จะนะ “เมืองอุตสาหกรรม” นอกแผน?

“ถ้ารัฐจะลงทุนสร้างอุตสาหกรรมหลายหมื่นล้าน เราขอสัก 10 ล้าน แล้วจะทำให้ดูว่าพัฒนาแบบไม่กระทบใครมันเป็นยังไง พัฒนาแบบไหนที่ชุมชนเป็นสุข ไม่แตกแยก เราจะทำให้ดู”

นี่ไม่ใช่คำท้าทาย แต่ถ้าไม่มั่นใจ “กิตติภพ สุทธิสว่าง” หรือ “พี่แทน” แกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ก็คงไม่เปิดการสนทนาด้วยถ้อยคำแบบนี้

เขาย้ำแทบทุกเวทีว่า “สังคมต้องการทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก” คนจะนะก็เช่นกัน นั่นเป็นเหตุผลให้เขาและพี่น้องชาวจะนะ จ.สงขลา ลุกขึ้นมาคัดค้าน “โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เลือกมาให้ทั้งที่ชาวบ้านไม่อยากได้

ศอ.บจ. ท้าชน ศอ.บต.

เขายืนยันคนจะนะไม่ได้ค้านการพัฒนาหัวชนฝา แต่ถ้าจะหยิบยื่นการพัฒนา แล้วทิ้งศักยภาพเดิมของพื้นที่ คงยอมรับไม่ได้  เป็นที่มาของการจัดตั้ง “ศอ.บจ.” หรือ “ศูนย์อำนวยการบริหารจะนะยั่งยืน” เพื่อจะบอกกับ ศอ.บต. ว่าพัฒนาแบบไหนให้ตรงใจคนจะนะ

เพราะถ้าย้อนมองสิ่งที่พวกเขาพึ่งพาตัวเอง และร่วมกันสร้างบนต้นทุนทรัพยากรที่มีอยู่ เห็นชัดเจนอยู่แล้วว่าความยั่งยืนด้านอาชีพ รายได้ คุณภาพชีวิต เกิดขึ้นได้จริงโดยไม่จำเป็นต้องให้อุตสาหกรรมเข้ามาทำลายสิ่งที่ร่วมทำมากับมือ

  • ทะเลที่ชาวบ้านช่วยกันฟื้นฟู จนสามารถรักษาระบบนิเวศที่สมบูรณ์ มีสัตว์ทะเลให้จับได้ตลอด สร้างรายได้ 300-400 ล้านบาทต่อปี…
  • นกเขาชวาที่จะนะ มีมูลค่าสูงตัวละเป็นแสนเป็นล้าน เลี้ยงหลายครอบครัว หลายชุมชน ไหนจะส่งออกต่างประเทศ ไหนจะสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงนกเขาเป็นสิบอาชีพ เงินสะพัดเป็นหลักพันล้านบาทต่อปี…
  • ราคายางที่ตกต่ำ คนจะนะก็หาลู่ทาง ปรับเปลี่ยนวิถีทำสวนยางใหม่ ลดต้นทุนปุ๋ย ยา แล้วหันมาปลูกพืชสมุนไพรกับร่วมยาง ไม่เพียงน้ำยางมีคุณภาพขึ้น ยังมีทางเลือกสร้างรายได้ที่ดีกว่าเดิมอีกด้วย…
  • หรือถ้าพูดกันถึงเรื่องพลังงาน คนจะนะก็พิสูจน์แล้วว่า แค่พึ่งพาพลังงานทางเลือก อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ พวกเขาก็อยู่ได้ และเป็นเครือข่ายพลังงานทางเลือกอีกพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง 

“ศักยภาพที่เรามี องค์ความรู้ที่เราได้มา ไม่เคยถูกนำไปใช้เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่เลย เพราะรัฐมองเพียงแค่ว่า จะช่วยนักลงทุน ช่วยเอกชนยังไงให้ยืนอยู่ได้ แล้วมาใช้อำนาจบังคับเอากับชาวบ้านที่พวกเขาอยู่ของเขาดี ๆ ซึ่งหลักคิดของภาครัฐแบบนี้อันตรายมาก ยิ่งเกิดวิกฤตโรงระบาดยิ่งชัดเจน คุณทำได้แค่กู้เงินมาเยียวยา แต่ตอนนี้คนจะนะกำลังช่วยคุณอยู่ เพราะพวกเขากำลังดูแลรักษาทะเล พื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สร้างแหล่งอาหารที่มั่นคง สร้างพลังงานที่ยั่งยืน นี่คือภูมิคุ้มกันด้านเศรษฐศาสตร์ที่สูงมาก แล้วคุณจะเอาโมเดลแบบเก่าอย่างอุตสาหกรรมมาบตาพุดมายัดเยียดไว้ที่จะนะอีกหรือ มันไม่ตอบโจทย์แล้ว” 

“ผังเมือง” ผิด ชีวิต (จะนะ) เปลี่ยน

ต้นทุนที่คนจะนะมี เป็นอีกปัจจัยที่ยิ่งตอกย้ำว่า กระบวนการคิดที่ภาครัฐใช้ขับเคลื่อนให้เกิดเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตที่จะนะถูกตั้งคำถามอย่างมาก โดยเฉพาะขั้นตอนสำคัญอย่างการขอปรับเปลี่ยนผังเมืองรวมจะนะ เพื่อรองรับอุตสาหกรรม

เมื่อผังเมือง คือ ตัวกำหนดทิศทางการใช้ประโยชน์ที่ดิน จึงไม่แปลกใจที่ต้องฝ่าด่านผังเมืองไปให้ได้ก่อน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสนใจกระบวนการว่าจะผิดเพี้ยนต่อหลักการหรือไม่ นี่คือประเด็นหลักที่เวที “ปกป้องภูมินิเวศ จะนะปลอดเขตอุตสาหกรรม” ช่วยกันหาคำตอบ โดยเครือข่ายสถาปนิกเพื่อชุมชน เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม เครือข่ายวิชาการสถาปัตย์และผังเมือง และอีกหลายเครือข่าย ร่วมกันแสดงข้อคิดเห็นต่อกระบวนการขอเปลี่ยนผังเมืองที่จะนะ

ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คือ ข้อสังเกตที่มีต่อมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง และ จ.สงขลา ดำเนินการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินในส่วนพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับแผนเร่งด่วนการลงทุนของภาคเอกชน 3 ตำบลของ อ.จะนะ  (ต.นาทับ, ต.สะกอม และ ต.ตลิ่งชัน) 

“ภารนี สวัสดิรักษ์” นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง ชี้ไปที่ประเด็นแรก ว่า มติ ครม. ดังกล่าวซึ่งรับทราบและเห็นชอบ “รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่ ศอ.บต. จัดขึ้นนั้น อาจสวนทางกับความจริง เมื่อสิ่งที่สังคมรับรู้ และถูกเผยแพร่ผ่านสื่อ คือ เวทีรับฟังความเห็นฯ ที่จะนะในวันนั้น (11 ก.ค. 2563) ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง ปิดกั้นกลุ่มเห็นต่าง และไม่ได้รับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการผังเมือง

การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ ศอ.บต. เสนอนั้น คือ เปลี่ยนจาก “สีเขียว” พื้นที่ชนบทเกษตรกรรม ไปเป็น “สีม่วง” พื้นที่อุตสาหกรรม ซึ่ง ศอ.บต. อ้างแค่เป็น “แผนเร่งด่วนการลงทุนของภาคเอกชน” ทั้งที่ชัดเจนว่า ย้อนแย้งกับรายละเอียดในผังเมืองรวม จ.สงขลา ฉบับปี 2559 เพราะเป็นผังเมืองที่ผ่านการศึกษาอย่างรอบด้านที่สุดและเล็งเห็นศักยภาพ ทิศทาง อนาคตของจะนะ จึงยืนยันผังพื้นที่สีเขียว และบังคับใช้มาจนทุกวันนี้

อีกประเด็นที่ ศอ.บต. ขอแก้ไขผังเมือง คือ อ้างมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562  ที่ระบุไว้ว่า หากจะแก้ไขผังเมืองต้องแก้ไขอันเนื่องมาจากสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และแก้ไขเพื่อประโยชน์สาธารณะ เรื่องนี้มีข้อท้วงติง ว่า หากพิจารณาจากจากสภาพการณ์ที่แท้จริงในพื้นที่ เอาเฉพาะแค่ 3 ตำบลของจะนะ ก็ยังไม่ถูกเปลี่ยนแปลงจนได้รับความเสียหาย ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงทำมาหากิน ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างหลากหลายทั้งบนบกและในทะเล จนเรียกว่าเป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารก็ว่าได้  เหตุผลที่จะใช้มาตรา 35 เพื่อมาขอยกเลิกจากพื้นที่ชนบทเกษตรกรรม ไปเป็นอุตสาหกรรม เป็นไปตามสิ่งที่กฎหมายระบุไว้หรือไม่ ส่วนที่กฎหมายบอกให้แก้ไขเพื่อประโยชน์สาธารณะนั้น ภาครัฐมั่นใจหรือไม่ว่า สิ่งที่พยายามผลักดันอยู่นั้น ส่วนรวมได้ประโยชน์มากกว่ากลุ่มทุนเอกชน ดังนั้นเห็นว่าการขอแก้ไขผังเมืองตามมาตรา 35 แล้วอ้างตามมติ ครม. จึงไม่สมเหตุสมผล

เมืองอุตสาหกรรมนอกเป้าหมาย

เหตุผลสำคัญที่ ศอ.บต. อ้างถึงโครงการฯ คือ เพื่อความเจริญ การมีงานทำ สร้างความกินดีอยู่ดีให้คนในพื้นที่ จึงเลือกจะนะเพื่อพัฒนาเมืองอุตสาหกรรม แต่ที่ ศอ.บต. อ้างการพัฒนา กำลังย้อนแยังกับผังแม่บทเมืองอัจฉริยะตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรม ที่เมื่อพิจารณาจากประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ พ.ศ. 2561 ได้ระบุพื้นที่เป้าหมายไว้ 15 จังหวัด 18 พื้นที่

แน่นอนว่า จ.สงขลา เป็นหนึ่งในนั้น แต่ถ้าลองดูรายละเอียด กลับระบุไว้เพียง พื้นที่ ต.บ้านพรุ , ต.พะตง, ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ และ หลายพื้นที่ใน อ.สะเดา

ไม่ปรากฏว่ามี อ.จะนะ เป็นพื้นที่เป้าหมาย…

นี่เป็นคำถามถึงรัฐบาลว่า สิ่งที่ ศอ.บต. เดินหน้าพัฒนา สวนทางกับยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ และเพราะเหตุใด  ศอ.บต. จึงไม่พัฒนาในพื้นที่เป้าหมายของเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่ระบุเอาไว้ หรือนี่คือสัญญาณที่กำลังบอกว่า อุตสาหกรรมอาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ในอนาคต 

“สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เชื่อได้ว่า ศอ.บต.กำลังทำตามความต้องการของเอกชน เพราะข้อมูลที่ยังศึกษาไม่รอบด้าน กลับถูกเสนอเพื่อให้ ครม. เห็นชอบ แล้วความเป็นธรรมสำหรับคนในพื้นที่อยู่ตรงไหน จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นแก่ความชอบธรรม และควรท้วงติงมติ ครม.เรื่องนี้ เพราะ​เป็นการเปิดทางให้กับการลงทุนที่ไม่ยึดโยงกับฐานทรัพยากรที่ชาวบ้านเขามีอยู่แล้ว”

การพัฒนาที่ไม่เคยศึกษาบทเรียน

สอดคล้องกับความเห็นของ “ผศ.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทย์วงศ์” ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่ยืนยันว่า “ภูมินิเวศ” คือหลักการสำคัญที่ผังเมืองต้องยึดถือ เพราะท่าทีของภาครัฐที่เชื่อว่าจะนะมีทรัพยากรที่เหมาะสม สมบูรณ์ จึงน่าจะแบ่งมาใช้ได้เพื่ออุตสาหกรรมได้ คำถามคือเป็นธรรมกับคนที่ใช้อยู่ก่อนหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาสังคมไทยก็ไม่นำผลกระทบเรื่องการพัฒนาที่แย่งชิงทรัพยากรแบบนี้มาเป็นบทเรียนเลย

จึงไม่แปลกใจที่ชาวบ้านออกมาคัดค้าน นั้นก็เพราะว่าเขาไม่เคยเห็นตัวอย่างที่ดีของนิคมอุตสาหกรรม การจะมีนิคมอุตสาหกรรมที่สะอาดไปตั้งอยู่หน้าบ้านแล้วไม่ส่งผลกระทบอะไรเลย จึงเป็นเพียงภาพฝัน ปัจจัยสำคัญคือชาวบ้านไม่เชื่อใจ ไม่มั่นใจระบบจัดการ และควบคุมของภาครัฐ ทั้งที่ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านนั้น พวกเขาฝากไว้กับสิ่งแวดล้อม ใครจะทำให้เขามั่นใจได้ว่า ถ้ามีอุตสาหกรรม แล้วไม่กระทบประมง ใครจะทำให้เขามั่นใจได้ว่า ถ้ามีอุตสาหกรรม แล้วไม่กระทบการเพาะเลี้ยงนกเขาชวา จะมั่นใจได้หรือไม่ว่าอุตสาหกรรมจะไม่แย่งน้ำในคลองนาทับเส้นเลือดหลักของชุมชน สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านก็มั่นใจว่าจะทำให้พวกเขาเสียการพึ่งพาตัวเอง จึงไม่คิดแลก

บทส่งท้าย

ดังนั้น การจะเดินหน้าไปสู่อนาคตที่ไม่หลงลืมสิทธิชุมชน และให้ความเป็นธรรมกับผู้คนในการพึ่งพิงทรัพยากร การพัฒนาก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มนับหนึ่งด้วย “อุตสาหกรรม” อีกต่อไป เพราะสิ่งที่คนจะนะพยายามพิสูจน์ให้เห็นมาตลอด คือ การพัฒนาจำเป็นต้องมีพวกเขาอยู่ในขบวน และสิ่งที่พัฒนาต้องเป็นไปเพื่อต่อยอดศักยภาพที่พวกเขามี น่าจะเป็นทางเลือกที่ทุกฝ่ายได้เติบโตไปด้วยกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น