ที่อยู่อาศัยมั่นคง ความหวังคนจนเมืองขอนแก่น

เมื่อการมีบ้านเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่คนไทยจำนวนไม่น้อยยังคงขาดแคลน แม้ปัญหาเริ่มต้นจากทุนทรัพย์ แต่การกดทับของเงื่อนไขทางสังคม ทำให้คนจนเมืองไม่สามารถยกระดับชีวิตของตัวเองได้ น่าเสียดายที่วันนี้ยังไม่เห็นนโยบายแก้ปัญหาจากพรรคการเมืองสักเท่าไหร่… The Active ลงพื้นที่ชุมชนริมทางรถไฟ จ.ขอนแก่น คุยกับภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ชวนทำนายอนาคตหลังการเลือกตั้งจะดีกว่านี้หรือไม่ และข้อเสนอว่าภาครัฐควรจะหาทางออกจากเรื่องนี้อย่างไร…

ปัญหาความจน = ปัญหาโครงสร้างทางสังคม

ณัฐวุฒิ กรมภักดี ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนฅนไร้บ้านขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาของชุมชนบนที่ดินริมทางรถไฟ หลัก ๆ จะเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดินระบบราง โครงการแรกคือโครงการรถไฟความเร็วสูง กระทบกับชุมชนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น และโครงการรถไฟทางคู่ที่จะต่อจากเขตเทศบาลนครไปยังเทศบาลเมืองศิลา ซึ่งชุมชนตรงนั้นก็จะได้รับผลกระทบทั้งรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง

โดยทั้งสองโครงการมีชุมชนที่ต้องอพยพออกรวม ๆ 10 ชุมชน ขณะนี้ภาคประชาสังคมกับชุมชนกำลังทำกระบวนการในการทำข้อมูลข้อเสนอ การรวมกลุ่มเพื่อขอเช่าและกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นหลักประกันในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย โดยการรถไฟฯ แจ้งว่าต้องยื่นเรื่องขอเจรจารับการสนับสนุนแก้ไขปัญหาอยู่อาศัยในระยะยาวให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2571 ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการพิจารณาช่วยเหลือ

The Active ลงพื้นที่ ชุมชนมิตรภาพ ในเขตเมืองเทศบาลนครขอนแก่น พบว่ามีบ้านอยู่ราว 140 หลังคาเรือน มีประชากรเกือบ 700 กว่าคน ณัฐวุฒิ มองว่าเป็นชุมชนคนจนเมืองที่ใหญ่ที่สุดในขอนแก่น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาอยู่อย่างถาวร และการศึกษาวิจัยเก็บข้อมูลของเขายังพบว่า คนส่วนใหญ่มาอยู่อาศัยเพื่อเป็นแรงงานนอกระบบ ทำงานแบบหาเช้ากินค่ำ ไม่มีหลักประกันในชีวิต และกว่า 70% ไม่มีบ้านเดิมให้กลับไป ไม่มีครอบครัวเดิมให้ไปหา หากจะต้องอพยพย้ายออกจากที่นี่ เขาก็จะเป็นคนไม่มีที่ไป จึงเป็นความเสี่ยงสูงว่า หากจะย้ายออกโดยไม่มีการแผนสำรองสำหรับที่อยู่อาศัยใหม่ ก็จะกลายเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่

ขณะนี้ชุมชนเพิ่งจะไปขอยื่นเรื่องเพื่อเช่าที่ดินของการรถไฟฯ ขอโอกาสทางเลือกการจัดการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงบ้านเพื่อขออยู่อาศัยในที่ดินเดิม หรือหากจะต้องย้ายออกชุมชนก็ขอให้มีพื้นที่รองรับ โดยอยู่ในรัศมีที่พอจะทำมาหากินได้ หรือลูกหลานยังเรียนในโรงเรียนเดิมได้ ถ้าจะต้องไปอยู่ที่อื่นไกล ต้องไปทำอาชีพใหม่ก็ไม่สามารถ

“ชุมชนตอนนี้มีการทำข้อมูลข้อเสนอ ส่งไปยังคณะกรรมการที่ดิน คณะกรรมการสวัสดิการสังคม ของรัฐสภาไปเรียบร้อยแล้ว แต่ต้องติดตามว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร อีกแผนคือชุมชนอยากจะเข้าไปคุยกับกรมธนารักษ์ที่ดูแลเรื่องที่ดินราชพัสดุ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่สามารถให้ชุมชนเช่าและอยู่อาศัยได้ อยากจะไปดูว่าพอจะมีที่ดินว่างเปล่า ที่ไม่ได้ใช้ และให้ชาวบ้านได้ใช้เป็นแผนทางเลือกที่จะอพยพได้หรือไม่ นี่คือสิ่งที่จะทำต่อไป ขณะเดียวกันตอนนี้ก็ได้ตั้งกลุ่มออมทรัพย์กันแล้ว เพื่อที่จะเป็นหลักประกันของตัวเองว่า ถ้าเขามีที่อยู่อาศัยใหม่ ชาวบ้านก็มีเงินออมเป็นทุนทรัพย์เบื้องต้น”

ณัฐวุฒิ กรมภักดี ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อนฅนไร้บ้านขอนแก่น

ณัฐวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวาระเร่งด่วนที่อยากให้เกิดขึ้น คือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ความเข้าใจผิดของสังคม เขาอยากจะให้สังคมมองปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยไม่ใช่แค่เรื่องของคนที่เข้ามาอยู่ในที่ดินของรัฐ ว่า​เป็นพวกที่ผิดกฎหมาย เพราะนั่นเป็นวิธีคิดปลายทาง อยากให้มองว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัญหาเรื่องของสิทธิมนุษยชน

การที่คนส่วนหนึ่งในประเทศไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ไม่ใช่ว่าเขาอยากจะอยู่ในที่ดินของรัฐ แต่ทางเลือกในการมีที่อยู่อาศัยของเขามันจำกัด อยากให้มองที่โครงสร้างไม่ใช่ว่าไปห้อยป้ายว่าเขาคือพวกที่ผิดกฎหมาย อยากจะให้สังคมเข้าใจเรื่องนี้ก่อน สองคือ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งเรื่องของระบบสวัสดิการที่คนจน หรือคนที่มีทรัพยากรน้อยจะมีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัยมั่นคง อย่างต่างประเทศมีนโยบายสนับสนุนการเข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาถูก ทำให้คนจนเมืองไม่ต้องไปบุกรุกที่ดินของรัฐหรือที่ว่างเปล่าของคนอื่น

“ปัญหาหลักใหญ่อีกอย่างคือการให้อำนาจรัฐส่วนกลางมากำหนดชีวิตของคนในท้องถิ่นมากกว่าการที่คนในท้องถิ่นจะกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง การกระจายอำนาจมายังท้องถิ่นจึงสำคัญ ทำให้ที่ผ่านมาชาวบ้านเวลามีปัญหาอะไรก็ต้องวิ่งเข้ากรุงเทพฯ แทนที่เขาจะมีส่วนในการตัดสินใจเองว่าเขาและท้องถิ่นของเขาจะพัฒนาอย่างไร”

สถานการณ์ปัจจุบัน และอนาคตของคนจนเมืองอีสาน

รศ.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น วิเคราะห์ว่า กลุ่มคนเปราะบางในเมือง ทั้งคนจนเมือง คนไร้บ้าน หรือกลุ่มคนชายขอบ ในจังหวัดขอนแก่นปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น เศรษฐกิจ ผลกระทบจากโควิด-19 ผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาครัฐที่เบียดขับคนตัวเล็กตัวน้อยออกจากที่อยู่อาศัย ที่ทำกินเดิม

โดยมองว่าในส่วนของผลกระทบจากภาครัฐไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาที่เพียงพอเหมาะสม ค่าชดเชยที่ผ่านมาคิดตามมาตรฐานของราชการ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการนำไปตั้งต้นตั้งตัวใหม่ได้ เช่น การต้องรื้อถอนบ้าน ให้ค่าชดเชย ตารางเมตรละ 2,000 บาท รวมแล้วบ้านขนาดเล็กก็ได้รับเงินทั้งหมดไม่กี่หมื่นบาท ไม่คุ้มกับที่เขาเสียไป

นอกจากนี้ ยังมีความสูญเสียเชิงจิตใจและนิเวศวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น หลายชุมชนอาศัยอยู่ในเมืองขอนแก่นมานาน 60-70 ปี แม้ว่าบางจุดจะเป็นการบุกรุกพื้นที่ราชการ อย่างที่ดินริมทางรถไฟ แต่ก็พบว่าหลายชุมชนได้รับสัญญาเช่าจากการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็ตาม ทว่าเมื่อมีโครงการพัฒนาใหม่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ซึ่งมีข้อจำกัดเชิงวิศวกรรม ก็ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ผลการวิจัยของผมที่ทำวิจัยในเรื่อง คนจนเมืองที่เปลี่ยนแปลงในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนไป กรณีศึกษาของภาคอีสาน พบว่า คนจนเมืองอีสานมากกว่า 80% รู้สึกยินดีที่เห็นเมืองพัฒนาเพราะเขามองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเมือง แต่ในความเป็นจริงผลกระทบที่เกิดขึ้น เขากลับไม่ได้รับการเหลียวแล เยียวยา จึงคิดว่าภาครัฐหรือผู้มีอำนาจควรจะต้องสร้างนโยบายเหล่านี้ขึ้นมา”

รศ.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น

รศ.ธนพฤกษ์ กล่าวต่อว่า ในทางทฤษฎี urbanization ของต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า เมืองที่โตขึ้นนำมาผู้คนเข้ามาในเมือง และพอพวกเขาอยู่ไปสักระยะหนึ่งเขาก็จะย้ายออกไป แต่ในประเทศไทย ในสังคมอีสาน ผลการวิจัยที่ผมศึกษาพบว่าคนจนเมืองอีสาน มีลักษณะของการลงหลักปักฐาน แม้ว่าจะมาจากที่อื่น แต่เมื่ออยู่แล้วก็ผูกพันว่านี่คือบ้านของเขา แม้ว่าจะสร้างบ้านบนที่เช่า ไม่มีความมั่นคงและเขาจะรู้สึกว่านี่คือบ้านเขา ประมาน 75% มีบ้านที่สร้างแบบอยู่ถาวร ซึ่งแปลว่าเขาลงทุนทั้งชีวิต เพื่อสร้างบ้านตรงนี้แม้บนที่เช่าก็ตาม สะท้อนว่าคนจนเมืองอีสานมีความผูกพันกับเมืองและเขาก็อยากจะอยู่กับเมือง ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้เขาได้มีฝันของการมีบ้านมั่นคง

หากพิจารณาจะเห็นว่ามีหลายพื้นที่ของรัฐ พื้นที่ของศูนย์ราชการหลายส่วนที่ยังว่า หรือยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เช่น พื้นที่สนามกอล์ฟรถไฟ มีพื้นที่ว่างจำนวนมาก 100 กว่าไร่ เราเคยเรียกร้องว่า กลุ่มพี่น้องคนจนเมืองบนที่ดินการรถไฟฯ ที่มีสัญญาเช่าแล้วแต่กำลังจะถูกไร่รื้อ เราก็ขอพื้นที่นั้นสัก 5 ไร่ ได้ไหม ให้เขาได้รับการจัดสรรและสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อได้อาศัยอยู่ใกล้ ๆ เมือง เพราะการอยู่ใกล้ ๆ เมืองคือการใกล้แหล่งทำมาหากิน ที่ทำงาน พื้นที่ดำรงชีวิต แต่สุดท้ายเจ้าของที่ดินก็ปรับข้อเสนอ เหลือแค่ 2 ไร่เท่านั้น ซึ่งจริง ๆ ส่วนราชการควรที่จะมีอะไรมาชดเชยให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ได้มากกว่านี้

ถึงวันนี้เรายังไม่เห็นข้อเสนอเชิงนโยบายแก้ปัญหาเรื่องนี้จากพรรคการเมืองเลย ส่วนตัวมีความรู้สึกว่ากลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ใช่ตลาดแรกของนักการเมือง ทั้ง ๆ ที่บุคคลเหล่านี้เขาศรัทธากับการเมืองมาก การทำวิจัยพบว่า 90% ของคนจนเมืองที่สำรวจมากว่า 500 คน เขาไปเลือกตั้งท้องถิ่น เลือกตั้งทั่วไปครั้งใหญ่ และเขามีความเชื่อมั่นว่าคนที่จะช่วยเขาได้ก็คือตัวแทนประชาชน เช่น ส.ส. สะท้อนว่าพวกเขาศรัทธาระบอบประชาธิปไตยแบบเป็นตัวแทน ดังนั้นถ้าตัวแทนสามารถซื้อใจเขาได้โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และเรื่องของการส่งเสริมอาชีพ ผมว่านโยบายนี้อาจจะได้ใจคนเมือง ไม่ใช่แค่ที่ขอนแก่น แต่ทุกที่ทั่วประเทศ

“​เราไม่ได้มองคนจนเมืองเฉพาะในด้านเศรษฐศาสตร์ แต่เรามองมิติว่าคนจนเมืองเหล่านี้เขาจนสิทธิ์ด้วย เราจึงส่งเสริมสิทธิ์และโอกาสเหล่านี้เพื่อทำให้พวกเขายืนอยู่ได้ในเมืองที่เขารัก ในเมืองที่เขามองว่าเป็นบ้านของเขาได้เต็มภาคภูมิ”

10 ปี ข้างหน้าสถานการณ์คนจนเมืองขอนแก่นจะดีขึ้นหรือแย่ลง

รศ.ธนพฤกษ์ ให้มุมมองว่าปัจจุบัน ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานรัฐบาล รวมถึงองค์กรหลักของประเทศหลายองค์กรค่อนข้างคลอนแคลน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการสร้างความเชื่อมั่นภาคประชาชนที่มีต่อองค์กรเหล่านี้ เพราะความง่อยเปลี้ยที่มีในหลายปีที่ผ่านมาทำให้ประชาชนเริ่มหันหลังให้กับการพัฒนาต่าง ๆ เริ่มเพิกเฉย ภาวะความเฉื่อยทางการเมือง และเสี่ยงต่อการเข้าหานักการเมืองที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นจะทำยังไงให้ความเฉื่อยทางการเมืองนั้นหายไป แปลว่าองค์การที่เกี่ยวข้องต้องขยับ กระเตื้องขึ้น ต้องปรับโครงสร้างให้ทันกับโลกมากขึ้น โลกสมัยใหม่ที่มันไปเร็วขึ้นแต่เรายังมีคนกุมบังเหียนที่เก่า เดินช้า และยังไม่เปิดกว้างอาจจะทำให้ประเทศชาติเราเดินได้ช้ามาก

อย่างแรกประเด็นที่อยู่อาศัยแบบบ้านเช่าราคาถูกแต่มีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง มากกว่าการที่ให้เช่าที่ดินแล้วเขาต้องไปสร้างบ้านเอง หากรัฐสร้างบ้านให้ และให้เช่าในราคาที่เหมาะสม ไม่สูงเกินไปนัก อยู่ได้จ่ายไหวในระยะยาว อย่างที่สองคือการส่งเสริมการได้กรรมสิทธิ์ในฐานะคนอีสาน ยังเป็นความต้องการของคนอีสานอยู่ที่อยากจะมีที่ดินเป็นของตัวเอง เป็นเจ้าของปฐพีนี้ครั้งหนึ่งในชีวิต แม้มันอาจจะเกิดขึ้นยากในเขตเมือง แต่หากว่ามีโอกาสมันก็น่าจะเปิดให้พวกเขาได้มีโอกาสอยู่ในเมืองที่เขารัก

“อีก 10 ปี ข้างหน้า สังคมก็อาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก เพราะแม้ว่าเมืองจะเติบโตใหญ่โตขึ้น แต่คนจนก็อาจจะยังต้องจนโอกาส จนสิทธิ์ของการดำรงชีพในเมือง โอกาสที่จะลืมตาอ้าปากได้อย่างแท้จริงก็อาจจะมีน้อยมาก แม้จะได้เห็นความพยายามของพี่น้องคนจนเมืองจำนวนไม่น้อยพยายามผลักดันตัวเองให้พ้นจากความจน จากที่เคยรับจ้างรายวัน ก็พัฒนาตัวเองเป็นผู้ประกอบการรายย่อย อาจจะมีร้านค้ารถเข็น ขายอาหาร ก็เป็นการพยายามปรับตัว แต่ความจนโอกาสจะเป็นอุปสรรคใหญ่”

หากมองเฉพาะในแง่ของที่อยู่อาศัยมั่นคง อาจจะต้องทำใจ เพราะตราบใดที่รัฐยังไม่มีนโยบายที่มันเหมาะสมกับการจัดสรรที่อยู่อาศัย (ไม่ใช่การสงเคราะห์) ต้องให้เขาอยู่อย่างภาคภูมิใจว่านี่คือบ้าน ที่มาจากน้ำพักน้ำแรง ชีวิตคนจนเมืองก็จะเป็นแบบนี้ต่อไป ถ้าโชคดีเราได้รัฐบาลที่เล็งเห้นว่าคนเหล่านี้คือกำลังสำคัญที่จะผลักดันการพัฒนาประเทศก็ไม่แน่ เราอาจจะเห็นคนจนเมืองได้อยู่อาศัยในที่ที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

รศ.ธนพฤกษ์ ย้ำว่า อยากให้ส่วนราชการที่เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งถูกปล่อยทิ้งไว้จำนวนมาก มีการจัดสรรให้คนจนเมืองได้ร่วมพัฒนา ทุกวันนี้เพราะมีหลายชุมชนที่เขาได้ย้ายออกไปยังที่ใหม่ที่ส่วนราชการจัดสรรให้ ซึ่งพอมีการพัฒนาร่วม มีการแบ่งพื้นที่เป็นกิจลักษณะ ก็มีความสะอาดเรียบร้อย ถ้ามีการส่งเสริมที่อยู่อาศัย และทำให้เห็นว่านี่คือบ้านเขา ทุกคนก็จะช่วยกันดูแลความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมของเมือง ให้ดีได้

อีกทั้งมีงานวิจัยชิ้นใหม่อีกชิ้นหนึ่งซึ่ง เป็นการสะสมทุนของคนเปราะบางในเมืองเพื่อที่จะฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งทุนนี้ไม่ใช่แค่ทุนทางเศรษฐศาสตร์ แต่หมายถึงทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม อาจจะทำให้เขาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และเครือข่ายในนิเวศวัฒนธรรมของสังคมเมือง อาจจะทำให้พี่น้องคนจนเมืองมีความรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองได้อย่างภาคภูมิใจ

อย่างตอนช่วงโควิด-19 ระบาด พบว่า แม้คนจนเมืองส่วนใหญ่จะมีรายได้รายวัน แต่เมื่อรัฐขอความร่วมมือให้อยู่กับบ้าน เขาก็ให้ความร่วมมือเต็มที่ แม้จะทำให้ขาดรายได้ก็ตาม และยังมีกระบวนการในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน บางทีรัฐอาจจะให้อำนาจกับกลไกระดับพื้นที่ให้สามารถจัดการตัวเองได้บ้าง มากกว่าการผูกขาดอำนาจจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะช่วยลดภาระในการจัดการบางอย่างได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้