ที่ผ่านมาครอบครัวไทยมีความแตกต่างกันในเชิงโครงสร้างมากขึ้น บางคนเกิดมาได้รับปกป้อง คุ้มครอง และสนับสนุนให้มีการเติบโตอย่างมีคุณภาพตามแบบฉบับครอบครัวไทย แต่พอเป็นกลุ่ม LGBTQIA+ ปัญหาที่พบคือ สังคมอาจไม่ยอมรับ และ ไม่มีกฎหมายรองรับในหลาย ๆ เรื่อง
Thailand Policy Lab หรือ ห้องปฏิบัติการนโยบายประเทศไทย ที่ก่อตั้งโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP), กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA Thailand) และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมผลักดันนโยบายครอบครัวหลากหลายจึงมีการจัดเสวนา ‘ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน’ และนิทรรศการ ‘ครอบครัวในฝันของคุณคือไอศกรีมรสอะไร’ เพื่อสะท้อนนิยามของครอบครัวที่หลากหลาย จุดเริ่มต้นและเส้นทางในการสร้างครอบครัวในนิยามของตัวเอง รวมถึงนโยบายและข้อกฎหมายที่ต้องผลักดันเพื่อสนับสนุนทุกเพศอัตลักษณ์ในการสร้างครอบครัว
เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า หากเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว เราสามารถมองเห็นความก้าวหน้าในประเทศไทยที่มีการขับเคลื่อนเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีส่วนที่ต้องพัฒนาต่อ โดยหวังว่าสิทธิในการสมรสเท่าเทียมจะเกิดขึ้นในประเทศไทยในเร็ว ๆ นี้
นอกจากนี้ กระบวนการและกิจกรรมที่จัดขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้ดำเนินการโดยมีความหวังว่าจะสามารถเปลี่ยนไปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อที่จะทำให้มันยั่งยืนขึ้น กระบวนการต่าง ๆ ไม่ใช่แค่เพื่อนำเสนอไอเดียและนโยบายใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นการกระทุ้งให้เห็นว่ากระบวนการเสนอนโยบายเป็นอย่างไร
“จุดสำคัญของกระบวนการนี้คือการทำให้มันครอบคลุมและมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงโดยการใช้เครื่องมือ เช่น การรับฟังเสียงของสังคม เพื่อสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วม และไม่ใช่แค่การนำนโยบายไปใช้ แต่รวมไปถึงการพูดคุยถึงปัญหา และออกแบบ ในเชิงนิยามของคำว่าครอบครัวด้วย”
สิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ภารกิจของ UNFPA คือการทำเรื่องของประชากร เน้นเรื่องของคุณภาพของคน ไม่ว่าจะเป็นเพศใด กลุ่มใด หรือวัยใดก็ตาม จะต้องได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริงทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ
“ครอบครัวไทยมีความแตกต่างกันในเชิงโครงสร้างเพราะเป็นครอบครัวเชิงเดี่ยวค่อนข้างมาก คือ ครอบครัวเล็ก มีลูกคนเดียวหรือไม่มีลูก ซึ่งเป็นทางเลือกและสิทธิของประชาชนเอง รวมถึงครอบครัวที่เป็น ชาย-ชาย หญิง-หญิง”
โครงสร้างประชากรมีอัตราการเกิดน้อยลง ขณะที่อัตราผู้สูงอายุยืนมากขึ้น จึงทำให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย ส่งผลถึงตลาดแรงงาน ที่คาดว่าทุก ๆ 10 ปี จะมีคนเข้าตลาดแรงงานลดลง 3 ล้านคน และจะทำให้ GDP ของประเทศ เสี่ยงลดลงตามไปด้วย แต่ถ้าหากประชากรมีคุณภาพ ก็มีโอกาสที่จะเป็นประเทศที่พัฒนาได้เช่นกัน เพราะการพัฒนาไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร แต่เป็นคุณภาพของประชากร
“สิ่งที่สำคัญของครอบครัวทุกประเภทก็คือความรัก ความอบอุ่นและความเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งปราศจากความรุนแรง ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ”
ขณะที่ นโยบายแผนพัฒนาประชากรระยะยาว โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้สูงวัยรวยก่อนตาย
ผู้สูงวัยต้องหาเลี้ยงตนเองได้ ผู้สูงวัยต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง ผู้สูงวัยมีคุณภาพของการใช้ชีวิตในสังคมที่ดี รวมไปถึงการใช้งานเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถสื่อสารและเข้ากับสังคมยุคสมัยใหม่ได้
นิยามของคำว่าครอบครัว แรงบันดาลใจ หรือจุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากมีครอบครัว LGBTQIA+
ซิลวี่ ภาวิดา มอริจจิ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ นักร้อง และ Spotify’s Thailand’s EQUAL Ambassador กล่าวว่า การให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก โดยครอบครัวควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย ปรึกษาได้ ไม่ใช่แค่ในเรื่องของเพศ แต่รวมไปถึงตัวตนของตนเอง หรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตัวเอง
คนที่เราควรจะหันไปหาได้คือครอบครัว อยู่กันเหมือนเพื่อน แต่ก็ต้องมีการปรับและพูดคุยเข้าหากัน ควรมีพื้นที่ที่เราสามารถเปิดใจคุยกันได้ทุกเรื่องจริง ๆ และรับฟังซึ่งกันและกัน ไม่ใช่แค่เด็กที่ต้องรับฟัง ผู้ใหญ่เองก็ต้องรับฟังเด็กด้วยเช่นกัน และต้องใช้เวลาเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่จะสงสัยได้ เพราะเราเข้าใจเขาว่ามันเป็นโลกใหม่ของเขาเช่นกัน มันคือการปรับกันทั้งคู่และมาเจอกันตรงกลาง และให้ความใจเย็นเข้าสู้
มัจฉา พรอินทร์ ตัวแทนผู้ปกครองจากครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ และ ศิริวรรณ พรอินทร์ ตัวแทนลูกจากครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ มองว่า การอยู่ในสถานะที่เป็นลูกที่มีพ่อแม่ที่เชื่อในระบบที่มีแค่สองเพศ เลยจะมีช่วงเวลาที่จะต้องทำความเข้าใจกับครอบครัวพอสมควรอยู่ในสถานะแม่ที่ต้องตอบคำถามกับสังคมเมื่อ12ปีที่แล้วกระบวนการสมรสเท่าเทียมกันยังไม่ได้เป็นที่รับรู้แบบในปัจจุบัน เลยเผชิญหน้ากับการถูกปฏิบัติในหลากหลายระดับ และถูกคุกคาม เมื่อไปแจ้งความ กระบวนการยุติธรรมกลับไม่ช่วยอะไร
เด็กและเยาวชนจำนวนมากจะไม่ต้องทนทุกข์ถ้าเรานิยามว่าครอบครัวคือพื้นที่ที่ให้ความอบอุ่น ใครก็สามารถเป็นครอบครัวให้กันและกันได้ แค่เราปกป้อง คุ้มครอง และสนับสนุนให้เขาเติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นตัวอย่างให้กับเขา แต่พอเป็นกลุ่ม LGBTQIA+ ปัญหาที่พบคือ สังคมไม่ยอมรับ และ ไม่มีกฎหมายรองรับ
Motherhood มันไม่ได้อยู่แค่ในระบบเพศ เช่น เป็นเพศหญิงแล้ว เราถึงจะเป็นแม่คนได้เท่านั้นนอกจากเรื่องของการมีความคิดในการตัดสินใจเลือกได้ด้วยตนเองแล้ว (Self-determination) ก็จะมีเรื่องของการยินยอม (Consent) ของทั้งสองฝ่าย ลูกจะต้องมีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะให้เราเป็นครอบครัวของเขาไหม
พงศ์สิริ เตชะวิบูลย์ ตัวแทนคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว กล่าวว่า มีครอบครัวที่อบอุ่นมาก่อน และมองว่าสถาบันครอบครัวคือความสบายใจของเรา ไม่ได้แต่งงาน แต่อยากมีลูก เพราะอยากมองเห็นความต่อเนื่องของชีวิตช่วงแรกมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถ้ารุ่นเดียวกันจะค่อนข้างเห็นด้วย แต่ถ้าเป็นคนรุ่นอายุมากกว่า เขาก็จะมีความสงสัย เพราะตามยุคสมัยของเขาคือแม่เป็นคนดูแลลูก ถ้ามีลูกแล้วไม่มีแม่ จึงจะเกิดคำถามว่าใครจะเป็นคนดูแล แต่เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์เองว่าเราได้พยายามทำสิ่งนี้ให้ดีที่สุดในการเป็นทั้งพ่อและแม่ให้เขา
สายสุนีย์ จ๊ะนะ (ตัวแทนคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว) นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบทีมชาติไทย เหรียญทองกีฬาพาราลิมปิกส์ เปิดเผยว่า ครอบครัวเป็นแรงพลักดันในชีวิตทำให้สู้ต่อได้ เพื่อให้ดูแลตัวเองและครอบครัวได้ ที่ผ่านมาความท้าทายคือการทำให้พ่อแม่และน้องมีความสุขและอยู่อย่างสุขสบาย แต่ยังเคยได้ทำเพื่อตัวเอง และคิดว่าตนเองก็สามารถมีครอบครัวได้ ความท้าทายคือความพิการ แต่ความท้าทายนี้ก็เป็นแรงผลักดันให้เปิดใจรับคนเข้ามาเพื่อดูแลเรา
เส้นทางและปัญหาที่พบเจอมาในการมีครอบครัว LGBTQIA+ หรือ นโยบายอะไรที่คิดว่าประเทศไทยควรมี ?
ซิลวี่ มองว่า ก่อนมาวันนี้ยังรู้สึกว่ายากและเป็นเรื่องไกลตัว เพราะบ้านเรายังไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และยังไม่มีบุคคลที่สนับสนุนเราทางกฎหมายจริง ๆ รู้สึกว่าถ้าอนาคตข้างหน้าเกิดขึ้นได้จริง ๆ ก็จะดีมาก
มัจฉา ระบุว่า ถ้าเรายังอยู่แบบไม่มีคู่ชีวิต เราจะไม่รู้เรื่องกฎหมายต่าง ๆ เช่น ซื้อที่ดินแล้วกู้ร่วมไม่ได้ ทรัพย์สินที่มีร่วมกันหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจากไป แล้วกฎหมายไม่คุ้มครอง ก็จะไม่รู้ว่าจะตกเป็นของใคร การทำประกันชีวิตเองก็จะไม่สามารถมอบให้กับคนที่ไม่ใช่คนในครอบครัวได้มีปัญหาเรื่องการธุรกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับลูก เช่น การเดินทางไปต่างประเทศ
“เมื่อคนที่มีครอบครัวแบบ LGBTQIA+ ลุกขึ้นมาพูด มันจะสร้างความเข้าใจให้กับสังคมได้มากขึ้น เลยตัดสินใจลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว และพบเจอเพื่อนที่มีบริบทแบบนี้ทั่วโลกมากมาย บางครั้งเด็กที่ไม่มีผู้ดูแล ก็ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ทำให้รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในชีวิต”
หากเราเป็นอะไรไป จะเกิดความยุ่งยากของคนที่เราทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเพียงกฎหมายยอมรับว่ามนุษย์มีความหลากหลาย เพราะฉะนั้นเราไม่ได้แค่กำลังพูดถึงสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว แต่รวมไปถึงเรื่องใหญ่กว่านั้นคือการที่คนทุกคนเท่าเทียมกัน
เช่นเดียวกับ ศิริวรรณ ที่กล่าวว่า เริ่มรู้สึกถึงปัญหาตั้งแต่เรื่องของเอกสารของโรงเรียนในการกรอกบิดาและมารดา และต้องตอบคำถามครูให้ได้ว่าพ่อแม่คือใคร ทำไมถึงใส่ข้อมูลพื้นฐานในเอกสารไม่ได้ แต่เป็นเพราะเราไม่ได้อยู่ในครอบครัวแบบนั้นแล้ว เรามีแม่สองคน
“จุดเปลี่ยนที่ทำให้ลุกขึ้นมาพูดเรื่องการก่อตั้งครอบครัวเริ่มจากการดำเนินเรื่องออกหนังสือเดินทางไปต่างประเทศไม่ได้ เนื่องจากแม่ไม่ใช่ผู้ปกครองทางกฎหมาย เลยคิดว่าอาจจะไม่ใช่ครอบครัวเราเพียงครอบครัวเดียวที่เผชิญกับเรื่องแบบนี้ เช่น เด็กที่เหลือแค่ตากับยาย”
ทำประกันชีวิตไม่ได้ ต้องรออายุ 20 ปีก่อน เลยรู้สึกได้ถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิต และมีคำถามว่าทำไมประเทศเราถึงไม่ยอมรับครอบครัวที่หลากหลายกว่านี้ จากที่ได้มีโอกาสทำงานกันเผ่าพื้นเมือง เจอเด็กที่มีความหลากทางเพศ และมีครอบครัวที่มีความหลากหลายเช่นกัน ทั้งเราและเด็กคนอื่น ๆ ได้เผชิญกับการถูกบูลลี่ที่โรงเรียน ถูกตั้งคำถามแบบที่ไม่ได้ตั้งใจจะทำความเข้าใจเรา
พงศ์สิริ บอกด้วยว่า การเป็นคุณพ่อสิทธิ์จะน้อยกว่าคุณแม่ ติดปัญหาตั้งแต่ที่อเมริกาในการพาลูกกลับไทย แต่โชคดีเกิดที่อเมริกา ได้สัญชาติมาเลย แต่ถ้าไปเกิดที่ประเทศอื่น และไม่มีกฎหมายรองรับ คงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่านี้ และไทยเองยังคงไม่มีกฎหมายรองรับเช่นกัน อย่างไรก็ตามการกรอกเอกสารที่อเมริกามีข้อดีตรงที่ไม่ได้แบ่งแยกเพศเป็น ‘บิดา’ และ ‘มารดา’ แต่ใช้คำว่า ‘ผู้ปกครอง’ ซึ่งไม่ได้กำหนดเพศ แต่ได้ไปดำเนินเรื่องขอที่ศาลสูงว่าต้องการเป็นผู้ปกครองเพียงคนเดียว
“ตอนนี้ยังคงติดปัญหาเรื่องขอสัญชาติไทยให้ลูกอยู่ เนื่องจากต่อให้ได้ใบจากศาลสูงของอเมริกามาเพื่อดำเนินเรื่องที่ไทยแล้ว พอนำไปยื่นที่เขต เขตก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ ขั้นตอนจะยุ่งยาก และต้องจ้างทนายความทุกขั้นตอน”
สายสุนีย์ ซึ่งเคยมีประสบการณ์ตอนท้อง และคุณหมอไม่เห็นด้วย เนื่องจากสภาพร่างกายไม่พร้อม และชักจูงให้เอาเด็กออก จึงเริ่มรู้สึกถึงการรุกรานสิทธิของตนเอง ซึ่งมันเป็นสิทธิของเราในการเลือกว่าจะมีครอบครัวหรือไม่พบความอยากลำบากตอนท้อง แต่มีผู้ช่วย ถึงแม้ว่าจะยากลำบากแค่ไหน เราก็อดทน
“เพราะเราเป็นคนเลือกเองตอนที่ตัดสินใจการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เราก็ต้องถามลูกด้วยเหมือนกัน ด้วยสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์เช่นนี้ เขาจะสามารถช่วยเราได้ไหม เช่นการยกรถเข็น ลูกจะยอมรับเราที่เป็นแบบนี้ได้ไหม”
ขณะที่ ลูกมีความสุข และไม่ได้มองเราแปลก ไม่ได้คิดว่าแม่มีความแตกต่างเพราะเราเข้าใจเขา แล้วเขาเข้าใจเรา และเราเข้าใจตัวเอง ทำให้ผ่านวิกฤตมาได้ เพราะเรารักเขา และเขาก็รักเรา
หลังมีการจัดนิทรรศการ ‘ครอบครัวในฝันของคุณคือไอศกรีมรสอะไร’ ที่สยามเซ็นเตอร์ ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดให้ประชาชนได้เข้าร่วมทำแบบสอบถามเกี่ยวกับครอบครัวในฝัน รวมถึงข้อกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการสร้างครอบครัว ผู้เข้าร่วมยังได้รับไอศกรีมจากแบรนด์ท้องถิ่น ‘จินตะ’ ที่รสชาติถูกออกแบบขึ้นมาให้สอดคล้องกับนิยามครอบครัวของผู้ทำแบบสอบถาม
โดย Thailand Policy Lab จะนำข้อมูลไปออกแบบและพัฒนานโยบายด้านครอบครัวหลากหลายร่วมกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยและภาคีเครือข่าย
สิ่งที่ผู้เสวนาอยากบอกกับสังคมไทยในการสนับสนุนครอบครัวหลากหลาย ?
ซิลวี่ บอกอีกว่า ครอบครัวไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ก็ได้ สามารถเป็นเพื่อนหรือคนใน community ด้วยกันเองก็ได้ได้เข้าไปอยู่ใน Queer Community เราก็รู้สึกว่าอันนี้ก็คือครอบครัวเราเหมือนกัน และควรได้รับการสนับสนุนต่อไป อยากให้ทุกคนมองกันอย่างเท่าเทียมกัน และมีแต่ความรักต่อกัน
ครอบครัวของคุณเป็นไอศกรีมรสชาติอะไร? ‘ม็อคค่าอัลมอนต์’ มีความขมที่สอดแทรกด้วยถั่ว มีทั้งความสุขและมีทั้งความทุกข์เหมือนกัน ผสมผสานกันที่ทำให้เคี้ยวได้อย่างเพลิน ๆ
มัจฉา กล่าวอีกว่า ทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าสังคมไม่เอื้อให้ทุกคนได้อยู่กันอย่างเท่าเทียม เหลือแค่เรื่องของกฎหมายและนโยบาย มีทุกข์สุขปนกันไปถ้าเราใช้เงื่อนไขตามที่สังคมกำหนด สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว มันจะกลายเป็น Double standard เพราะฉะนั้นกฎหมายต้องคุ้มครองเราก่อน
ไม่ว่าครอบครัวเราจะเป็นแบบไหน ช่องว่างต่าง ๆ คือหน้าที่ของพวกเราที่จะต้อง commit ต่อสิทธิของเด็ก commit ต่อการไม่ใช้ความรุนแรง เพราะฉะนั้นจะต้องไม่เป็น double standard กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แล้วมันก็จะกลมกล่อมขึ้น เพราะมันคือชีวิต
ศิริวรรณ คนที่อยู่ในฐานะที่มีแม่สองคน ต้องมีสิทธิในการสมรสเท่าเทียม มันไม่ใช่แค่เรื่องของพ่อแม่ แต่เป็นเรื่องของสิทธิ์ลูกด้วยในฐานะของคนรุ่นใหม่ที่เป็น Bisexual เราเผชิญกับการถูกบูลลี่ในโรงเรียน เราต้องการให้ทุก ๆ พื้นที่ยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะครอบครัวที่ต้องยอมรับและรักเขาอย่างไม่มีเงื่อนไขและโรงเรียนเองก็ต้องมีนโยบายที่คุ้มครองเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศเช่นกัน
ครอบครัวของคุณเป็นไอศกรีมรสชาติอะไร? ‘วนิลา’ กลิ่นวนิลาเป็นกลิ่นที่อบอุ่น ทำให้นึกถึงครอบครัวตลอดเวลา
พงศ์สิริ ตอนนี้เป็นจุดเริ่มต้น รู้สึกมีความหวังมากขึ้น เพราะมีกรณีศึกษา ทำให้ในอนาคตจะได้มีแบบอย่างไปพัฒนาต่อ
ครอบครัวของคุณเป็นไอศกรีมรสชาติอะไร? ‘ช็อกโกแลต และ สตรอเบอร์รี่’ มีขมบ้างหวานบ้างพอมีลูกก็จะรู้สึกว่ารสชาติมันสมบูรณ์มากขึ้น
สายสุนีย์ ระบุว่า คนพิการมีสิทธิของเขาแล้ว แต่ไม่สามารถใช้สิทธิของเขาได้ เช่น ที่จอดรถคนพิการที่มีคนปกติที่ไม่มีจิตสำนึกไปใช้ ยกตัวอย่างกฎหมายที่เนเธอร์แลนด์ ที่ไม่อนุญาตให้รถที่ไม่มีสติ๊กเกอร์คนพิการ จอดในที่จอดคนพิการเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะโดนยึดใบขับขี่ทันที
ครอบครัวของคุณเป็นไอศกรีมรสชาติอะไร? ‘เผ็ด เปรี้ยว หวาน’ หลายรสชาติผสมผสานกัน
นโยบายครอบครัวหลากหลายถือเป็นหนึ่งในโครงการของ Thailand Policy Lab ที่ต้องการนำนวัตกรรมนโยบายมาถอดและคลี่ให้เห็นถึงนิยามครอบครัวที่เปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตและเพศอัตลักษณ์ที่หลากหลาย ไปจนถึงการใช้นวัตกรรมนโยบายออกแบบและผลักดันนโยบายครอบครัวหลากหลาย ที่เกิดจากการเข้าใจบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป และการตระหนักถึงสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อได้มาซึ่งนโยบายที่สอดคล้องกับสภาพสังคม และเคารพสิทธิของทุกคน
ขณะที่ทิศทางการดำเนินงานและกิจกรรมของ UNDP และ Thailand Policy Lab เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจของสังคมเกี่ยวกับนิยามของครอบครัวที่จะส่งผลต่อการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายที่ครอบคลุมและยั่งยืน