แผ่นดินไหวตุรกี บทเรียนครั้งใหญ่ที่ไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ

ปัจจุบันไทยยังเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหว เพราะมีรอยเลื่อนกว่า 10 รอยเลื่อน ในภาคเหนือ กลาง ใต้ ขณะที่ ตึกสูงใน กทม. ก็มีโอกาสรับรู้ถึงแรงแผ่นดินไหวระยะไกลได้ทุกเมื่อ เพราะบริเวณใต้พื้นดินเมืองหลวงไทยเป็นแอ่งดินขนาดยักษ์ที่จะรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน

นาทีแผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย และความสูญเสีย

ย้อนไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 4.17 นาที ตามเวลาท้องถิ่น ได้เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวใหญ่ที่ประเทศตุรกีและซีเรีย ขนาด 7.8 และ 7.5 ห่างกันไม่นาน ซึ่งเป็นแผ่นดินไหว ที่เรียกว่าดับเบิ้ลช็อก เหตุการณ์ครั้งนี้ สร้างผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินกับชาวตุรกีและซีเรียไม่น้อย ขณะที่ อาฟเตอร์ช็อก ขนาดเล็กหลายร้อยครั้งก็เกิดอย่างต่อเนื่อง และยังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 ซ้ำอีกครั้ง ห่างกันไม่ถึง 3 สัปดาห์ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

ทางการตุรกีได้รายงานได้รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวรอบแรกทั้งในตุรกีและซีเรีย มีมากกว่า 4.7 หมื่นคนแล้ว โดยเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ คนทั่วโลกต้องตกตะลึงกับกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ ที่นำมาถึงความช่วยเหลือจากนานาประเทศ ตามหลักมนุษยธรรม รวมทั้งประเทศไทยด้วย

หากมองเหตุการณ์แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย ย้อนกลับมายังประเทศไทย นี่คือบทเรียนสำคัญที่ไทยไม่ควรมองข้าม เพราะปัจจุบันภัยพิบัติแผ่นดินไหวเป็นภัยใกล้ตัวที่บอกล่วงหน้าไม่ได้ แต่คาดการณ์จุดเสี่ยงและรอยเลื่อนที่มีโอกาสเกิดได้ ในขณะที่ นักวิชาการด้านแผ่นดินไหวหลายคนเห็นพ้องกันว่านี่คือบทเรียนครั้งใหญ่ที่ไทยอาจต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพราะไทยยังมีรอยเลื่อนที่อาจมีพลังขึ้นมาได้ มากถึงขนาด 7 ในอนาคต ที่อาจคล้ายกับตุรกี

ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว  จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)

แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย เกิดจาก ?

ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว  จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เปิดเผยว่า ร้อยละ 95 ของการเกิดแผ่นดินไหว เกิดจากการเคลื่อนตัวของแผนเปลือกโลก เพราะฉะนั้นจุดใดที่อยู่ใกล้บริเวณรอยต่อตรงบริเวณแผ่นเปลือกโลกและจุดที่มีรอยร้าว จุดนั้นจะเป็นจุดเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหว

อย่างในกรณีของประเทศตุรกีถือเป็นประเทศที่อยู่ในที่ตั้ง 4 -5 เปลือกโลกมาชนกัน จึงมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ซึ่งในตุรกีเองก็มีรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกที่มีรอยเลื่อนขนาดใหญ่ 2 รอยเลื่อน โดยตำแหน่งที่เกิดแผ่นดินไหวก็อยู่บนรอยเลื่อน ที่เรียกว่า East Anatolian Fault ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่เกิดบ่อย ส่วนอีกแห่งชื่อว่า North Anatolian Fault มักจะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ในรอบประมาณ 100 ปี อาจเกิดขึ้นประมาณ 10 ครั้ง ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหววิเคราะห์ว่า ส่วนของ East Anatolian Fault ในอดีตจะไม่เกิดถี่ขนาดนั้น ถ้าเกิดแผ่นดินไหวส่วนใหญ่แล้วจะเป็นขนาด 6 แต่ครั้งนี้มันใหญ่เหนือการคาดหมายกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมากจึงมีความรุนแรง เพราะมีตึกสูงจำนวนมากถล่มลงมาอย่างหนัก

สำหรับรอยเลื่อน 2 รอยเลื่อนที่เกิดขึ้นในประเทศตุรกี มันคือคนละแนวรอยเลื่อนกัน ครั้งนี้มันเกิดในรอยเลื่อนซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังสูง เพราะเวลาเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ที่ีใหญ่ในครั้งนี้ มันหมายถึงว่ามันปล่อยพลังงานออกมาเยอะ ตามแนวรอยเลื่อนมีการไถลตัวยาวประมาณ 100 กิโลเมตร และมีการสั่นสะเทือนรุนแรง จึงทำให้อาคารถล่มหนัก มีผู้คนเสียชีวิตมากมาย

การก่อสร้างอาคารเพื่อรับมือแผ่นดินไหวในตุรกีมีมากแค่ไหน

เท่าที่เห็นอาคารถล่มดูเหมือนเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเป็นอาคารที่ต้องมีวิศวกร สถาปนิกออกแบบ ในตุรกีเองก็มีมาตรฐานการออกแบบที่ดี มากว่า 20 ปี แต่ก็มีอาคารที่สร้างก่อนหน้านั้นซึ่งยังไม่ได้ออกแบบดีเพียงพอ เหมือนอาคารรุนใหม่ที่ออกแบบดีกว่า บางครั้งตุรกีก็อาจมีปัญหาเหมือนประเทศอื่น ๆ ที่มีกฎหมายที่ควบคุมแล้ว แต่ก็อาจจะยังควบคุมไม่สมบูรณ์ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่ง

ตุรกีมีเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวมากแค่ไหน

ตุรกีมีอุปกรณ์และสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวจำนวนมาก แต่แผ่นดินไหวครั้งนี้มันสั่นสะเทือนรุนแรงกว่าที่หน่วยงานรับผิดชอบของตุรกีคาดการณ์ไว้ ความหมายก็คือว่า เคยระบุจุดสูงสุดของการเกิดแผ่นดินไหวในระดับหนึ่งที่เคยเกิดแบบรุนแรง แต่เท่าที่วัดมามันเลยระดับนั้นเยอะ ที่แรงที่สุดที่ผมเห็นคือเกินที่คาดการณ์มากกว่า 4 เท่าตัว จึงทำให้ทั้งอาคารเก่า อาคารรุ่นใหม่ที่ออกแบบไม่สมบูรณ์ บวกกับพลังสั่นสะเทือนที่มากกว่าปกติ

แผ่นดินไหวรุนแรงเคยเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง

ตุรกีไม่ใช่ที่แรกที่เกิดความสูญเสียหนัก ๆ แต่มันเคยเกิดที่ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เกิดที่ ปากีสถาน ที่คัสเมียร์ มีพังแบบนี้หลาย ๆประเทศ สำหรับระดับความรุนแรงเช่นนี้ก็เคยเกิดที่เฮติมาแล้ว เสียชีวิตนับแสนคน ซึ่งแผ่นดินไหวที่ตุรกีครั้งนี้ ขนาด 7.8 ถือว่ารุนแรงไม่น้อย ซึ่งขนาดของแผ่นดินไหวที่จะเริ่มเป็นอันตรายจะอยู่ที่ขนาด 5 ขึ้นไป ยกตัวอย่าง ความเสียหายของแผ่นดินไหวขนาด 6 ก็จะขยายความยาว ประมาณ 10 กิโลเมตร ถ้าเป็นขนาด 7 ก็จะมีความยาวประมาณ 50 กิโลเมตร ขนาด 7.8 อาจยาวมากกว่า 100 กิโลเมตร

ประเทศไทยเสี่ยงแผ่นดินไหวหรือไม่

ในเมืองไทยมีรอยเลื่อนอยู่ประมาณ 10 กว่ารอย อยู่ภาคเหนือหลายรอย และฝั่งตะวันตก เช่น จังหวัดกาญจนบุรีก็มี และมีบางรอยอยู่ทางภาคใต้ก็มี บางรอย แต่ที่น่าสนใจคือประเทศไทยยังมีรอยเลื่อนที่ยังซ่อนอยู่ใต้ดินอีกหลายรอยเลื่อน ที่เรายังหาไม่เจอเพราะมันซ่อนอยู่ภายในแผ่นเปลือกโลก ที่รู้ว่ายังมีซ่อนอยู่เพราะก่อนหน้านั้น กรมอุตุนิยมวิทยาเคยไปติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวเพื่อตรวจสอบรอยเลื่อนเสี่ยงบางแห่งที่ระบุได้ แต่ปรากฎว่ามีรอยเลื่อนแผ่นดินไหวบางแห่งไม่ตรงกับแนวรอยเลื่อนที่เราเห็น จึงทำให้รู้ว่ามีแนวรอยเลื่อนซ่อนตัวอยู่ข้างในอีก สำหรับในเมืองไทยภาคเหนือและฝั่งตะวันตกทั้งหมด มีโอกาสเกิดแผ่นกินไหวได้ประมาณขนาด 6.5 ซึ่งระดับนี้มันสามารถทำลายอาคารบ้านเรือนได้

กรณีที่จังหวัดเชียงรายเมื่อปี 2557 ก็มีแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นมาแล้วขนาด 6.3 ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนพังหลายหลัง ถ้าบังเอิญไปเกิดในจุดที่มีประชากรหนาแน่น เช่น บริเวณเทศบาลเมือง อำเภอเมืองที่มีตึกสูงมากก็เสี่ยงเป็นอันตรายค่อนข้างมาก

หากวิเคราะห์ตามแนวรอยเลื่อนที่เราเห็นไม่ว่าจะเป็นรอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนแม่จัน  รอยเลื่อนเถิน ที่กรมทรัพย์ธรณีเข้าไปสำรวจ มันอาจเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 ปลาย ๆ ถึง 7 ต้น ๆ ได้ นั่นหมายความว่ามันจะทำลายอาคารตามแนวบ้านเรือนได้ ซึ่งรอยเลื่อนพวกนี้มันมีโอกาสค่อย ๆ สะสมพลังงานอย่างช้า ๆ ถึงแม้มันไม่ใช่รอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่มีพลังสูงแต่ระยะเวลาในการสะสมพลังงานก็มีโอกาสเพิ่มพลังมากขึ้นคล้ายกับแผ่นดินไหวที่เกิดจากรอยเลื่อนที่ตุรกีได้

อย่างที่ตุรกีแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในรอบ 100 ปี ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่มันเกิดจากการสะสมพลังงานต่อเนื่องในระดับหนึ่งแล้วจึงคลายพลังงานสะสมออกมา หากเทียบกับกรณีของไทยการสะสมพลังของแผ่นดินไหวในแนวรอยเลื่อนมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่อาจใช้เวลาประมาณ 1,000 ปี ถึงจะผลิตแผ่นดินไหวขนาด 7 สักครั้ง ขณะที่ไทยเองก็มีหลายรอยเลื่อนกว่า 10 รอยเลื่อน เพราะฉะนั้นก็มีโอกาสเกิดเป็นแผ่นดินไหวใหญ่ทุก ๆ 200-300 ปี

“หากถามว่ารอยเลื่อนพวกนี้ฟังดูเหมือนไม่อันตรายเท่าตุรกี ผมจะเทียบกับที่โกเบ ญี่ปุ่น เมื่อปี 1995 มีแผ่นดินไหวที่โกเบ มีอาคารพังตึกถล่มมีคนตายกว่า 6 พันคน อาคารเสียหายเป็น หมื่น ๆ หลัง เหตการณ์นี้เคยเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ถือเป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบกับญี่ปุ่นมาก ซึ่งเกิดจากรอยเลื่อนขนาดไม่ถึง 7 ด้วยซ้ำ ซึ่งอนาคตมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้อีกในทุกๆ 1,000 ปี

คล้ายกับบ้านเราที่แผ่นดินไหวอาจไม่รุนแรงเท่ากับแผ่นดินเท่าตุรกี แต่เหตุการณ์ที่โกเบ ญี่ปุ่น ก็ขนาดไม่ถึง 7 แต่จุดเกิดเหตุอยู่ใต้เมืองโกเบ ที่มีประชากรหนาแน่น คนเมืองนี้ก็เลยได้รับผลกระทบที่รุนแรง ไทยเรามีแหล่งกำเนิดประเภทนี้อยู่ในประทศ เราก็ไม่รู้ว่าวันใดวันหนึ่งมันจะเกิดกับเรา เพราะขณะนี้ที่จังหวัดกาญจนบุรีก็มีหลายแนวรอยเลื่อน ที่จังหวัดตากก็มี ภาคเหนือมีอยู่หลายรอยเลื่อน ที่มันคล้ายกับเมืองโกเบในญี่ปุ่น

ตึกสูง กทม.

กรุงเทพมหานครเสี่ยงแผ่นดินไหวหรือไม่

ประการแรกเราไม่คิดว่ามีรอยเลื่อนอยู่ใต้ กทม. แต่ว่า กทม. มีลักษณะทางธรณีวิทยาแตกต่างจากที่อื่น คือพื้นที่เมืองหลวงตั้งอยู่บนแอ่งดินขนาดยักษ์ ซึ่งแอ่งดินมีความลึกประมาณ 800 เมตร ซึ่งต้องลึกขนาดนั้นถึงฐานแอ่ง เขาเรียกว่าชั้นหินแอ่ง โดยมีความสามารถในการขยายความรุนแรงแผ่นดินไหวได้ เพราะฉะนั้นพอเกิดแผ่นดินไหวไกล ๆ จากต่างประเทศขนาดใหญ่ ๆ มันก็สามารถส่งคลื่นมาถึงกรุงเทพมหานครได้ พูดง่ายลักษณะของการสั่นสะเทือนจากที่อื่นแม้มันจะเดินทางมาไกลตามหลักแล้วแรงสั่นสะเทือนจะอ่อนแรงลง แต่พอมาเจอแอ่งดินที่กรุงเทพมหานคร แรงสั่นสะเทือนนี้จะขยายขึ้นมาใหม่ให้แรงขึ้นได้อีก

ซึ่งป็นการสั่นสะเทือนที่แปลกมากเราพบเหตุการณ์ในหลาย ๆ ชั้นดินที่แอ่งทั่วโลก อย่างเช่นที่โตเกียว โอซาก้า ก็จะสั้นได้แบบนี้เหมือนกัน แอ่งไทเป ก็เหมือนกัน จะคล้ายกับแอ่งดินที่ กทม.ที่จะขยายความรุนแรงได้ แม้จะเป็นการสั่นสะเทือนแบบช้า ๆ ซึ่งจะมีผลต่อ อาคารสูง ๆ อย่างในอดีตเราเคยเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ไกลมากเลย ที่มาจากประเทศจีน มณฑลเสฉวน แต่มาเขย่าที่กลางเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครของเรา ทำให้ตึกสูงโยกหลายตึก หรือแม้แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สุมาตรตรา ประเทศอินโดนีเซีย ก็มาเขย่าอาคารสูง กทม. ซึ่งอาคารสูงที่จังหวัดสงขลา แถว ๆ หาดใหญ่ไม่รู้สึกสั่นไหว แต่กลับมาเขย่าที่ตึกสูงกรุงเทพแบบรู้สึกได้

กทม. มีตึกสูงมากกว่า 1,000 แห่งที่เข้าข่ายที่จะถูกเขย่าจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งเมื่อก่อนเรามีกฎหมายควบคุมอาคารมาตั้งแต่ปี  2540 ที่ควบคุมให้อาคารต้องออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหวแต่ตอนนั้นยังไม่ได้รวมไปถึงพื้นที่กรุงเทพฯ แต่เพิ่งมาขยายกฎหมายมาควบคุมในพื้นที่ กรุงเทพฯ ในปี 2550 โดยก่อนหน้า 2550 ไม่มีการบังคับให้ต้องออกแบบต้านทานแผ่นดินไหวและก็ไม่มีการรองรับการออกแบบ เฉพาะฉะนั้นอาคารรุ่นเก่าก่อนมีกฎหมายรองรับ ต้องยอมรับว่าไม่ได้ออกแบบมาได้สมบูรณ์เต็มที่แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าอาคารพวกนั้นจะอ่อนแอเพราะอาคารรุ่นเก่าอาจจะเผื่อความแข็งเรงไว้ก็มี แต่ก็ต้องยอมรับ หลังปี 2550 จะปลอดภัยได้ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความแข็งแรง และขนาดของแผ่นดินไหวว่ามากแค่ไหน

มาตรการป้องกันภัยพิบัติที่ดีที่สุดคือการปรับตัว พร้อมทำมาตรฐานการก่อสร้างให้แข็งแรง หากจุดไหนที่คิดว่าสร้างแล้วไม่แข็งแรงแต่รื้อไม่ได้ ก็มีวิธีแก้ปัญหาอาคารอ่อนแอได้ จริง ๆ เรามีทีมวิจัยก็เลือกโฟกัสเลือกสร้างความแข็งแรงเพื่อรองรับแผ่นดินไหวในอาคารโรงเรียน เพื่อเพิ่มแรงต้านภัยแผ่นดินไหวได้หลายอาคาร โดยใช้งบประมาณน้อยถือเป็นทางเลือกของการออกแบบในการแก้ปัญหา

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หน.ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก อ.ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ม.เกษตรศาตร์

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานรากและอาจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า บทเรียนแผ่นดินไหวตุรกี สะท้อนให้เห็นภาพอนาคต เช่น ระหว่างการช่วยเหลือหลังเกิดแผ่นดินไหวจะมีความเสี่ยงเกิดอาฟเตอร์ช็อกได้ทุกเมื่อ ในขณะที่การทำการช่วยเหลือต้องคำนึงถึงความปลอดภัยผู้เข้าไปช่วยเหลือด้วย นอกจากนี้เรื่องแผ่นดินไหวในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่แต่จะให้ปลอดภัยต้องวางโครงสร้างให้เป็นระบบในเชิงนโยบาย จึงมีข้อเสนอแผนแม่บทให้มีความสมบูรณ์มากกว่านี้

สำหรับข้อเสนอแผนแม่บท

  1. เร่งสำรวจรอยเลื่อนมีพลัง/ให้ครบแม่สำรวจตัวใหญ่ให้ครบแต่ก็ยังมีตัวเล็ก ๆ ด้วย
  2. ปรับปรุงโครงสร้างคณะอนุกรรมการแผ่นดินไหว/น่าจะใส่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีความแอกทีฟ เช่น ท่องเที่ยว ธุรกิจ มีเอ็นจีโอ ชุดช่องว่าง
  3. จัดทำแผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวระดับชุมชนเมือง/เมื่อรู้รอยเลื่อน แล้วชุมชนมีอาคารประเภทไหนบ้างมีความเสี่ยง
  4. อาคารใหม่และอาคารเก่า
  5. การให้ความรู้และสร้างความตระหนัก/เรามีมาตรฐานออกแบบอาคารใหม่ ๆ ทำอย่างไรจะสร้างระบบภาษีไปซ่อมเสริม

ถ้ามองการสำรวจรอยเลื่อน 70-80 % หลายด้านได้รับการสำรวจแล้ว บางแห่งยังไม่เสร็จ บางทีก็ต้องดูงบประมาณ ตัวไหนที่ใกล้ชุมชนเราก็จะกระตือรือร้นที่ต้องโฟกัสไปที่ชุมชนไหนมีความเสี่ยง ถ้าไม่พอก็สำรวจเพิ่ม ส่วนกลไกนั้นจะต้องมีแผนแม่บทที่ดีในการขับเคลื่อนด้วย

กลไกการการขับเคลื่อน

ต้องมองไปถึงการปรับปรุงโครงสร้างคณะอนุกรรมการ ที่ครอบคลุมและสร้างส่วนร่วมทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน โรงแรมที่เกี่ยวข้อง วัด โรงเรียน นักวิชาการ

อีกประเด็น แม้ กทม.เราไม่ได้เสี่ยงแผ่นดินไหวโดยตรง แต่เรายังเสี่ยงแผ่นดินไหวระยะไกลจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันเราเรายังมีอีกหลายรอยเลื่อนที่มีความเสี่ยง นอกจากกาญจนบุรี ยังมีอยู่ที่ นครนายก แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่ามันมีพลังมากน้อยแค่ไหน ถามกันง่าย ๆ ว่ามันจะมีความปลอดภัยไหม

ดังนั้นการเตรียมความพร้อมทั้งการป้องกัน การสำรวจ การสร้างชุมชนเข้มแข็ง และการใช้กฎหมายควบคุมอาคาร ก็น่าจะมีความปลอดภัย แต่อย่าลืมว่า บ้านเรือนหลายแห่งที่สร้างแบบดั้งเดิมไม่ได้ถูกรองรับแผ่นดินไหวก็ยังคงมีความเสี่ยง ที่ออกเข้าใจร่วมกันว่า หากจะป้องกันต้องทำอย่างรัดกุมในเชิงพื้นที่ ท้องถิ่น และเชิงนโยบายไปพร้อมกันด้วย

อย่างในต่างประเทศจะมีการสำรวจพื้นที่เสี่ยงผลกระทบจากแผ่นดินไหว เพื่อการเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ข้อมูลที่มีประโยชน์มาก

วีระพงษ์ กังวานนวกุล ผอ.ฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

วีระพงษ์ กังวานนวกุล ผอ.ฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนสังคม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2557 เป็นบทเรียนสำคัญของไทย แต่ขณะนี้การลงลึกถึงการให้องค์ความรู้แก่ประชาชนยังไม่ค่อยทั่วถึงมากนัก แม้หน่วยงานภาครัฐจะพยายามสร้างความเข้าใจ แต่ก็ยังอยู่ในวงจำกัด ยกตัวอย่างการเข้าถึงองค์ความรู้การก่อสร้างบ้านในพื้นที่เสี่ยงอาจต้องปรับ และต้องมีคนแนะนำการออกแบบช่างท้องถิ่นออกแบบสร้างบ้านรองรับแผ่นดินไหวด้วย

โดยข้อเสนอการออกแบบชุมชุนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว อาจต้องสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และอาศัยส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้ง รัฐ เอกชน ประชาชน และท้องถิ่น ที่สำคัญการออกแบบนโยบายต้องสอดคล้องกับการปฎิบัติที่เป็นรูปธรรม ไม่เช่นนั้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวอีกครั้งแล้วมารับมือทีหลังจะทำให้สูญเสียมากกว่าป้องกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์