คิดว่าเด็กที่มีพ่อแม่หูหนวก พูดได้ ฟังได้ปกติไหม..?
ช่วงนี้ใครที่ท่องโลกติ๊กต็อก (TikTok) อาจได้เห็นคลิปแปลเพลงเป็นภาษามือของช่อง Okata Supitchaya ผ่านหน้าผ่านตาบ้างไม่มากก็น้อย คลิปที่ว่านี้ได้ถ่ายทอดเนื้อเพลงออกมาในรูปแบบของภาษามือ พร้อมแสดงสีหน้าบ่งบอกอารมณ์ที่บทเพลงนั้น ๆ ต้องการสื่อไปด้วย
เจ้าของบัญชีผู้ใช้ยังระบุอีกว่า เธอคือ เด็ก CODA
หรือหมายถึง บุคคลที่มีพ่อแม่เป็นคนหูหนวก จนทำเอาหลายคนตั้งคำถามว่า “ทำไมเธอจึงพูดได้”
The Active ชวนทำความเข้าใจ เด็ก CODA ในมิติของความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและการใช้ชีวิต ไปจนถึงประเด็นเรื่องสวัสดิการคนหูหนวกในไทย ที่สะท้อนผ่านมุมมองของ โอ – สุพิชญา ณ สงขลา นักแสดงอิสระ และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) เจ้าของช่อง Okata Supitchaya ผู้สื่อสารและเชื่อมโลกกระแสหลักกับโลกของคนหูหนวกเข้าไว้ด้วยกัน
จุดเริ่มต้น…กระบอกเสียงเพื่อคนหูหนวก
วินาทีแรกที่โอรู้ตัวว่าเป็นเด็ก CODA คือตอนที่เธอรับรู้ว่า พ่อแม่พูดไม่ได้ ซึ่งเธอก็ไม่ได้มีวิธีตั้งรับหรือปรับตัวเป็นพิเศษ เพียงแต่เรียนรู้ความแตกต่าง เพื่ออยู่ร่วมกับพวกเขาทั้งสอง
โอคลุกคลีกับทั้งภาษามือ และภาษาพูดมาตั้งแต่ตอนเด็ก โดยเรียนภาษามือจากคุณพ่อและคุณแม่ ควบคู่ไปกับการเรียนภาษาพูดจากคุณปู่และคุณย่า จึงใช้ภาษามือได้อย่างคล่องแคล่ว และตัดสินใจเริ่มทำคอนเทนต์เกี่ยวกับภาษามือด้วยความตั้งใจว่า ต้องการให้คนหูหนวกรู้สึกสนุกไปกับเพลงเช่นเดียวกับที่คนหูดีรู้สึกตอนได้ฟังเพลงสักเพลง
และเพื่อให้คนหูหนวกกับคนหูดีเกิดความเข้าใจกันมากขึ้น คือ ในมุมของคนหูดี ก็จะรับรู้การมีตัวตนอยู่ของคนหูหนวก ส่วนคนหูหนวกก็จะรับรู้ว่า พวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว และยังมีคนที่คอยเข้าใจอยู่ อีกทั้งเพื่อสื่อสารให้คนได้รับรู้ว่า ภาษามือเป็นภาษาที่สนุก และสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้
“ไอ้ใบ้นอนตายอยู่ที่ใต้สะพานลอย”…
จากบูลลี่ สู่คนทำคอนเทนต์สร้างความเข้าใจ
ตอนเด็ก ๆ โอไม่ได้รู้สึกว่า พ่อแม่ของเธอแตกต่างจากคนอื่น แต่สำหรับเธอ พวกเขาแค่ใช้อีกภาษาหนึ่งมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง เธอก็ต้องพบกับข้อจำกัดหรือปัญหาบางอย่างจากการเป็นเด็ก CODA เช่น ในช่วงประชุมผู้ปกครอง เธอจะให้คุณอา คุณปู่หรือคุณย่าเข้าประชุมแทน เพราะในห้องประชุมจะไม่ได้อนุญาตให้เด็กหรือลูกเข้าไปฟังด้วย จึงไม่มีใครแปลคำพูดให้พ่อแม่ของเธอ
หรืออาจมีบางช่วงที่รู้สึกไม่มีอิสระ และรู้สึกว่า อะไร ๆ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของเธอ แต่โอก็เข้าใจความจำเป็นในส่วนนี้ เพราะถ้าไม่มีเธออยู่พ่อกับแม่ก็อาจสื่อสารได้ไม่เต็มที่ โอจึงพยายามไปไหนมาไหนกับพ่อแม่ด้วยตลอด แล้วขอช่วงเวลาส่วนตัวบ้าง หากอยากไปเที่ยวกับเพื่อน ซึ่งปัจจุบัน โอก็พยายามให้พ่อดูแลตัวเองได้ ในช่วงเวลาที่เธอต้องทำงาน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ธุระที่สำคัญ หรือต้องสื่อสารเยอะ ก็จะให้เขาจัดการเอง แต่ถ้าสื่อสารแล้วไม่เข้าใจ หรือเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เธอจะให้พ่อวิดีโอคอลมาหา เพื่อให้เธอพูดคุยแทน
นอกเหนือจากเรื่องราวในครอบครัวแล้ว สังคมรอบตัวโอ เพื่อน ๆ ที่โรงเรียน และมหาวิทยาลัย ก็บ้างที่ต้องเผชิญหน้ากับการถูกบูลลี่ ซึ่งก็ถือเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย จากเพื่อนร่วมห้องตอน ป.3 โดยเพื่อนผู้ชาย 2 – 3 คน มาตะโกนเป็นเนื้อเพลงที่ถูกแปลงใส่โอซ้ำ ๆ ว่า “ไอ้ใบ้นอนตายอยู่ที่ใต้สะพานลอย”
แต่เหตุการณ์นั้นก็เพื่อนผู้หญิงที่พบเห็น จึงนำเรื่องไปฟ้องครู ครูก็จัดการให้ทันที ส่วนเพื่อนมัธยม และมหาวิทยาลัยล้วนเข้าใจเธอ และไม่มีการกลั่นแกล้งกัน อีกทั้งบางคนอยากเรียนรู้ภาษามือ รวมถึงลองสื่อสารภาษามือกับพ่อของเธอด้วย
จากคำพูดที่ถูกบูลลี่ในช่วงวัยเรียน ถือเป็นอีกแรงผลักดันที่ทำให้เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน โอได้เริ่มต้นทำคอนเทนต์ภาษามือ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และสร้างความเข้าใจแก่ผู้คนให้ยอมรับในความแตกต่าง เห็นคุณค่าของคนหูหนวก และเด็ก CODA
นอกจากนี้เธอยังเข้าร่วมโครงการจิตอาสาเพื่อเด็กหูหนวก รวมถึงจัดกิจกรรมสอนภาษามือแก่ผู้ที่สนใจ รับหน้าที่ล่ามแปลภาษามือ และใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเองในการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ของคนหูหนวกอีกด้วย
ต้องดูแล…เพราะพ่อแม่เป็นคนพิการ ?
ในระบบครอบครัวและเครือญาติไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความกตัญญู คือ ค่านิยมที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลานาน ฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก จึงมักถูกมองว่าเป็นสายใยความผูกพันที่เชื่อมไว้ด้วยการตอบแทน แต่สำหรับเด็ก CODA จะถูกคาดหวังมากกว่าหรือไม่ ?
โอ ยอมรับว่า ทุกครอบครัวไม่ว่าพ่อแม่จะเป็นคนหูดีหรือคนหูหนวก ต่างก็หวังให้ลูกไปได้ดี เพื่อที่จะกลับมาดูแลพ่อแม่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย แต่หากพ่อแม่เป็นคนหูหนวก ความคาดหวังอาจสูงขึ้นได้ อย่างในกรณีของเธอที่เป็นเด็ก CODA ก็อาจถูกคาดหวังว่า จะต้องคอยช่วยเหลือพ่อแม่
หากมองต่อเนื่องไปถึงประเด็นเชิงโครงสร้าง ถ้าพ่อแม่มีโอกาสและฐานะทางการเงินดี ก็อาจไม่ต้องพึ่งลูกตลอดเวลา อย่างกรณีพ่อของเธอ ที่เป็นลูกจ้างประจำโรงเรียน พอเกษียณเขาก็ได้รับเงินบำเหน็จรายเดือน ทำให้มีเงินใช้ทุกเดือน และไม่ต้องมาพึ่งพาลูกสาวมากนัก กลับกันในกรณีที่พ่อแม่อาจไม่ได้มีทุนทรัพย์ พ่อแม่ก็อาจหวังพึ่งลูกค่อนข้างมากเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม เธอไม่เห็นด้วยหากพ่อแม่ไม่ได้คอยดูแลมาตั้งแต่เด็ก แต่กลับบีบบังคับให้ลูกต้องตอบแทน เพราะมองว่าเป็นหน้าที่ของลูก
“ความกตัญญู คือ พ่อแม่ต้องให้ลูกในสิ่งที่ลูกรู้สึกอยากตอบแทน ไม่ใช่ว่า พ่อแม่ไปจ้ำจี้จ้ำไชให้ลูกต้องรำลึก หรือเป็นคนกตัญญู ตรงนี้โอไม่ได้เห็นด้วย สำคัญที่สุด คือ การให้และการรับ ซึ่งต้องดูแต่ละครอบครัวกันไป แต่สำหรับโอคือ พ่อแม่เขาดูแลเราดี เราก็ดูแลเขากลับ”
โอ – สุพิชญา สะท้อนมุมมอง
‘สวัสดิการคนหูหนวก’ ประตูสู่คุณภาพชีวิตเท่าเทียมกัน
ไม่เพียงได้รับการดูแลจากคนในครอบครัวเท่านั้น อีกสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่า คือ สวัสดิการ ที่จะเกื้อหนุนให้การใช้ชีวิตของคนหูหนวกรวมถึงผู้พิการอื่น ๆ นั้นง่ายและสะดวกขึ้น แล้วในปัจจุบัน สวัสดิการของคนหูหนวกเข้าถึงพวกเขาเหล่านี้ทั่วถึงแล้วหรือยัง ?
เรื่องนี้โอ มองว่า ถ้าเอาเฉพาะสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของคนหูหนวกถือว่าครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหา คือ คนหูหนวกบางคนไม่รู้ว่าพวกเขามีสิทธิอะไรบ้าง บางคนจึงอาจไปเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ทั้งที่มีสวัสดิการรองรับพวกเขาอยู่
นอกเหนือจากสิทธิทางการรักษาพยาบาลแล้ว ยังมีสิทธิของคนหูหนวกอื่น ๆ อีก ที่คนหูหนวกรวมถึงผู้ดูแลคนหูหนวกอาจยังไม่รับรู้ เช่น
สิทธิบริการคมนาคม ที่ผู้พิการสามารถแสดงบัตรประจำตัวคนพิการเพื่อรับ สิทธิเข้าใช้บริการ BTS และ MRT โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และได้รับการ ลดหย่อนค่าโดยสาร ในระบบขนส่งสาธารณะบางประเภท เช่น รถไฟ หรือรถร่วมบริการขององค์การขนส่งมวลชนสาธารณะ (ขสมก.)
สิทธิบริการโทรคมนาคม ที่ผู้พิการจะได้รับสิทธิ ใช้บริการทางโทรศัพท์มือถือในราคาประหยัด อีกทั้ง ผู้ดูแลผู้พิการที่ทำงานแล้ว สามารถยื่นเอกสารเพื่อ ขอลดหย่อนภาษีได้
สุพิชญาเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญ คือ การร่วมกันช่วยประชาสัมพันธ์ เพื่อให้คนหูหนวกและผู้พิการอื่น ๆ รู้ว่า พวกเขามีสิทธิส่วนนี้ และสามารถใช้สิทธิเหล่านี้ได้
แต่สำหรับ สิทธิการเข้าถึงสื่อ โอ ก็ยังเห็นว่า ไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมมากเท่าที่ควร เพราะคนหูดีที่เป็นกลุ่มคนส่วนมากในสังคมมีโอกาสได้รับสื่อทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นด้านบันเทิง หรือข่าวสาร แต่คนหูหนวกจะได้รับจำกัดเฉพาะข่าวสารเท่านั้น
อย่างในโทรทัศน์ที่เห็นว่ามีล่ามแปลภาษามือเฉพาะข่าวสาร แต่ถ้าเป็นสื่อด้านความบันเทิงหรือด้านอื่น ๆ จะยังไม่ค่อยมี เธอจึงอยากผลักดันการเพิ่มโอกาสเข้าถึงสื่อบันเทิงของคนหูหนวก โดยอย่างน้อย คือ มีคำบรรยาย (Subtitle) ในสื่ออื่น ๆ นอกเหนือจากรายงานข่าว เพื่อให้คนหูหนวกได้รู้ว่า ภาพที่พวกเขาเห็น กำลังพูดหรือสื่อถึงอะไร
‘ระบบเตือนภัย’ เรื่องใหญ่…ที่ยังละเลยคนหูหนวก
เหตุกราดยิงที่สยามพารากอนเมื่อปีก่อน ได้สร้างแรงกระเพื่อมประเด็นเรื่องความสำคัญของระบบเตือนภัยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ประเทศไทยยังขาดระบบเตือนภัยที่ทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรืออันตราย โดยปัญหานี้จะส่งผล กระทบไม่เพียงต่อคนหูดี แต่ต่อคนหูหนวกด้วยเช่นเดียวกัน
เนื่องจากการเข้าถึงสื่อด้านระบบเตือนภัยของคนหูหนวกในไทยนั้น ยังไม่ครอบคลุมและเหมาะสมมากพอ ซึ่งโอก็ถ่ายทอดปัญหานี้ ว่า เวลาเกิดเหตุภัยพิบัติ หรือเหตุอันตราย คนหูดีได้รับรู้ข่าวสาร ทั้งการประกาศเตือนภัย หรือรายงานข่าวผ่านช่องทางต่าง ๆ แต่ในช่วงสถานการณ์คับขัน ที่คนหูหนวกอาจอยู่นอกบ้านหรือบริเวณใกล้ที่เกิดเหตุ เป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะรับรู้ข่าวสารผ่านทางโทรทัศน์หรือช่องทางออนไลน์อื่น ๆ เพราะฉะนั้น หากเกิดเหตุ แล้วมีการประกาศเตือนภัย ณ ตอนนั้น คนหูหนวกก็จะไม่รับรู้ข่าว
“เมื่อก่อนพ่อเคยเล่าว่า ตอนเกิดเหตุชุมนุมที่มีการยิงกัน เพื่อนของเขาเสียชีวิตในเหตุการณ์ เนื่องจากขึ้นรถเมล์แล้วมีการยิงปะทะกัน ซึ่งคนหูดีทุกคนตะโกนบอกให้หลบ แต่เพื่อนเขาที่เป็นคนหูหนวกไม่ได้ยิน จึงไม่ได้ก้มหลบ แล้วโดนยิง อย่างน้อยระบบเตือนภัยที่ควรมีสำหรับคนทุกกลุ่มไม่เพียงเฉพาะคนหูหนวก คือ SMS เตือนภัยในโทรศัพท์ ที่จะช่วยแจ้งเตือนให้ทุกคนระวัง และไม่เข้าใกล้ที่เกิดเหตุ เพื่อป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดตามมา”
“คนหูหนวกปัจจุบันนี้เขาได้รับการศึกษา เขาสามารถอ่านได้ อย่างน้อยให้มีคีย์เวิร์ด ว่า อันตราย มีอุบัติเหตุอยู่แถวนี้ และให้เขาระวัง เท่านี้คนหูหนวกก็พอเข้าใจแล้วว่า เขาต้องระวังตัวนะ ดีกว่าปล่อยให้เขาเดินทะเล่อทะล่าเข้าไป อย่าให้เกิดเหตุอย่างนั้นเลย”
โอ – สุพิชญา ขยายความ
ต้องยอมรับว่าปัญหาเรื่องสวัสดิการยังคงเป็นเรื่องที่รอการแก้ไขต่อไป แต่อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อการเข้าถึงสิทธิของคนหูหนวก คือ ฐานะทางการเงิน เพราะถ้าคนหูหนวกมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น เขาก็จะมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อได้เรียน และมีความรู้แล้ว เขาก็จะมีช่องทางในการหาข้อมูล การรับรู้ข่าวสาร และนำไปสู่การรับรู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง จึงกล่าวได้ว่า ฐานะทางการเงิน การเข้าถึงสิทธิและการศึกษานั้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเนื่องกัน
เริ่มจากการศึกษา สู่การเข้าถึงสิทธิ
เพราะการศึกษาสามารถเป็นประตูที่เปิดให้คนหูหนวกมีโอกาสเข้าถึงสิทธิมากขึ้น จึงนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ หากมองถึงแนวทางที่จะสร้างความเท่าเทียมด้านการเข้าถึงสิทธิของคนหูหนวกในอนาคต
เมื่อพูดถึงสถานการณ์การศึกษาของคนหูหนวกในไทย ก็พบว่า ปัจจุบันครูที่สามารถสื่อสารภาษามือ และสอนได้อย่างเต็มที่มีจำนวนลดน้อยลงมาก เพราะการศึกษาพิเศษไม่ได้มีหลักสูตรเฉพาะแยกย่อยสำหรับครูที่จะสอนคนหูหนวก ทำให้ครูที่เรียนจบด้านการศึกษาพิเศษหลายคนไม่สามารถสื่อสารภาษามือได้ จึงต้องเรียนภาษามือจากนักเรียนอีกที เพื่อสื่อสารกับเด็ก ทำให้ความรู้ที่ได้มาแล้วถ่ายทอดไปให้นักเรียนลดทอนลงไป
โอ ย้ำว่า หากต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิ ต้องเริ่มแก้ที่การศึกษาเป็นขั้นแรก เพราะเมื่อไรก็ตามที่คนหูหนวกมีความรู้ มีอาชีพและมีทุน คุณภาพชีวิตที่ดีในด้านอื่น ๆ ของพวกเขาจะตามมาเอง ซึ่งหากมองในมุมของผู้เรียน โอ ก็เชื่อว่า การศึกษาเข้าถึงคนทุกกลุ่มและทุกฐานะแล้ว เพราะปัจจุบันมีโรงเรียนสอนคนหูหนวกอยู่ทุกภูมิภาคของไทย แต่ปัญหาคือ ยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้คนรับรู้ว่า มีโรงเรียนและกลุ่มสังคมตรงนี้อยู่
สำหรับครอบครัวที่ทั้งผู้ปกครองและลูกเป็นคนหูหนวก อาจไม่มีปัญหามากนัก เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็จะเคยเรียนโรงเรียนเฉพาะสำหรับคนหูหนวกมา แต่ในกรณีของครอบครัวที่ผู้ปกครองเป็นคนหูดี แล้วลูกเป็นคนหูหนวก ผู้ปกครองอาจไม่รู้ว่า มีโรงเรียนสำหรับสอนคนหูหนวกในพื้นที่ใดบ้าง
ส่วนของการเรียนการสอนในโรงเรียน โอ ยกตัวอย่าง โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ โรงเรียนสอนคนหูหนวกแห่งแรกในไทยว่า สอนทั้งภาษามือและการอ่านปาก เพื่อที่เวลาคนหูดีพูด นักเรียนจะสามารถอ่านปาก และพยายามออกเสียงตามได้
ในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ทุกโรงเรียนพยายามผลักดันลูกศิษย์ให้สามารถเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ แต่เนื่องด้วยพัฒนาการหรือศักยภาพของคนหูหนวก การผลักดันนี้อาจไม่ได้ประสบความสำเร็จเต็มร้อย เช่น สมมติมีนักเรียน 20 คน อาจจะสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ประมาณ 3 – 5 คน ส่วนนักเรียนที่เหลือก็อาจเลือกจบการศึกษาที่วุฒิ ป.6
“คนหูหนวกบางคนคิดว่า สังคมนี้ หน้าที่การงานของพวกเขา ยังไงก็ไม่หลากหลายเท่าคนหูดี เรียนแค่นี้ก็คงพอแล้ว ไปเปิดร้านขายของก็ได้ เหมือนที่แม่เขาเคยทำ”
โอ – สุพิชญา สะท้อนมุมคิด
โอ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ถึงมีปัญหาแต่ก็ยังมีคนหูหนวกที่ฉลาด และมีความตั้งใจสามารถเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้จำนวนไม่น้อย หรือบางคนอาจไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ต่างประเทศได้เลย เช่น มหาวิทยาลัยกัลลาเด็ต (Gaulladet University) ที่อเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับคนหูหนวกแห่งแรก และมีสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อคนหูหนวกอย่างครบครัน
เด็ก CODA พื้นที่โอบอุ้ม – ยอมรับ
นั่นเป็นสถานการณ์ และข้อเท็จจริงที่ถูกสะท้อนผ่านประสบการณ์ร่วมของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาท่ามกลางข้อจำกัดของครอบครัว แต่กลับสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเพื่อสังคมของคนหูหนวก
ถึงตรงนี้สิ่งที่ยังเป็นเงื่อนไขสำคัญ คือ ปัจจุบัน ครอบครัวไทยยังมีเด็ก CODA อยู่น้อยมาก เท่าที่โอได้สัมผัสพูดคุยโดยตรง คือ มีประมาณ 10 – 20 คนเท่านั้น และเช่นกันคือแทบไม่เคยเห็นรายงานข้อมูลตัวเลขเด็ก CODA ทั้งประเทศเลย
ส่วนการรวมกลุ่มของเด็ก CODA ในไทยนั้น ปัจจุบันเท่าที่โอรับรู้ คือ ยังไม่ได้จัดตั้งกลุ่มชัดเจน แต่ในอนาคตหากสามารถรวบรวม และจัดตั้งกลุ่มได้ เธอก็มองว่า เป็นโอกาสที่ดี เพราะอย่างน้อยการมีกลุ่มเด็ก CODA จะช่วยให้เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมารับรู้ว่า พวกเขามีเพื่อน และไม่จำเป็นต้องด้อยค่าตัวเอง
เธอได้ทิ้งท้ายว่า เด็ก CODA ทุกคนสามารถนำภาษามือมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ และไม่อยากให้เด็ก CODA คนอื่น ๆ รู้สึกว่า การที่พวกเขามีพ่อแม่เป็นคนหูหนวกนั้น คือ จุดด่างพร้อย เพราะทุกคนต่างมีคุณค่าในตัวเอง
“มีเด็ก CODA จำนวนไม่น้อยเลยรู้สึกอายที่พ่อแม่เป็นคนหูหนวก แล้วพยายามปิดไม่ให้ใครรู้ และไม่อยากคุยกับพ่อแม่ของตัวเอง โออยากให้ทุกคนรับรู้ว่า ยังมีเด็ก CODA อย่างโอนะ ที่ไม่อายเลย แล้วเธอ (เด็ก CODA คนอื่น ๆ) สามารถเอาสิ่งที่ทุกคนคิดว่าเป็นปมด้อยมาเป็นจุดเด่นของตัวเองได้ เธอสามารถใช้ภาษาอีกภาษาหนึ่งได้ และเอามาเป็นความสามารถพิเศษ หรืออาชีพเลยก็ได้ ไม่ต้องด้อยค่าตัวเอง”
โอ – สุพิชญา ฝากทิ้งท้าย
ข้อมูล และ ถ้อยคำที่ปรากฏ คือ เสียงสะท้อนจากเด็ก CODA เพียงคนเดียว บริบทครอบครัว หรือเงื่อนไขการใช้ชีวิตของเธอ อาจนำมาเป็นพื้นฐานการทำความเข้าใจปัญหา หรือสิ่งที่เด็ก CODA ทุกคนเผชิญอยู่ไม่ได้ แต่อย่างน้อย การได้รับฟังเสียงสะท้อน และประสบการณ์นี้ ก็ถือเป็นโอกาส และบันไดขั้นแรก ที่จะช่วยให้เรามองเห็นการมีอยู่ของเด็ก CODA และพร้อมเปิดใจยอมรับตัวตนของพวกเขา
ท้ายที่สุด แม้เด็ก CODA จะเป็นผู้ที่คลุกคลี และใช้ชีวิตร่วมกับคนหูหนวก แต่การเรียกร้องสวัสดิการเพื่อคนหูหนวก รวมถึงคนพิการอื่น ๆ ไม่ควรถูกผลักให้เป็นหน้าที่ของพวกเขาเพียงกลุ่มเดียว เพราะเราทุกคนสามารถร่วมกันเป็นกระบอกเสียง เพื่อสร้างการรับรู้ การเข้าถึงสิทธิที่เข้มแข็ง และเพื่อไม่ทำให้เด็ก CODA รู้สึกว่า พวกเขาแปลกแยกหรือถูกโดดเดี่ยว