและเจ้าตัวก็ออกมาชี้แจงว่า เลื่อนยศตามกติกาจริง ตรวจสอบได้ ไม่มีวาระซ่อนเร้น แต่เรื่องนี้เหมือนเป็นสารตั้งต้นให้ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะ รังสิมันต์ โรม ฉายามือปราบตั๋วช้าง เข้าไปขุดคุ้ย จนเจ้าตัวอ้างว่า มีการใช้ประโยชน์ในลักษณะเส้นสายและมอบเงิน เพื่อแลกกับการเลื่อนตำแหน่ง รังสิมันต์ ไม่ได้กล่าวถึงตำรวจหญิงที่เป็นข่าว แต่พูดในภาพรวมว่ามีจริง จึงจะตรวจสอบเพิ่ม

“ส่วยกล้วยทอด” อีกประเด็นที่สร้างความฮือฮาให้กับแวดวงตำรวจ คือการเก็บส่วยร้านกล้วยทอด ของ ตำรวจชั้นประทวน ยศสิบตำรวจโท และ สิบตำรวจเอก ในพื้นที่ จ.นนทบุรี โดยผู้เสียหายคือแรงงานข้ามชาติ ที่ขายกล้วยทอดอยู่ในพื้นที่ของเธอเอง แม้คดีนี้จะเดินหน้าเอาผิดตำรวจชั้นผู้น้อยไปแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีอีกหลายกรณี ที่ไม่ได้เป็นข่าว และสาวไปไม่ถึงตัวการใหญ่ของการทุจริตคอร์รัปชัน

สอดคล้องกับ รายงานสถานการณ์ทุจริตประเทศไทย ฉบับล่าสุดของ ป.ป.ช. พบว่า ข้อเรียกร้อง หรือคำกล่าวหาที่ส่งมาถึงระบบการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ตั้งแต่ปี 2562-2565 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคำกล่าวหาที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ การปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ประเด็นการจัดซื้อจัดจ้าง, การยักยอก เบียดบังทรัพย์สินราชการ, การบริหารบุคคล กรณี บรรจุ แต่งต้ง โยกย้าย, ทุจริตการจัดทำงบฯ โครงการต่าง ๆ

ป.ป.ช. เดินหน้าต้านโกงยุคดิจิทัล

การปราบปราม ป้องกันทุจริตจะทำแบบเก่า แบบแอนะล็อก ไม่ได้แล้วต้องทำแบบดิจิทัลมีการสร้างระบบ เพิ่มเทคโนโลยี และเพิ่มอำนาจการตรวจสอบให้กับประชาชน  อุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุ ป.ป.ช. และได้ข้อมูลมาว่า ตอนนี้ ป.ป.ช. กำลังเดินหน้าตั้งศูนย์ CDC การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน มิติใหม่ ด้วยงานบูรณาการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียแก้ปัญหาทุจริตเชิงรุกอย่างเป็นระบบ ภายใต้หลักการ “ร้องเรียนวันนี้ พรุ่งนี้ตรวจสอบทันที”

ภาพรวมของปีงบประมาณ 2565 มีคำร้องเข้ามาที่ ป.ป.ช. มากเกือบ 1 หมื่นเรื่อง  (9,762 เรื่อง)  

  • ป.ป.ช.รับเรื่องไว้ดำเนินการเอง 4,234 เรื่อง คิดเป็นวงเงิน 9 พันล้านบาท
  • ส่งต่อหน่วยงานอื่น 2,810 เรื่อง
  • และยังมีอีกหลายคดีที่อยู่นอกเหนืออำนาจ ป.ป.ช.

สะท้อนว่าหลายคดี ต้องอาศัยหน่วยงานอื่น ๆ ช่วยกันตรวจสอบทุจริตร่วมด้วยช่วยกัน โดยในรายงานของ ป.ป.ช. ระบุว่า มูลค่าการป้องกันทุจริตคอร์รัปชัน ที่เกิดจากการดำเนินงานของ ป.ป.ช. ปี 2565  คิดเป็นมูลค่า 40,483.10 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • ภารกิจปราบปรามทุจริต
  • ภารกิจด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน มีมูลค่าที่ตกเป็นของแผ่นดิน, กรณีตรวจสอบคนร่ำรวยผิดปกติ
  • ภารกิจด้านการป้องกันทุจริต วงเงินที่เฝ้าระวังทุจริต

ที่มา : สถานการณ์การทุจริตประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ 2565 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.

เพิ่ม “อำนาจประชาชน” ร่วมต้านโกง

แต่รูปแบบของการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ได้มีแค่เก็บส่วย ขูดรีด เรียกรับเงิน กลโกงแบบเก่าก็ยังอยู่ไม่หายไปไหน ขณะที่ ในยุคดิจิทัลแบบนี้กลโกงเหล่านี้จะน่ากลัวมากขึ้น เช่น ก๊วนอาชญากรรมทางการเมืองไทย อย่างทุนจีนสีเทา, ก๊วนยาเสพติด มีลักษณะข้ามพรมแดนมากขึ้น, หน่วยงานราชการเขาก็จะใช้พื้นที่ออนไลน์ในการทำธุรกรรม กันมากขึ้น เอื้อให้การตรวจสอบยากขึ้น, การหลบหนีภาษี เห็นได้จาก เอกสารหลุด “ปานามา เปเปอร์” ช่วงปี 2559 ซึ่งตอนนั้นก็มีการอ้างถึง คนไทยที่เชื่อมโยงกับการฟอกเงิน และเลี่ยงภาษี

สฤณี อาชวนันกุล นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการฟอกเงิน, อาชญากรรมข้ามชาติ องค์การระหว่างประเทศ แนะนำให้ปรับปรุงระบบการตรวจสอบให้สามารถเอาผิด “สถาบันตัวกลาง” ที่ไม่ใช่ธนาคาร รวมถึง คนที่ร่วมกระทำความผิด เช่น ทนายความบริษัททำบัญชี ผู้สอบบัญชีที่มีส่วนช่วยเหลือผู้กระทำผิด เพราะที่ผ่านมาพอเอาผิดกับใครไม่ได้ ก็เป็นตัวอย่างให้เกิดการทำผิดซ้ำและตรวจสอบยากมากขึ้น โดยมี 5 ประเด็นหลักที่ควรเน้นย้ำเพื่อลดปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน

  • เพิ่มความโปร่งใส สฤณี ยังได้อ้างถึงหลักการลดทุจริตคอร์รัปชัน ที่ต้องลดอำนาจการผูกขาด และลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน แต่เพิ่มความโปร่งใส ตามสูตร “ทุจริตคอร์รัปชัน = อำนาจผูกขาด + ดุลยพินิจ – ความโปร่งใส” โดยมีการประเมินว่า หากองค์กรใดไม่สนใจสร้างกลไกความโปร่งใส องค์กรนั้นก็จะเสี่ยงทุจริตมากขึ้น
  • เทคโนโลยีลดการใช้ดุลยพินิจ ตัวเครื่องมือที่ใช้ ก็ควรมีความเสถียร อย่าง AI ก็ควรตรวจจับเฝ้าระวังได้อย่างแม่นยำไม่บิดเบือน เพราะด้านหนึ่งถ้าเครื่องมือมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยลดเออเร่อ จากคน โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เช่น ในต่างประเทศ คอร์รัปชันน้อยลงได้เขาใช้วิธีการทำ Smart contract หรือ เขียนสัญญาข้อตกลงทั้ง 2 ฝ่าย ด้วยคอมพิวเตอร์ ถ้ามีกรณีไหนผิดเงื่อนไขก็จะถูกส่งไปในระบบของศาลทันที แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ทำได้แบบนี้ ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ก็อาจจะต้องใช้ แต่ถ้าลดลงได้ก็จะเพิ่มโอกาสลดคอร์รัปชัน
  • จับตาการใช้อำนาจ กฎหมาย หรือ การคอร์รัปชัน-เชิงนโยบาย มีหลายกรณีที่นักวิชาการใช้คำว่า การทุจริตยกระดับเป็น abuse of power หรือการใช้อำนาจโดยมิชอบ ใช้อำนาจ หรือกฎหมายเพื่อรองรับพฤติกรรมบางที่ทุจริต หรือ ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ และประเมินกันว่าการทุจริตเชิงนโยบายจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
  • กระจายอำนาจการตรวจสอบให้กับประชาชน การกระจายอำนาจที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นเหมือนดาบ 2 คม ด้านหนึ่งในระดับท้องถิ่นมีการทุจริต คอร์รัปชันมากอยู่แล้ว  ตรวจสอบได้บ้างไม่ได้บ้าง แม้ภาครัฐจะพยายามทำข้อมูลเปิด หรือ Open data แต่บางข้อมูลก็หยิบมาใช้ต่อยอดยาก ไม่อัปเดต ดังนั้น การกระจายอำนาจต้องไม่เน้นแค่การกระจายไปที่รัฐ หรือ องค์กรส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ต้องกระจายไปให้ประชาชนร่วมตรวจสอบถ่วงดุลด้วย จึงจะตอบโจทย์การแก้ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน ได้จริง

คอร์รัปชัน มีแนวโน้มซับซ้อนและสาหัสมากขึ้น เราต้องพึ่งพาประชาชน ทำอย่างไรให้เขามีแรงจูงใจอยากเข้ามาช่วยรายงาน เฝ้าระวังและป้องปราม

การเพิ่มพลังพลเมืองมี 3 เรื่องที่ทำได้เลย คือ เพิ่มกลไกคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส, เพิ่มกลไกความโปร่งใส, เพิ่มอำนาจประชาชนตั้งแต่ต้นทางในการจัดการงบประมาณ เพราะหากประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น จะเพิ่มแรงจูงใจในการตรวจสอบงบประมาณมากขึ้น…”

สฤณี อาชวนันกุล นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน

ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีข้อเสนอให้ ลดกำแพงภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่น เข้าถึงการชี้แจงเบาะแสได้ง่าย และปลอดภัย เพราะที่ผ่านมาสังคมถามถึงการมีกฎหมาย มาตรการคุ้มครองบุคคล ที่ออกมาเปิดโปง เพื่อไม่ให้บุคคลนั้น ถูกฟ้องคดีปิดปาก (SLAPP LAW) ในลักษณะการใช้กระบวนการยุติธรรม เป็นเครื่องมือในการฟ้องคดี เพื่อให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ และปกป้องผลประโยชน์สาธารณะได้มากขึ้น

สอดคล้องกับ มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย ที่มองว่า ประเทศไทยมีกฎหมายมากมาย แต่มีปัญหาเรื่องการบังคับ และหน่วยงานที่ใช้กฎหมายก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้อย่างไม่เป็นธรรมและทั่วถึง โดยมองว่าหัวใจหลักการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน 2 ประเด็นที่ไทยยังทำได้ไม่ดี คือ การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ ที่ตอนนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับสากล และการร้องเรียนข้อมูลทุจริตจากภาคประชาชนที่ยังไม่ได้รับการปกป้องเท่าที่ควร

ขณะที่ ภาคประชาชน ไม่ได้รอภาครัฐ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องผ่านเว็บไซต์ ACT AI เป็นการรวบรวมข้อมูลการจัดการภาครัฐย้อนหลัง 8 ปี ทั้งหมดกว่า 2 ล้านรายการ ให้ทุกภาคส่วนตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง โดยยกตัวอย่างการจับโกง งบโควิด19 ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่างบประมาณแต่ละส่วนในการจัดการโควิด19 เป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ ล่าสุดยังมีเว็บไซต์ที่ทุกภาคส่วนใช้ตรวจสอบได้เพิ่มเติม อาทิ

  • เว็บไซต์เครือข่ายความสัมพันธ์ เชื่อมโยงข้อมูลบุคคลที่ประมูลงานกับภาครัฐ เป็นใคร และมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองหรือไม่
  • เว็บไซต์ ACT AI ประวัตินักการเมือง 
  • เว็บไซต์ ACT AI จับโกงงบฯ อบต.
  • เว็บไซต์ งบฯโรงเรียนโปร่งใส เพื่อตรวจสอบงบประมาณต่างๆของโรงเรียนทั่วประเทศ ฯลฯ 

โดยเว็บไซต์ทั้งหมดนี้สามารถใช้งานได้แล้ว และทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันไทย ก็เตรียมจะประชาสัมพันธ์การใช้งานในอนาคต เพื่อให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบ

UNDP ห่วงคอร์รัปชันไทย กระทบคนทุกกลุ่มในสังคม

วิสุทธิ์ ตันตินันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านขยายความร่วมมือ และพันธกิจ UNDP มองว่า การใช้ตัวชี้วัดที่วัดผลได้จริง มีความสำคัญ และต้องไม่ใช่ตัวชี้วัดที่บอกว่าคะแนนเท่าไหร่ รู้สึกคอร์รัปชันมากขึ้น หรือน้อยลงแค่ไหน แต่ต้องวัดได้เชิงลึกกว่านั้น เช่น คำถามว่า ประชาชนเคยโดนเรียกรับสินบน เก็บส่วยหรือไม่ เพื่อให้ตัวชี้วัดมีความชัดเจนมากขึ้น ที่ผ่านมาเคยมีการวัดความรู้สึกผ่าน ดัชนี ‘มาตรวัดคอร์รัปชันโลก’ (Global Corruption Barometer หรือ GCB) จัดทำโดยองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (TI) สำรวจความคิดเห็นประชาชนใน 180 ประเทศทั่วโลก ที่ไปสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันในแต่ละประเทศว่าพลเมืองมองปัญหามาตรฐานของรัฐ ที่ใช้จัดการคอร์รัปชันเป็นอย่างไร

ผลการแสดงความเห็นอย่างท่วมท้นกว่า 74% พลเมืองเอเชียมีความเห็นว่า การคอร์รัปชันของรัฐบาลคือปัญหาใหญ่ มีเพียง 24% ที่เห็นว่า การคอร์รัปชันของรัฐบาลไม่ใช่ปัญหา หรือเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย โดยประเทศที่มองว่า คอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ คือ อินโดนีเซีย, ไต้หวัน, มัลดีฟ, อินเดีย, ไทย

แบบสอบถามนี้โฟกัสมาที่ประเทศไทย ประชาชนมองว่า หลังจากการประท้วง เมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหารยุคปัจจุบันได้เข้ามามีอำนาจ โดยสัญญากับประชาชนว่า จะปราบปรามคอร์รัปชั่น แต่ประสบการณ์ที่ประชาชนไทยได้รับกลับแตกต่างออกไป จากแบบสำรวจในประเทศไทย พบว่า

71% ของประชาชนไทยไม่ไว้ใจรัฐบาล 

59% ไม่ไว้ใจ ตำรวจ 

และกว่า 40% ไม่ไว้ใจกระบวนการศาล

สอดคล้องกับความเห็นคนเอเชีย ที่ก็เรียงลำดับความไม่ไว้วางใจจากรัฐบาล มากที่สุด รองลงมาคือศาล และ ตำรวจ แต่ที่น่าสนใจ คือผลสำรวจ ที่ได้จาก “มาตรวัดคอร์รัปชันโลก” ในปี 2020 ครั้งล่าสุดที่สำรวจ ใน 17 ประเทศเอเชียเฉพาะของไทย เมื่อถามความรู้สึก ว่า คอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่หรือไม่ กลุ่มตัวอย่างคนไทย 88% มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ คราวนี้เมื่อแบบสำรวจลองตั้งคำถามที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่กลุ่มตัวอย่างพบเจอด้วยตัวเอง ว่า เคยติดสินบนให้กับการเข้าถึงบริการภาครัฐหรือไม่นั้น พบว่า มีถึง 24% ที่ตอบว่า “เคย” ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่มากเป็นอันดับ 5 ของประเทศในเอเชียที่ตอบแบบสำรวจนี้

ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญด้านการขยายความร่วมมือและพันธกิจ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ชี้ให้เห็นว่า แบบสำรวจล่าสุดนี้ กำลังสะท้อนว่า จากนี้ไป การมองปัญหาคอร์รัปชัน ไม่ควรมองเป็นประเด็นของภาครัฐ หรือ ภาคเอกชน เท่านั้น แต่คอร์รัปชัน คือ ตัวบ่นทำลาย และสร้างผลกระทบการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วไป เฉพาะอย่างยิ่งกับคนกลุ่มเปราะบาง

คงเป็นอีกโจทย์ท้าทายของรัฐบาลใหม่ เพราะเวลานี้ หลายฝ่ายฝากความหวังให้ระบบการตรวจสอบ และกลไกการทำงานของภาครัฐโปร่งใส โดยมีประชาชนเป็นหุ้นส่วนร่วมตรวจสอบ เพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาต่อโดยเงินทุกบาททุกสตางค์ถูกใช้อย่างคุ้มค่าเพื่อสังคมและประชาชนอย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน