“ไม่รับปริญญา” มองทะลุสัญญะทางการเมือง | อรรถพล อนันตวรสกุล

ช่วงที่อุณหภูมิทางการเมืองร้อนแรง หลายครอบครัวตกอกตกใจ ว่าทำไม ลูก-หลาน ถึงเลือก “ไม่รับปริญญา” ช่วงนี้ ?

บัณฑิตไม่รับปริญญา ถูกเหมารวมไปที่การเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธว่า เรื่องนี้เป็นตัวแปรหนึ่งที่ส่งผลถึงค่านิยมการรับปริญญาของบัณฑิต แต่จริง ๆ แล้ว มีรากของปัญหาที่ซ่อนอยู่ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าแค่การเคลื่อนไหวทางการเมือง

The Active ชวนสังคมมองสิ่งที่ซ้อนอยู่ ภายใต้การตัดสินใจ “รับ-ไม่รับปริญญา” กับ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หากย้อนกลับไปสัก 40-50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย มีประชากรมาก มหาวิทยาลัยพัฒนาไม่ทัน ต้องแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของประเทศ เราติดกระบวนทัศน์แบบเสรีนิยมใหม่-ตะวันตก นำมาสู่สถานภาพทางสังคมที่สูงกว่า จะนำมาซึ่งโอกาสที่ดีกว่า ทำให้เราติดกับดักเรื่องแข่งขันไปเลย

พอมาถึงรุ่นลูก พ่อแม่ไม่เปลี่ยน แต่เด็กเปลี่ยน เพราะเขาอยู่กับสิ่งแวดล้อมใหม่ไปแล้ว ค่านิยมสังคมเปลี่ยน เพราะโครงสร้าง ประชากรเปลี่ยน ตลาดงานเปลี่ยน เวลานี้เด็ก ๆ ให้คุณค่ากับการเติบโตของตัวเอง คุณค่าต่อการค้นพบศักยภาพตัวเอง รู้ว่าตัวเองเหมาะกับงานแบบไหน มากกว่า ใบปริญญา

ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญ มาจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ๆ ทำให้สายงานที่เคยได้รับความนิยม อย่างนิเทศศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ถูกกระแทกแรง หลายคนตกงานเพราะความผันผวนทางเศรษฐกิจ เหนือสิ่งอื่นใดยังเป็นยุคเทคโนโลยีดิสรัปชัน ทำให้เด็กหลายคนไม่ได้มองมหาวิทยาลัยเป็นตัวเลือกในการเรียนรู้

“ผมคิดว่าภาพเหล่านี้มาปรากฏชัดช่วง 5 ปี หลังจากที่แนวคิดแบบ Start up ถูกโปรโมท มหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ทั่วโลกไม่รอให้บัณฑิตจบแล้วค่อยทำงาน แต่พวกเขาใช้วิธีการปั้นเด็กตั้งแต่มัธยมศึกษา และกลายเป็นสมรรถนะติดตัวที่เสริมพลังได้มากกว่า ใบปริญญา ด้วยซ้ำ”

“ใบปริญญา” คุณค่าเทียม ?

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ที่น่าห่วง คือ เรามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ยังให้คุณค่ากับ “ใบปริญญา” เรียนปริญญาตรี โท เอก เพื่อคุณพ่อ คุณแม่ กลายเป็นการเรียนเพื่อครอบครัว และความภาคภูมิใจ ไม่ได้เรียนเพื่อเป้าหมายของการเรียนจริง ๆ เช่น ถ้าคุณจะเรียนต่อปริญญาโท แสดงว่า คุณต้องการจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น ถ้าคุณจะเรียนปริญญาเอก แสดงว่าคุณต้องการเป็นผู้บุกเบิกความรู้ได้ แต่พอเราให้คุณค่า กับ คุณค่าเทียม คือ เรื่องใบปริญญา คนก็หลงไปกับค่านิยมแบบนั้น และมองว่าการได้วุฒิ จะทำให้ตัวเองสถานภาพสูงกว่าคนอื่น ซึ่งพอถึงหน้างานจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะการทำงานจริง ๆ คนเห็นคุณค่าของเรื่องเหล่านี้น้อยลง สิ่งที่คุณทำได้ สิ่งที่คุณเป็นให้เห็นต่างหากที่สำคัญ ไม่ใช่ว่าใบปริญญา ที่คุณถือมา ต่อให้จบสถาบันที่มีชื่อเสียง-วุฒิที่สูงสุด แต่ถ้าทำงานไม่เป็น อยู่กับคนอื่นไม่ได้ ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงได้ ใบปริญญาก็ไม่มีความหมาย “วาทกรรมที่บอกว่า เรียนจบมาได้แค่กระดาษใบเดียว” ก็ยังใช้ได้อยู่

ปัจจุบันใบปริญญาค่อย ๆ ถูกลดความหมายนี้ลงไป เพราะว่า คนเก่งจำนวนไม่น้อย ไม่จบปริญญา เป็นยุคที่ใครค้นพบตัวเองเร็วกว่า รู้ว่าสนใจอะไร ใช้เวลากับการพัฒนาตัวเองจริง ๆ ก็อาจจะเป็นมืออาชีพได้เร็วกว่า ก็จะทำให้เกิดค่านิยมใหม่ แต่ก็ยังไม่ได้กว้างขวาง คนกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองสูง เช่น ชนชั้นกลาง ยังเชื่อในใบปริญญาอยู่ เพราะมันคือ ใบเบิกทางของหลายอย่าง เช่น จบตรี ไปต่อต่างประเทศ แต่คนระดับที่ต้องพึ่งตัวเองเรียน ใบปริญญาเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะเขาต้องประกอบอาชีพ เลี้ยงตัวเองระหว่างเรียน ส่งที่บ้าน ตัวเองก็มองว่ามีใบปริญญาไว้เป็นของอุ่นใจ ถ้าวันหนึ่งอาชีพบินเดี่ยว ทำกิจการส่วนตัวไปไม่รอด อย่างน้อยก็มีใบปริญญาที่เอาไปประกอบอาชีพการงาน ทำงานประจำได้ กรณีฉุกเฉิน โลกยุคใหม่คนจะให้คุณค่ากับสมรรถนะการทำงาน มากกว่า ใบปริญญา

อะไรทำให้บัณฑิตส่วนหนึ่งเลือกวิธี “ไม่รับปริญญา” เป็นสัญญะต่อสู้ทางการเมือง

“มันเป็นการต่อสู้กันทางความคิด ในเมื่อผู้ใหญ่ก็พยายามจะเอาชุดคุณค่าตัวเอง มาเป็นไม้บรรทัด ให้เด็กต้องไปถึงเป้าหมาย คนรุ่นใหม่ก็มีท่าทีที่จะต้องต่อรอง ยิ่งในภาวะทางการเมืองที่มีความขัดแย้งสูง ก็แทบจะกลายเป็นความขัดแย้งข้ามรุ่น เพราะฉะนั้น มันก็เหมือนเป็นอาวุธที่เขาจะหยิบมาสู้ ในเมื่อผู้ใหญ่ให้คุณค่ากับพิธีกรรมแบบนี้ เขาก็เลือกที่จะถอยออกจากพิธีกรรมเหล่านี้ ซึ่งผมว่าผู้ใหญ่ก็ต้องเรียนรู้ ยิ่งคุณพยายามไปกด บังคับกะเกณฑ์ สุดท้ายเลือกใช้วิธีการต่อรอง”

พิธีกรรมหนึ่งในชีวิตที่พ่อแม่-ครูบาอาจารย์ให้คุณค่ามากเขาก็จะไม่เลือกให้คุณค่ากับสิ่งเหล่านี้ เหมือนเวลาเขาให้คุณค่ากับการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง แล้วคุณไปลดทอนคุณค่าพวกเขา

“ผมว่า Reaction เกิดจาก Action ของผู้ใหญ่”

ขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นว่า สังคมมีความร้าวลึกเกิดขึ้น ปรากฏการณ์ปีนี้ อาจจะมีหลายปัจจัยทั้งเศรษฐกิจ และการเมือง เราพบว่า จริง ๆ แล้วเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้ใหญ่ต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่แค่ทำทุกทางเพื่อบังคับเขากลับเข้ามาสู่ชุดคุณค่าเดิม ถ้าเขาไม่ให้คุณค่านี้ แล้วเกิดขึ้นจากอะไร มันอาจจะเกิดจากการที่เราคุยกันน้อยเกินไป

“ใบปริญญา ไม่ได้ทรงความหมายเหมือนสมัยก่อนแล้ว พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ก็ไม่ได้ทรงความหมายที่สุดเหมือนสมัยก่อนแล้ว รูปที่เราถ่ายรับปริญญาก็เก็บใส่กล่อง ก็เป็นเพียงวันดี ๆ วันหนึ่งที่จะต้องผ่านไป สุดท้ายสิ่งที่ติดตัว คือ ความสามารถ ความเป็นตัวเรา แนวคิด (Mindset) ที่ติดตัวเรา ความเป็นนักสู้ไม่ถอยต่างหาก และนี่คือ สิ่งที่พ่อแม่ ควรภูมิใจที่ลูก ๆ เขาเติบโต และพาตัวเองมาได้ มากกว่าแค่วันที่ต้องมาถ่ายรูปรับปริญญา”

เชื่อว่าผู้ปกครองหลายคนตกใจกับการตัดสินใจไม่รับปริญญา มีอะไรนอกจากเหตุผลทางการเมือง?

การเข้าร่วม “พิธีรับปริญญา” มันมีค่าใช้จ่ายแฝงที่ประกอบอยู่เยอะถึงหลักหลายหมื่น เช่น ค่าชุดครุย ค่ารูปถ่ายรับปริญญา ค่าจ้างช่างแต่งหน้า-ทำผม ค่าช่างภาพ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าที่พัก และค่าเดินทาง ฯลฯ

ตลอดหลายปี เศรษฐกิจมีปัญหา บัณฑิตได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีหลัง ปีนี้ชัดเจนที่สุดหลังโควิด -19 มีบัณฑิตไม่น้อยต้องเลือกที่จะไม่เข้าพิธี เพราะค่าใช้จ่ายแบกรับไม่ไหว จบมายังไม่มีงาน ถ้าต้องเลือกระหว่างมีเงินสำรองเพื่อประคับประคองชีวิตช่วงนี้ไป กับการเข้าร่วมพิธี แต่ละคนก็จะเลือกตัวเลือกแรก ประหยัดเงินไว้ดีกว่า ต้องมองภาพกว้างว่า บัณฑิตยุคใหม่ต้องพึ่งพาตัวเองสูงระหว่างเรียน บ้างก็ต้องกู้ยืมเรียน และหากเขายังตกงานการจะต้องใช้เงินเรือนหมื่น เพื่อมาใช้งานในพิธีเขาก็อาจต้องช่างน้ำหนักว่าคุ้มค่าหรือเปล่า

อีกตัวแปรหนึ่ง ก็คือ เรื่องครอบครัว หลาย ๆ คนยังเลือกเข้ารับพิธีฉลองปริญญา เพราะครอบครัว หลายคนเป็นบัณฑิตคนแรกของครอบครัว ครอบครัวก็อยากจะให้คุณค่ากับเรื่องนี้ ในอดีตปฏิเสธไม่ได้ว่า การเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นเหมือนการได้ใกล้ชิดพระบรมวงศานุวงศ์ ก็เป็นความภูมิใจของหลายครอบครัว ฉะนั้นเด็ก ๆ ไม่น้อยมีปัจจัยเหล่านี้ประกอบการตัดสินใจ

“พ่อแม่บางคน ตกใจ ทำไมลูกเลือกไม่รับปริญญาเวลานี้ ขณะที่ พ่อแม่บางคนฟังแล้วเข้าใจ ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องท้าทายผู้ใหญ่ ที่ต้องทำความเข้าใจการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย…”

ผศ.อรรถพล บอกอีกว่า ในวันที่สังคมไทย มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง แม้กระทั่งงานรับปริญญาก็กลายเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ถูกดึงเข้ามาให้ความหมายถึงนัยยะทางการเมือง ก็อย่าเพิ่งรีบเอานัยยะทางการเมืองมาแบ่งข้างเรา กับ บัณฑิต เพราะบัณฑิตแต่ละคนมีวิธีคิด วิธีปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน ผู้ที่ไม่รับปริญญาช่วงหลัง อาจไม่ได้เกิดจากแค่มุมมองทางการเมืองก็ได้ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งเหมารวม เพราะต้นทุน และค่าใช้จ่ายในพิธีรับปริญญามีอยู่จริง

“ใครไม่ได้เป็นหนุ่มสาวรับปริญญารุ่นนี้ไม่รู้หรอกว่า การต้องเสียเงิน 4-5 หมื่นมารับปริญญา เป็นเรื่องคอขาดบาดตายของเขา มันคือเงินอยู่ต่อได้สัก 3-4 เดือน แล้วทำไมผู้ใหญ่จะต้องมากะเกณฑ์ให้เขานำเงินเหล่านั้นมาใช้ในพิธีกรรม… ผมว่าอย่าเพิ่งเอาแว่นตาการเมืองมาทาบและใช้ในการตัดสินเขา ขณะเดียวกัน ก็ต้องตระหนักว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นตัวแปรหนึ่ง ที่ทำให้ปรากฏการณ์นี้ขยายตัวขึ้นจริง ๆ”

“ปรากฏการณ์ ใบปริญญา” บทพิสูจน์สังคมไทย

“ตอนนี้เด็กมองผู้ใหญ่ด้วยความระแวดระวัง ผู้ใหญ่ก็มองเด็กด้วยอาการไม่ค่อยให้คุณค่า…”

ผศ.อรรถพล ยังฝากถึง ครอบครัว และคนต่าง Generations ว่า “คุยกันให้เยอะ การทำความเข้าใจกันเป็นเรื่องสำคัญ” เราถึงมีคำว่า “ภราดรภาพ” คือ ไม่บังคับให้ทุกคนรักกัน แต่ให้พยายามทำความเข้าใจ หาจุดร่วมกันให้ได้

เขาขอให้ทั้ง 2 ฝ่าย เปิดพื้นที่พูดคุย สื่อสารกัน เพราะบรรยากาศถกเถียงพูดคุยหายไปในสังคมไทยนานมาก ซึ่งไม่ควรเว้นระยะห่างและไม่สื่อสารกัน สิ่งที่น่าห่วง คือ ต่างคน ต่างถูกโกยไปอยู่ในอุโมงค์เสียงก้องของตัวเอง อาจต้องระมัดระวัง ชีวิตทางการเมือง เป็นสิ่งสำคัญของพลเมือง แต่ชีวิตการเมืองไม่ใช่ทั้งหมด ยังมีชีวิตส่วนอื่นด้วย

“ถ้า อคติ ทำงานหนักทำให้พื้นที่การรับฟังน้อย ดูเหมือนได้ฟัง แต่ไม่ได้ยินเสียง ฟังแล้วจับประเด็นคนละทาง รัฐ เองก็ต้องทบทวนตัวเอง ในเมื่อนายกฯ บอกว่าถอย แต่การถอยของรัฐคืออะไร อยู่ ๆ รัฐถอยไม่ได้ ถ้าสังคมไม่ให้ถอย ผู้ใหญ่ พ่อแม่ในบ้านฟังลูกกันบ้าง พยายามฟังให้เยอะทั้ง 2 ฝ่าย บรรยากาศถกเถียงพูดคุยหายไปในสังคมไทยนานมาก ๆ”

และทิ้งท้ายว่า “จากนี้ไปเราคงต้องอยู่กับบรรยากาศอึมครึมไปอีกหลายเดือน เราไม่รู้ว่าโควิด-19 รอบ 2 จะมาเมื่อไหร่ อย่าทิ้งกันตั้งแต่ตอนนี้…”

“ปริญญา” จึงเป็นหนึ่งในประเด็นเปราะบางที่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่รับไม่ได้ และเป็นบทพิสูจน์สังคมไทย

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน