ทำอย่างไรให้ “ผู้ป่วยจิตเวช” ในชุมชน เข้าถึงการรักษา

เมื่อผู้เสพ คือผู้ป่วย
และจำเป็นต้องเข้ารับการบำบัด
ระบบสาธารณสุข รองรับได้แค่ไหน?

หลายครั้งที่คดีอาชญากรรมในสังคมไทย ถูกมองว่ามีที่มาจากการที่ผู้ก่อเหตุเป็นผู้ป่วยจิตเวช ขณะเดียวกัน การปราบปรามยาเสพติดที่ไร้ผล ทำให้จำนวนผู้เสพเพิ่มขึ้น และจากผู้เสพ ก็กลายเป็นผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน 

ชุมชน​นูรุ้นอิสลาม​ เขตมีนบุรี​​ กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในพื้นที่สีแดงเรื่องยาเสพติด เมื่อเราลงพื้นที่สำรวจ ชาวบ้านพาไปที่บ้านหลังแรก เราพบกับชายวัยกลางคน เขาน่าจะเป็นเสาหลักให้กับครอบครัวได้ แต่หลังจากใช้ยาเสพติด จนมีอาการทางจิตประสาท นอกจากจะไม่สามารถทำงานได้แล้ว ยังสร้างความหวาดกลัวให้กับคนในชุมชน

จิตเวช

ศิริพร​ ฮิงสาหัส เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ชิดกับบ้านหลังนี้ บอกว่าเมื่อก่อนชายคนนี้เป็นเด็กนิสัยดี ไม่ใช่คนเกเร กระทั่งเข้าถึงยาเสพติดกลายเป็นเสียคน มีคนกลัว ปิดบ้าน อยากให้แม่ของเขานำตัวไปรักษา

เมื่อผู้เสพคือผู้ป่วย แต่พวกเขากลับไม่สามารถเข้าถึงการรักษา ทำให้อีกหลายครอบครัวในชุมชนนี้ต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวชกันตามลำพัง ไม่ได้พาไปหาหมอ ไม่ได้กินยา พฤติกรรมทั้งเก็บขยะมาสุมกองภายในบ้านแล้วมักจะอาละวาดหากใครพยายามนำขยะไปทิ้ง หรือแม้แต่ผู้ป่วยทางจิตที่ไม่ยอมอาบน้ำ ไม่ให้ใครเข้าใกล้ และอยู่ในสภาพนอนคลุมโปงอยู่คนเดียวในห้องแคบ ๆ 

ส่วนอีกครอบครัวมีพี่ชายวัย 40 ปี เป็นผู้ป่วยจิตเวช เขาได้รับผลกระทบกระเทือนทางใจอย่างรุนแรง หลังจากที่แม่เสียชีวิต เป็นเหตุให้ตัดสินใจใช้ยาเสพติด จนเกิดอาการหูแว่ว ชอบคุยคนเดียว และสะสมขยะเอาไว้ในห้องนอน 

สุนิสา​ มูลพันธ์ ผู้เป็นน้องสาวบอกว่าต้องการให้พี่ชายเข้ารับการรักษา แต่ไม่กล้าพาไปเพราะกลัวพี่จะคลุ้มคลั่ง ที่สำคัญคือขั้นตอนนำส่งโรงพยาบาลจิตเวชต้องคัดกรองโรคทางกาย ซึ่งครอบครัวไม่มีเงิน จึงคาดหวังกับหน่วยงานของรัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเป็นพิเศษ

“เราเข้าไปหาเขาอาจคิดว่าเราจะทำร้าย เขาจะป้องกันตัว หนูอยากให้เขาไปรักษาเผื่อจะดีขึ้น ขอให้ได้รักษาว่าจะดีไหม ดีกว่าปล่อยไว้เฉย ๆ ถ้ามันดีขึ้น เขาจะได้ช่วยเหลือตัวเอง ไปรับจ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ มีเงินมากินมั่ง”​

สุนิสา​ มูลพันธ์

ชาวบ้านสะท้อนตรงกันว่าอยากให้ผู้ป่วยจิตเวชได้รับการรักษา แม้เพื่อนบ้านหวังดีและอาสาพาไป แต่ที่ทำได้ยากคือผู้ป่วยคลุ้มคลั่ง จนอาจเป็นอันตรายกับคนรอบข้าง หากจะแจ้งตำรวจให้เข้าช่วยเหลือ ก็จะทำได้ต่อเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงขึ้นแล้ว นี่อาจเป็นภาวะจำยอมที่ชาวบ้านต้องร่วมกับผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน 

พัชรี ด๊ะมะกอเซม ชาวชุมชน​นูรุ้นอิสลาม​ ​กรุงเทพฯ บอกว่าที่นี่ผู้ป่วยจิตเวชถูกตำรวจมาตามจับอยู่เป็นประจำ เพราะคนแจ้งว่าเข้าตามบ้านคนอื่น ก็กลัวกัน บางทีผู้ป่วยเดินขอเงิน พอได้เงินก็เอาไปซื้อยาเสพเหมือนอย่างเดิม 

นอกจากแจ้งตำรวจ ชาวบ้านก็จะแจ้งประธานชุมชนหากเริ่มพบพฤติกรรมของผู้ป่วยจิตเวชรนแรงขึ้น ชุติมา ดำรงศิริวัฒน์ ประธานชุมชน​นูรุ้นอิสลาม​ บอกว่า ก็ติดต่อไปยังตำรวจ แต่ก็มาดูบ้างเป็นบางครั้ง ในส่วน กทม. เพิ่งตื่นตัว เพราะสถานการณ์หนักขึ้นทุกวัน ยอมรับว่าเป็นปัญหาที่สะสมมานาน 

“เราอยากทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกับผู้ป่วยอย่างไรให้มีความสุข มีส่วนร่วมช่วยกันพัฒนา”

ชุติมา ดำรงศิริวัฒน์

ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการคัดกรองผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนกรุงเทพมหานคร แน่นอนว่าคงมีจำนวนผู้ป่วยตกหล่นอีกจำนวนไม่น้อย นี่อาจเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่สถานการณ์ไม่คาดฝัน ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น 

จำนวนผู้ป่วยจิตเวชสวนทางจิตแพทย์

ข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำนวนผู้ป่วยจิตเวชในประเทศไทย ระบุว่า ในปี 2558 มีผู้ป่วยจิตเวชจำนวน 1.3 ล้านคน ผ่านมา 6 ปี ในปี 2564 จำนวนผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 ล้านคน และในปี 2565 พบผู้ป่วยจิตเวชมากถึง 2.5 ล้านคน 

นอกจากนี้ ด้วยประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ พ.ศ. 2564 ที่มีแนวทางให้ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ซึ่งต้องได้รับการบำบัดรักษาทางจิตเวช ทำให้คาดการณ์ว่าปี 2566 จะมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.9 ล้านคน นั่นทำให้ไทยอาจมีผู้ป่วยจิตเวชมากถึง 4.4 ล้านคน และจะมากขึ้นอีกก็เป็นได้ เพราะในจำนวนนี้ยังไม่นับรวมผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี 

ขณะที่ประเภทผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ามารับการรักษา 5 อันดับ คือ

  1. ผู้ป่วยยาเสพติดที่มีปัญหาจิตเวช
  2. โรคจิตเภท (รุ่นแรงที่สุด) 
  3. โรคซึมเศร้า
  4. โรคสมาธิสั้น และ 
  5. พยายามฆ่าตัวตาย 

ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยจิตเวชหลักล้านคน สวนทางกับจำนวนจิตแพทย์ ที่มีไม่เพียงพอ โดยสัดส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรมาตรฐานองค์การอนามัยโลก คือ จิตแพทย์ 10 คน ต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ไทยมีจิตแพทย์เพียง 0.7 คน ต่อประชากร 100,000 คนเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย มีจิตแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 100,000 คน และสิงคโปร์ มีจิตแพทย์ 4 คน ต่อประชากร 100,000 คน 

จากตัวเลขเหล่านี้ จึงไม่แปลกที่การเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยจิตเวชในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย และบางรายอาจเข้าไม่เข้าการรักษา 

วอนแก้ปัญหาคอขวดรักษาผู้ป่วยจิตเวช

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ตัวแทนชุมชนกรุงเทพมหานครหลายสิบชุมชนสะท้อนปัญหากับสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย 

นภาพร วัฒนสิงหะ ทีมเฉพาะกิจ พม. เขตหนองจอก บอกว่ามีผู้ป่วยจิตเวชตกหล่นไม่ถึงเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มีปัจจัยซ้ำเติมมาจากปัญหายาเสพติดระบาดในชุมชน เพราะตำรวจไม่สามารถปราบปรามได้มาเป็นเวลานาน 

เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถนำผู้ป่วยจิตเวชไปบำบัดได้หากเจ้าตัวไม่ยินยอม ขณะที่ศูนย์บริการสาธารณาสุขเอาผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มนี้ไปรักษาบำบัดด้วยวิธีการพูดคุย แล้วก็บอกให้ครั้งหน้ามาใหม่ 

นภาพร เล่าถึงกรณีหนึ่งที่หลังกลับจากการบำบัด เมื่อถึงบ้านเข้าก็ระเบิดอารมณ์ทำร้ายร่างกายพ่อ จึงอยากให้หน่วยงานที่รับไปบำบัดหาที่รองรับ เพราะกลับไปอยู่ที่เดิม ชุมชนเดิม ก็เหมือนเดิม

“หลายเคสตอนคุยกับหมอ ไม่เป็นไรเลย แต่พอกลับมาบ้านทุกอย่างกลับตาลปัตร แล้วหมอที่ประเมิน ก็ไม่เคยประเมินเลยว่าเขาบกพร่องทางจิตเลย ” 

นภาพร วัฒนสิงหะ

เช่นเดียวกับ สุนันท์ ไล้เวียน ประธานชุมชนร่มเกล้า เขตลาดกระบัง บอกว่า ไม่ทราบแนวทางที่ชัดเจน เมื่อชุมชนพบผู้ป่วยจิตเวชจะต้องแจ้งใคร ส่งต่อใคร และหากโรงพยาบาลส่งตัวผู้ป่วยจิตเวชกลับมาชุมชนจะช่วยกันดูแลไม่ให้เขาขาดยาอย่างไร ควรมีสถานที่พักฟื้นต่อสัก 4-5 เดือน เพราะเมื่อกลับออกมาสู่สังคม บางรายไม่มีญาติไม่มีคนดูแล ยาก็ไม่ได้กิน ปัญหาก็ยังอยู่ในวังวนเดิม

นุชจารี คล้ายสุวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย บอกกับตัวแทนชุมชนที่มาร่วมพูดคุยว่า ก่อนอื่นอยากให้ชุมชนทำความเข้าใจว่าผู้ป่วยจิตเวชสามารถรักษาหายได้ หากรู้เร็วก็สามารถรักษาเร็ว สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเวลานี้คือผู้ป่วยจิตเวชจากปัญหายาเสพติด และผู้ป่วยทางจิตจากกัญชา กับกระท่อมก็มีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน 

ข้อสังเกตหนึ่งก็คือช่วงอายุของผู้ป่วยจิตเวชลดลงมากจากเดิมอยู่ระหว่าง 30-40 ปี ปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มวัยรุ่นอายุ 10 กว่าปีมากขึ้น ที่น่าเป็นห่วงคือความเข้าใจของคนในครอบครัว และชุมชนที่ตีตราผู้ป่วย เพราะเมื่อเกิดการตีตรา ก็ไม่กล้าเปิดตัวว่าเป็นผู้ป่วย ทำให้การช่วยเหลือการดูแลเข้าไม่ถึง  

เธอบอกว่าหน่วยงานสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และเครือข่ายภาคประชาชน ควรนั่งคุยกันว่าถ้าเจอเคสผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน ควรมีแนวทางในการปฏิบัติอย่างไร โดยกลุ่มอาสาสมัครตัวแทนชุมชนต่าง ๆ ใน กทม. พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แต่เนื่องจากปัจจุบันขาดการเชื่อมต่อจึงไม่สามารถส่งต่อผู้ป่วยกันได้

“ตอนนี้มีหลายเขตที่ส่งข้อมูลมาให้ พบปัญหาผู้พิการทางจิตเยอะขึ้น เราเองซึ่งเป็นภาคเอกชน จิตอาสา คงไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง แต่เราเป็นกระบอกเสียงแจ้งได้ว่ามีปัญหาอะไรในพื้นที่ของเรา” 

นุชจารี คล้ายสุวรรณ

เปิดเส้นทางรักษาผู้ป่วยจิตเวชใน กทม. 

ชาวชุมชน กทม. บอกว่า คนต่างจังหวัดอาจจะโชคดีกว่าในแง่ของการแจ้งรับ ผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนที่ไม่ซับซ้อนเท่าไหร่ แต่จำนวน “ผู้ป่วยจิตเวช” โดยเฉพาะจากยาเสพติดในชุมชน กทม. ที่กำลังมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ระบบบริการเพื่อรองรับยังไม่ชัดเจน คำถาม คือ ใคร? คือหน่วยต้นทางหน่วยงานแรกที่ชาวบ้านจะเข้าไปประสาน และช่วยดูแลจนกว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ถึงมือหมอ สิ่งนี้สำคัญมากหากจะให้ชุมชนอยู่ร่วมกับผู้ป่วยจิตเวชได้ ป้องกันปัญหาสังคม และความรุนแรง

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ยอมรับว่าเส้นทางส่งผู้ป่วยยังไม่ชัดเจน หากชาวบ้านแจ้ง อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. (อสส.) หรือ ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ก็ยังไม่ได้เพราะว่าทีมต้องเข้าไปในบ้าน โดยปกติเวลามีเคสแบบนี้ ต้องเป็น พัฒนาสังคม (พม.) แต่ด้วยความที่ กทม. ไม่มีพัฒนาสังคมจังหวัด (พมจ.) แต่เรามีทีม พม. อยู่ เรากำลังคุยอยู่ว่าจะเป็นได้หรือไม่ถ้า ชาวบ้านพบผู้ป่วยจิตเวช ไม่ว่าจะแบบไหน ไม่ว่าเป็นใครจะแจ้งไปที่หน่วยงานปกครอง คือ สำนักงานเขต เพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานทั้ง ศบส. พม. เข้าไปพร้อมกัน 

“เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ตามศักดิ์และสิทธิ์ คือ พม. ที่สามารถเข้าไปดูได้ว่าเกิดอะไรขึ้น และจะทำยังไงกับรายนั้น พิสูจน์ว่าเขามีภาวะจริง และส่งต่อรักษา แต่ยังต้องคุยใช้ชัดว่าเราจะเพิ่มให้ สำนักงานเขต จัดการตรงนี้ได้” 

รศ.ทวิดา กมลเวชช

ทั้งนี้ ก่อนที่ผู้ป่วยจิตเวชจะเข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช พวกเขาจะต้องได้รับรักษาโรคทางกายให้เสร็จก่อน ซึ่งการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่เหมือนผู้ป่วยทั่วไป ต้องมีหอผู้ป่วยแยกออกมา ในต่างจังหวัด รพ.ชุมชน/รพ.ศูนย์ จะมีหอผู้ป่วยจิตเวชเพื่อรองรับก่อนส่งต่อ แต่สำหรับ กทม. รพ.สังกัด กทม. ส่วนมากยังไม่มีหอรักษาผู้ป่วยจิตเวช นอกจาก รพ.ตากสิน, รพ.เจริญกรุงฯ และ รพ.สิรินธร ที่มีเตียงรองรับผู้ป่วยจิตเวชประมาณสิบเตียง 

และเมื่อส่งมาโรงพยาบาลเฉพาะจิตเวช ที่รับผู้ป่วยในพื้นที่ กทม. คือ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ก็พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเกือบเต็มศักยภาพแล้ว หากเตียงเต็มก็จะมีการเกลี่ยผู้ป่วยไปอยู่ที่ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ จ.นครปฐม หรือไปที่ โรงพยาบาลศรีธัญญา จ.นนทบุรี 

หากโรงพยาบาลรับคนไข้ไว้ในระยะเวลาขั้นต่ำคนละ 1 เดือน การหมุนเวียนเตียงก็จะเป็นอุปสรรคเหมือนกัน

นพ.วิญญู  ชะนะกุล รอง ผอ.กลุ่มภารกิจบริการจิตเวชและสุขภาพจิต สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เสนอว่าควรจะเพิ่มสถานที่รองรับให้เพียงพอ หรือต้องจัดประเภทของผู้ป่วย บางคนไม่ถึงขั้นต้องอยู่โรงพยาบาล สามารถมีบริการผู้ป่วยนอกแบบใดได้บ้าง แบบไหนต้องอยู่โรงพยาบาล และเมื่ออยู่แล้วจำเป็นต้องฟื้นฟูต่อ จะต้องไปที่ไหนต่อ 

ชาวบ้านสะท้อนว่า ผู้ป่วยจิตเวชจะรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชอย่างมากสุดราวๆ 3 เดือน เมื่อหมอเห็นว่าอาการดีขึ้นก็จะส่งกลับบ้าน คราวนี้ชุมชนชนและหน่วยสุขภาพปฐมภูมิจะมีบทบาทอย่างมากที่จะต้องช่วยกันดูแลต่อไม่ให้ขาดยา ที่ผ่านมาผู้ป่วยกลับบ้านแล้วก็ต้องกลับมาโรงพยาบาลซ้ำอีกเพราะปฏิเสธยาซึ่งมีผลข้างเคียงสูงแม้จะกลับมาบ้านแล้วก็ยังจำเป็นต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบดูแลต่อ  

ยกระดับระบบดูแลผู้ป่วยจิตเวชให้ดีขึ้น 

จากปัญหาการเข้าไม่ถึงการรักษาผู้ป่วยจิตเวช The Active สอบถามไปยัง นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้รับคำตอบและแนวทางว่า สิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้คือการผลักดันยาจิตเวชประเภทยาฉีด เข้าสู่บัญชียาหลัก เพื่อให้ผู้ป่วยใช้สิทธิบัตรทองสามารถเบิกได้ ซึ่งจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยแก้ปัญหาการปฏิเสธการกินยาของผู้ป่วยจิตเวช

ส่วนการแก้ปัญหาเชิงระบบ ในระยะสั้นต้องการปรับระบบบริการทั้งหมด ประกอบด้วย 1. การเข้าถึงเหตุให้รวดเร็วที่สุด มีระบบการนำส่งการแจ้งฉุกเฉินทั้งในต่างจังหวัด และ กทม. 2. ระบบการนำไปรักษาการเพิ่มศัยภาพโรงพยาบาลในการรองรับ การเกลี่ยเตียงภายใน หรือการใช้ Home Ward เข้ามาช่วย 

ส่วนในระยะกลาง เป็นเรื่องของการให้ความรู้ประชาชนที่จะดูแลสุขภาพจิตตัวเองเพิ่มขึ้น ทั้งเชิงการป้องกัน หรือส่งเสริม หรือการสังเกตเห็นในเร็วขึ้น การรักษามันก็จะง่ายขึ้น ขณะที่ในระยะยาว กระทรวงสาธารณสุขมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนจิตแพทย 400 คนในอีก 5 ปี ซึ่งได้รับการอนุมัตและผ่านการจัดสรรงบประมาณแล้ว 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS