2 แนวคิด ประเพณี “อัญเชิญพระเกี้ยว”

ดูเหมือนจะยังเป็นกระแสสังคมไม่จบ สำหรับข้อถกเถียงยกเลิกกิจกรรม “อัญเชิญพระเกี้ยว” ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ แม้จะมองว่านี่เป็นปรากฏการณ์ปะทะกันของ 2 แนวคิดภายในรั้ว “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” แต่หากมองให้ไกลกว่านั้นปรากฏการณ์ลักษณะนี้ ไม่ได้เพิ่งเคยเกิดขึ้นครั้งแรก

จะทำอย่างไรเมื่อรุ่นน้องมีเหตุผลของการเปลี่ยนแปลง ขณะที่รุ่นพี่ก็มีเหตุผลของการรักษา?

The Active พูดคุยกับ ผศ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ทั้งในฐานะอาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และเป็นนิสิตเก่าจุฬาฯ มองว่า นี่คือ ปรากฏการณ์ที่รุ่นน้องท้าทายแนวคิดอนุรักษ์นิยมสุดขั้วของรุ่นพี่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับการ “ด้อยค่าพระเกี้ยว”

ขณะที่ ณัฐพนธ์ เกษสาคร อดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปี 2545 มองว่า หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมต่าง ๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย คือ ข้อเรียกร้องที่มาจากนิสิตผู้ได้รับผลกระทบ และต้องผ่านหลายกระบวนการพูดคุยร่วมกันก่อนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นเหมือนการจำลองโครงสร้างของรัฐบาลระดับชาติ มาไว้ในรั้วมหาวิทยาลัย สิ่งที่ขาดไม่ได้ของทุกการเปลี่ยนแปลง คือการรับฟังเสียงสะท้อนจากส่วนรวม

ที่มา : หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา : หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อัญเชิญพระเกี้ยว ตราสัญลักษณ์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2520
ที่มา: หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวงานฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 58 และ ณัฐพนธ์ เกษสาคร อดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปี 2545 ให้ข้อมูลตรงกันว่า รูปแบบการอัญเชิญพระเกี้ยว ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะ “คนแบกเสลี่ยง” อย่างภาพที่เห็น ก็เป็นรูปแบบการอัญเชิญพระเกี้ยวโดยใช้ ช้าง บางปีก็เคยใช้รถ ซึ่งปรับเปลี่ยนได้ตามยุคสมัย

โดยอธิบายว่ากิจกรรมของงานฟุตบอลประเพณีขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) แต่หากเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นประเพณี ปฏิบัติ อย่างกรณี รูปแบบอัญเชิญพระเกี้ยว จะต้องผ่านการหารือร่วมกับนิสิตคณะต่าง ๆ และประชาคมจุฬาฯ ซึ่งก็ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะหาทางออกในเรื่องต่าง ๆ ผ่านการเปิดพื้นที่พูดคุย

ส่วนเหตุผลในแถลงการณ์ของ อบจ. ชุดปัจจุบัน เรื่องความเท่าเทียมในกิจกรรมนี้ อดีตนายก อบจ. ปี 45 ก็มีความเห็นที่ต่างออกไป
โดยนิยามความหมายของความไม่เท่าเทียม เป็นเรื่องการให้อภิสิทธิ์นิสิต นอกเวลาการจัดกิจกรรมอัญเชิญพระเกี้ยวฯ

พร้อมย้ำว่า บทบาทของ อบจ. เปรียบเหมือนการจำลองรัฐบาลระดับชาติ มาไว้ในรั้วมหาวิทยาลัย ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจเปลี่ยนแปลง ก็ยังจำเป็นต้องทำประชามติและฟังเสียงส่วนรวมเป็นหัวใจสำคัญ

“ส่วนตัวผมมองว่า เป็นเวลาไม่กี่ชั่วโมงที่จะได้ทำกิจกรรม แสดงความเคารพ ซึ่งทุกคนถูกกำหนดหน้าที่เอาไว้ เมื่อหมดหน้าที่ทุกคนก็เท่าเทียมกัน คนมีหน้าที่อัญเชิญพระเกี้ยว หรือแบกเสลี่ยง จบงานแล้วก็กลับไปใช้ชีวิตปกติ เท่าเทียมกันในความเป็นนิสิต… แต่ถ้าทำให้มีอภิสิทธิ์ เช่น ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ได้รับสิทธิ์มากกว่านอกเหนือจาก 3 ชั่วโมงนี้ไปแล้ว ก็ถือว่าไม่เท่าเทียมกัน”

ณัฐพนธ์ เกษสาคร อดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปี 2545

หากพูดถึงการเมืองภาพใหญ่ ผศ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล พาย้อนไปถึง กรณีพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นเหมือนพรรคตัวแทนของคนรุ่นใหม่ในช่วงปีที่ผ่าน เป็นกรณีตัวอย่างที่ถูกคนรุ่นใหม่ ตั้งคำถามกับโครงสร้างทางการเมือง การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ รวมถึงการปฏิรูปการศึกษา ฯลฯ ขณะที่แนวคิดอนุรักษ์นิยมยังไม่เคยถูกท้าทาย จึงมองว่า ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย ที่จะเห็นภาพของนิสิต-นักศึกษา แสดงพลังทางความคิดที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ที่พวกเขาเห็นว่าไม่มีเหตุผล ไม่จำเป็น หรือไม่ได้ส่งเสริมความเท่าเทียม

แถลงการณ์ อบจ. 29 : 0 เสียง สะท้อนชัดเจนถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงของ อบจ. และไม่ได้เพิ่งเคยเกิดขึ้น มีหลากหลายคำถามที่เกิดกับกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย ตั้งแต่การเปิดเทอม – รับน้อง – การแต่งกาย ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับสิ่งที่ อบจ. รุ่นใหม่ต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับวัฒนธรรมแบบเดิม

ผศ.กนกรัตน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พิธีอัญเชิญพระเกี้ยวไม่ใช่พิธีที่มีมาแต่โบราณ แต่เริ่มต้นจริง ๆ ในช่วงปี 2507 เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ภายในระบอบเผด็จการทหาร เพราะฉะนั้น เด็กรุ่นนี้จึงเลือกที่จะตั้งคำถามต่อรุ่นพี่ที่สร้างกิจกรรมลักษณะนี้ขึ้นมา ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับการด้อยค่า “พระเกี้ยว” ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ชาวจุฬาฯ เคารพ และเกิดขึ้นมาพร้อมกับการก่อตั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เป็นเรื่องของคนติดต่าง 2 กลุ่มเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทยเลย สิ่งที่เขาท้าทาย คือ ท้าทายวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมที่รุ่นพี่เป็นคนสร้างขึ้นมา และรุ่นพี่พยายามบังคับให้เป็นแบบนั้น เพราะเป็นสิ่งที่ดีงามตามมุมมองของรุ่นพี่ แต่ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมที่ดีงามตามแต่ยุคโบราณกาล…”

ผศ.กนกรัตน์ ขยายความต่อไปว่า พวกเขาอาจมองว่า นี่คือการประนีประนอมแล้ว ที่ยกเลิกการแบกหามเสลี่ยง แต่สำหรับผู้ใหญ่มองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะสิ่งที่กังวล ไม่ใช่แค่ยกเลิกการอัญเชิญพระเกี้ยว

“สิ่งที่รุ่นพี่มอง คือ นี่กำลังท้าทาย ผลักดันการเปลี่ยนแปลง สำหรับศิษย์เก่าก็กลัว และกังวลการเปลี่ยนแปลง ก็จะถูกยกระดับไปตั้งคำถามว่าจะรื้อถอน สิ่งที่แตะต้อง และเคารพนับถือมาแต่โบราณ”

ผศ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

และหากถอยออกมาจากข้อถกเถียงเรื่องกิจกรรมอัญเชิญพระเกี้ยว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นิสิตพยายามเปลี่ยนแปลงกิจกรรมต่าง ๆ ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

  • ปี 2561 กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “นิสิตจุฬาฯ” ก็รณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org รณรงค์ยกเลิก ‘การบังคับ’ แต่งชุดนิสิต แม้จะเปลี่ยนแล้ว แต่ต้นปี 2564 อบจ. ก็ออกมารับฟังความเห็นกันอีกรอบ โดยผลสำรวจพบเกือบ 90% ยังเห็นด้วยกับการยกเลิกระเบียบการแต่งชุดนิสิต
  • 13 มิถุนายน 2560 สภานิสิตจุฬาฯ ออกประกาศ ทบทวนการรับน้อง และห้องเชียร์
  • บางช่วง คณะรัฐศาสตร์ เคยมี นิสิตหญิงออกมาประท้วงให้ยกเลิกการใส่กระโปรงเข้ามาในห้องสมุด เพื่อความสะดวก และสุดท้ายก็ยกเลิกได้สำเร็จ
  • และ การช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าสามย่าน สัญญาไม่เป็นธรรมต่อคนเล็กคนน้อย ฯลฯ

ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือเป็นพลังการเรียกร้องของนิสิตที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในทุกมิติ โดย ผศ.กนกรัตน์ เชื่อว่า จุฬาลงกรณ์ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่พร้อมจะปรับตัวต่อภาวะการเปลี่ยนแปลง

ผศ.กนกรัตน์ ข้อสังเกตว่า ในแง่หนึ่ง สังคมไทยไม่ใช่สังคม Resilience (ยืดหยุ่น) ที่พร้อมปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวช้ากับการเปลี่ยนแปลง ภัยคุกคาม บริบทรอบข้างเอื้อให้ไม่เปลี่ยน ผู้ใหญ่เปลี่ยนยาก และมองว่าการไม่เปลี่ยน ก็ไม่ได้สร้างปัญหา อีกด้านมองว่าการเปลี่ยนมันอันตรายต่ออนาคตในชีวิตของแต่ละคน

“ผู้ใหญ่ที่แนะว่า ไม่อยากให้เปลี่ยน ในด้านหนึ่ง มองด้วยความหวังดี เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ปฏิบัติมาตลอดหลายสิบปี และเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยเจริญก้าวหน้า…

ขณะที่เด็ก GEN Z เป็นคนส่วนน้อยของสังคม ที่มีไม่ถึง 15 % ของประเทศ เขาจะต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอีกหลากหลายมิติ”

ผศ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ผศ.กนกรัตน์ ทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย มีทั้งรุ่นพี่ที่คิดต่าง รุ่นน้องที่อยากจะเปลี่ยน ซึ่งการเปลี่ยนมันก็จะเกิดขึ้นอัตโนมัติ ตราบใดที่ มหาวิทยาลัย ไม่แทรกแซง และมองเป็นสังคมที่มีความ Healthy มากขึ้น เพราะมีการพูดถึงความคิดที่แตกต่างกันได้ในพื้นที่สาธารณะ เพียงแต่สังคมไทยยังไม่คุ้นชินเท่านั้น ในขณะที่สื่อเองก็ต้องพยายามนำเสนอความแตกต่างว่าเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่ความรุนแรงเห็นต่างสุดขั้ว เพราะในความจริงแล้วความขัดแย้งทางการเมืองมีความรุนแรงมากกว่านี้อีกหลายเท่านั้น

“ดิฉันคาดว่า เรื่องนี้จะเกิดขึ้นอีกเป็นระยะ ๆ เพราะเป็น Norm ของคนรุ่นใหม่ ที่คิดว่าเขาต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ …”

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


เข้าร่วมโครงการ Thailand Talks
ผ่านการตอบคำถาม
ให้ระบบจับคู่คุณกับคนเห็นต่าง
จากนั้นนัดแนะและพุดคุยกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์