มองเชิงเศรษฐศาสตร์ : ต้นทุนลูกจ้างกับสิทธิทางการเมือง

การแสดงความเห็นทางการเมืองต่อสาธารณะ ไม่ว่าในฐานะแกนนำหรือบุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะมีชื่อเสียงหรือไม่ ทั้งหมดมี “ราคา” ที่ต้องจ่าย

การเรียน

การถูกจับกุมและดำเนินคดี จนต้องสูญเสียอิสรภาพ

ไปจนถึง การถูกยกเลิกสัญญาจ้างงาน กระทบต่อรายได้ ที่ต้องเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว

เช่นเดียวกับ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน หนึ่งในแกนนำการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รวมถึงกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม “ราษฎร” ที่มีรายงานระหว่างที่เขายังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล หลังถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำเมื่อ 9 พ.ย.ว่า สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของเขา ถูกนายจ้างยกเลิกสัญญาจ้างทำบัญชี

แม้เธอจะยืนยันว่ายังสามารถหาเงินเลี้ยงดูบุตร ทั้ง 2 คนได้ เพราะยังมีอีกหลายบริษัทที่ยังจ้างอยู่ แต่ก็ยอมรับว่า การถูกยกเลิกดังกล่าวมีผลกระทบต่อรายได้หลักของครอบครัว

หรือกรณีของ “คนดัง” ในวงการบันเทิงถูกถอดออกจากการเป็นผู้ดำเนินรายการ หลังโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กต่อว่ากลุ่มผู้ชุมนุมด้วยถ้อยคำรุนแรง และกรณีแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ถูกไล่ออกจากงาน เนื่องจากแสดงความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากเจ้าของโรงพยาบาล รวมถึงปรากฏการณ์แบนสินค้าที่ไปสนับสนุนสื่อช่องหนึ่ง ที่แสดงความเห็นคนละขั้วกับกลุ่มผู้ชุมนุม

การมีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ถือเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย เพราะไม่มีใครสามารถบังคับให้คนอื่นต้องเชื่อในแบบเดียวกับที่ผู้นำองค์กรคิด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายคนที่มีความเห็นต่างในขณะนี้ สะท้อนอะไรในสังคมไทย

The Active คุยกับ อาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด นักเศรษฐศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์และการสนองตอบอย่างรู้เท่าทัน เพื่อไม่ให้สังคมไทยถูกซ้ำเติมปัญหามากไปกว่านี้

ทำความเข้าใจ “การเลิกจ้าง” จากความเห็นต่างทางการเมือง

อาจารย์เดชรัต อธิบายว่า ต้องแบ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น 3 ลักษณะ อย่างแรกเป็นการเลิกจ้างจากนายจ้าง อย่างที่สอง เป็นท่าทีหรือการตัดสินใจของผู้บริโภคหรือลูกค้าเอง และอย่างที่สาม อยู่ตรงกลางระหว่าง 2 แบบแรก คือ ไม่เชิงเป็นนายจ้างแต่เป็นเจ้าของงาน และมีความกังวลใจต่อเสียงที่มาจากผู้บริโภค ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้ มีลักษณะที่แตกต่างกัน

กรณีแรก เป็นกรณีที่มีกฎหมายแรงงานคุ้มครอง การที่ให้เลิกจ้างหรือออกจากงานโดยที่มีการเลือกปฏิบัติในมิติทางการเมือง โดยไม่มีเหตุที่เป็นความผิด ก็อาจจะเข้าข่ายที่จะผิดกฎหมายแรงงานได้ อย่างกรณีแม่เพนกวินหรือคุณหมอที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งก็อาจจะเข้าข่ายนี้

กรณีที่สอง จะตรงข้ามในแง่กฎหมาย เพราะเป็นกรณีที่ผู้บริโภคแสดงท่าทีว่าตัวเองมีความเห็นอย่างไร และใช้ “อำนาจของผู้บริโภค” ในการที่จะบอกว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ซึ่งต่างจากอำนาจของนายจ้างที่ตัดสินใจคนเดียว และมีผลทำให้คนนั้นหลุดออกจากงานหรือยังอยู่ในการทำงานต่อไป

ผู้บริโภคแต่ละราย มีอำนาจตัดสินใจว่าตัวเองจะซื้อหรืออุดหนุนบริการต่าง ๆ เหล่านั้นหรือไม่ เราจึงจะเห็นว่ามันก็อาจจะมีผลกระทบ เช่น ถ้าคนนี้แสดงละครผู้บริโภคก็อาจจะไปดูน้อยลงถ้าผู้บริโภคไม่พอใจในท่าทีทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งของคนเหล่านั้น

กรณีที่สาม ก็มาจากอำนาจของผู้บริโภคเอง เพียงแต่ไม่ได้เป็นการตัดสินใจของผู้บริโภคล้วน ๆ อย่างเดียว แต่อาจจะเกี่ยวพันกับเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือผู้ว่าจ้าง ซึ่งอาจจะเปลี่ยนผู้ที่จะมาเป็นพรีเซนเตอร์ หรือผู้ที่จะมารับการทำงานไปจากคนเดิมด้วยเหตุผลข้อที่สอง

อาจารย์เดชรัตมองว่า กรณีที่สองและสาม คือ กรณีที่ผู้บริโภคจะใช้อำนาจของตัวเองในการตัดสินใจ แต่กรณีที่สาม คือ เจ้าของงานเลือกพรีเซนเตอร์ที่น่าจะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคมากกว่า หรือมีเสียงทางลบจากผู้บริโภคน้อยกว่า ถ้าพูดในภาษาธุรกิจ เรียกว่าเป็นสิทธิที่สามารถจะกระทำได้

“ยกตัวอย่างกรณีที่สาม เช่น มีช่วงหนึ่งที่มีการแบนสินค้าที่ไปโฆษณาในรายการทีวีช่องหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ว่าผู้บริโภคจะแสดงความเห็นอย่างไรก็ตาม ตราบใดที่เจ้าของสินค้าคิดว่าไม่มีผล เจ้าของสินค้าก็สามารถทำเหมือนเดิมได้ เช่น บางสินค้าก็ยังโฆษณาเหมือนเดิม แต่บางสินค้าคิดว่าผู้บริโภคน่าจะมีผล ก็อาจจะยกเลิกหรือเปลี่ยนไป”

ซึ่งในทั้ง 3 ลักษณะนี้ ไม่ได้บอกว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด คือ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของฝ่ายใด แต่การกระทำของนายจ้างจะเห็นผลโดยตรง คือ ถ้านายจ้างบอกว่าเลิกจ้างก็ต้องหลุดออกไป หรือถ้าดาราหรือคนจ้างงานคิดว่าเขารับได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เขาก็ดำเนินการต่อไป ดังนั้น กฎหมายเลยคุ้มครองแบบแรกมากกว่า

กฎหมายต้องคุ้มครอง แม้มีทัศนคติต่างกัน

อาจารย์เดชรัต ย้ำว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2562 ให้หลักการไว้แล้วว่า นายจ้างไม่ควรเอาทัศนคติทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงควรต้องพูดถึงกรอบและหลักการของกฎหมายให้ชัดเจน มิฉะนั้น เราก็อาจจะไปทำอะไรโดยไม่สนใจกฎหมาย แต่ถ้ามองจากมุมของผู้บริโภค คิดว่าหลายครั้งผู้บริโภคก็ตัดสินจากทัศนคติของตัวเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติในแง่ของการใช้ชีวิต ทัศนคติในเรื่องของสิ่งแวดล้อม หรือทัศนคติในแง่ของการเมือง

“ดังนั้น ก็เป็นความจำเป็นที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติของผู้บริโภคจะต้องชั่งน้ำหนักว่า การแสดงออกมีลักษณะแบบไหน เพราะแม้ว่าทัศนคติของผู้บริโภคแต่ละคนจะสามารถแสดงออกได้ และกฎหมายก็ไม่ได้ก้าวล่วง แต่มันก็ถูกควบคุมด้วยกระบวนการทางสังคมว่ากรณีเช่นนี้มันเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมที่จะทำ

อาจารย์เดชรัต ระบุด้วยว่า ผู้บริโภคก็ต้องพูดถึงมิติในทางสังคมด้วย ซึ่งหากสังเกตก็จะพบว่าท่าทีของผู้บริโภคจะไม่ใช่ลักษณะของการแบนเนื่องจากการแสดงความคิดเห็นที่ว่าเห็นด้วยกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่การแบนหรือการลงโทษทางสังคม จะเกิดขึ้นด้วยคำขยายความบางอย่างที่เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมในทางสังคม

“ไม่ใช่แบบว่ามีคนบอกผมให้เชียร์คุณประยุทธ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เลยโดนแบน ไม่ใช่อย่างนั้น หรือผมไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนักเรียนเลวก็เลยโดนแบน ไม่ใช่แบบนั้น แต่เป็นอาการหรือคำพูดที่ต่อไปจากนั้นที่ทำให้เกิดการแบน ผมมีความเห็นว่า เราอาจจะจำเป็นต้องพูดถึงกลไกทางสังคมในเรื่องนี้ด้วย”

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์