“ชัยชนะจากการเลือกตั้งก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ความสามารถในการบริหารประเทศก็เป็นอีกเรื่อง เมื่อทำให้คนเชื่อในสิ่งที่พูดจนเขาเลือกเข้ามาแล้ว การรักษาคำพูดที่ใหญ่กว่า และต้องทำให้ได้ คือการส่งมอบความคาดหวังของผู้คนตามที่เคยเคยพูดไว้ให้สำเร็จ”
ด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค กลายเป็นภาพจำของการ “รักษาคำพูด” จากการจัดกิจกรรม 11 นาที เพื่อแสดงออกถึงความรับผิดชอบคำพูดตัวเอง หลังจาก ‘พรรคเพื่อไทย’ ประกาศจัดตั้ง ‘รัฐบาลสลายขั้ว’ แม้เจ้าตัวยืนยันว่าเป็นการตัดสินใจส่วนตัว ใม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเมือง แต่ผลจากกิจกรรมวันนั้นก็กลายเป็นรูให้ผู้คนในสังคมได้ระบายความอัดอั้น และช่วยให้บรรยากาศการเมืองผ่อนคลายลง
คนจำนวนหนึ่งยกให้เขาเป็น ‘นายแบก’ พรรคเพื่อไทย ก่อนหน้านั้นเขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย ขับเคลื่อนความคิดเชิงนโยบายร่วมกับแกนนำหลายคนในพรรคเพื่อไทย ขณะที่ผู้คนอีกไม่น้อยรู้จักเขาในบทบาทสถาปนิก รวมถึงในฐานะผู้ผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์และแนวคิดการพัฒนาเมือง
The Active สนทนากับ “ดวงฤทธิ์” ผ่านมุมมองในทุกบทบาทของเขา เพื่อหาคำตอบของการเปลี่ยนผ่าน ไปต่อประเทศไทย อะไรคือสิ่งสำคัญที่คนไทยต้อง “อย่าลืม” รวมถึงถามถึงคุณค่าและความหมายของ “ความรับผิดชอบต่อคำพูด” ที่ให้ไว้กับประชาชนของพรรคและนักการเมือง ในมุมมองของเขาไปพร้อมกัน
นิยาม ‘รักษาคำพูดทางการเมือง’
ผ่านมาเกือบหนึ่งเดือน สำหรับการจัดกิจกรรมแสดงความรับผิดชอบต่อคำพูดของตัวเองของดวงฤทธิ์ แม้เจ้าตัวจะยืนยันหลายหน ว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวการเมือง แต่การตัดสินใจทำตามคำพูดของเขาถูกจับโยงไปตั้งคำถามกับนักการเมือง คล้ายจะย้ำว่า “อย่าลืม” ให้ความสำคัญต่อการรักษาคำพูดที่เคยให้ไว้กับประชาชน ซึ่งตัวเขาเห็นว่าการ “พูดแล้วทำ” เป็นปกติวิสัยที่ทุกคนพึงกระทำ
“มันอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการลืม หรือจำ ผมไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาในช่วงเร็ว ๆ นี้อย่างเดียวแล้ว แต่ผมพูดว่าทั้งหมดของชีวิตมนุษย์ มันน่าจะเป็นเรื่องของการพูดอะไรออกไปบางอย่างแล้วก็ทำให้สอดคล้องกัน หากทำได้ ก็จะทำให้ชีวิตและสังคมเรียบง่ายมากขึ้นเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เป็นฝ่ายค้าน เป็นประชาชนหรือใครก็ตาม”
ดวงฤทธิ์ บอกว่า อันที่จริงตัวเขาเองพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นการเมือง เพราะถือว่าตัวเองมีบทบาทเป็น “ผู้ดู” ไม่ใช่ผู้ตัดสิน จึงทำได้แค่นั่งดูตาปริบ ๆ เหมือนคนทั่วไปว่านักการเมืองจะเล่นอะไรกัน แต่หากพูดถึง “การรักษาคำพูดทางการเมือง” ต้องขอขยายความถึงการให้ความสำคัญต่อ “ผลลัพธ์” ที่ปลายทาง คือการทำให้ได้อย่างที่ให้คำมั่นไว้
“ผมบอกว่าจะเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ผมก็พูดกับคุณว่าเดี๋ยวสัญญานะ ว่าจะนั่งตุ๊กตุ๊กไป แต่แล้ววันหนึ่งมีคนประดิษฐ์รถไฟขึ้นมา ซึ่งมันไปได้เร็วกว่า ผมบอกว่าผมจะไม่ไปรถตุ๊กตุ๊กแล้วนะ ผมจะไปด้วยรถไฟ แล้วพอวันหนึ่งมีเครื่องบิน ผมก็บอกว่าจะไปโดยเครื่องบิน ซึ่งมันยังรักษาคำพูดของเราว่าจะไปเชียงใหม่แต่เราค้นพบวิธีการที่ดีขึ้นในการเดินทางไปได้
…ต้องมองเรื่องนี้ให้กว้าง เพราะเมื่อเจอวิธีอื่นที่เป็นวิวัฒนาการของความคิดแล้วมันไปได้ดีขึ้น เร็วกว่า ก็ต้องลงมือทำให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ระหว่างทางอาจมีการเปลี่ยนแปลง เราอาจไม่ได้ทำแบบเดิม แต่ได้เป้าหมายแบบเดิม ผมยังถือว่าเราไม่ได้แปรเปลี่ยน คือเราพูดไปถึงไหนก็ลงมือทำให้สอดคล้องกัน”
ในฐานะผู้ชม ดวงฤทธิ์ มองว่าคุณค่าและความหมายของ “การให้คำมั่นกับประชาชน” ในทางการเมือง อยู่ที่ผลลัพธ์ของการกระทำ ว่าจะสามารถส่งมอบความคาดหวังของผู้คน ทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีชีวิตที่ดีขึ้น และประเทศเคลื่อนไปข้างหน้าได้จริงหรือไม่
“ผมไม่ได้เป็นกองเชียร์พรรคเพื่อไทยแบบไม่ลืมหูลืมตา พรรคเพื่อไทยเองถ้าอยากจะสู้กับก้าวไกลก็ต้องหาวิธีไปให้ได้จากจุดนี้ ด้วยการทำให้สิ่งที่สัญญาไว้นอกเหนือจากเรื่องของการจับหรือไม่จับมือกับใคร เกิดขึ้นได้จริง
…อย่างนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล รถไฟฟ้า 20 บาท หรือทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นที่สำหรับการพิสูจน์ตัวเองว่าเขาสามารถส่งมอบความหวังของผู้คนได้หรือเปล่า
การชนะเลือกตั้งกับการบริหารประเทศเป็นคนละเรื่องกัน การชนะเลือกตั้งไม่ได้เป็นแค่โอกาส แต่อาจจะเป็นจุดที่อันตรายที่สุด หากผ่านการเลือกตั้งเข้ามาได้ แต่ไม่สามารถส่งมอบความคาดหวังให้กับผู้คน มันก็จะเป็นปัญหา“
ความแตกต่างและการหาสมดุล ระหว่าง “ปฏิวัติ” กับ “วิวัฒนาการ”
เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลังเลือกตั้งและได้รัฐบาลใหม่ ดวงฤทธิ์บอกว่า ยังเร็วเกินไปหากจะประเมินผลลัพธ์ของความเปลี่ยนแปลง แต่อยากชวนมองต่อว่า การเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำได้สองแบบ คือ
- การเปลี่ยนแปลงแบบปฏิวัติ (Revolution) ที่เป็นแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เปลี่ยนแปลงทันทีหรือเพียงชั่วข้ามคืน
- กับอีกแบบคือการเปลี่ยนแปลงแบบวิวัฒนาการ (Evolution) เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีขั้นตอน มีลำดับ
เขายกตัวอย่าง เปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงในระบบชีววิทยาหรือระบบนิเวศ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ว่าส่วนใหญ่จะเกิดในในรูปแบบของวิวัฒนาการ เช่น ถ้าเราเชื่อว่าคนมาจากลิง ก่อนเป็นคนได้ก็ต้องเป็นลิงมาก่อน แม้คุณสมบัติของความเป็นลิงไม่ได้เป็นคนอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ท้ายที่สุดก็กลายเป็นคน อันนี้คือวิวัฒนาการ
เทียบกับการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันที อย่างการทดลองเรื่องตัวไฮดรา ถ้านำไฮดรามาตัดห้วออก จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใด แต่เราไม่รู้ว่าไฮดราที่ผ่าออกมาจะกลายเป็น 2 หัวหรือ 2 หาง ดังนั้น แม้จะมีความทันใจ มีความเฉียบขาด เฉียบคม แต่การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้มี “ความเสี่ยง” เพราะไม่สามารถการันตีได้ ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร
ดวงฤทธิ์ ย้ำว่า ตัวเขาไม่ได้มองว่าความเปลี่ยนแปลงรูปแบบไหนถูกหรือผิด แค่เพียงสะท้อนให้เห็นว่าทั้ง 2 แบบมีผลลัพธ์และการรับประกันผลลัพธ์ที่จะได้แตกต่างกัน
แต่ถ้าถามว่านับจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปในรูปแบบไหน ดวงฤทธิ์บอกว่าเขาตอบไม่ได้ แต่หากเทียบกับช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ที่เขามองว่าเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของประเทศไทย วันนี้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว คือได้รัฐบาลใหม่ ถ้าหลังจากนี้เริ่มเห็นโอกาส หรือแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ก็แปลว่าสังคมเกิดวิวัฒนาการซึ่งเป็นไปอย่างช้า ๆ อาจไม่ทันใจ แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แข็งแรง ในทางกลับกัน หากหลังจากนี้ เรายังรู้สึกไม่ต่างไปจาก 9 ปีที่แล้วก็ถือว่าไม่มีวิวัฒนาการอะไร ซึ่งต้องรอดูกันต่อไป
ขณะที่ภาพการเมืองปัจจุบัน ในมุมมองของ ดวงฤทธิ์ เขาเห็นว่า พรรคก้าวไกลมีจุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการปฏิวัติ (Revolution) ส่วน พรรคเพื่อไทย มีมุมมองเป็นแบบวิวัฒนาการ (Evolution) ถ้าหากนำมาผสมผสานกัน เขามองว่าจะได้สิ่งใหม่ที่สวยงาม
“โดยสัตย์จริง ผมยังอยากเห็นส่วนผสมของรัฐบาลจากเพื่อไทยกับก้าวไกล ถ้ามันเกิดขึ้นก็จะเป็นส่วนผสมที่ลงตัวสำหรับประเทศไทย”
แต่ในเมื่อสมการทางการเมืองยังเป็นแบบที่เป็นอยู่ ก็อาจต้องอยู่บนพื้นฐานของวิวัฒนาการไปก่อน แล้วดูว่าจะนำพาความเปลี่ยนแปลงไปยังทิศทางใด ขณะที่วิธีคิดของพรรคก้าวไกลจะเป็นตัวกระตุ้นให้วิวัฒนาการเกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น แต่ก็อยู่ที่วิธีการที่พรรคก้าวไกลจะเลือกทำงานในสภา
“ผมไม่ได้บอกให้ก้าวไกลคล้อยตามรัฐบาล แต่ถ้าก้าวไกลมองเห็นประโยชน์ประชาชนมากกว่าการพยายามโจมตีรัฐบาล ประเทศไทยจะไปได้ไกลมาก เพราะจะมีฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง ฉลาด และ จะทำให้เพื่อไทยเหลาะแหละไม่ได้ ดังนั้นถ้ามีฝ่ายค้านอย่างก้าวไกลก็จะทำให้เพื่อไทยทำงานได้เข้มแข็งขึ้น และเป็นประโยชน์กับประชาชน”
“และผมไม่ได้มีปัญหาอะไรถ้าวันข้างหน้า พรรคก้าวไกลจะได้ขึ้นมาบริหารประเทศ หรือชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ผมจะยินดี และคิดว่าสังคมคงจะเป็นอย่างนั้นด้วยเมื่อเวลามันมาถึง ถ้าไปถึงจุดหนึ่งที่สังคมพร้อมจะรับความเปลี่ยนแปลงแบบที่ก้าวไกลนำเสนอ ก้าวไกลก็ควรจะชนะ มันเป็นเรื่องธรรมชาติของระบบ ไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด”
โจทย์ใหญ่ของรัฐบาล และ “เศรษฐา ทวีสิน”
หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม CARE บอกอีกว่าวันนี้ สิ่งเดียวที่ไม่เกิดขึ้นอย่างที่ทุกคนคาดหวังคือพรรคก้าวไกลได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ “เศรษฐา ทวีสิน” คนที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันนี้เป็นคนที่เขาให้ความเชื่อมั่นสูงสุด และมั่นใจว่าจะสามารถบริหารรัฐบาลผสมที่มาจากหลายพรรค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากพรรคไทยรักไทยเก่าซึ่งเคยถูกดูดออกไป และวันนี้พรรคเพื่อไทยก็ดูดกลับเข้ามาจึงไม่ยากในการควบคุมให้ทำงานด้วยกันได้
“คุณเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ผมรู้จัก ผมเชื่อว่าเขาเป็นนักบริหารที่แข็งแกร่ง เรียกว่ามี ‘เมตตาธรรม อำมหิต’ คือมีความเมตตาสูง แต่ก็มีความอำมหิตสูงมาก ซึ่งเป็นบุคลิกของผู้บริหารระดับสูง ที่จะพาประเทศชาติผ่านช่วงเวลาที่ยากที่สุดไปได้ เขาเป็นคนที่ลงมือทำ มีพลังสูงมาก ถ้าเปรียบเป็นนักกีฬาคือประเภท ชกแรง เตะเจ็บ ไม่สนใจว่าคนจะมองแบบไหน เพราะสนใจที่ผลลัพธ์ แต่อาจเป็นบุคลิกที่ไม่ดึงดูดหรือเป็นที่ถูกใจของผู้คนในโซเชียลมีเดียมากนัก”
แต่ในช่วงสองวันของการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาล มีหลายประเด็นที่ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภาอภิปรายโจมตี ประเด็นนโยบายที่ “ไม่ตรงปก” กับที่เคยพูดไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หนึ่งในนั้นคือเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่มีการแถลงถึงรายระเอียดของการตั้ง สสร. แต่ดวงฤทธิ์กลับเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ง่าย และตรงไปตรงมาที่สุดที่รัฐบาลจะเดินหน้าทำ
“คุณเชื่อผมไหม เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุดในเรื่องทั้งหมดเลยนะ เป็นประเด็นที่ตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรยากหากเทียบกับโจทย์ที่ยากและเร่งด่วนที่สุดคือเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ”
ดวงฤทธิ์บอกว่า แม้สุดท้ายไม่รู้ว่าจะไปจบลงที่ตรงไหน แต่โดยหลักการแล้ว ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ เขาคิดว่าทุกอย่างต้องเริ่มต้นมาจากฉันทามติของประชาชน จากนั้นก็เอามาพูดจา ถกเถียงกันในสภาฯ และจบลงที่การโหวตซึ่งเป็นไปตามระบอบรัฐสภาที่ มี สส. เป็นตัวแทนของประชาชน หากตัดสินใจแล้วประชาชนเสียประโยชน์ ก็จะถูกลงโทษง่ายมาก คือสมัยหน้าก็ไม่ถูกเลือกเข้ามาอีก ดังนั้นเวลา สส. จะคิดหรือจะโหวตอะไรต้องระมัดระวังมากๆ นับรวมถึงเรื่อง สสร. ด้วย
“เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ สุดท้ายก็ต้องจบลงที่สภาฯ และประชามติ ว่าจะแก้ไขอย่างไรบ้าง และน่าจะต้องมี สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งอยู่แล้ว คงไม่มีใครจะมาแบกรับเอา สสร. จากการแต่งตั้ง เพราะนั่นมันโง่มาก มันคือการเอามีดมาปักตัวเอง “
ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ก็คือ “กระเป๋าเงินดิจิทัล” ที่ถูกจับตาและถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น แต่ดวงฤทธิ์ มั่นใจว่าจะเป็นนโยบายที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก และสามารถไปนำเม็ดเงินจากช่องโหว่ของงบประมาณมาจัดการให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพได้ แต่หัวใจสำคัญคือ จะกระจายเงิน 5 แสนล้านบาทลงไปให้ถึงประชาชนทุกชุมชน ทุกหมู่บ้านได้อย่างไร ส่วนคำถามเกี่ยวกับเรื่องวินัยการเงินการคลัง ดวงฤทธิ์เห็นว่าปัจจุบันมีกลไกรัฐในการควบคุมวินัยทางการเงินการคลังมาก ขณะเดียวกันก็มีการกำกับและบทลงโทษที่สูง รวมถึงในสภาก็มีฝ่ายค้านที่ทำงานเข้มแข็ง จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล
ไก่กับไข่ อะไรต้องทำก่อน ? นโยบายปากท้อง กับ ปฏิรูปโครงสร้าง
“การเปลี่ยนแปลงทั้งสองด้านเกิดขึ้นพร้อมกันได้ และมันจะเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ใช่ว่าต้องเอาปากท้องมาก่อน แล้วค่อยไปทำเรื่องโครงสร้าง เชื่อว่ารัฐบาลก็คงจะทำ 2 อย่างพร้อม ๆ กันแต่ทำในวิธีของเขา”
คำตอบของดวงฤทธิ์ เมื่อถูกถามว่านโยบายปากท้องกับนโยบายปฏิรูปโครงสร้างควรให้ความสำคัญอย่างไร ก่อนเจ้าตัวจะขยายความต่อว่าเพราะเรื่องแก้ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องที่ยาก และต้องใช้เวลา ส่วนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างก็ทำให้เป็นลำดับขั้นตอน คู่ขนานกันไปได้ แต่สิ่งที่ต้องเร่งทำตอนนี้คือทำให้ชาวบ้านรู้สึกอุ่นใจก่อน
“ถ้าจะไปคิดเรื่องไกล แต่ท้องหิว ก็ไปต่อยากนะ และคนที่มันอด ก็อดจริง ๆ ผมคิดว่าพวกเขามีความหวังกับเงิน 10,000 บาท เพราะคิดว่าจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง มันเป็นโอกาสของชีวิตเขา คนที่อยู่ในเส้นความยากจน เขามีความหวังว่าจะไปเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวได้ เปิดร้านกาแฟได้ เขาจะมีกำลังใจขึ้นมา แล้วหลังจากนั้นการตัดสินใจของเขาในเรื่องของโครงสร้างอนาคตก็จะดีขึ้น”
ในสายตากองเชียร์พรรคเพื่อไทย ปัญหาใหญ่คือ “การสื่อสาร โน้มน้าวผู้คน”
ในบทบาทผู้สนับสนุน หรือที่หลายคนยกให้ตัวเขาเป็น “นายแบก” ของพรรคเพื่อไทย เมื่อถามว่าเขามองเห็นจุดอ่อนหรือข้อเสียของพรรคเพื่อไทยบ้างหรือไม่ เจ้าตัวบอกว่าปัญหาของพรรคเพื่อไทย คือ “ความอ่อนด้อยเรื่องการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวผู้คน”
“พรรคเพื่อไทยที่ผมรู้จักทำงานบนหลักการของความเป็นจริง นโยบายเขาจับต้องได้ คม ลึกซึ้ง บอกได้เลยว่าทุกนโยบายผ่านการคิด ถกเถียงกันแทบตายกว่าจะออกมาได้ แต่มีความไร้เดียงสามากในเรื่องของการรณรงค์เรื่องต่าง ๆ เขาเล่าเรื่องได้ว่านโยบายเป็นอย่างไร แต่โน้มน้าวคนไม่เก่ง ทั้งที่มีนักคิดดี ๆ รวมกันอยู่ไม่น้อย
ผมคิดว่าก้าวไกลเป็นหนึ่งพรรคการเมืองที่โน้มน้าวเก่ง คือพูดแล้วไม่รู้ทำไม โอ้โห ฟังแล้วเชื่อ ในสิ่งที่เขาพูด เราไม่ได้บอกว่าทำได้หรือไม่ได้ แต่ความสามารถในการโน้มน้าวของเขามีพลังมาก พรรคเพื่อไทยยังขาดคนที่มีความสามารถระดับนี้อยู่มาก เหมือนซื่อ ๆ คิดอะไรก็พูดออกมา ในอดีตยังมีคุณทักษิณที่มีศักยภาพในการโน้มน้าวมากหน่อย แต่พอมาถึงปัจจุบัน ที่จะโน้มน้าวให้คนละลายได้นอกจาก เต้น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แล้วก็ยังไม่เห็นใคร”
ผ่านมา 3 ปี สำหรับการขับเคลื่อนความคิดผ่านกลุ่ม CARE ร่วมกับแกนนำหลายคนในพรรคเพื่อไทยซึ่งส่วนใหญ่เข้าไปทำงานอยู่ในคณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 1” แล้ว ส่วนตัวดวงฤทธิ์เอง เขาขีดเส้นตัวเองกับการเมืองไว้ชัดเจนในบทบาทของ “ผู้ชม” และส่วนร่วมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็นการเดินทางมาไกลที่สุดแล้ว หลังจากนี้บทบาทของเขาจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ
“ผมคิดว่าหน้าที่ผมจบแล้ว หน้าที่ผมคือมาส่งเขาตรงนี้แหละ ผมไม่ได้มีความทะเยอทะยานในเรื่องการเมืองเลย ส่วนกลุ่ม CARE ที่ทำอยู่ตอนนี้ก็พยายามแบ่งปันองค์ความรู้ อย่างเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้คนมองเห็นจากอีกด้านว่าจะเอาไปใช้จริงได้อย่างไร ผมไปทำตรงนั้นเพราะไม่ชอบรัฐบาลที่ผ่านมา และคิดว่าเขาทำให้เกิดความเสียหายเยอะ จึงมีเจตนาที่จะทำอะไรก็ได้ไม่ให้คนกลุ่มนี้สืบทอดอำนาจ ซึ่งวันนี้ถ้าพูดแบบตรงไปตรงมาเขาก็ไม่ได้ไปต่อแล้ว ถึงแม้ว่าเขาจะพยายามแค่ไหนก็ตาม”
ส่วนพรรคเพื่อไทย วันนี้ถือว่ามีเดิมพันที่สำคัญมาก ถ้าวันนี้ยังไม่ทำเพื่อประชาชน ครั้งหน้าก็เป็นการอวสาน ดังนั้นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องเร่งทำคือการทำให้เกิดผลลัพธ์ตามความคาดหวังของประชาชน จะบอกว่ารออีก 4 ปี ไม่ได้ ต้องทำวันนี้ เดี๋ยวนี้ และต้องสั่งทุกคนที่อยู่ร่วมรัฐบาลให้ทำตามนี้ให้ได้ และถ้าทำไม่ได้ ก็เชื่อว่านายกรัฐมนตรีก็จะต้องเช็คบิล
ฟื้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผลักดันเมืองให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ในฐานะเจ้าของธุรกิจ สถาปนิกและนักออกแบบ การผลักดัน “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” เป็นเรื่องที่ดวงฤทธิ์ทำต่อเนื่องมานาน เขาบอกว่า ที่ผ่านมา เสียเวลาไปกว่า 9 ปี ในยุครัฐบาลที่แล้ว ที่ไม่ได้ผลักดันให้มีการเจริญเติบโตเลย ขณะที่หน่วยงานที่สนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็ถูกตัดงบประมาณ และเกือบถูกยุบไปหลายครั้ง วันนี้ถึงเวลาที่ต้องกลับมาดูและให้ความสำคัญอย่างจริงจังอีกครั้ง เพราะเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นอนาคตที่ไว้ใจได้มากที่สุดในการนำพาประเทศไปสู่ยุคต่อไป
คำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หมายถึงทุกอย่าง ที่ ”ถูกสร้าง” ขึ้น และปัจจุบันนี้ ไม่มีอะไร ที่ไม่ต้องสร้างเลย หัวใจคือ เราต้องเปลี่ยนความคิดให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้ได้
“คนไทยเป็นชนชาติที่ฉลาดที่สุดในโลก ในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ผมยืนยัน แต่เรายังไม่ได้ดึงความสามารถของคนไทยออกมาใช้อย่างเต็มที่ ถ้าเรามีหน่วยงาน มีองค์กรใดๆ หรือมีรัฐบาลที่เข้าใจเรื่องนี้ และสามารถดึงศักยภาพของคนไทยออกมาได้ มันจะทำให้เศรษฐกิจเราไปอีกที่หนึ่งเลย การพัฒนาตัวอื่นต้องใช้การลงทุน แต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดตอนนี้ ผมคิดว่ามันคือเศรษฐกิจสร้างสรรค์”
ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งโอกาสในการเปิดพื้นที่ของโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจได้ ก็คือการสร้างสรรค์ “เมือง” ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อพูดเรื่องการพัฒนาเมือง มิตินี้มักถูกมองข้ามไป
“เวลาเราพูดถึงเมือง เรามักพูดถึงแต่เรื่องสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยที่ดี มีไฟส่องสว่าง แต่ไม่ได้พูดเลยว่า เมืองจะเป็นเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างไรบ้าง”
ดวงฤทธิ์มองเห็นเมืองเป็นพื้นที่ของโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมาแทบจะไม่มีนโยบายที่เกี่ยวกับเมือง เช่น ผังเมือง การลงทุน การก่อสร้างหรือนโยบายทางกายภาพ แม้แต่การกระจายความมั่งคั่งที่สนับสนุนให้เมืองเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างคล่องตัว ทั้งที่เมืองมีศักยภาพในการ
- เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรม เป็นองค์ความรู้เงียบ (Silent knowledge) ด้วยการสร้างพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ เช่น ประเพณีพื้นบ้าน งานฝีมือและทักษะต่างๆที่ส่งต่อได้โดยการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน
- หรือเป็นองค์ประกอบให้เกิดภาวะของการผูกขาดชั่วคราว (Temporary monopoly) ได้อย่างรวดเร็ว เช่น ในยุคหนึ่งมีคนเริ่มมีคนเปิดร้านกาแฟขึ้นที่มีลักษะเฉพาะ แล้วต่อมาก็มีการเปิดร้านกาแฟตามมาแข่งขันกันมากมาย ทำให้ต้องขยับไปหาธุรกิจอื่นต่อ
จะเห็นว่าทั้งสององค์ประกอบนี้ เกิดขึ้นได้ในเมือง สะท้อนให้เห็นว่าเมืองมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ควรให้ความสำคัญกับมุมมองด้านนี้มากขึ้น ซึ่งเจ้าตัวคิดว่าทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ไปกดปุ่มคลายล็อกเงื่อนปมบางอย่างที่ติดขัดอยู่ ยกตัวอย่างเรื่องของผังเมือง ที่มีนโยบาย การโอนสิทธิพัฒนาพื้นที่ (Transfer of Development Right) ที่จะช่วยรักษาพื้นที่ที่ต้องการอนุรักษ์และสามารถพัฒนาพื้นที่ที่ต้องการได้ เรื่องนี้มีการวางแผนมานานแต่ยังไม่ถูกขับเคลื่อนต่อ หากกลับมาทำให้ต่อเนื่องก็จะนำไปสู่การพัฒนาและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจได้ทันที
“อีกเรื่องสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือต้องอาศัยคนที่กล้าหาญพอสมควรที่จะออกไปนอกกรอบความคิดเดิม และริเริ่มธุรกิจใหม่ ๆ แต่คนที่มีความกล้าแบบนี้ คือคนที่ไม่เคยทำอะไรมาก่อน ไม่มีประสบการณ์และไม่มีทุน ดังนั้น รัฐต้องเข้าไปทำเรื่องการลงทุน ช่วยให้คนกลุ่มนี้เสี่ยงได้ และเจ็บตัวน้อยที่สุด”
คำทิ้งท้าย ก่อนจบบทสนทนาของคนที่มีหลากหลายบทบาท ชื่อ “ดวงฤทธิ์ บุนนาค”
ชวนติดตาม ซีรีส์ “อย่าลืม”