สมุยสะเทือน ย้ำเตือนไทย… อย่าประมาท! พลังเงียบใต้พิภพ

ช่วงเช้าวันที่ 30 พ.ค. 67 ผู้คนบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี คงรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนบางอย่าง จนได้รับการยืนยันชัดเจนว่าความแรงสั่นสะเทือนที่สัมผัสได้นั้น เกิดจากเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 2.4 ซึ่งเป็นแผ่นดินแบบตื้น มีความลึกจากพื้นดิน 4 กิโลเมตร จากข้อมูลระบุว่าศูนย์กลางแผ่นดินไหว อยู่ที่ ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย

แม้เป็นเพียงแค่ความรู้สึกที่รับรู้ได้ และการเกิดไม่ได้อยู่แนวเดียวกันกับรอยเลือนมีพลัง แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็น่าจะบ่งบอกอะไรบางอย่าง ที่สำคัญคือย้ำเตือนว่า นับจากนี้ประเทศไทยจะประมาทภัยแผ่นดินไหวไม่ได้อีกต่อไป!

นี่คือสิ่งที่ นัฐวุฒิ แดนดี ผู้อำนวยการกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ย้ำเตือนกับ The Active เพราะถ้าพิจารณาจากการเกิดแผ่นดินไหวที่เกาะสมุย พบว่า จุดนี้คือแนวรอยเลื่อนที่ยังซ้อนเร้น หรือยังไม่ได้สำรวจเพิ่ม จุดนี้จึงเป็นคนละแนวกับรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ที่ปกติจะพาดผ่าน จ.สุราษฎ์ธานี (ตอนกลาง) กระบี่, พังงา และภูเก็ต ขณะที่รอยเลื่อนระนอง จะพาดผ่าน จ.ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร และพังงา

สำหรับความเสี่ยงแผ่นดินไหวในประเทศไทยผู้อำนวยการกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ระบุเคยมีการประเมินว่า ยังอยู่ในระดับกลางเพราะไม่ได้เกิดบ่อยครั้งเหมือนประเทศญี่ปุ่น ที่เกิดถี่ และมีการเตรียมความพร้อม แต่หลังจากไทยเคยเกิดแผ่นดินไหวในทะเล และเกิดสึนามิ เมื่อ 2547 ทำให้เกิดการตื่นตัวไม่น้อย

นัฐวุฒิ แดนดี ผู้อำนวยการกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา

ทั้งการสนับสนุนอุปกรณ์เตื่อนภัยบางส่วน แม้จะยังไม่มากในเวลานั้นแต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญ จนมาเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ในปี 2557 ความสนใจก็ได้รับการตอบรับมากขึ้นในบริบทสังคม ทั้งเครื่องมือ ความรู้ กฎหมาย แต่บทเรียนครั้งนั้น คือบทเรียนสำคัญที่ใช้เป็น Model ต้นแบบ มาสู่การพัฒนาเครื่องมือ การพัฒนาปรับปรุงรับมือพื้นที่เสี่ยงให้เฝ้าระวังดีขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่บทบาทของ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ก็พยายามสนับสนุนข้อมูลให้แต่ละหน่วยงานไปใช้ประโยชน์ และเป็น DATA สำคัญต่อยอดลดผลผระทบประชาชน

สำหรับประเทศไทย มีกลุ่มรอยเลือนมีพลัง 16 แห่ง

  • รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย มีพลังปานกลาง
  • รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ มีพลังปานกลาง-สูง
  • รอยเลื่อนเถิน มีพลังปานกลาง
  • รอยเลื่อนปัว มีพลังปานกลาง
  • รอยเลื่อนพะเยา มีพลังปานกลาง
  • รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ มีพลังปานกลาง-สูง
  • รอยเลื่อนเมย มีพลังปานกลาง-สูง
  • รอยเลื่อนแม่จัน มีพลังสูง
  • รอยเลื่อนแม่ทา มีพลังปานกลาง-สูง
  • รอยเลื่อนแม่ลาว มีพลังปานกลาง
  • รอยเลื่อนแม่อิง มีพลังปานกลาง
  • รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน มีพลังต่ำ
  • รอยเลื่อนระนอง มีพลังปานกลาง
  • รอยเลื่อนเวียงแหง มีพลังปานกลาง
  • รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ มีพลังปานกลาง
  • รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ มีพลังปานกลาง-สูง

และยังมีร่องรอยของรอยเลื่อนไม่มีพลังอาจจะมีโอกาสขยับตัวได้ในอนาคต

ผู้อำนวยการกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ยังชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันไทยมีกลุ่มรอยเลื่อนทางภาคตะวันตก แถว ๆ เมืองกาญจนบุรี ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุด ถ้าเกิดแผ่นดินไหวระดับ 5-6 กรุงเทพฯ อาจได้รับผลกระทบที่อาคารสูงจะได้โดยง่าย ไม่ต่างจากภาคใต้ที่จะมีทั้งรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย และรอยเลื่อนระนองที่อาจมีพลังได้ทุกเมื่อ

ก่อนหน้านั้นในอดีตไทยมีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว อยู่ 5-6 สถานี แต่หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและเกิดสึนามิ เมื่อปี 2547 แล้วก็ได้พัฒนาขึ้น อย่างที่ จ.เชียงราย เคยมี 40 กว่าไซส์ พอเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 6.3 ก็เพิ่มมา 100 กว่าไซส์ ซึ่ง จ.เชียงราย ถือเป็นเป็นต้นแบบ และเพิ่มสถานีตรวจวัดที่เป็นลักษณะของวิศวกรรมแผ่นดินไหว ไปพร้อมกับการก้าวต่อที่จะให้ประชาชนตระหนักรู้ว่า ตัวเองอยู่ในพื้นที่เสี่ยงและต้องรับมือกับแผ่นดินไหว

รวมทั้งการสร้างอาคารที่แข็งแรงในการปกป้องตัวเอง ไปพร้อมกับการติดตั้งระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวทั้งบนดิน และใต้ดิน ซึ่งมองว่าอุปกรณ์เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้การคาดการณ์แม่นยำขึ้น ขณะที่ในมุมมองงบประมาณสนับสนุนอุปรกรณ์ หรือการสำรวจรอยเลื่อนเพิ่มมีความสำคัญมาก เพราะยังมีรอยเลือนที่มีพลังหลายแห่งที่ยังสำรวจไม่ครบ เนื่องจากต้องรองบฯ​ หากสำรวจเพิ่มมากขึ้นจะทำให้รู้ความเสี่ยงต่อการรับมือภัยแผ่นดินไหวในอนาคตได้แม่นยำขึ้น

สมศักดิ์ วัฒนปฤดา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี

สำรวจรอยเลื่อน รู้ทันความเสี่ยง

สอดคล้องกับข้อมูลของ สมศักดิ์ วัฒนปฤดา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี บอกว่า ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่ในโซนพื้นที่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวค่อนข้างมาก ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดที่ใหญ่ กว่า 6 หรือใหญ่กว่า 7 มากนัก แผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเท่าที่บันทึกไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จะอยู่ที่ราว 6 กว่า ๆ แต่ว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บันทึกไว้ เช่น แผ่นดินไหวที่ทำให้เจดีย์หลวง ที่ จ.เชียงใหม่ ถล่มลงมา ไม่มีหลักฐานว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดเท่าไร แต่ในยุคที่มีเครื่องมือวัดขนาดแผ่นดินไหวที่วัดขนาดแผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่บันทึกได้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ที่แม่ลาว ขนาด 6.3 เรียกว่าเป็นแผ่นดินไหวในประเทศไทยที่ได้บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าใหญ่ที่สุด

ในเวลานี้ กรมทรัพยากรธรณี กำลังดำเนินการงานวิจัย สำรวจ และจัดทำแผนที่หลายประการ เช่น การเริ่มต้นด้วยการศึกษารอยเลื่อนมีพลังทั่วประเทศ คือไม่รู้ว่าตรงไหนที่เป็นจุดที่จะเกิดรอยเลื่อน จึงต้องรู้ก่อนว่ารอยเลื่อนนี้อยู่ตรงไหน โดยการติดตั้งเครื่องวัดเคลื่อนไหวสั่นสะเทือนทั่วประเทศ เพื่อให้รู้จุดต่าง ๆ ของการเกิดแผ่นดินไหวเล็ก ๆ 2 กว่า 3 กว่า 4 กว่า แนวของจุดเกิดแผ่นดินไหวเหล่านี้ทำให้สร้างรอยเลื่อนมีพลังขึ้นมาได้ รอยเลื่อนมีพลังเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการกำหนดพื้นที่ ว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยเกี่ยวกับแผ่นดินไหว

“เราก็ขุดดูรอยเลื่อนเก่า ๆ เราขุดสิ่งที่เรียกว่า ร่องสำรวจรอยเลื่อนมีพลัง ขุดร่องไปขวางกับรอยเลื่อนเก่าในอดีตที่มีอยู่ ทำให้เรารู้ว่า  การเกิดหรือกระบวนการเกิดรอยเลื่อนมีพลังในแต่ะละรอยเลื่อนมีวิธีการเกิดแบบไหน มีการเลื่อนตัวในลักษณะไหน ในขณะเดียวกัน เราเก็บเอาตะกอนที่อยู่ใต้ดิน ที่เราขุดจากร่องสำรวจมาวิเคราะห์หาอายุ ที่ให้เรารู้ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวในอดีตของรอยเลื่อยครั้งนี้ที่ เกิดขึ้นครั้งล่าสุดในครั้งสำคัญ ย้อนหลังไปกี่ร้อย กี่พันปีที่เป็นข้อมูลที่กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการอยู่”

สมศักดิ์ วัฒนปฤดา

ขณะเดียวกันยังร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยา, กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ติดตั้งเครื่องมือวัดและสำรวจเคลื่อนไหวสะเทือนทั่วประเทศ นำข้อมูลเหล่านี้กับข้อมูลที่ตรวจวัดได้กับสถานีของต่างประเทศ มาใช้ศึกษาและวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง ข้อมูลเหล่านี้ใช้ทำแผนที่รอยเลื่อนมีพลังทั่วประเทศ ซึ่งมี 16 รอยเลื่อน และมีรอยเลื่อนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ กำลังศึกษาเพิ่มเติมในส่วนนี้

ข้อมูลเหล่านี้นำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว รู้ว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ทำออกมาเป็นแผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวระดับจังหวัด ซึ่งจะมีจุดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวระดับจังหวัด พื้นที่จุดอพยพ หรือพื้นที่จุดที่ประชาชนใช้เป็นจุดอพยพได้ เพราะต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้นมา จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กตามมา ซึ่งจะมีอันตรายเท่า ๆ กับแผ่นดินไหว Main Shock ฉะนั้นแล้วเมื่อเกิดแผ่นดินไหว Main Shock แล้ว ประชาชนต้องอพยพไปอยู่ในจุดปลอดภัยสักระยะหนึ่ง อาจจะสัก 24 ชั่วโมง 48 ชั่วโมง เพื่อระมัดระวังเกี่ยวกับแผ่นดินไหวตามที่อาจนะเกิดขึ้นตามมา และอาจส่งผล กระทบความเสียหายกับบ้านเรือนและเสียหายต่อความเป็นอยู่กับความปลอดภัยของประชาชน

“ในแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวระดับจังหวัด ก็จะมีพื้นที่ปลอดภัยเหล่านี้ มีเส้นทางอพยพ มีจุดที่เสียงภัยมาก ๆ ว่าจุดไหนจะเป็นอย่างไร  ข้อมูลเหล่านี้จะนำไปใช้ในการกำหนดการก่อสร้างอาคารว่า โซนที่เป็นโซนเสี่ยงมาก ๆ เราจะต้องออกแบบอาคารอย่างไร โซนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น จุดอพยพที่มีอยู่ มีอาคารแบบไหนรองรับผู้อพยพ และเป็นข้อมูลที่กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการอยู่ และส่งข้อมูลไปยังกรมโยธาธิการและผังเมืองในเรื่องการทำกฎกระทรวงเรื่องรองรับความปลอดภัยต่อไป”

สมศักดิ์ วัฒนปฤดา

ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรณี บอกด้วยว่า ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวในจังหวัดสำคัญ ๆ ได้เน้นไปที่หลายจังหวัด เช่น จ.เชียงใหม่, กาญจนบุรี, เชียงราย และอีกหลาย ๆ พื้นที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวมาก ๆ ในระดับจังหวัด และมีแผนการดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้ง 23 จังหวัด ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว ภายในปี 2570

รอยเลื่อนที่ซ่อนตัว พลังเงียบที่ต้องไม่ประมาท

กรมทรัพยากรธรณี ตระหนักว่า ยังมีรอยเลื่อนมีพลังอีกเยอะที่ยังซ่อนตัวอยู่ เรียกมันว่า รอยเลื่อนที่ซ่อนตัว ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ในเชียงใหม่ ในพิษณุโลก ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ที่ อ.บางกระทุ่ง ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิด รวมถึงการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ที่ไม่ได้กำหนดเป็นรอยเลื่อนในพื้นที่กาญจนบุรี หลัก ๆ ก็คือที่จังหวัดเชียงใหม่ และพิษณุโลก กรมทรัพยากรธรณี จึงเร่งศึกษารอยเลื่อนมีพลัง และศึกษารอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มากำหนดในการทำแผนที่ที่รอยเลื่อนมีพลังที่ทันสมัยขึ้น และนำข้อมูลส่งต่อไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และลดผล กระทบต่อไป

“ประเทศไทยโซนที่เสี่ยงภัยต่อแผ่นดินไหว จะอยู่บริเวณภาคเหนือเป็นหลัก และต่อมาทางภาคตะวันตก คือ จ.ตาก และ กาญจนบุรี  ต่อลงไปรอยเลื่อนระนอง และต่อลงไปที่รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย แนว จ.ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี ตรงนี้จะเป็นโซนพื้นที้เสี่ยงของประเทศไทย”

“พื้นที่ที่ไม่ค่อยเสี่ยงของประเทศไทยจะเป็นพื้นที่ภาคกลาง ตั้งแต่ใต้ จ.กำแพงเพชร ลงมาจนถึงโซนกรุงเทพมหานคร ไม่ได้อยู่ในโซนที่มีในรอยเลื่อนมีพลัง และโซนพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว เพียงแต่ว่า กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เป็นพื้นที่อยู่ในตะกอนดินอ่อน เป็นพื้นที่รองรับพื้นที่ในกรุงเทพมหานครอยู่ ทำให้มีโอกาสที่จะขยายสัญญาณของแผ่นดินไหวหรือทำให้ตึกสูงในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้มากขึ้น นี่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับของพื้นที่เสี่ยงและปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร”

สมศักดิ์ วัฒนปฤดา

สำหรับอนาคต กรมทรัพยากรธรณี ต้องดำเนินการอยู่ 3 รูปแบบ ในการส่งเสริมให้ประชาชนที่ได้มีโอกาสอยู่ในพื้นที่เสียงเหตุการณ์แผ่นดินไหวหรือภัยพิบัติธรรมชาติอื่น ๆ อย่างปลอดภัย

  1. สิ่งแรกก็คือต้องใช้นวัตกรรมและเครื่องมือสำรวจใหม่ ๆ มาพัฒนางานสำรวจของเราในการทำพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวให้มีความชัดเจน มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น 

  2. การใช้เครื่องมือตรวจวัด เช่นการตรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน การตรวจวัดแผ่นดินไหวขนาดเล็กหรือแผ่นดินไหวที่ซ่อนตัว รวมถึงการศึกษาค่าอัตราเร่งของคลื่นสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ที่เข้ามายังอาคารสูง ในเขตกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ที่มีตึกสูง ข้อมูลพวกนี้จะใช้ในการเฝ้าระวัง และทรงปลอดภัย ทรงเสี่ยงภัย และประกอบกับการออกแบบอาคารสถานที่ หรือกำหนดจุดปลอดภัย ที่แม่นยำ ชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด

  3. การส่งต่อองค์ความรู้ไปใช้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลที่กรมทรัพยากรธรณีดำเนินการ ไปใช้ในการออกเทศบัญญัติ หรือใช้ในการออกกฎกระทรวงเพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน อีกส่วนหนึ่งก็คือการรนำไปถ่ายทอด หรือถ่ายทอดนำไปสู่เยาวขน ถ่ายทอดไปสู่ประชาชนในพื้นที่ ให้ท่านเรียนรู้ว่า เมื่อท่านอยู่ในพื้นที่เสี่ยง กับพื้นนที่ปลอดภัย ว่าจะเกิดแผ่นดินไหว หรือแผ่นดินถล่ม ท่านต้องอยู่ในพื้นที่นั้น จะมีแนวทางการปฏิบัติ และมาตรการแนวทางการซักซ้อมเมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้มีการอยู่อย่างไรให้  ปลอดภัยอย่างยั่งยืน
รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ม.เกษตรศาสตร์

เรียนรู้บทเรียน ปรับตัวรับมือภัยแผ่นดินไหว

เมื่อไทยเคยได้รับบทเรียนเมื่อ 10 ปีที่แล้วจากแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย สร้างความเสียหายให้บ้านเรือนประชาชน มีความสับสนวุ่นวาย และเวลานั้นอาจไม่ได้เตรียมพร้อมมากพอ แต่เมื่อเวลาผ่านไป แน่นอนว่าในมุมมองของ รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ยอมรับว่า หลายหน่วยงานปรับตัวไปมาก ทั้งเรื่องการช่วยเหลือ การเตรียมพร้อมให้ดีขึ้น หน่วยงานภาคประชาสังคม NGO ต่าง ๆ ก็มีความกระตือรือร้น ที่จะช่วยเป็นตัวประสานกับหน่วยราชการ

แน่นอนว่าสิ่งที่ไม่หยุดพัฒนาเลยก็คือภาควิชาการ นักวิจัยที่ทำเรื่องนี้ ก็วิจัยมาเรื่อย ๆ จนกระทั่ง 10 ปีผ่านมาแล้ว ก็มีเรื่องที่เป็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในเชิงของสิ่งที่จับต้องได้ ยกตัวอย่างเช่น การแก้ไขกฎหมาย หรือกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบบอาคารเรื่องแผ่นดินไหว ซึ่งก็สามารถออกมาได้ใน 10 ปีที่ผ่านมานี้ ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเพราะเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นตัวกระตุ้น

อีกเรื่องคือแผนแม่บท การป้องกันและการรับมือจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่มของ ปภ. ซึ่งตรงนี้ก็มีการปรับปรุงจากของเดิมที่มีก่อนแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ก็มาทบทวนว่าจะต้องทำให้ดีอย่างนั้นให้มากขึ้นได้อย่างไร ปภ. ก็ทบทวน แล้วก็ทำออกมาให้ดีขึ้น นี่เป็น 2 อย่างที่เป็นรูปธรรมที่สำคัญ ที่เรียกว่าเป็นเชิงนโยบาย เป็นนโยบายว่าทำอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสาธารณะที่ต้องทำต่อ โดยไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนมารับหน้าที่ก็ต้องสานต่อ ก็มีทั้งเรื่องกฎหมาย เรื่องเกี่ยวกับอาคาร กฎหมายเกี่ยวกับการช่วยเหลือ ถือว่าเป็นรูปธรรมที่ดี 

“รอยเลื่อนมีพลัง ไม่ว่าที่ยังซ่อนอยู่ หรืออาจจะปรากฎออกมาหรือยังสำรวจไม่พบ ปรากฏว่าภาระหลักจะเป็นของกรมทรัพยากรธรณี แน่นอนว่ากรมทรัพยากรธรณี เขาเสนอแผน และงบประมาณ ตามวิชาการที่ควรจะต้องทำอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราพบก็คือ แผนหรืองบประมาณเหล่านั้นที่ขอไป ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะให้งบประมาณมาหรือไม่ นโยบายแต่ละรัฐบาลก็ไม่เหมือนกัน หรือถ้าจะมองให้ลึกกว่านั้นไปอีก การพิจารณาของกรรมาธิการที่จะมาพิจารณาในเรื่องของงบประมาณส่วนนี้ก็อาจจะไม่มีความเข้าใจ 100 % ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่ไปขัดกับสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับสาธารณะในระยะยาว”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

งบฯ วิจัย-นโยบาย รับมือพลังจากใต้ดิน ที่จับต้องได้

รศ.สุทธิศักดิ์ บอกด้วยว่า แผ่นดินไหวถึงแม้นาน ๆ เกิดที แต่เมื่อเกิดแล้วจะทำให้เกิดการ Disrupt คือการที่ทำให้ธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคมมันหยุดชะงักไปอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศเฮติ แผ่นดินไหวรุนแรง ตอนนี้ผ่านมา 10 ปียังไม่ฟื้น เนปาล ใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าจะฟื้น ถ้าไทยเตรียมพร้อมการสำรวจแผ่นไหวให้ดี เพื่อที่จะเตรียมเมือง เตรียมการป้องกันให้เหมาะสมกับแผ่นดินไหว ก็จะปลอดภัย ซึ่งนโยบายหรือแนวคิดสำคัญ คือแทนที่จะปล่อยให้เป็นการพิจารณาของแต่ละรัฐบาล หรือแต่ละกรรมาธิการไป มันควรจะมีกฎหมายหรือนโนบายอะไรบางอย่างที่คุ้มครอง การดำเนินการที่จะต้องใช้งบประมาณ ซึ่งจริง ๆ แล้วเยอะมาก ซึ่งเป็นงบประมารเพื่อหาข้อมูลเพื่อความปลอดภัยของสาธารณะ

“ผมไม่ได้พูดแค่เรื่องแผ่นดินไหว แต่ผมกำลังพูดเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น งบประมาณอะไรก็แล้วแต่ซึ่งมันไปเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของสาธารณะและมันมีความยากเข้าไปผสม เช่น ความยากทางความเข้าใจ และวิชาการเข้าไปผสม มันควรต้องมีใครก็แล้วแต่สร้างนโยบายขึ้นมาคุ้มครองเราไม่ได้พูดถึงงบประมาณเป็นหลักพันล้าน หมื่นล้านด้วยซ้ำ แต่พูดถึงงบประมาณในหลักร้อยล้าน หรือน้อยกว่านั้น ก็แค่สิบล้านด้วยซ้ำไป การสำรวจรอยเลื่อน ก็เป็นหลักสิบล้านเท่านั้นเอง นี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวเรื่องแรก”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

แผนที่เสี่ยงภัยชุมชน สิ่งที่ทุกคนต้องรู้

ถัดมาคือเรื่องที่ชุมชนจะรู้ได้อย่างไร ว่า บ้านเขาปลอดภัย หรือไม่ปลอดภัย ให้นึกภาพว่าในชุมชนมีแผ่นดินไหวก็กลัว แต่ไม่มีใครมาชี้ให้เห็นว่าบ้านเราไม่ปลอดภัย ว่า ถ้าเกิดแผ่นไหวในระดับไหน บ้านคุณจะพังนะ ธุรกิจคุณจะพังนะ ทำให้ยังขาดข้อมูลพวกนี้ไปถึงหน้าตักของประชาชน ดังนั้นการทำแผนที่ที่เสี่ยงภัยในระดับชุมชนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องจากเรื่องรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้ชุมชน ถ้ามีตัวนี้จะมาสร้างแบบจำลอง โดยเริ่มจากชุมชนที่ไม่ต้องใหญ่นัก เพราะถ้าใหญ่นักมันจะเหนื่อยก็ต้องไปสำรวจว่าบ้านแต่ละหลังมีโครงสร้างอะไร มีคนอยู่ยังไงบ้าง ทำธุรกิจอะไร แต่ถ้ามีแผนที่นี้ไปวางที่หน้าตักของเจ้าของบ้าน เขาจะเห็นว่ามันมีโอกาสที่บ้านของเขาจะพัง มีโอกาสที่ธุรกิจของเขาจะพัง เขาก็จะต้องเริ่มวิธีการลดความเสี่ยง ถ่ายโอนความเสี่ยงด้วยการทำให้แข็งแรงขึ้นหรือไปซื้อประกันมา อย่างน้อยมันก็ไม่เกิดการ Disrupt ดังนั้นในเรื่องที่ 2 คือการทำแผนที่เสี่ยงภัยในระดับชุมชนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

สื่อสารภาษาเดียวกันกับชุมชน ประชาชน

เรื่องที่ 3 คือการคุยกับคน จากที่ได้รับการเรียนรู้จากแผ่นดินไหวที่แม่ลาว ในปี 2557 ถึงแม้ว่าหน่วยงานราชการจะทำหน้าที่เต็มที่ นักวิชาการจะมีความเข้าใจอย่างเต็มที่ แต่ตราบใดที่มีการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ความเข้าใจทที่ไม่ตรงกันที่ว่า มีในเรื่องความเข้าใจไม่ตรงกันในเรื่องของความรู้ข้อมูล หรือ เรื่องอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ตรงกัน ดังนั้นมันควรจะต้องมีกระบวนการที่จะต้องทำให้เกิดความเข้าใจกัน

ในปี 2557 เขื่อนแม่สวยถูกแรงกระทำจากแผ่นดินไหวจนกระทั่งมีความเสียหายเกิดขึ้น กรมชลประทานที่เป็นเจ้าของเขื่อนก็เข้าไปตรวจสอบ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ก็เข้าไปตรวจสอบ ก็บอกว่าไม่มีผลที่จะทำให้เขื่อนพัง แต่ข้อมูลนั้นไม่สามารถสื่อไปถึงความรู้สึกของชุมชนในพื้นที่

แน่นอนแผ่นดินไหว คือภัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ดังนั้นสิ่งที่พยายามสื่อความหมาย คือทุกฝ่ายต้องหยิบเอาบทเรียนที่ผ่านมา เพื่อเตรียมตัวรับมือ เพราะสังคมเองก็ได้เห็น ได้รับรู้กันแล้วว่า สักวันหนึ่งแผ่นดินไหวในไทย มีโอกาสก่อความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สินได้ทุกเมื่อ จากนี้…ประเทศไทยต้องไม่ประมาทกับภัยแผ่นดินไหว

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์