1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว จ.เชียงราย สั่นสะเทือนไทย…เปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง ?

5 พฤษภาคม 2557 เวลา 18.08 น. (ตามเวลาประเทศไทย)
เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ขนาด 6.3
โดยมีจุดศนย์กลางแผ่นดินไหว
ที่ ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย
สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว วิเคราะห์ พบว่ามีความลึก 7 กิโลเมตร

แผ่นดินไหวครั้งนั้น จัดว่าเป็นแผ่นดินไหวตื้น ที่ประชาชนรู้สึกสั่นไหวได้ในหลายพื้นที่ของภาคเหนือโดยเฉพาะบริเวณ จ.เชียงราย, เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, น่าน, พะเยา รวมถึง เลย และหนองคาย ทางภาคอีสาน

อาคารสูงในกรุงเทพมหานคร ก็รู้สึกสั่นไหวหลายแห่งเนื่องจากใต้พื้นดินกรุงเทพฯ เป็นชั้นดินอ่อนซึ่งมีคุณลักษณะในการขยายแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้เพิ่มขึ้นถึง 3-4 เท่า

เหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่เชียงราย มีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บนับร้อย แต่พบความเสียหายเกิดขึ้นแก่บ้านเรือน และสิ่งปลูกสร้างเป็นจำนวนมาก ในบริเวณกว้าง มีผลกระทบถึง 72 จังหวัด เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นดินต่าง ๆ เช่น รอยแยกของพื้นดิน, หลุมยุบ และ น้ำผุดขึ้นมากจากบ่อน้ำผิวดิน

ขณะเดียวกันมี Aftershock กระจายตัวหลายบริเวณในเขต อ.แม่ลาว, พาน, แม่สรวย และ อ.เมืองเชียงราย ครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างตลอดแนวรอยเลื่อนพะเยา จากข้อมูลพบว่ามีAftershock รวมถึง 1,285 ครั้ง (รายงานครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 เวลา 09.00 น.) ขนาด 5.0 – 5.9 จำนวน 8 ครั้ง, ขนาด 4.0 – 4.9 จำนวน 44 ครั้ง, ขนาด 3.0 – 3.9 จำนวน 223 ครั้ง และ ขนาดน้อยกว่า 3.0 จำนวนมากกว่า 1,010 ครั้ง

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เชียงราย ไม่เพียงติดอยู่ในความทรงจำของผู้ได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่ แต่ยังทำให้เกิดคำถามเกิดขึ้นด้วยว่า แรงสั้นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนั้น ผ่านมา 10 ปีเต็ม ๆ ได้ทำให้ผู้คนทั้งสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดความตื่นตัว และพยายามหาแนวทางรับมือภัยพิบัติลักษณะนี้กันบ้างหรือไม่ ?

ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย

คำถามที่เกิดขึ้น The Active ชวน ‘ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย’ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ วิเคราะห์บทเรียนแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในบ้านเรา โดยหากย้อนไปประมาณ 30-40 ปีก่อน ไทยก็เริ่มตระหนักเรื่องภัยแผ่นดินไหวแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีมาตรการเตรียมพร้อมรับมืออะไร ในช่วงนั้นพอเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5 ที่ อ.พาน จ.เชียงราย และในหลายพื้นที่ ซึ่งก็บังเอิญเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่นด้วย

งานวิจัยที่รวบรวมข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา และข้อมูลรอยเลื่อนต่าง ๆ มาจัดทำแผนที่แผ่นดินไหว แผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวในระดับสากล ทำให้พบว่า จริง ๆ แล้ว เมืองไทยมีความเสี่ยงแผ่นดินไหวอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง ในบางพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ จนนำไปสู่การมีกฎหมายควบคุมออกแบบอาคาร ต้านทานแผ่นดินไหวขึ้นมาเป็นครั้งแรก

จุดเริ่มไทยตระหนักภัยแผ่นดินไหว แต่ในทางปฏิบัติยังเป็นคำถาม

ศ.เป็นหนึ่ง ระบุว่า เมื่อประมาณปี 2540 เป็นช่วงแรก ๆ ที่ไทยเริ่มมีการตระหนัก หรือมี Action เตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวแต่กฎหมายในช่วงแรก ๆ ยังไม่ค่อยมีความเข้าใจ คนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องแผ่นดินไหวเท่าไร วิศวกร สถาปนิกต่าง ๆ ก็ยังไม่ค่อยพร้อม เพราะฉะนั้นกฎหมายในช่วงแรก ๆ ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงมาก บังคับให้ออกแบบอาคารที่เป็นอาคารสาธารณะ อาคารที่เก็บวัสดุอันตราย หรือถ้าเป็นอาคารทั่วไปก็ต้องใหญ่หน่อย ประมาณ 15 เมตรขึ้นไป แต่คลุมประเภทอาคารค่อนข้างน้อย เพราะอาคารทั่ว ๆ ไปก็สูงไม่ถึง 15 เมตร กฎหมายช่วงนั้นจึงบังคับใช้เพียงแค่ 10 จังหวัด ภาคเหนือรวมทั้ง กาญจนบุรี ก่อนที่คนทั้งประเทศต้องกลับมาตื่นตัวกับภัยพิบัตินี้มากขึ้น หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิที่จังหวัดชายฝั่งอันดามัน

แผ่นดินไหว – สึนามิ กับความตื่นตัวรับมือ

แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในทะเลอันดามัน จนเกิดคลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มหลายประเทศ รวมถึงจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ในช่วงปลายปี 2547 มีผู้เสียชีวิตเกิน 8,000 คน ทั้งคนไทย นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

ในเวลานั้นสังคมก็หันกลับมาใส่ใจเหตุการณ์แผ่นดินไหวกันอีกครั้ง แม้ว่าแผ่นดินไหวไม่ได้เกิดในประเทศ แต่ก็ทำให้เห็นชัดเจนว่าสามารถส่งผลกระทบมาถึงยังประเทศไทยได้ หรือแม้แต่ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร บนตึกสูงก็สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้เช่นกัน

ก่อนหน้านั้นมีงานวิจัยชี้ว่า กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนแอ่งดินอ่อน ที่สามารถขยายความรุนแรงได้ ขณะที่การสั่นสะเทือนที่สามารถขยายความรุนแรงด้วยแอ่งดิน มีผลกระทบต่อตึกสูงมากเป็นพิเศษ ก็เลยปรับปรุงกฎกระทรวงพื้นที่กรุงเทพฯ รวมปริมณฑล เข้าไปด้วยในพื้นที่ควบคุม

จากนั้นก็มีการพัฒนาต่อเนื่องเข้ามา จนจัดทำมาตรฐานวิชาชีพทางวิศวกรรมว่าจะต้องออกแบบ สร้างอาคาร ก็มีการจัดทำขึ้นมาในช่วงนั้น

1 ทศวรรษ…จากแผ่นดินไหวแม่ลาว อะไรเปลี่ยนไป ?

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่แม่ลาว จ.เชียงราย ขนาด 6.3 ในมุมมองของ ศ.เป็นหนึ่ง เชื่อว่าเป็นอีกจุดเปลี่ยนของการตื่นตัวเหตุแผ่นดินไหว เมื่อ 10 ปีก่อน พื้นที่เกิดเหตุมีประชารกรไม่ค่อยหนาแน่น มีอาคารเล็ก ๆ อยู่มาก และห่างจากตัวเมืองเชียงรายพอสมควร แต่ว่าแผ่นดินไหวก็ทำให้อาคารเสียหาย มากกว่า 10,000 หลัง มีอาคารที่อันตรายที่ได้รับความเสียหายประมาณ 400-500 หลัง ที่พังถล่มลงมาให้เห็นก็ประมาณ 20-30 หลัง

เหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 6 ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดได้ยาก ศ.เป็นหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ในประเทศเมียนมา ในประเทศลาว ก็เกิดแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง และมีตำแหน่งอยู่ใกล้ ๆ พรมแดนไทยบ่อยพอสมควร และถ้าดูย้อนกลับไปอีก จะพบว่า ปี 2478 มีแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ที่ จ. น่าน, ในวันที่ 24 มี.ค.2554 เกิดที่เมียนมา ใกล้ จ.เชียงราย และก็เหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2557 ที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ขนาด 6.3

“หากดูข้อมูลธรณีวิทยา จะยิ่งชัดเจนว่า ไทยมีรอยเลื่อนในบริเวณภาคเหนือ และ จ.กาญจนบุรี หลายรอยเลื่อน อาจมีความสามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ไปจนถึง 7.5 ได้ หมายความว่าในพื้นที่ของเรามีศักยภาพที่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวมากกว่าพื้นที่เชียงรายก็เป็นไปได้”

ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย

แผ่นดินไหวใหญ่ ๆ พลังงานที่ยากจะคาดเดา

ถึงแม้รอยเลื่อนต่าง ๆ มีศักยภาพ แต่มันก็ต้องใช้เวลาสะสมพลังงานเป็นเวลานานหลายร้อยหลายพันปี ซึ่งอาจจจะได้เจอทุก ๆ 200 ปี 300 ปี สักครั้ง เพียงแต่เราไม่รู้ว่าจะไปเกิดที่ไหน มันอาจจะไปเกิดที่เชียงราย, เชียงใหม่, ลำปาง, น่าน คาดเดาได้ยาก เพราะไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดเวลาใด แต่ถ้าในภาพรวมพื้นที่ภาคเหนือ และฝั่งตะวันตกของไทย มีความเสี่ยงชัดเจน แต่การเตรียมพร้อมรับมือของเรายังดีไม่พอ

“เหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว จ.เชียงราย เป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนความรู้สึกคนจากความคิดที่ว่าแผ่นดินไหวเป็นเรื่องไกลตัวทำให้เขาคิดว่าเป็นเรื่องภัยพิบัติจริง ๆ และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้สำหรับการเป็นนักวิจัยเนี่ยส่วนใหญ่ตอนที่ผมทำงานวิจัยเนี่ยจะมีคำถามมาตลอดว่าทำไปทำไมแต่พอเกิดแผ่นดินไหวที่เชียงรายขึ้น ก็ไม่มีคำถามแบบนี้อีกแล้ว ทำให้คนที่เกี่ยวข้องเข้าใจแล้วว่ามันมีความสำคัญที่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือ”

ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย

สำหรับนักวิจัยด้านแผ่นดินไหว จริง ๆ รู้มานานแล้วว่าพื้นที่ของไทยมีความเสี่ยง เพียงแต่ยังไม่มีตัวอย่างให้คนทั่วไปเห็นชัด ๆ ซึ่งแผ่นดินไหวแม่ลาวครั้งนั้น ทำให้คนเห็นชัด และโชคดีที่ไม่ได้เกิดในพื้นที่ที่เป็นเมืองใหญ่ ๆ

อย่างในต่างประเทศแผ่นดินไหว ขนาด 6 คล้าย ๆ กับที่เกิดในแม่ลาว จ.เชียงราย ก็เคยเกิดในเมืองใหญ่ ๆ เช่นกัน อย่างที่เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ครั้งนั้นมีคนเสียชีวิตไปประมาณ 5,000 คน เพราะเกิดในพื้นที่ประชาการหนาแน่น และมีอาคารบ้านเรือนมากมายจึงทำให้สร้างผลกระทบภัยพิบัติที่ร้ายแรงได้ เพราะฉะนั้นเรื่องที่จำเป็นที่ประชาชนควรจะต้องรู้ไว้คือการเตรียมพร้อมรับมือ ไม่ใช่รอให้มันเกิดก่อน แล้วค่อยไปให้ความช่วยเหลือ

แก้กฎหมายควบคุมอาคาร บทเรียนป้องกัน รับมือแผ่นดินไหว ?

กลับมาที่บ้านเรา กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้ปรับปรุงกฎหมายควบคุมอาคารให้เข้มงวดมากขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ประกาศใช้มากกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ

“ให้ลดวามสูงของอาคารจาก 15 เมตร เป็น 3 ชั้นขึ้นไปจะคุมอาการได้อีกเยอะเลย ความจริงตามความเห็นผม อยากให้ควบคุมทุกอาคารด้วย แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง ทำให้เขาลดมาได้ขนาดนี้ นี่อาจจะดีที่สุดเท่าที่ทำได้จนถึงตอนนี้”

ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย

ดังนั้น ศ.เป็นหนึ่ง มองว่า อนาคตต้องทำให้ดีขึ้น อาคารที่สร้างมาในอดีต ก็อาจมีความเสี่ยงปัจจุบันอาคารอ่อนแอมีเยอะในพื้นที่เสี่ยงภัยและยังใช้กันอยู่ เช่น อาคารโรงเรียน อาคารโรงพยาบาล อาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ที่ไม่ได้ออกแบบต้านทานแผ่นดินไหว อย่างโรงเรียนดูง่าย ๆ อาคารที่มี 2 ชั้น 3 ชั้น ที่ด้านบนเป็นห้องเรียนชั้นล่างเปิดโล่งเพื่อใช้ทำกิจกรรม มีแต่เสา ไม่มีกำแพงอาคารเหล่านั้นบอกได้ชัดเจนว่า อาคารอ่อนแอ และมีเยอะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอื่นๆ ด้วยก็มีอาคารเหล่านี้เต็มไปหมด หากเกิดแผ่นดินไหวอาคารเหล่านี้จะเป็นกลุ่มแรกที่จะพัง เพราฉะนั้นสิ่งที่ควรทำมาก ๆ คือการไปเสริมกำลังอาคารที่อ่อนแอที่เรายังใช้งานอยู่ ทำให้แข็งแรงขึ้น

สำหรับวิธีการเสริมกำลังให้อาคารแข็งแรงก็มีแนวทางทำได้หลายรูปแบบ เช่น การเสริมด้วยโคงสร้างเหล็ก, การเสริมขนาดเสา เรียกว่า Column Jacketing นี่อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ไม่ได้ใหม่สำหรับหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือ ไต้หวัน ก็ทำกันเยอะ

ปัจจุบันทีมนักวิจัยได้ทดลองไปเสริมกำลังอาคารโรงเรียน ตอนนี้ทำได้ 7 หลัง ตามนักวิจัยจากต่างประเทศ จริง ๆ ก็นำความรู้ความชำนาญเขามาปรับใช่ในประเทศเราจนทำให้เราเสริมกำลังเป็นตัวอย่างให้ดู ก็หวังว่าในอนาคตจะมีคนนำเทคนิคพวกนี้ไปเสริมกำลังมากขึ้น แต่ที่ทำการทดลองมา การเสริมกำลังมีค่าใช้จ่ายราว 10%-15% ของค่าใช้จ่ายอาคารใหม่ หมายถึง ถ้ามีเงินก้อนหนึ่งเพื่อสร้างอาคารใหม่ 1 หลัง ก็ใช้เงินก้อนเดียวกัน ไปเสริมอาคารได้ 5-10 หลังก็เป็นวิธีที่น่าจะมีประสิทธิภาพ อาจใช้งบฯ ไม่มาก แต่สร้างความแข็งแรงให้กับอาคารได้จำนวนมาก

นอกจากนี้นักวิจัยไทย ก็ติดตั้งเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนในอาคารสูงที่เชียงใหม่ เชียงราย ที่เรียกว่าเครื่องมือตรวจวัดสุขภาพอาคาร พอติดวัดอุปกรณ์เหล่านี้ เวลาเกิดแผ่นดินไหวขึ้นสามารถวัดได้ว่าแรงสั่นสะเทือนแรงแค่ไหน แล้วจากการวัดสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อว่า อาคารจะเสียหายมากน้อยแค่ไหน อาคารนี้ยังปลอดภัยหรือไม่ ปัจจุบันนี้ได้ทดลองไปแล้ว ที่เชียงใหม่ 1 แห่ง ที่เชียงราย 1 แห่ง

“นักวิจัยพยายามรวมทีมที่เรียกว่านักวิจัยและก็ทำงานไปด้วยกันเป็นระยะเวลามากกว่า 20 ปีแล้ว และได้รับการสนับสนุนได้รับทุนวิจัยจากภาครัฐมาโดยตลอด ล่าสุดก็ได้สร้างศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติขึ้นมามีนักวิจัย 20-30 คนเป็นแกนหลักและมีมาเสริมเติม ขณะนี้มี 50 คนแล้ว เป็นกลุ่มที่มีความรู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแผ่นดินไหว ที่มีความรู้ความเข้าใจในหลาย ๆ เรื่อง”

ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย

มองความเสี่ยงคนกรุง กับโอกาสเกิดแผ่นดินไหว

ศ.เป็นหนึ่ง ยกตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงภัยของอาคารสูงที่อยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2526 เกิดแผ่นดินไหว จ. กาญจนบุรี ขนาด 5.9 ตอนนั้นกรุงเทพฯ ยังมีอาคารสูงไม่กี่หลัง แต่ก็ยังโยกกันอย่างรุนแรงจนกระทั่งคนเริ่มเป็นห่วงว่าอาคารสูงในกรุงเทพฯ ออกแบบเพื่อแผ่นดินไหวหรือไม่ ? จากนั้นมาก็พัฒนากรุงเทพฯ มากขึ้น สร้างตึกสูงมากขึ้น มีแผ่นดินไหวมาเขย่าตึกสูงในกรุงเทพฯ เป็นระยะ ๆ ก็ยังไม่รุนแรงมาก แต่ก็ทำให้ผู้คนพากันตกใจ

“ที่จริงก็มีการศึกษากันมาตลอดเราก็พบว่าพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ค่อนข้างจะพิเศษ คือมีสภาพทางธรณีวิทยาที่ค่อนข้างจะพิเศษอยู่คือมีแอ่งดินอ่อนที่ลึกมาก แอ่งดินลึกสักประมาณ 800 เมตร เป็นแอ่งใหญ่มาก กว้างสักประมาณ 200 กิโลเมตรเหนือถึงใต้ 150 กิโลเมตร เป็นแอ่งที่คลอบคลุมหลาย ๆ จังหวัด ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ นะ รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครนายก”

“โดยพบว่าแอ่งนี้มันขยายความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้ 3-4 เท่า นอกจากขยายได้ยังไม่พอ มันยังเปลี่ยนการสั่นสะเทือนให้เป็นการสั่นสะเทือนอย่างช้า ๆ ให้มันเป็นการสั่นสะเทือนตามจังหวะการโยกเตือนของแอ่ง การสั่นสะเทือนแบบโยกช้า ๆ มันไปโยกอาคารสูง ๆ มันไม่ค่อยมีผลต่ออาคารเล็ก ๆ เช่น ตึกแถวบ้านเรือนมันไม่ค่อยมีผลกระทบเท่าไหร่แต่จะไปมีผลต่ออาคารที่สูง ที่โยกช้า ๆ เราคำนวณไปมาประเมินได้ว่าในกรุงเทพฯ อาจส่งผลร้ายแรงต่ออาคารสูง ๆ ได้”

ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย

แต่ผลกระทบจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ไม่ต้องเกิดใกล้กรุงเทพฯ แม้ว่าเกิดไกล ๆ หน่อยก็ส่งผลกระทบมาถึงกรุงเทพฯ เช่น ถ้ามีแผ่นดินไหวขนาด 7-7.5 ที่ กาญจนบุรี ซึ่งเหตุการณ์นี้ยังไม่เคยเกิด แต่ก็มีโอกาสเกิดได้ เพราะว่ามีรอยเลื่อนขนาดใหญ่อยู่ใน จ.กาญจนบุรีหรือ เหตุการณ์ต่อมา แผ่นดินไหวขนาด 8 ที่รอยเลื่อนสกาย เมียนมา อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 400 กิโลเมตร ก็จะส่งผลกระทบถึงกรุงเทพฯ ได้ หรืออาจจะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.5-9 ที่แนวมุดตัวในทะเลอันดามัน อาจมีผลกระทบมายังกรุงเทพฯ ได้เช่นกัน

“เหตุการณ์ที่ยกมานี้ ย้ำว่ายังไม่เคยเกิดขึ้น แต่มีศักยภาพที่จะเกิดขึ้นได้ เหตุการณ์พวกนี้อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่ออาคารสูงในกรุงเทพฯ ผลงานวิจัยเหล่านี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เช่น การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เราได้ออกแบบอาคารรุ่นใหม่ให้มีความแข็งแรง ทนทาน ความจริงยังมีงานวิจัยที่บอกว่า เราต้องออกแบบอาคารสูงอย่างไรให้ถูกต้องด้วย ต้องพัฒนาวิธีใหม่ ๆ ที่ดีขึ้นที่มันสามารถตรวจสอบความปลอดภัยได้มากขึ้น”

ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย

แต่ว่ารายละเอียดในการออกแบบ ว่าจะต้องออกแบบอย่างไร ? การขึ้น การสั่นสะเทือนอย่างไร ? การคำนวณแรงสั่นสะเทือน มีผลต่ออาคารอย่างไร ? จะต้องวิเคราะห์อย่างไร ? ที่ไปอยู่ในมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง เรียกเป็นรหัสว่า มยผ. 1302 ตัวนี้ มาตรฐานนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2552 ปรับปรุงปี 2561 ปัจจุบันมีข้อมูลที่สมบูรณ์อยู่ในนั้น สำหรับในกรุงเทพมหานครเอง มีเทียบสัดส่วน มีอาคารใหม่ 30% นอกนั้นเป็นอาคารเก่า

“ในสายตาผมนะผมคิดว่าการเตรียมพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวของเรายังดีไม่พอ ถึงแม้เราจะมีกฎหมายควบคุมอาคารแล้ว
ถึงแม้เราจะมีมาตราฐานแล้ว แต่ยังมีอาคารอ่อนแอที่สร้างไปแล้วยังเสี่ยงสูง ดังนั้นจึงควรที่จะได้รับการพิจารณาเสริมกำลังให้มันแข็งแรงขึ้น ที่เรายังใช้งานอยู่การออกแบบอาคารรุ่นใหม่ให้แข็งแรง ก็เป็นเรื่องสำคัญแต่ก็รู้สึกว่า ผู้เกี่ยวข้องยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยไปหน่อย มันคงต้องมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการทำให้อาคารรุ่นใหม่ทำได้ตามมาตราฐานที่ถูกต้องจริง ๆ
จะทำให้มาตราการพวกนี้เกิดขึ้นได้ก็คงต้องทำให้มีการตระหนักเรื่องความเสี่ยงแผ่นดินไหวมากขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่อยากจะให้ประชาชนทั่วไปรับทราบกัน”

ศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ทิ้งท้าย

ถอดบทเรียนแผ่นดินไหว ถอดกันเท่าไรถึงจะพอ ?

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ชวนสะท้อนมุมมองต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจ โดยมองว่า 10 ปีของเหตุแผ่นดินไหวที่แม่ลาว จ.เชียงราย ถือเป็นบทเรียนที่ดี เมื่อเวลาผ่านไปก็มีการฟื้นฟู การปรับหน่วยงานราชการ ปรับเรื่องแนวทางการช่วยเหลือ การเตรียมพร้อมให้ดีขึ้น หน่วยงานภาคประชาสังคม NGO ต่าง ๆ ก็มีความตื่นตัวขึ้น เพื่อช่วยเป็นตัวประสานกับหน่วยราชการ

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

สิ่งที่ไม่หยุดเลยคือภาควิชาการ นักวิจัยที่ทำเรื่องนี้ ก็วิจัยกันมาเรื่อย ๆ จนกระทั่ง 10 ปีผ่านมาแล้ว ก็มีเรื่องที่เป็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในเชิงของสิ่งที่จับต้องได้ เช่น การแก้ไขกฎหมาย หรือกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบบอาคารเรื่องแผ่นดินไหว ซึ่งก็สามารถออกมาได้ใน 10 ปีที่ผ่านมานี้ ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเพราะเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นตัวกระตุ้น

อีกเรื่องคือแผนแม่บท การป้องกันและการรับมือจากแผ่นดินไหว และอาคารถล่ม ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งตรงนี้ก็ปรับปรุงจากของเดิมที่มีก่อนแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ก็มาทบทวนว่าจะต้องทำให้ดีมากขึ้นได้อย่างไร ปภ. ก็ทบทวน แล้วก็ทำออกมาให้ดีขึ้น นี่เป็น 2 รูปธรรมที่สำคัญ ที่เป็นเชิงนโยบาย ให้เกิดความปลอดภัยต่อสาธารณะ ทั้งเรื่องกฎหมาย เรื่องเกี่ยวกับอาคาร กฎหมายเกี่ยวกับการช่วยเหลือ คิดว่าถ้ามองอย่างนี้ถือว่าเป็นรูปธรรมที่ดี

แต่ในทางกลับกัน รศ.สุทธิศักดิ์ ก็ยังเห็นว่า สิ่งที่ขาดไป หรือน่าจะต้องเติมเต็ม คงต้องย้อนกลับมาว่าแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวเราทราบอย่างครบถ้วนหรือยัง

“แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว ไม่ว่าจะเป็นรอยเลื่อนมีพลังที่เห็น ๆ อยู่ หรือรอยเลื่อนที่ซ่อนอยู่ เราเรียกว่า Middle Faild หรือ Blind Faild บางตัวก็อยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร บางตัวก็อยู่ใกล้แหล่งชุมชน เช่น ทางโคราชก็มี พวกนี้ก็ต้องทำให้ชัดขึ้น ซึ่งรอยเลื่อนพวกนี้ บางตัวอยู่ใกล้โครงสร้างที่สำคัญ เช่น พื้นที่ในเมือง ก็ต้องทำให้ชัดขึ้น เป็นเรื่องของกรมทรัพยากรธรณี เป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องดูแล”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

‘รอยเลื่อนมีพลัง’ ต้องสำรวจ!

รอยเลื่อนมีพลัง ไม่ว่าที่ยังซ่อนอยู่หรืออาจจะปรากฎออกมาหรือยังสำรวจไม่พบ ปรากฏว่าภาระหลักจะเป็นของกรมทรัพยากรธรณี แน่นอนว่ากรมทรัพยากรธรณีเสนอแผน และงบประมาณ ตามวิชาการที่ควรจะต้องทำอยู่แล้ว แต่สิ่งที่พบก็คือ แผนหรืองบประมาณเหล่านั้นที่ขอไป ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะให้งบประมาณมาหรือไม่

“นโยบายแต่ละรัฐบาลก็ไม่เหมือนกัน หรือถ้าจะมองให้ลึกกว่านั้นคือ การพิจารณาของกรรมาธิการฯ ในเรื่องของงบประมาณส่วนนี้ ก็อาจจะไม่มีความเข้าใจ 100% ผมไม่ได้ว่า กรรมาธิการฯ ไม่เก่ง แต่เรื่องบางเรื่องมันก็ยาก ที่จะเข้าใจว่าเรื่องนี้มันปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน บางทีก็อาจจะต้องเน้นในเรื่องปากท้องของประชากรก่อน อย่างนี้เป็นต้น”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

จัดลำดับความสำคัญ ยืดหยุ่นงบฯ ทุ่มทุนสร้างรับมือ จัดการภัยพิบัติ

แผ่นดินไหว ถึงแม้นาน ๆ เกิดที แต่เมื่อเกิดแล้วจะทำให้เกิดการ Disrupt คือ การที่ทำให้ธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคมหยุดชะงักไปอย่างรวดเร็ว โดย รศ.สุทธิศักดิ์ ยกตัวอย่างประเทศเฮติ ที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ตอนนี้ผ่านมา 10 ปีก็ยังไม่ฟื้น อย่างเนปาล ใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าจะฟื้น

ถ้าเราเตรียมพร้อมการสำรวจแผ่นไหวให้ดี เพื่อที่จะเตรียมเมือง เตรียมการป้องกันให้เหมาะสมกับแผ่นดินไหว ก็จะปลอดภัย ซึ่งนโยบายหรือแนวคิดสำคัญ คือแทนที่เราจะปล่อยให้เป็นการพิจารณาของแต่ละรัฐบาล หรือแต่ละ กรรมาธิการไป มันควรจะมีกฎหมายหรือนโนบายบอะไรบางอย่างที่คุ้มครอง การดำเนินการที่จะต้องใช้งบประมาณ ซึ่งจริง ๆ แล้วเยอะมาก เป็นงบประมาณ เพื่อหาข้อมูลเพื่อความปลอดภัยของสาธารณะ

“ผมไม่ได้พูดแค่เรื่องแผ่นดินไหวนะ แต่ผมกำลังพูดเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น งบประมาณอะไรก็แล้วแต่ซึ่งมันไปเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของสาธารณะและมันมีความยากเข้าไปผสม เช่น ความยากทางความเข้าใจ และวิชาการเข้าไปผสม มันควรต้องมีใครก็แล้วแต่สร้างนโยบายขึ้นมาคุ้มครอง เราไม่ได้พูดถึงงบประมาณเป็นหลักพันล้าน หมื่นล้านด้วยซ้ำ แต่พูดถึงงบประมาณในหลักร้อยล้าน หรือน้อยกว่านั้น ก็แค่สิบล้านด้วยซ้ำไป การสำรวจรอยเลื่อน ก็เป็นหลักสิบล้านเท่านั้นเอง นี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวเรื่องแรกที่ต้องเร่งสนับสนุน”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

‘แผนที่เสี่ยงภัยชุมชน’ อนาคตที่ต้องเติม

เรื่องถัดมาคือชุมชนจะรู้ได้อย่างไร ? ว่าบ้านเขาปลอดภัย หรือไม่ปลอดภัย ประเด็นนี้ รศ.สุทธิศักดิ์ ชวนนึกภาพว่า ในชุมชนมีแผ่นดินไหวเราก็กลัว แต่ไม่มีใครมาชี้ให้เราเห็นว่าบ้านเราไม่ปลอดภัย ว่าถ้าเกิดแผ่นไหวในระดับไหน บ้านคุณจะพังนะ ธุรกิจคุณจะพังนะ ทำให้เราขาดข้อมูลพวกนี้ไปถึงหน้าตักของประชาชน

ดังนั้นการทำ แผนที่ที่เสี่ยงภัยในระดับชุมชน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องจากเรื่องรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้ชุมชน ถ้ามีตัวนี้จะสามารถสร้างแบบจำลอง โดยเริ่มจากชุมชนที่ไม่ต้องใหญ่นัก ต้องไปสำรวจว่าบ้านแต่ละหลัง มีโครงสร้างอะไร มีคนอยู่ยังไงบ้าง ทำธุรกิจอะไร ถ้าเรามีแผนที่นี้ไปวางที่หน้าตักของเจ้าของบ้าน เขาจะเห็นว่ามันมีโอกาสนะที่บ้านของเขาจะพัง มีโอกาสที่ธุรกิจของเขาจะพัง เขาก็จะต้องเริ่มวิธีการลดความเสี่ยง ถ่ายโอนความเสี่ยงด้วยการทำให้แข็งแรงขึ้นหรือไปซื้อประกันมา อย่างน้อยมันก็ไม่เกิดการ Disrupt ดังนั้นการทำแผนที่เสี่ยงภัยในระดับชุมชน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การคุยกับคน เท่าที่ได้รับการเรียนรู้จากแผ่นดินไหวที่แม่ลาว ในปี 2557 พบว่า ถึงแม้หน่วยงานราชการจะทำหน้าที่เต็มที่ นักวิชาการจะมีความเข้าใจอย่างเต็มที่ แต่ตราบใดที่มีการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในเรื่องของความรู้ ข้อมูล หรือ เรื่องอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้นควรต้องมีกระบวนการที่ทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น

‘เขื่อนแม่สรวย’ รูปธรรมจากความขัดแย้ง สู่การสร้างส่วนร่วมชุมชนรับมือภัยพิบัติ

เหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่ จ.เชียงราย เมื่อปี 2557 เขื่อนแม่สวยถูกแรงกระทำจากแผ่นดินไหว จนมีความเสียหายเกิดขึ้น กรมชลประทานที่เป็นเจ้าของเขื่อนก็เข้าไปตรวจสอบ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ก็เข้าไปตรวจสอบ บอกว่าไม่มีผลที่จะทำให้เขื่อนพัง แต่ข้อมูลนั้นไม่สามารถสื่อไปถึงความรู้สึกของชุมชนในพื้นที่ ความจริงกับความรู้สึกบางทีไม่ได้ไปด้วยกัน

ดังนั้นเลยเกิดกระบวนการที่มีคนกลางเข้ามาถ่ายทอดความรู้ แปลข้อมูลให้ทั้ง 2 ฝั่งมาเจอกัน เกิดเป็นหลัก 3 ประการที่ มูลนิธิมดชนะภัย ณ เวลานั้น และนักวิชาการในพื้นที่ร่วมกันใช้ด้วย

  1. การเจรจาระหว่างผู้ขัดแย้ง ต้องมีข้อมูลที่เท่าเทียมกัน คือสิ่งใดที่หน่วยงานรู้นักวิชาการรู้ ชาวบ้านและชุมชนต้องรู้ด้วย ข้อมูลต้องมาวางตรงกลาง ข้อมูลเฉย ๆ แม้เท่าเทียมกันแต่มันอาจจะไม่เข้าใจ ดังนั้นจะต้องมีความรู้ที่เท่ากัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก เพราะชาวบ้านจะรู้เท่าวิศวกร นักวิชาการ นักวิจัยได้อย่างไร หรือว่านักวิชาการ หรือหน่วยงานราชการ เข้าใจความรู้ของชาวบ้านหรือเปล่า เพราะองค์ความรู้ของคนที่อยู่มานานกว่า ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน หรือนักวิชาการ ถ้ามีการแปล ข้อมูลหรือความรู้ให้มีความกระจ่างร่วมกัน กระบวนนี้ต้องใช้เวลา จะสั้นจะยาว ก็ต้องใช้ความอดทน

  2. มีข้อมูลที่เท่าเทียมกัน มีความรู้ที่เท่าเทียมกัน แล้วถึงเริ่มเจรจา

  3. ทุกคนบนโต๊ะเจรจานั้น จะต้องรู้ว่าทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ หรือนักวิชาการก็ต้องวาง Ego ตัวเองลง หน่วยงานราชการ ต้องวางบทบาทตัวเองลง แล้วใช้ความเป็นมนุษย์ด้วยกันคุยกัน เราพบว่าเรื่องที่ 3 จะเป็นตัวเชื่อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้อมูลรอยเลื่อน หรือแหล่งข้อมูลที่มีอยู่แล้ว แผนที่เสี่ยงภัยที่มีอยู่แล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องมีเชื่อมกันให้คนคุยกันและประสบความสำเร็จในการเตือนภัยให้ได้

เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี แผ่นดินไหวที่แม่ลาว จ.เชียงราย หลายภาคส่วนจึงจัดงานรำลึก “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ซึ่ง สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH) และ มูลนิธิมดชนะภัย ได้ร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2567 และตลอดทั้งเดือนนี้ ในพื้นที่ จ.เชียงราย

นี่ถือเป็นโอกาสดีสำหรับการมองย้อนกลับไปว่า ตลอด 10 ปีมานี้ สังคมไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตื่นตัว ตั้งรับ และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหวไว้อย่างไรบ้าง มีอะไรที่ดีขึ้น มีอะไรที่ยังไม่ได้ทำ และยังต้องทำต่อ

“เรานึกถึงภาพเด็กอายุ 10 ขวบ เด็ก 10 ขวบ เขาไม่เคยเห็นว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไรหรือกระทั่ง 15 ขวบด้วยซ้ำที่ไม่เคยเห็นว่าเป็นอย่างไร นี่เป็นโอกาสที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รู้ว่า มันเคยเกิดอะไรที่รุนแรงมาก่อน ในงานจะมีภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น มีงานศิลปะที่แสดงให้เห็นถึงความน่ากลัวเวลานั้นมาปรากฎอยู่ให้ทุกคนได้เห็น มีรถจำลอง มีแผ่นดินไหว เมื่อเกิดแผ่นดินไหว คุณจะรู้สึกอย่างนี้นะ แล้วคุณต้องทำตัวอย่างไร เพื่อให้ปลอดภัย”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

เพราะสิ่งหนึ่งที่เรียนรู้จากทุกบทเรียนภัยพิบัติ คือ การจะคาดหวังระดับนโยบาย การปรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไขใด ๆ ให้เอื้อต่อการรับมือก็คงเป็นเรื่องที่พูดกันมาไม่จบไม่สิ้น จนถูกตั้งคำถามว่าเราได้ถอดบทเรียนเหตุการณ์กันดีพอแค่ไหน ?

ถึงตรงนี้สิ่งที่ประชาชนทุกคนทำได้ดีกว่า โดยไม่ต้องรอรัฐ คือ อย่างน้อยต้องรู้เท่าทันเหตุการณ์อย่างเข้าใจ รู้จักระวังป้องกันตัวเอง คือหนทางที่จะลดความสูญเสียได้ดีที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล