เพื่อจะหยุดวิกฤตการเมืองในขณะนี้ การกลับไปแก้ไข “รัฐธรรมนูญ 2560” ในฐานะกลไกจัดการอำนาจในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดูจะเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ทั้งจากฝ่ายผู้ชุมนุม นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ไปจนถึงพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
แม้จะเห็นร่วม แต่หนทางที่จะเดินไปสู่แนวทางนั้น อาจจะไม่ง่ายนัก เพราะยังมีหลาย “ด่าน” ที่ต้องฝ่าข้ามไป ตั้งแต่กลไกตั้งต้นอย่าง “สเปกสภาร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ยังมีความเห็นที่แตกต่าง ไปจนถึงเงื่อนปมที่ถูกผูกไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทั้งจำนวนเสียง ส.ส. และ ส.ว. ข้อกำหนดให้ต้องทำประชามติ ไปจนถึงอาจมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เงื่อนปมเหล่านี้ หากยิ่งแก้ออกช้า ย่อมส่งผลต่อวิกฤตที่อาจจะยิ่งยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น
The Active ประมวลข้อมูลความแตกต่าง และความยากของแต่ละด่านให้เห็น เพื่อชวนกันร่วมหาวิธี “ผ่านด่าน” ที่ดีที่สุด
เทียบสเปก “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ก่อนประชุมร่วมสองสภา
มีความชัดเจนแล้วว่า แนวทางในแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 โดยแก้ไขมาตรา 256 กำลังเดินหน้าไปสู่การ มี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ “ทั้งฉบับ” ไม่ใช่แค่เพียงการแก้ไขบางมาตราหรือบางหมวดที่เป็นปัญหาเท่านั้น
ข้อเสนอดังกล่าวถูกผลักดันอย่างต่อเนื่อง จากทั้งคณะประชาชนปลดแอก กลุ่มเยาวชนปลดแอก และนักเรียนนักศึกษา ผ่านการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 10 และ 16 ส.ค. รวมทั้งพรรคร่วมฝายค้าน จนรัฐบาลค่อย ๆ ปรับท่าที จากที่ในระยะแรกไม่ได้สนับสนุนให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มาสู่การยอมมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ล่าสุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่จะแก้ไขอย่างไรเป็นเรื่องของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และนำมาสู่การประชุมร่วมของวิป 3 ฝ่ายได้แก่ วิปรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา จนได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะมีการประชุมร่วมกันของ “รัฐสภา” เพื่อพิจารณาญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาในวาระแรก ในวันที่ 23-24 ก.ย. นี้
โดยญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล และ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ชุดที่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน ต่างมีหลักการสำคัญตรงกันคือเปิดทางให้มีการตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ”
ส.ส.ร. ตามข้อเสนอวิปรัฐบาล – ฝ่ายค้าน
วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล สรุปสาระสำคัญของญัตติเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลในเบื้องต้นว่า “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (ส.ส.ร.) จะมีสมาชิก 200 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ มาจากการเลือกตั้งจากแต่ละจังหวัด 150 คน และอีก 50 คน มาจากการ “แต่งตั้ง” หรือให้เลือกตั้งโดยอ้อม ประกอบด้วย นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และอื่น ๆ รวมถึงตัวแทนนิสิต นักศึกษา และนักเรียน
ส่วนมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน 5 พรรค นำโดยพรรคเพื่อไทย (ยกเว้นพรรคก้าวไกล) เสนอให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 200 คนเช่นเดียวกัน แต่ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยแบ่งจำนวนตามสัดส่วนประชากรแต่ละจังหวัด
นอกจากนี้ ยังกำหนดกรอบเวลาในการยกร่างฯ ว่าจะต้องเสร็จภายใน 240 วัน (แม้มีการยุบสภาก็ไม่กระทบการทำหน้าที่) เสร็จแล้วเสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ และแม้ผ่านรัฐสภาแล้ว ก็ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญนั้นมาผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติอีกครั้ง
คุณสมบัติคร่าว ๆ ของ ส.ส.ร. ที่ฝ่ายค้านเสนอไว้เบื้องต้น คือ อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี “ไม่เคยเป็น” สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปช.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ หรือพูดง่ายๆ ว่า ส.ส.ร. ที่ฝ่ายค้านต้องการ คือ ต้องเป็นบุคคลที่ “ไม่เคยข้องแวะกับ คสช.มาก่อน” นั่นเอง
ส.ส.ร. ตามข้อเสนอภาคประชาชน
ส่วนภาคประชาชนนำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ที่กำลังล่ารายชื่อ 50,000 คน ผ่านแคมเปญ ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน แต่กำหนดให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับภายใน 360 วัน
พร้อมกำหนดคุณสมบัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะยกร่างขึ้นว่า จะต้องไม่ด้อยไปกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ที่เคยเรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เพราะภาคประชาชนมีส่วนร่วมเสนอความเห็นอย่างกว้างขวาง จนเกิดกระแสธงเขียว กดดันให้รัฐสภาต้อง “รับร่างรัฐธรรมนูญ” ทั้งฉบับ และประกาศใช้
จะเห็นได้ว่าข้อเสนอของทุกฝ่าย ยังเชื่อว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ในแต่ละจังหวัดน่าจะเป็นกลไกการคัดเลือก ส.ส.ร. ที่เหมาะสมที่สุด มีเพียงข้อเสนอจากรัฐบาลเท่านั้น ที่ยังมี ส.ส.ร. จากการแต่งตั้งหรือเลือกโดยอ้อม จำนวน 50 คน
ส่วนกรอบเวลาในการยกร่างรัฐธรรมนูญต่างกันเล็กน้อย คือ ฝ่ายค้านให้ยกร่างฯ เสร็จภายใน 240 วัน ส่วนภาคประชาชนเสนอ 360 วัน ขณะที่รัฐบาลยังไม่ได้ลงรายละเอียดในเรื่องนี้
แง้มประตูที่เกือบปิดตาย – ฝ่า 3 ด่านทั้งนอกและในสภา
การพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรกที่จะเกิดขึ้นปลายเดือนกันยายนนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการแง้มประตูไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งขั้นตอนและวิธีการกว่าจะมี ส.ส.ร. ชุดใหม่ได้ยังอีกยาวนาน และกว่าจะแง้มประตูได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ยังมีอีกหลายด่าน และแต่ละด่านก็ล้วนแต่มีความ “ยาก” จนถูกวิจารณ์ว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้
เริ่มตั้งแต่ ด่านแรก “วาระที่ 1 รับหลักการ” ต้องใช้เสียง “ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกของสองสภา (375 จาก 750 เสียง) และในจำนวนนี้ ต้องเป็นคะแนนเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียง และต้องใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย
“วาระที่สอง พิจารณารายมาตรา” ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ หรือ 376 เสียง และหากเป็นร่างแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย
“วาระที่สาม เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างแก้ไขทั้งฉบับ” ต้องใช้คะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสองสภา หรือ 376 เสียง และในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 คน และต้องได้เสียงเห็นชอบจาก “ส.ส. ฝ่ายค้าน” ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของฝ่ายค้านทั้งหมด
ด่านที่สอง เนื่องจากเป็นการแก้ไขในหมวดที่มีความสำคัญ คือ หมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงมีการบังคับให้ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติแม้ว่ารัฐสภาจะมีมติเห็นชอบแล้ว
และ ด่านที่สาม คือ ศาลรัฐธรรมนูญ โดยเปิดช่องไว้ว่า ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่าง รัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ ยังให้ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือ สมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภาหรือของทั้งสองสภารวมกัน สามารถเข้าชื่อต่อประธานสภาที่ตนเองสังกัด เพื่อส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยภายใน 30 วัน หากเห็นว่ามีเนื้อหาที่เข้าข่ายขัดต่อมาตรา 255 คือ เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
หากพิจารณาจากสมัยการประชุมของรัฐสภาที่จะสิ้นสุดสมัยประชุมครั้งที่ 1 ในวันที่ 24 ก.ย. นี้ และเปิดสมัยประชุมอีกครั้งใน พ.ย. – ก.พ. 2564 คาดว่ากว่าจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 วาระเพื่อตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” รวมทั้งผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 น่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 5-6 เดือน หรือประมาณ ก.พ. – มี.ค. 2564
กรอบเวลาหลังมี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ”ใหม่
เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ผ่านความเห็นชอบมีผลบังคับใช้แล้ว จึงจะเริ่มนับหนึ่งให้มีกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ในแต่ละจังหวัดเพื่อ “เริ่มต้น” ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และจากกรอบระยะเวลาในการยกร่างฯ ที่แต่ละฝ่ายกำหนดไว้ว่าจะใช้เวลาขั้นต่ำอีก 8 เดือน – 1 ปี
ยังไม่รวมระยะเวลาในการนำร่างรัฐธรรมนูญไปเผยแพร่ เพื่อให้ประชาชนออกเสียงประชามติ และระยะเวลารอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ (ถ้ามี ส.ส.หรือ ส.ว.เข้าชื่อเสนอไป) ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งประเมินว่าต้องใช้เวลาทั้งหมดอีกประมาณ 15 – 18 เดือน หรือปีเศษหลังมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จะครบวาระ 4 ปีในกลางปี 2566