เข็นครูขึ้นภูเขา กับ ‘ครูสอยอ’


พูดถึงสุภาษิตไทยในยุคดิจิทัลก็อาจดูเชยไปบ้าง แต่ว่าหลาย ๆ สุภาษิตก็ยังคลิกกับชีวิตผู้คนอยู่เสมอ อย่างเช่น “เข็นครกขึ้นภูเขา” ที่ ‘สัญญา มัครินทร์’ หรือ ‘ครูสอยอ’ ของเด็ก ๆ โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย อ.เมือง จ.ขอนแก่น ใช้เปรียบเปรยเรื่องการเติมสุขและเติมหวังของผองครูที่อยากนำพาการศึกษาไปสู่สิ่งใหม่

“ขาขึ้นเนินของการเป็นครูในระบบ เรารู้สึกว่าเรากำลังสวนกระแสอะไรบางอย่าง ระบบอาจจะไม่ได้อยากให้เราสวนกระแส อยากให้สบาย ๆ อยากให้ทำตามผู้ใหญ่ แต่ว่าในกลุ่มครูที่อยากทำอะไรใหม่ ๆ บางครั้งมันอยู่นิ่งไม่ได้”


พรหมลิขิตพาให้เขาต้องมาเป็นครู

ในแวดวงการศึกษา ‘สัญญา มัครินทร์’ คือ ครูที่มีเทคนิคการสอนแพรวพราวถูกจริตผู้เรียน แต่น้อยคนจะรู้ว่าชายคนนี้ไม่ได้เกิดมาเพื่อจะเป็นครู ในบทสัมภาษณ์นี้เขาเล่าถึงภูมิหลังของตนเอง ว่าเกิดและเติบโตถึงวัยแตกหนุ่มในหมู่บ้านอ่างทอง ต.ดงลาน อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น เขาให้นิยามตัวเองว่าเป็น “เด็กเก่ง”

“ถ้านับจากแถวที่นั่ง ชื่อของเด็กชายสัญญาต้องติดแถวหน้าที่ได้เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.5 เพราะเด็กบ้านนอกไม่ได้มีกิจกรรมอะไรมาก คนไม่เยอะ เลยกลายเป็นเบอร์ต้น ๆ จนจบ ม.3 เราตั้งใจจะเรียนต่อสายอาชีวะ รายงานตัวแล้วด้วยที่วิทยาลัยการอาชีพชุมแพ แต่เหมือนพรหมลิขิตทำให้พลิกชีวิต เพราะมีน้าไปอยู่ขอนแก่นแล้วอยากให้เราไปอยู่ด้วย จากสายอาชีพก็เลยไปเรียน ม.ปลาย ที่โรงเรียนขามแก่นนครในเมืองของแก่น”


จากเด็กตัวท็อป พอไปอยู่กับเด็กในเมืองกลับพลิกชีวิต ‘สัญญา มัครินทร์’ กลายเป็นเด็กแถวบ๊วย แต่เขาพยายามสร้างตัวตนใหม่ด้วยการเป็นเด็กกิจกรรม เขาเล่าว่ามีครูที่ชื่อ ‘สุภา’ เห็นแววแล้วชวนเข้าชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของโรงเรียน โดยที่ตัวครูสุภาก็เป็นสาย Active Learning คือ เน้นให้เด็ก ๆ ลงปฏิบัติในพื้นที่จริง พาเข้าชุมชนคุยกับชาวบ้าน ไปหาเครือข่ายที่เคลื่อนไหวประเด็นสังคมทั่วภาคอีสานอยู่สม่ำเสมอ

“เรารู้สึกว่าพื้นที่การเรียนรู้แบบนี้มันว้าวอะ ทำให้จากเด็กขี้เหร่ที่ไม่มีตัวตนกลายเป็นประธานนักเรียนได้เลย เพราะเราทำงานเป็นและอัธยาศัยดี มันทำให้เห็นว่าแม้เราจะเรียนไม่เก่ง แต่เราก็ทำงานได้ เราเป็นผู้นำได้ จุดนี้ทำให้เราอยากเรียนต่อด้านสื่อสารมวลชน แต่ช่วงเวลานั้นมันต้องมีที่เรียนแล้ว เลยเลือกสอบเข้าคณะศึกษาศาสตร์ ม.ขอนแก่น เพราะคะแนนยังไม่สูงลิ่วเหมือนยุคนี้และอยู่ใกล้บ้าน ไหน ๆ จะต้องเรียนครูก็คุยกับตัวเองว่าขอเป็นครูสายศิลปะและสายสังคมแล้วกัน เอาความประทับใจต่อครูสุภาที่พาไปเปิดโลกการเรียนรู้นี่แหละมาเป็นเหตุผล”



ครูผู้ไม่หลงไหลในระบบแต่รักในวิชาชีพขั้นสุด

ในโลกการศึกษามักมีครูที่อยากเป็นข้าราชการ แต่ไม่ได้อยากเป็นครู กับคนที่อยากเป็นครู แต่ไม่ได้อยากเป็นข้าราชการ ‘ครูสอยอ’ เป็นแบบหลัง เขาไม่อยากเป็นครูสำเร็จรูป ช่วงปีสุดท้ายก่อนจบปริญญาตรี ‘ครูสอยอ’ ขอไปฝึกสอนที่โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย เพราะทราบว่าที่นั่นกำลังปฏิรูปการศึกษาโดยมีโรงเรียนรุ่งอรุณเป็นต้นแบบ การจัดการเรียนรู้ ครู-เด็ก-ผู้ปกครอง จะได้เติบโตด้วยกันผ่านการลงมือปฏิบัติจากสถานการณ์จริงในสังคม เขามองว่าถ้าเป็นครูที่นั่นจะได้สร้างสรรค์บทเรียนเต็มที่ และก็ได้เป็นข้าราชการครูอยู่ที่นี่ถึงตอนนี้จริง ๆ

“เราว่าทักษะการจัดการห้องเรียนแบบนี้ เราได้มาตั้งแต่ ม.ปลาย เพราะว่าเราเจอตัวอย่างครูที่ชวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนความคิดเห็น ชวนถอดบทเรียน ชวนไปเจอผู้คน เราเห็นชัดเลย เพราะตอนไปเรียนมหาวิทยาลัย เราว่าทักษะนี้เพื่อนเราไม่มี เรื่องกล้าแลก กล้าเห็นต่าง กล้าชวนทำอะไรที่มันไม่เคยทำ ก่อนมาฝึกสอนก็ยังไม่มั่นใจว่าจะใช่ทางไหม จนได้มาฝึกสอนวันแรกรู้สึกว่าใช่เลย เป็นตัวของตัวเองมาก แล้วโชคดีมากที่เราเป็นตัวของตัวเองแล้วเด็กดันชอบ เราก็ได้พลังใจจากเด็กที่ทำให้อยากตื่นไปทำงานทุกวัน”



สนามจริงของครูสอยอ

ถึงตอนนี้ก็มากกว่า 10 ปี ที่ ‘ครูสอยอ’ จบปริญญาตรีเอกศิลปศึกษา และเพิ่งรับปริญญาโทที่สถาบันอาศรมศิลป์ปีที่แล้ว เขาเล่าให้ฟังว่า ห้องทำงานของเขาเป็นโรงเรียนชายขอบในเขตเทศบาล เพราะเดินไม่เพียงกี่ก้าวก็หลุดเขตเทศบาลนครขอนแก่นที่ใคร ๆ คิดว่าในเมือง แต่ที่นั่นเป็นโรงเรียนขยายโอกาสมีนักเรียนราว 700 คน ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานคนจนเมืองจากชุมชนริมทางรถไฟ โดยที่ ‘ครูสอยอ’ ได้รับมอบหมายให้เป็นครูสายชั้นมัธยมกลุ่มวิชาบูรณาการ

“โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัยเป็นโรงเรียนของ อปท. มันมีความยืดหยุ่นจากตรงนี้ นโยบายของ อปท. ให้ความสำคัญเรื่องหลักสูตรท้องถิ่น อันนี้จึงเป็นจุดแข็งของโนนชัย เพราะมีโครงสร้างที่ให้เวลาครูออกแบบหลักสูตร ให้ครูกับนักเรียนได้คุยกันอย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ที่เราเรียกกันว่าวิชาบูรณาการ ครูคนไหนสนุกกับมันก็จะงอกงามมาก แต่ครูคนไหนไม่อินก็จะเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างทรมาน เพราะเนื้อหาสาระมันต้องออกแบบและสรรหาพอสมควร ไม่มีใครมีตำราให้”



รถพุ่มพวงชวนเรียนรู้ของครูที่มีหัวใจในวิกฤตโรคระบาด

ช่วงที่สายพานการเรียนรู้ในโรงเรียนไม่สามารถเดินเครื่องได้ตามปกติจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ‘ครูสอยอ’ เหมือนเห็นภูเขาลูกใหม่ที่ท้าทาย ต่อมอยู่นิ่งไม่ได้ของเขาเริ่มกลไกด้วยการวีดิโอคอลหาเพื่อน ๆ ในเครือข่ายก่อการครู ที่รู้จักกันมาตั้งแต่ปี 2561

“เรามีต้นทุนพันธมิตรต่าง ๆ อยู่แล้ว เลยชวนกันขยับว่าน่าจะเอาโอกาสนี้สื่อสารกับสังคมว่าการทำเรื่องการศึกษาไม่ต้องรอใครแล้ว เราก็มีอำนาจทำได้ ใครทำอะไรได้ก็ทำเลย ชวนพรรคพวกทำ”



‘ก่อการครู’ เปรียบเหมือนครอบครัวของกลุ่มครูจากทั่วประเทศที่เคยสิ้นหวังกับระบบการศึกษา แต่ไม่ท้อถอยที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็ก ๆ ในแบบของตัวเอง พวกเขามีหุ้นส่วนที่คอยสนับสนุนจากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการผู้นำแห่งอนาคต และภาคีหลายส่วน รอบนี้ ‘ครูสอยอ’ ปิ๊งไอเดีย “รถพุ่มพวงการศึกษา” ว่าช่วงที่โรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย การเรียนออนไลน์กับ DLTV ไม่ตอบโจทย์เด็ก ๆ บางคน ครูก็นำความรู้ไปเสิร์ฟเด็ก ๆ ถึงชุมชนได้ ภาคีต่าง ๆ ก็เอาด้วย

“คิดว่าเป็นภูเขาเล็ก ๆ เพราะไม่ได้ทำแค่เรากับนักเรียน แต่เราทำกับเพื่อนครูหลายพื้นที่ มันก็เลยรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ให้เราได้เรียนรู้ ค้นพบอะไรใหม่ ๆ ในสถานการณ์แบบนี้ด้วยกัน”


“รถพุ่มพวงการศึกษา” มีครูก่อการจาก ‘ก่อการครู’  5 คน ลุย 5 พื้นที่ในขอนแก่น ศรีษะเกษ เชียงใหม่ กาฬสินธุ์

‘ครูสอยอ’ ฟอร์มทีมครูในโรงเรียนของเขา 6 ลุยด้วยกัน 3 พื้นที่ ลงไปหาเด็ก ไปเยี่ยมเด็ก ไปทำกิจกรรมเกาะเกี่ยวกับเด็กเอาไว้ เช่น การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมผ้ามัดย้อม สื่อสารเรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านกิจกรรมที่มีนักขับเคลื่อนจาก ‘ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น’  และน้อง ๆ นักศึกษามาช่วยทำกิจกรรม 3 ริม คือ ริมคลองน้ำทิ้ง ริมทางรถไฟ และริมถนน ใต้สะพาน ช่วงบ่ายโมงถึงบ่ายสามทุกวันจันทร์ ตั้งแต่ 27 เมษายน จนถึง 26 มิถุนายน

“ถ้าเปรียบกับการปั่นจักรยานขึ้นภูเขา น่าจะเป็นเป้าหมายหรือความท้าทายที่พวกเราอยากเปลี่ยนแปลงการศึกษา เราก็ยังทำงานที่ห้องเรียนของเรานี่แหละ แต่เราจับกันเป็นแพ มีเพื่อนทำด้วยกัน เวลาขึ้นภูเขาเรารู้สึกไม่ได้ปั่นอยู่คนเดียว เรามีเพื่อนปั่นด้วย พอถึงยอดภูลมโดนตีหน้ามันมีความสุขมากเลย แล้วหลังจากนั้นเราก็พร้อมที่จะไหลลงข้างล่าง เพื่อไปเจอภูเขาลูกใหม่ที่ท้าทายกว่า”


การศึกษาในมือครูขอแค่ระบบไม่ขัดขวาง

ถึงตอนนี้ ก็ผ่านช่วงเวลาแห่งการเคลื่อนทัพ “รถพุ่มพวงการศึกษา” ไปแล้วเรียบร้อย ‘ครูสัญญา มัครินทร์’ ทิ้งท้ายในบทสัมภาษณ์ว่าเขามองเห็นโอกาสข้ามภูเขาลูกใหม่ ๆ อีกแล้ว เช่น การเรียนการสอนคละชั้น ชวนชุมชนทำหน้าที่โรงเรียนไร้รั้ว ชวนผู้ปกครองจัดการศึกษาในแบบที่แต่ละคนทำได้

คำว่า ‘ความสุข” และ “ความหวัง” ในช่วงที่ผ่านพ้นมาค่อย ๆ ชัดขึ้น จากการกระจายอำนาจที่หลักสูตรท้องถิ่นมอบให้โรงเรียน ผู้บริหารมอบให้ครู แล้วครูมอบให้เด็ก

“อยากให้กำลังใจครูทุกคนที่กำลังอยู่หน้างานของตัวเอง สิ่งที่เราทำมันมีความหมายกับนักเรียนมาก ๆ และมีความหมายกับเพื่อนครูด้วย ตอนนี้หลายคนทำงานตามระบบ มันอาจจะไม่ได้มีความหมายกับตัวเอง มันถูกบังคับ มันแห้งเหี่ยว จิตวิญญานความเป็นครูหลายคนก็แห้งเหี่ยวไปด้วย อยากให้กำลังใจครูที่รู้สึกอึดอัด อาจลองคลี่ดูว่าเราอึดอัดอะไร มีพื้นที่ไหนพอจะทำอะไรได้บ้าง ไม่จำเป็นต้องทำอะไรยิ่งใหญ่ แต่ถ้าทำแล้วเราสนุก เด็กเองก็สนุก คิดว่ามันถูกทางแล้ว”

Author

Alternative Text

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม