“จะนะ” ในฝัน… ประตูสู่อุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี ?

แม้จะเลื่อนการประชุมพิจารณาผังเมือง อ.จะนะ ที่เดิมกำหนดว่าจะประชุมในวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ออกไปแล้ว และตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด เพื่อศึกษาปัญหาที่กลุ่มชาวบ้าน เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เคลื่อนไหวและชุมนุมเรียกร้องในกรุงเทพมหานครเกือบ 1 สัปดาห์ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติรับทราบแนวทางดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.

แต่ความพยายามพัฒนาภาคใต้ ให้เดินหน้าไปสู่การตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่มีมาตลอด 20 ปี คงไม่จบลงง่าย ๆ

แผนที่ผังเมือง 3 ตำบลในอำเภอจะนะ​ ที่ชาวบ้านเก็บมาจากเวทีรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา ปรากฏ​พื้นที่บางส่วนจะถูกเปลี่ยนจากสีเขียว​ คือ​ พื้นที่เพื่อการทำเกษตรกรรม เป็นสีม่วง​ พื้นที่เพื่อการทำอุตสาหกรรม

“รุ่งเรือง​ ระหมันยะ”​ กำลังชี้แผนที่

รุ่งเรือง​ ระหมันยะ​ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ​ บอกว่า​ การเปลี่ยนสีผังเมืองเป็นใบเบิกทางสำหรับการตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่มีความพยายามมาตลอด 20 ปี โดย​ที่ผ่านมามีการกว้านซื้อที่ดินของชาวบ้าน​​ โดยนักการเมือง​ แล้วขายต่อให้นายทุนเป็นจำนวนมาก

“หากผังเมืองถูกเปลี่ยนสี​สำเร็จ​ โครงการแรกที่จะปักหมุด​การเป็นนิคมอุตสาหกรรมจะนะ​ คือ ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 เป็นส่วนสำคัญของนิคมฯ”

ชาวบ้านจึงพยายามรวบรวมข้อมูลฐานทรัพยากรที่มีทั้งหมดในชุมชน​ เพื่อเป็นหลักฐานในการต่อสู้คัดค้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ​ ในชั้นศาลปกครอง

วงจรเศรษฐกิจ ชายฝั่งทะเลจะนะ

วราภรณ์​ เรืองศรี​ ชาวบ้านหาดสวนกง​ ต.นาทับ​ อ.จะนะ​​ ใช้ชีวิต​ทำมาหากินอยู่กับทะเล ตั้งแต่เกิดจนโต​ กำลังกังวลว่า ทรัพยากรที่เป็นหลังพิงทั้งในยามปกติ​ และในยามวิกฤตจะหมดไป หากทิศทางการพัฒนา​มุ่งที่การสร้างนิคมอุตสาหกรรม​

ปูและปลาที่จับได้จากทะเลหลายชนิด​ ถูกนำไปขายต่อให้กับพ่อค้าคนกลางที่อยู่​ในชุมชน บรรยากาศการซื้อขายจะคึกคักตั้งแต่ช่วงสายไปจนถึงเที่ยงของทุกวัน โดยเฉลี่ยเรือประมงแต่ละลำ ที่จับปลาตั้งแต่เช้า จะขายปลาได้ วันละ 800 ถึง 1,000 บาท เฉพาะ หาดสวนกง มีเรือประมงกว่า 80 ลำ​ มีเถ้าแก่ที่รอรับซื้อปลารวม 4​ เจ้า​ แต่ละเจ้า​ มีเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่าวันละ 10,000 -​ 20,000 บาท

นอกจากปลาสด ๆ ที่ส่งขายให้กับพ่อค้าในชุมชน ที่จะนำไปขายต่อที่ตลาดแพปลาในจังหวัดแล้ว บางครอบครัว​ ก็รับซื้อปลาจากชาวประมงไปแปรรูป เพื่อขายในตลาดชุมชน

แม้จะเป็นคนรุ่นใหม่​ แต่ อัยนา​ ระหมันยะ ต.นาทับ​ อ.จะนะ​ ยังต้องการสืบทอดอาชีพการแปรรูปปลาทะเลจากครอบครัว โดยไม่คิดอยากไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรม เธอบอกว่า​ “อยากมีชีวิต บนความพอเพียง โดยไม่ต้องเบียดเบียนหรือสร้างผลกระทบให้กับผู้อื่น”

ชายฝั่งทะเลจะนะ คือ แหล่งผลิตอาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์น้ำที่จับได้จากประมงพื้นบ้าน ก่อให้เกิดกิจกรรม​ทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชุมชน จนถึง​ส่งออกไปยังต่างประเทศ​ เกิดการกระจายสินค้ากว่า 30​ ตลาดท้องถิ่น​ 10 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา​ และจังหวัดอื่น ๆ​

หากนำเรือประมงใน 3 ตำบลของอำเภอจะนะที่มีกว่า 3,000 ลำ​ มาคำนวณรายได้เฉลี่ยต่อวัน วันละ 1,000 บาท ก็จะพบว่า เฉพาะมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อปีจากกิจการสัตว์ทะเลอยู่ที่กว่า 300 ล้านบาท ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า ทรัพยากรที่มีอยู่ คือแหล่งอาหารที่ยั่งยืน และไม่ได้หล่อเลี้ยงเฉพาะชุมชนแห่งนี้เท่านั้น

สู่อุตสาหกรรมพลังงาน – ปิโตรเคมี

ตลอดเวลา​ที่ผ่านมา​ จังหวัดสงขลามี โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และมีความพยายามจะทำให้เกิดขึ้นอีกจำนวนมาก

เริ่มตั้งแต่โครงการโรงแยกก๊าซไทย​ มาเลเซีย​ โครงการโรงไฟฟ้าจะนะ 1 และ​ 2 ตามด้วยโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา​ โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา​ โครงการรถไฟรางคู่ขนส่งสินค้า​ โครงการมอเตอร์เวย์หาดใหญ่​ ด่านสะเดา​ และโครงการระบบระบายน้ำปลักปลิง-จะนะ​​ ซึ่งคาดการณ์ว่า เมื่อองค์ประกอบครบทุกอย่างนิคมอุตสาหกรรมจะนะก็จะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ  เช่นเดียวกับพื้นที่ อ.มาบตาพุด จ.ระยอง

แม้จะมีเสียงคัดค้าน แต่ภาพฝันของผลประโยชน์ที่จะได้รับหากมีนิคมอุตสาหกรรม และโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งถูกอธิบายโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านความเจริญและอัตราการจ้างงาน ก็ทำให้ สักริยา​ อะยามา​ อดีตสารวัตกำนัน​ ต.นาทับ​ อ.จะนะ​ สนับสนุนการตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และพร้อมเลิกทำอาชีพประมงโดยหันมาค้าขายแทน​ เพราะเห็นว่า ประมงเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอน แต่หากนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นภายใน 5 ปี ลูกหลานของเขา จะมีงานทำ และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับเรื่องนี้

ชี้แก้ผังเมืองจะนะเอื้อนายทุนตั้งนิคม​

การผลักดันแก้ไขผังเมืองจังหวัดสงขลา​มีความคืบหน้าไปมาก ต้องยอมรับว่าส่วนราชการทำถูกต้องตามขั้นตอน แต่ไม่ชอบธรรมสำหรับชาวบ้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ​ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ​ เปิดเผยว่า​ การถือครองที่ดินบางส่วนในนิคมอุตสาหกรรมจะนะ มี​ ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตผู้บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัล ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI ถือครองที่ดิน 7,000 ไร่ และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ซึ่งถือครองที่ดิน 3,000 กว่าไร่

อย่างไรก็ตาม ​ที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว ไม่มีแม้กระทั่ง Buffer Zone ที่กั้นระหว่างนิคมกับชุมชนซึ่งตามหลักจะต้องมีแนวกันชนที่กว้าง 1 -​ 3 กิโลเมตร เมื่อมีนิคมเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนในชุมชนอย่างแน่นอน​ และจะได้เห็นการอพยพโยกย้ายของคนท้องถิ่นที่ทนไม่ไหวกับโรงงานอุตสาหกรรม กลายเป็นชุมชนล่มสลายในที่สุด

“ไม่อยากให้มองว่านิคมอุตสาหกรรมจะนะ​ เป็นเรื่องของคนจะนะ​ แต่เป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศ​ จะสังเกตได้ว่ามีหลายโครงการที่ผุดขึ้นโดยขาดการมีส่วนร่วมกับประชาชน​ เป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐส่วนกลาง​ หากจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ต้องไปเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง​ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ ให้กระจายอํานาจสู่ท้องถิ่น”

นพ.สุภัทร กล่าวอีกว่า​ ในระยะสั้นหากผังเมือง ถูกเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงในพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอจะนะ ชาวบ้านจะต้องไปสู้กันต่อในขั้นตอนของการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือว่า​ EIA ซึ่งต้องทำในทุกโครงการ แต่การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านมา มักเกิดประโยชน์กับเจ้าของโครงการ มากกว่า​ จึงจำเป็นต้องอาศัยความตื่นตัวของคนในชุมชนและคนทั้งประเทศช่วยกันคัดค้าน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS