สมุดปกเขียว : ปัดฝุ่นเชียงใหม่ สู่เมืองรองแห่งอนาคต

แสงแดดอ่อน ๆ ที่ทอดตัวเคียงกำแพงเวียงเก่าแก่ สะท้อนผ่านผิวน้ำในคูเมืองโบราณที่ถูกขุดตั้งแต่สมัยล้านนา รับกับลมหนาวที่พัดผ่านประตูเมืองเข้ามาอย่างช้า ๆ นี่เป็นบรรยากาศที่แสนธรรมดา แต่มันคือประสบการณ์ที่ทำให้ใคร ๆ ก็อยากมาเยือน และทำให้ “เมืองเชียงใหม่” กลายเป็นจุดหมายของคนทั่วโลก

แต่การเคลื่อนย้ายผู้คนเข้ามาในเมือง (Urban Mobility) ทำให้เมืองเชียงใหม่ขยายตัวมากขึ้น ฉายภาพให้เห็นชัดเจนผ่านสภาพการจราจรบนถนน ที่แม้ว่าในช่วงนี้จะไม่มีนักท่องเที่ยวมากมายนัก เพราะวิกฤตจากโควิด-19 แต่ในช่วงเวลาคับขัน เช่น ช่วงเช้าก่อนทำงาน และช่วงหัวค่ำหลังเลิกงาน ก็พบว่ามีรถยนต์จำนวนมากแน่นขนัดอยู่บนถนนรอบคูเมืองเดิม และลึกเข้าไปในเมืองชั้นใน

ถนนที่เล็กเกินไป หรือเพราะจำนวนรถยนต์ที่มีมากเกิน? แต่ที่แน่ ๆ นี่อาจเป็นสัญญาณบอกถึงปัญหาที่ก่อตัวขึ้นของเมืองขนาดใหญ่ ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว…  

“ความเป็นเมือง” (Urbanization) ของเชียงใหม่ในวันนี้ จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาในทุกด้าน เพราะเดิมพันด้วยต้นทุนดี ๆ ที่มีอยู่เดิม ทั้งสภาพอากาศ สภาพแวดล้อม คุณภาพชีวิตของคนเมือง หรือแม้แต่มรดกทางประวัติศาสตร์ ทั้งศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมอันหลากหลาย เพราะหากวางแผนการพัฒนาเมืองไม่ดีตั้งแต่วันนี้ “เชียงใหม่ในฝัน” ก็อาจเป็นเพียงแค่ความฝันเท่านั้น

คนเชียงใหม่ที่มีภาพฝันเห็น “อนาคตใหม่ของเมืองเก่า” แห่งนี้ จึงร่วมกันวางแผนการพัฒนาเมือง จนเกิดเป็นยุทธศาสตร์ที่มีชื่อว่า…

ยุทธศาสตร์ สมุดปกเขียว (Green Book)

หลังจากภาคประชาสังคม กลุ่ม องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ทั้ง 33 องค์กร พยายามประเมิณคุณภาพของเชียงใหม่ในเชิงพื้นที่ว่าวันนี้เดินมาถึงจุดไหนแล้ว และเชียงใหม่ที่เคยเป็นมากำลังเปลี่ยนไปอย่างไร และพบว่า…

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่าเมืองเชียงใหม่ขยายตัวเกือบ 3 เท่า แน่นอนว่าพื้นที่ที่ถูกเปลี่ยนไปมากที่สุดคือพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งถูกแปลงเป็นพื้นที่เมือง ทำให้วันนี้เมืองเชียงใหม่เหลือพื้นที่สีเขียวเพียง 18% หรือ 7.44 ตร.กม. จากพื้นที่ทั้งหมดในเขตเทศบาล และทำให้พื้นที่ในเขตเมืองมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 5.74 องศาเซลเซียส วัดได้สูงสุด 42.5 องศาเซลเซียส

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุด คือ “ความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก” (PM2.5) สถิติจากเครื่องวัดคุณภาพอากาศชี้ชัดว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่หนาแน่นในอากาศของเมืองเชียงใหม่เข้า “ขั้นวิกฤต” ในบางวันของช่วงความกดอากาศต่ำพบว่าไม่ใช่แค่ติดอันดับต้น ๆ แต่ทะยานสู่การเป็นเมืองคลุกฝุ่นอันดับ 1 ของโลก เป็นที่หนึ่งที่ไม่มีใครภูมิใจเพราะนั่นหมายถึงคุณภาพชีวิตของคนเชียงใหม่ที่อยู่ในทางตรงกันข้าม แม้ว่าจะมีมาตรการหรือนโยบายการแก้ปัญหาของภาครัฐออกมามากมาย แต่ก็ยังไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่า ปัญหานี้จะคลี่คลาย และอะไร ๆ จะดีขึ้น

ไม่ได้การ…

“นโยบายสาธารณะในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพเมืองเชียงใหม่” จึงถูกจัดทำขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์ “สมุดปกเขียว” (Green Book) โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมเมืองเชียงใหม่ พวกเขาวางแนวทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองน่าอยู่ เป็นมิตรต่อทุกชีวิตในเมือง และเป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันจัดการ 

นั่นคือ การทำให้เชียงใหม่มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่ จากเดิมที่มีพื้นที่สีเขียวคุณภาพ 18% ไปสู่ 30% และผลักดันให้เกิดการปรับปรุงพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์สาธารณะที่สอดคล้องกับความต้องการของเมืองและผู้คนในย่าน-ชุมชน และสร้างระบบนิเวศที่ชวนให้เข้าถึงพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพทั้งทางเดินเท้า ทางจักรยาน และระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่สอดรับกับการใช้งานของคนทุกเพศทุกวัน

เครือข่ายประชาสังคม กลุ่ม องค์กรและหน่วยงาน ที่สนับสนุนนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพ

องค์ประกอบสร้าง มี 7 สิ่งหลัก คือ

  1. พื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่สีเขียวของเมือง สร้างสรรค์ออกแบบเพื่อตอบสนองต่อสุขภาวะของผู้คนในเมือง เช่น สวนหย่อม สวนสาธารณะ สวนลอยฟ้า ทางเดินริมน้ำ เป็นต้น
  2. ถนนสีเขียว เป็นพื้นที่ริมทาง ทางเดินเท้า หรือเกาะกลางถนน เพื่อสร้างความร่มรื่นและลดความร้อนจากผิวถนน เพื่อโอกาสให้ผู้คนสัญจรด้วยการเดินเท้า หรือใช้จักรยานมากขึ้น
  3. ชุมชน เป็นพื้นที่หน่วยย่อยในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในระดับครัวเรือน และสร้างโอกาสในการต่อยอดเป็นพื้นที่สีเขียวระดับย่านและเมือง โดยเริ่มต้นง่ายๆ เช่น สวนกระถาง สวนครัว ลานต้นไม้
  4. ศาสนสถาน และสถานศึกษา เป็นพื้นที่ทางสังคม เพื่อาการจัดกิจกรรมและเรียนรู้ ที่เอื้อต่อการเพิ่มปริมาณต้นไม้ในเมืองมากขึ้น เช่น สวนเพื่อการเรียนรู้ สวนพักผ่อน ลานต้นไม้
  5. อาคารพาณิชย์ เป็นย่านการค้าสีเขียว เช่น ตลาดน่าเดิน ลานร่มรื่น หากเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่นี้ อาหาร หรือย่านพาณิชย์ต่างๆ ในเมือง จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของเมือง
  6. Roof Garden เป็นอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่สามารถใช้พื้นที่หลังคาเป็นสวนบนอาคารได้ เพื่อลดความร้อนแก่ตัวอาคารเป็นพื้นที่พักผ่อนของผู้ใช้งาน และสร้างทัศนียภาพที่ร่มรื่นให้กับเมือง
  7. Vertical Garden เป็นพื้นที่สีเขียวแนวตั้งให้กับอาคารสถานที่ที่มีพื้นที่แนวราบของอาคารจำกัด เช่น กำแพงไม้เลื้อย สวนกระถางแนวตั้ง เพื่อทำให้พื้นที่โดยรวมของอากาศในระนาบต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองด้วย

แน่นอนว่าหากเมืองเชียงใหม่น่าอยู่มากกว่านี้ ก็จะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ-สังคม เพราะหากเมืองไม่น่าอยู่ก็คงไม่มีใครอยากมาเที่ยว มาพักอาศัย หรือมาศึกษาเล่าเรียน และเมื่อไม่มีปัจจัยเพื่อการจับจ่าย เศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน

ในช่วงที่เมืองกำลังซบเซาจากการขาดนักท่องเที่ยว จึงเป็นโอกาสที่จะใช้คำว่า “ปรับปรุงเชียงใหม่” และหากเมืองเปิดเสรีอีกครั้งเมื่อใด เชียงใหม่จะกลายเป็นหนึ่งในใจของใคร ๆ อีกหน

เครือข่ายประชาสังคม กลุ่ม องค์กรและหน่วยงาน ที่สนับสนุนนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพ

ครบ 1 ปี วิสัยทัศน์การเพิ่มพื้นที่สีเขียวของเมืองเชียงใหม่ เวลาก้าวหน้าไปพร้อมกับความคืบหน้าในการนำแผนยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติ ครอบคลุมหลากหลายบริบท ทั้งการมีพื้นที่สีเขียวในชุมชน พื้นที่สีเขียวในศาสนสถาน พื้นที่สีเขียวในหน่วยงาน และอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ “พื้นที่สีเขียวในที่สาธารณะ” ที่คาดว่าจะเดินไปทางไหนก็มีแต่ความร่มและความรื่นรมย์

ปฏิบัติการถนนสีเขียว สู่เมืองเดินได้เดินดี

พื้นที่สาธารณะ และ ถนนสีเขียว เป็น 1 ในองค์ประกอบของการสร้างเมืองน่าอยู่ ตามนโยบายสาธารณะในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพเมืองเชียงใหม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ “สมุดปกเขียว” (Green Book) เครือข่ายภาคประชาสังคมเชียงใหม่ จึงวางแนวทางการพัฒนาย่านเดินได้เดินดีเพื่อยกระดับสุขภาวะคนเมืองในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ UddC เทศบาลนครเชียงใหม่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในนาม คณะทำงานโครงการ “เตียง หย๊อง เมือง เชียงใหม่”

ด้วยหลักคิดที่ว่า “เมืองใดที่ยังเดินไมได้ เดินไม่ดี เมืองนั้นไม่มีอนาคต” และเพื่อให้ความสำคัญของการพัฒนาและส่งเสริมให้เมืองเป็นมิตรกับการเดินท้า เพราะ “การเดิน” คือการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของเมืองเหล่านี้ในหลายด้าน ดังที่ UddC ได้ระบุไว้

  1. ด้านสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยที่สุด การเดินและใช้จักรยานทดแทนการใช้รถยนต์ เท่ากับได้ช่วยงดการใช้เชื้อเพลิง ลดการปล่อยคาร์บอดไดออกไซด์จากท่อไอเสีย อันเป็นต้นเหตุของปัญหาก๊าซเรือนกระจก และภาวะโลกร้อน
  2. ด้านสุขภาพ หากที่สถานที่ต่างๆ ที่เป็นจุดหมายพื้นฐานในชีวิตประจำวันอยู่ในระยะที่เข้าถึงได้และมีทางสำหรับการเดินได้สะดวก จะทำให้ง่ายต่อการเดิน ซึ่งผู้อาศัยมีอัตราการเคลื่อนไหวร่างกายสูงก็จะทำให้มีสุขภาวะที่ดี ลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD)
  3. ด้านเศรษฐกิจ ถนนที่สามารถเดินเท้าและใช้จักรยานได้จะเพิ่มมูลค่าของของอสังหาริมทรัพย์ริมทาง และสร้างแรงจูงใจในการลงทุนเชิงพื้นที่ ผ่านการจับจ่ายใช้สอยตามรายทาง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นได้ การเดินของผู้คนจึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้มากกว่า
  4. ด้านสังคม เมื่อคนในชุมชนหรือผู้คนทั่วไปเลือกเดินในเส้นทางต่างๆ ช่วยสร้างโอกาสในการพบปะสังคม ลดความเป็นปัจเจกชน เพิ่มการมีส่วนร่วมในสังคมด้านต่างๆ และทำให้เมืองมีชีวิตชีวา น่าอยู่มายิ่งขึ้น

ผลการศึกษาของ UddC ชี้ให้เห็นว่า เมืองเชียงใหม่มีศักยภาพในการเดินได้ถึงร้อยละ 40 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เนื่องจากสาธารณูปโภคส่วนใหญ่อยู่ในระยะที่เหมาะสมกับการเดิน เช่น มีแหล่งงานสถานศึกษา แหล่งจับจ่ายใช้สอย พื้นที่นันทนาการ บริการณสาธารณะ และพื้นที่พาณิชยกรรมอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ แบ่งได้เป็น พื้นที่ที่เกาะกลุ่มกันเป็นย่านเดินได้ในแนวระนาบ และพื้นที่ที่เกาะตัวยาวตามแนวของถนน แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่า พื้นที่เข้าถึงได้ หรือพื้นที่เดินได้ เหล่านี้ จะเป็น พื้นที่เดินดี

ด้วยสภาพแวดล้อมทางกายภาพของถนน และทางเท้าที่ยังไม่ดีพอ สภาพปัญหาการจราจรติดขัดโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน และข้อจำกัดของระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่

“ความท้าทายของเมืองเชียงใหม่ คือการสร้างพื้นที่เดินได้เหล่านั้นให้มีคุณภาพ เพราะการเดินเท้าที่ดีคือการสร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เอื้อและสนับสนุนต่อการเดินเท้า ทั้งลักษณะทางกายภาพ และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเมือง”

ลองนึกเล่น ๆ ว่าทำไมถนนคนเดินของเมืองเชียงใหม่ถึงเลื่องชื่อ และกลายเป็นจุดเช็กอินที่ใครไปใครมาเชียงใหม่ก็ต้องนับวันมาเยือน ก็เพราะบรรยากาศของการค้าขายน่าสนใจกว่าอยู่ในห้างใหญ่ ๆ เป็นไหน ๆ ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นการจับจ่ายที่อยู่บน ถนน = พื้นดินถิ่นเมืองเก่า

คน = พ่อค้าแม่ค้าคนพื้นถิ่น

เดิน = ให้ทุกจังหวะก้าวได้สัมผัสกับบริบทของความเป็นเมืองเชียงใหม่จริง ๆ

และทุกอย่างก็ขับเคลื่อนไปด้วยการ “เดิน” นี่คือ จุดแข็งอีกประการที่ชวนให้คิดต่อว่า หากถนนทุกเส้นของเชียงใหม่ มีศักยภาพในการชวนคนลงมาเดิน เมืองเชียงใหม่คงน่าสนใจมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว

เชียงใหม่ เมืองเตียวได้ เมืองเตียวดี

การทำให้เมืองเดินได้เดินดี จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญของการพัฒนาเมืองรองอย่างเชียงใหม่ ให้เป็นเมืองสุขภาวะแห่งการเดินและการท่องเที่ยว เพื่อเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเชียงใหม่ ผ่านการผลักดันให้เป็นวาระสาธารณะ และกำหนดพื้นที่นำร่องเพื่อวางแผนการปรับปรุงให้เป็นย่านเดินได้เดินดี

“แนวทางและกลไกการขับเคลื่อนสู่เชียงใหม่เมืองเดินได้ เดินดี” โอกาสเชียงใหม่: ข้อเสนอทิศทางการปรับเปลี่ยนทิศทางการสัญจรและที่จอดรถ โดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์เมือง (UDDC-CEUS) ระบุถึงพื้นที่ถนน 9 สายที่มีศักยภาพในการเดินสูง คือ 1. ถนนราชดำเนิน 2. ถนนท่าแพ 3. ถนนช้างเผือก 4. ถนนพระปกเกล้า 5. ถนนสิงหราช 6. ถนนช้างคลาน 7. ถนนเจริญเมือง 8. ถนนราชภาคินัย 9. ถนนห้วยแก้ว

แต่ยังพบว่าถนนบางเส้นยังมีปัญหาคือ 1. ทางเท้าแคบ 2. ต้นไม้แกร็น 3. ติดสายไฟ (กำลังจะลงดินในปี 2565) 4. จอดรถแช่ข้างทาง ทำให้การจราจรติดขัด โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์เมือง (UDDC-CEUS) ได้จัดทำข้อเสนอในการวางกลยุทธ์ปรับปรุงพื้นที่ คือ

  1. ขยายทางเท้าข้างละ 2.5 เมตร โดยใช้พื้นที่จอดไหล่ทาง
  2. คงความกว้างถนน 7 เมตร แต่อาจวิ่งทางเดียว (One-Way)
  3. ปลูกต้นไม้บริเวณทางเท้าที่ขยาย เพื่อความร่มรื่น
  4. จัดเตรียม ON-Street Parking หรือ ที่จอดรถในจุดเชื่อมต่อต่างๆ

ข้อเสนอทั้งหมดนี้เป็นแนวทางการปรับปรุงในขั้นแรก ที่สำหรับใช้ในการระดมความคิดเห็น ซึ่งยังต้องมีการจัดหารืออีกครั้ง เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน โดยต้องให้รายละเอียด และอาจต้องปรับให้เหมาะสมมากขึ้นตามข้อเสนอแนะเพื่อให้ได้การเห็นชอบจากทุกฝ่าย เช่น การออกแบบพื้นที่ริมทางเท้าให้ร่มรื่น การหาระบบการดูแลระยะยาว และการวิ่งรถสัญจร

“คนเชียงใหม่ชอบที่นั่งกะเปาะเล็ก มีร่มเงา มากกว่าพื้นที่สาธารณะกว้างๆ เพราะร้อน อย่างท่าแพ ซึ่งกะเปาะพวกนี้จะเป็นส่วนที่สร้างชีวิตชีวาให้กับเมือง คนในย่านก็อยากจะออกมาเดินเล่น ออกมานั่งเล่น ชาวบ้านก็จะได้เปรียบ สามารถออกมาพบปะกันข้างนอก”

รศ.ปรานอม ตันสุขานันท์ | คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“สิ่งสำคัญในงานของเราคือที่ผ่านมาคือเราให้ความสำคัญเรื่องของความร่วมมือในการทำงาน เข้าไปพูดคุยกับคนในพื้นที่ แต่มีอีกโจทย์ที่สำคัญคือการดูแลรักษาในระยะยาว ว่าจะมีการดูแลรักษาร่วมกันอย่างไร ระหว่างเทศบาล ผู้ประกอบการ และชาวย่าน”  

ณภัทร นุตสติ | ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมรายา เฮอริเทจ

“หากเลือกที่จะทำให้ถนนราชดำเนินเป็นวันเวย์จะมีผลกระทบในช่วงเวลาเร่งด่วน การจราจรติดขัดเช่นเดียวกับถนนท่าแพช่วงเช่า แต่มันก็คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ถ้าทางเท้าเพิ่มขึ้นก็หมายถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และการเป็น landmark ใหม่ของเมือง”

ร.ต.อ.พุฒิสรรค์ อินตา | รองสารวัตป้องกันปราบปราม สภ.เมืองเชียงใหม่

ข้อเสนอและความคิดเห็นทั้งหมดที่เกิดขึ้น จะถูกนำไปพิจารณาเพื่อหาแนวทางการปรับแก้ต่อไปให้ได้แนวทางการพัฒนาที่ตอบโจทยการพัฒนาย่านเดินได้เดินดี และตรงกับเป้าหมายที่ คณะทำงานวางเป้าหมายเอาไว้ว่า

“เมืองศูนย์กลางการเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรมที่ผสานความเข้มข้นขององค์ความรู้สู่งานวิจัย และนวัตกรรมระดับนานาชาติ รวมถึงทางเดินริมน้ำ แหล่งบริการด้านสุขภาพจากภูมิปัญญาชาวบ้าน”

แนวทางการปรับปรุงพื้นที่เชียงใหม่ในวันนี้ คือร่างอนาคต “เชียงใหม่ในฝัน” ที่คนเชียงใหม่อยากเห็น และเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองอื่น ๆ ที่กำลังเติบโตอย่างคู่ขนาน หากจะย้ำความคิดที่ว่า “อนาคตของเมืองรอง คือ อนาคตของโลก” ก็พลาดไม่ได้ที่เมืองรองแห่งอื่น ๆ จะเริ่มวางแนวทางการพัฒนา เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเคียงคู่กับการพัฒนาเรื่องอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์