ของแพง เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสูง หลังวิกฤตโควิด-19
- ถึงข้าวของจะแพงทั้งแผ่นดิน แต่นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่า นี่ยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อ เพราะปัจจัยหลักที่ส่งผลให้สินค้ามีราคาแพงช่วงนี้ เป็นเพราะความผันผวนของราคาน้ำมัน…แต่คาดการณ์ว่าปีหน้าจะเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อของจริง และนั่นจะส่งผลให้เกิดดอกเบี้ยขาขึ้น
- หนึ่งในมาตรการที่ภาครัฐนำมาช่วยเยียวยาประชาชน โดยเฉพาะปากท้องของคนจน คือการเปิดให้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ แม้จะช่วยให้บรรเทาความทุกข์ยากได้ แต่ก็เพียงแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพราะการให้เงินค่าใช้จ่ายสำหรับสิ่งจำเป็นพื้นฐานรายเดือนแบบนี้ อาจไม่ได้ช่วยให้คนจนหายจน
- ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และภาษี คือสิ่งที่นักวิชาการมากมายนับไม่ถ้วนเสนอให้นำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของคนไทย แม้เป็นเรื่องที่ยาก แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้
ราคาสินค้าหลายรายการที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้น ไม่เว้นแม้แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผู้มีรายได้น้อยน่าจะเป็นกลุ่มแรกที่ลำบาก เพราะสินค้าประเภทนี้อาจเป็นหนึ่งในรายการอาหารที่พวกเขาพึ่งพายามยาก
ข้อมูลจากสภาพัฒน์ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ) รายงานว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยเป็นแบบรูปตัว K คือ มีบางภาคเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี เช่น การส่งออก และบางภาคเศรษฐกิจต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการฟื้นตัว เช่น การท่องเที่ยว
ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น พบว่ายังอยู่ในระดับค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากการพึ่งพาภาคบริการมีสัดส่วนสูง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสูงถึงประมาณร้อยละ 11 ของ GDP ในปี 2558 – 2562 ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยยังพึ่งพิงภาคการส่งออกอย่างมาก โดยสัดส่วนการส่งออกสินค้าต่อ GDP เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 65 ในเวลาเดียวกัน เมื่อเจอผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าสำคัญ จึงส่งผลต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สถานการณ์นี้จะยืดเยื้อแค่ไหน และเศรษฐกิจของไทยหลังจากนี้ จะต้องจับตาเรื่องอะไรเป็นพิเศษ สามัญชนอย่างเรา ๆ จะรับมือกับวิกฤตนี้อย่างไร?
สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์ว่า ปัจจัยหลัก ๆ ที่จะทำให้เศรษฐกิจของไทยดีขึ้น ขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยว ครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านคนต่อเดือน ซึ่งถือว่าดีกว่าช่วงโควิดแต่ยังไม่ดีเท่าช่วงก่อนโควิด ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น คนเริ่มกลับมามีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่น่ากังวลยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะของแพง ภาวะเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยขาขึ้น
“เงินเฟ้อขึ้นประมาณร้อยละ 7 สูงขึ้นในรอบ 10 ปี เหมือนกันทั่วโลก ส่งผลให้เงินในกระเป๋ามีค่าน้อยลง เดิมเงิน 100 บาท เคยซื้อของได้จำนวนหนึ่ง แต่ของแพงขึ้น เงิน 100 บาทเท่ากัน ซื้อของได้น้อยลง เพราะฉะนั้น กำลังซื้อก็น้อยลง ส่วนรายได้ไม่เพิ่มขึ้น เงินเหลือเก็บน้อยลง ตรงนี้จะกระทบหลัก ๆ เงินเฟ้อในทางวิชาการจริง ๆ ของต้องแพงขึ้นอย่างทั่วถึง เป็นไปในวงกว้าง แต่ของไทยเริ่มต้นที่พลังงานซึ่งเป็นต้นทุนของสินค้าอื่น ๆ ซึ่งค่อย ๆ ทยอยปรับตัวสูงขึ้น คาดการณ์ต้นปีหน้าสินค้าทุกอย่างจะแพงขึ้นทั่วถึง เวลานั้นจะเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้ออย่างแท้จริง ส่วนดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลให้การกู้เงิน สินเชื่อ มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การเป็นหนี้หรือซื้อบ้านจึงควรชะลอออกไปก่อน”
บัตรคนจน ไม่แก้จน
ข้อมูลจากสภาพัฒน์ ยังระบุอีกว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้จำนวนคนยากจนเพิ่มสูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ประมาณ 1.5 ล้านคน หากนิยามคนจนตามเส้นแบ่งความยากจนที่มีรายได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน จะมีคนจนอยู่ทั้งสิ้น 4 ล้านคน แต่ที่ผ่านมา การนิยามคนจนโดยใช้เกณฑ์รายได้เป็นตัวชี้วัดก็มีข้อถกเถียงมานานในแวดวงวิชาการ ว่าไม่สะท้อนความเป็นจริงเท่าไหร่นัก เพราะความจริงแล้วศักยภาพของชีวิตมนุษย์ ควรมองให้ครอบคลุมต้นทุนในชีวิต ทั้ง สุขภาพ การศึกษา อำนาจการต่อรอง การเข้าถึงทรัพยากร และการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ดังนั้น ที่ผ่านมาใครคือคนจนตัวจริง และคนจนจริง ๆ แล้วมีเท่าไหร่กันแน่ จึงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ และงานวิจัยศึกษาในไทยหลายชิ้น ยังคงวนเวียนเริ่มต้นอยู่ที่การ “ค้นหาคนจนให้เจอ”
สถานการณ์ที่เจออยู่ในเวลานี้ มาตรการจากภาครัฐที่เข้ามาพยุงค่าครองชีพมีหลายมาตรการ หนึ่งในมาตรการของรัฐที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน ว่าการสแกนหาคนจนตัวจริงมีปัญหา คนจนไม่จริงได้รับการช่วยเหลือ ตัวเลขที่ยืนยันโดยกระทรวงการคลังจากจำนวนคนลงทะเบียน 15 ล้านคน จึงเป็นไปได้ว่าในจำนวนนี้มี “คนจนไม่จริง” ได้ถือบัตรคนจน ขณะที่ “คนจนตัวจริง” กลับตกหล่น
สมชัย ระบุว่า ที่ผ่านมามีคนจนตกหล่นจากการลงทะเบียนถึงครึ่งหนึ่ง ขณะที่คนจนไม่จริงสามารถลงทะเบียนได้ บัตรคนจนที่กำลังจะเปิดลงทะเบียนรอบใหม่อีกครั้ง ระหว่างวันที่ 5 กันยายน ถึง 19 ตุลาคม นี้ จะมีการเก็บข้อมูลเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลของภาครัฐถึง 47 ฐานข้อมูล เพื่อระบุคนจนตัวจริงให้ได้
ขณะเดียวกัน การลงทะเบียนผ่านช่องทางธนาคารและออนไลน์ ก็อาจเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงของคนจนตัวจริงที่มักไม่ใช้บริการผ่านช่องทางเหล่านี้ จึงเสนอให้มีการเพิ่มจุดลงทะเบียนและใช้กลไกชุมชนเข้ามาช่วยรับรองตัวตน
สำหรับคนที่ถือบัตรนี้ จะได้รับการช่วยเหลือหลัก ๆ เน้นไปที่การช่วยเหลือค่าครองชีพ เช่น ค่าซื้อสินค้า 200-300 บาท ค่าเดินทางรถโดยสารสาธารณะ ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม เงินช่วยค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา เงินพิเศษผู้พิการ และเงินพิเศษผู้สูงอายุ การช่วยเหลือในรูปแบบเหล่านี้แม้ว่าจะเป็นเงินช่วยรายเดือนหลักร้อยบาท แต่หลายคนที่ได้รับก็บอกว่าแบ่งเบาภาระได้จริง สอดคล้องกับความเห็นของผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ ที่มองว่า มาตรการนี้บรรเทาได้ระยะสั้น แต่หากจะช่วยทำให้คนจนหลุดพ้นจากความยากจนได้จริง ต้องมีมาตรการระยะยาวควบคู่ ซึ่งมาตรการที่ใช้มีหลายรูปแบบ เช่น การเพิ่มทักษะ การอบรมความรู้ แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนัก
“การแก้ปัญหาความยากจน ไม่ได้ง่าย แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย หากคิดจะทำ” นี่คือสิ่งที่ สมชัย จิตสุชน พูดทิ้งท้ายเอาไว้ และในแวดวงวิชาการเสนอกันมานานแล้วว่า ต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และภาษี หากทำเรื่องเหล่านี้ได้ โอกาสของคนจนจะถูกเปิดมากขึ้น ที่สำคัญสังคมวงกว้างต้องเข้าใจตรงกันให้ได้เสียก่อนว่า “ความจน” อย่าผลักให้เป็นเรื่องขีดความสามารถส่วนบุคคลเท่านั้น แต่นี่คือปัญหาในระดับโครงสร้างและเราทุกคนอาจมีส่วนช่วย “คนจน”
The Active ชวนติดตามซีรีส์ “ฟังคนต่าง ฟังความต่าง” ใน The Listening