แม้จะเลื่อนการประชุมพิจารณาผังเมือง อ.จะนะ ที่เดิมกำหนดว่าจะประชุมในวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ออกไปแล้ว และตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด เพื่อศึกษาปัญหาที่กลุ่มชาวบ้าน เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เคลื่อนไหวและชุมนุมเรียกร้องในกรุงเทพมหานครเกือบ 1 สัปดาห์ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติรับทราบแนวทางดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.
แต่ความพยายามพัฒนาภาคใต้ ให้เดินหน้าไปสู่การตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่มีมาตลอด 20 ปี คงไม่จบลงง่าย ๆ
- อ่านเพิ่ม ครม. รับทราบ แนวทางแก้ปัญหาจะนะ
แผนที่ผังเมือง 3 ตำบลในอำเภอจะนะ ที่ชาวบ้านเก็บมาจากเวทีรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา ปรากฏพื้นที่บางส่วนจะถูกเปลี่ยนจากสีเขียว คือ พื้นที่เพื่อการทำเกษตรกรรม เป็นสีม่วง พื้นที่เพื่อการทำอุตสาหกรรม
รุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ บอกว่า การเปลี่ยนสีผังเมืองเป็นใบเบิกทางสำหรับการตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่มีความพยายามมาตลอด 20 ปี โดยที่ผ่านมามีการกว้านซื้อที่ดินของชาวบ้าน โดยนักการเมือง แล้วขายต่อให้นายทุนเป็นจำนวนมาก
“หากผังเมืองถูกเปลี่ยนสีสำเร็จ โครงการแรกที่จะปักหมุดการเป็นนิคมอุตสาหกรรมจะนะ คือ ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 เป็นส่วนสำคัญของนิคมฯ”
ชาวบ้านจึงพยายามรวบรวมข้อมูลฐานทรัพยากรที่มีทั้งหมดในชุมชน เพื่อเป็นหลักฐานในการต่อสู้คัดค้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ในชั้นศาลปกครอง
วงจรเศรษฐกิจ ชายฝั่งทะเลจะนะ
วราภรณ์ เรืองศรี ชาวบ้านหาดสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ ใช้ชีวิตทำมาหากินอยู่กับทะเล ตั้งแต่เกิดจนโต กำลังกังวลว่า ทรัพยากรที่เป็นหลังพิงทั้งในยามปกติ และในยามวิกฤตจะหมดไป หากทิศทางการพัฒนามุ่งที่การสร้างนิคมอุตสาหกรรม
ปูและปลาที่จับได้จากทะเลหลายชนิด ถูกนำไปขายต่อให้กับพ่อค้าคนกลางที่อยู่ในชุมชน บรรยากาศการซื้อขายจะคึกคักตั้งแต่ช่วงสายไปจนถึงเที่ยงของทุกวัน โดยเฉลี่ยเรือประมงแต่ละลำ ที่จับปลาตั้งแต่เช้า จะขายปลาได้ วันละ 800 ถึง 1,000 บาท เฉพาะ หาดสวนกง มีเรือประมงกว่า 80 ลำ มีเถ้าแก่ที่รอรับซื้อปลารวม 4 เจ้า แต่ละเจ้า มีเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่าวันละ 10,000 - 20,000 บาท
นอกจากปลาสด ๆ ที่ส่งขายให้กับพ่อค้าในชุมชน ที่จะนำไปขายต่อที่ตลาดแพปลาในจังหวัดแล้ว บางครอบครัว ก็รับซื้อปลาจากชาวประมงไปแปรรูป เพื่อขายในตลาดชุมชน
แม้จะเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ อัยนา ระหมันยะ ต.นาทับ อ.จะนะ ยังต้องการสืบทอดอาชีพการแปรรูปปลาทะเลจากครอบครัว โดยไม่คิดอยากไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรม เธอบอกว่า “อยากมีชีวิต บนความพอเพียง โดยไม่ต้องเบียดเบียนหรือสร้างผลกระทบให้กับผู้อื่น”
ชายฝั่งทะเลจะนะ คือ แหล่งผลิตอาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์น้ำที่จับได้จากประมงพื้นบ้าน ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชุมชน จนถึงส่งออกไปยังต่างประเทศ เกิดการกระจายสินค้ากว่า 30 ตลาดท้องถิ่น 10 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา และจังหวัดอื่น ๆ
หากนำเรือประมงใน 3 ตำบลของอำเภอจะนะที่มีกว่า 3,000 ลำ มาคำนวณรายได้เฉลี่ยต่อวัน วันละ 1,000 บาท ก็จะพบว่า เฉพาะมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อปีจากกิจการสัตว์ทะเลอยู่ที่กว่า 300 ล้านบาท ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า ทรัพยากรที่มีอยู่ คือแหล่งอาหารที่ยั่งยืน และไม่ได้หล่อเลี้ยงเฉพาะชุมชนแห่งนี้เท่านั้น
สู่อุตสาหกรรมพลังงาน – ปิโตรเคมี
ตลอดเวลาที่ผ่านมา จังหวัดสงขลามี โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และมีความพยายามจะทำให้เกิดขึ้นอีกจำนวนมาก
เริ่มตั้งแต่โครงการโรงแยกก๊าซไทย มาเลเซีย โครงการโรงไฟฟ้าจะนะ 1 และ 2 ตามด้วยโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา โครงการรถไฟรางคู่ขนส่งสินค้า โครงการมอเตอร์เวย์หาดใหญ่ ด่านสะเดา และโครงการระบบระบายน้ำปลักปลิง-จะนะ ซึ่งคาดการณ์ว่า เมื่อองค์ประกอบครบทุกอย่างนิคมอุตสาหกรรมจะนะก็จะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ เช่นเดียวกับพื้นที่ อ.มาบตาพุด จ.ระยอง
แม้จะมีเสียงคัดค้าน แต่ภาพฝันของผลประโยชน์ที่จะได้รับหากมีนิคมอุตสาหกรรม และโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งถูกอธิบายโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านความเจริญและอัตราการจ้างงาน ก็ทำให้ สักริยา อะยามา อดีตสารวัตกำนัน ต.นาทับ อ.จะนะ สนับสนุนการตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และพร้อมเลิกทำอาชีพประมงโดยหันมาค้าขายแทน เพราะเห็นว่า ประมงเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอน แต่หากนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นภายใน 5 ปี ลูกหลานของเขา จะมีงานทำ และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับเรื่องนี้
ชี้แก้ผังเมืองจะนะเอื้อนายทุนตั้งนิคม
การผลักดันแก้ไขผังเมืองจังหวัดสงขลามีความคืบหน้าไปมาก ต้องยอมรับว่าส่วนราชการทำถูกต้องตามขั้นตอน แต่ไม่ชอบธรรมสำหรับชาวบ้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ เปิดเผยว่า การถือครองที่ดินบางส่วนในนิคมอุตสาหกรรมจะนะ มี ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตผู้บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัล ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI ถือครองที่ดิน 7,000 ไร่ และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ซึ่งถือครองที่ดิน 3,000 กว่าไร่
อย่างไรก็ตาม ที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว ไม่มีแม้กระทั่ง Buffer Zone ที่กั้นระหว่างนิคมกับชุมชนซึ่งตามหลักจะต้องมีแนวกันชนที่กว้าง 1 - 3 กิโลเมตร เมื่อมีนิคมเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนในชุมชนอย่างแน่นอน และจะได้เห็นการอพยพโยกย้ายของคนท้องถิ่นที่ทนไม่ไหวกับโรงงานอุตสาหกรรม กลายเป็นชุมชนล่มสลายในที่สุด
“ไม่อยากให้มองว่านิคมอุตสาหกรรมจะนะ เป็นเรื่องของคนจะนะ แต่เป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศ จะสังเกตได้ว่ามีหลายโครงการที่ผุดขึ้นโดยขาดการมีส่วนร่วมกับประชาชน เป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐส่วนกลาง หากจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ต้องไปเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้กระจายอํานาจสู่ท้องถิ่น”
นพ.สุภัทร กล่าวอีกว่า ในระยะสั้นหากผังเมือง ถูกเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงในพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอจะนะ ชาวบ้านจะต้องไปสู้กันต่อในขั้นตอนของการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือว่า EIA ซึ่งต้องทำในทุกโครงการ แต่การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านมา มักเกิดประโยชน์กับเจ้าของโครงการ มากกว่า จึงจำเป็นต้องอาศัยความตื่นตัวของคนในชุมชนและคนทั้งประเทศช่วยกันคัดค้าน