หลักการ “สิทธิมนุษยชน” ไม่ได้มาด้วยการยึดอำนาจ | สุณัย ผาสุข

“15 ปี 19 กันยา : 15 ปี ใต้เงารัฐประหาร” EP.6

เป็นเรื่องแปลก ที่รัฐบาลซึ่งมีหลังพิงความชอบธรรมจากคะแนนนิยมมากเป็นประวัติการณ์ กลับไม่เคารพเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง

‘สุณัย ผาสุข’ ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ประจำประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตและบอกเล่าเรื่องราวอีกมุมหนึ่งผ่านสายตานักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ด้วยข้ออ้างการปฏิรูปการเมือง ก่อนจะวนมาสู่ยุคมืดแห่งสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน

:: รัฐบาลทักษิณ ภาพที่ขัดแย้งในตัวเอง ::

สุณัย ย้อนเล่าบรรยากาศทางการเมืองก่อนรัฐประหาร 2549 เพื่อรื้อภาพจำของคนในปัจจุบันที่อาจไม่ทันยุคทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่า ‘รัฐบาลทักษิณ’ เข้าสู่อำนาจตามวิถีทางประชาธิปไตย และได้รับคะแนนเลือกตั้งอย่างถล่มทลายแบบที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน

แต่ในทางตรงกันข้าม, คะแนนความนิยมที่มากมายกลับทำให้รัฐบาลสมัยนั้น ไม่เคารพหลักการประชาธิปไตย ทำลายระบบการตรวจสอบถ่วงดุล และไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, กลไกทางรัฐสภาซึ่งสามารถสนับสนุนทางการเมืองรัฐบาลอย่างเต็มที่ เนื่องจาก ‘รัฐบาลทักษิณ’ ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเด็ดขาด โดยไม่ต้องคำนึงถึงเสียงของฝ่ายค้าน และแม้กระทั่งวุฒิสภา ขณะนั้นมาจากการเลือกตั้ง เมื่อต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารงานแผ่นดิน เชิญ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงนโยบายรัฐที่อาจละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ ทำได้เต็มที่เพียงส่งผู้แทนเข้ามาให้ความเห็น แสดงให้เห็นว่า ‘รัฐบาลทักษิณ’ ไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลของรัฐสภา ทั้งสภาล่าง และสภาสูง

และเมื่อกลไกต่าง ๆ ตามวิถีประชาธิปไตยไม่สามารถทำงานตรวจสอบ เอาผิดรัฐบาลเสียงข้างมากได้ เสียงของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยถูกผลักไส และอาจถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์ มีท่าทีซึ่งไม่ยอมรับคนเห็นต่าง สุดท้าย จึงไม่มีทางเลือกให้บุคคลเหล่านี้ต้องลงสู่ท้องถนน หรือบางกลุ่มก็ไปไกลมากว่านั้น คือ หันหลังให้กับระบอบประชาธิปไตย สนับสนุนการรัฐประหาร เพื่อเป้าหมาย คือการขับไล่ทักษิณ ชินวัตร ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

:: มรดกการละเมิดสิทธิมนุษยชนส่งผลมาถึงเหตุการณ์ปัจจุบัน ::

“การด้อยค่า” หลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเกิดขึ้นตั้งแต่สมัย ‘รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร’ ที่กระทำต่อกลไกการตรวจสอบอย่าง ‘คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ’ หรือ ‘กสม.’ องค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญไทย มีหน้าที่ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เกี่ยวข้อง และรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี แต่ ‘กสม.’ กลับถูกหมายหัวจากรัฐบาล มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ต้องเคารพต่อหลักการดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องใส่ใจการทำงานของ ‘กสม.’ ถือเป็นการปฏิเสธกลไกในการตรวจสอบขององค์กรอิสระโดยรัฐ

“ขณะเดียวกัน วัฒนธรรมความเป็นไทย หรือข้อจำกัดแบบไทย ๆ ถูกนำมาใช้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งที่เรื่องนี้จำเป็นต้องใช้หลักการสากล ดังนั้น เมื่อเกิดคำเตือน หรือการจับตามองจากองค์กรระหว่างประเทศ ท่าทีของรัฐบาลในสมัยนั้นก็ไม่ใส่ใจ โดยเฉพาะวลีทองที่คนยังจำกันได้ ‘UN ไม่ใช่พ่อ’ รวมทั้งการดูถูกเหยียดหยามผู้แทนองค์การสหประชาชาติในลักษณะเหยียดเพศ และกล่าวหาว่ามาจากประเทศยากจน จะมาตรวจสอบประเทศไทยได้อย่างไร”

สุณัย อธิบายเชิงบริบทสังคมประกอบ

สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างวาทกรรม ที่ทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่ยอมรับการตรวจสอบ และสภาวะการณ์ที่ไม่ต้องรับผิดเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในยุครัฐบาลทักษิณ 

เมื่อไม่ให้ความสำคัญต่อหลักสากล และการทำหน้าที่ขององค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศ จึงนำไปสู่เหตุการณ์มากมายซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายรัฐที่ประกาศสงครามยาเสพติด ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2546 และยกให้เป็น “วาระแห่งชาติ” พร้อมสั่งการให้แต่ละจังหวัดจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เกี่ยวข้อง และกำหนดเป้าหมายลดผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้ได้ 100% ภายในสามเดือน คือระหว่างเดือน ก.พ. – เม.ย. 2546

คำว่า ‘สงคราม’ เป็นการเปิดช่องให้มี ‘การฆ่าตัดตอนยาเสพติด’ ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งสุณัย เล่าว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2,000 คน แต่ไม่สามารถคลี่คลายคดี และนำตัวผู้รับผิดชอบมาลงโทษได้ เหตุการณ์นี้เป็นตราบาป และส่งผลสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน อย่างเช่น กรณีตำรวจใช้อำนาจปราบปรามผู้กระทำความผิดคดียาเสพติด แล้วไปกระทำทรมานผู้ต้องหาด้วยถุงดำ ถือเป็นมรดกต่อเนื่องมาจากยุคสมัยนั้น ซึ่งไม่มีการชำระสะสางให้เสร็จสิ้น

นอกจากนั้นแล้ว, นโยบาย “กำปั้นเหล็ก” ของรัฐบาลทักษิณที่มุ่งหมายเข้าไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ลุกลามบานปลายยืดเยื้อและเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้ และนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในคดีใหญ่ ๆ ทั้งเหตุการณ์กรือเซะ เหตุการณ์ตากใบ และการอุ้มหายของคนมุสลิมในพื้นที่ความขัดแย้งจำนวนมาก กลายเป็นรอยแผลที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนมลายู มุสลิม มีระยะห่างมากขึ้นกับรัฐไทย

:: โอกาสที่หลุดลอยไป หลังรัฐประหาร 19 กันยายน ::

การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในเหตุผลของการยึดอำนาจ ทว่า สุณัย ตั้งข้อสังเกตว่า คณะรัฐประหารกลับไปให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นเสียมาก เช่น การรื้อคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ใช้โอกาสการยึดอำนาจทำการตรวจสอบ และขยายผลการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ มีความพยายามเดียวเท่านั้น คือ ตั้ง คณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษาและวิเคราะห์ การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียงและทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) เพื่อตรวจสอบการฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด โดยมี คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน

ขณะเดียวกัน, คณะรัฐประหาร และรัฐบาลหลังการยึดอำนาจปี 2549 นอกจากไม่ได้มีการปฏิรูปกลไกและหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง ยังส่งเสริมสิ่งที่รัฐบาลก่อนหน้าเคยทำ เข้าทำนอง “เครื่องมือเดิม แต่เปลี่ยนคนใช้” อันจะส่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ยังคงประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึกต่อไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้สิ่งนี้จะเป็นรากเหง้าของการละเมิดสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม จึงกลายมาเป็นรอยแผลทางประวัติศาสตร์ที่ยังส่งผลมาสู่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในปัจจุบัน หรือการปราบปรามการแสดงความเห็นและการชุมนุมด้วยการใช้ยาแรงอย่างกฎหมายอาญา ม.112 และวิธีการนอกตำราอย่างการบังคับสูญหาย เป็นต้น

:: 15 ปีการเมืองถอยหลังสิทธิมนุษยชนมืดมนอีกครั้งในปัจจุบัน ::

สุณัย ตั้งข้อสังเกตอีกว่า การรัฐประหารในปี 2557 มีความแตกต่างจากการรัฐประหาร ปี 2549 เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความพยายามในการสืบทอดอำนาจ ผ่านการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ วางกติกาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง ไม่ใช่เพียงเข้ามาระยะเวลาสั้น ๆ แล้ววางวาระของการปฏิรูปที่ชัดเจนเหมือนการรัฐประหารในปี 2549 รวมถึงการปกครองประเทศด้วยมาตรา 44 และระบบการเลือกตั้งที่ทำให้สถาบันทางการเมืองอ่อนแอ รวมทั้งการใช้หน่วยงานของภาครัฐ กองกำลังทหารเพื่อบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนอย่างเข้มข้น

สุณัย ยังเปรียบเทียบระหว่าง ‘ยุครัฐบาลทักษิณเรืองอำนาจ’ และยุคนี้ ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา ครองอำนาจนั้น “มีหลายสิ่งหลายอย่างที่คล้ายกัน ทั้งท่าทีแข็งกร้าว ไม่รับฟังเสียงท้วงติง และแนวคิดที่ไม่เอาหลักสากล แต่ยึดมั่นในเงื่อนไขเฉพาะแบบไทย ๆ การสร้างแนวร่วมผ่านสื่อ จัดตั้งกลุ่มคนมาสนับสนุนและปกป้องรัฐบาลจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้ง ที่ประเด็นเหล่านี้เคยเป็นเหตุผลแห่งการรัฐประหารมาก่อนทั้งสิ้น”

กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า การเมืองไทยและการขับเคลื่อนวาระสิทธิมนุษยชนของไทยไม่ได้ก้าวไปไหนเลย อย่างน้อยตั้งแต่ช่วงก่อนรัฐประหารปี 2549 

: : สิ่งที่คนไทยต้องเรียนรู้จากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ::

สุณัย เชื่อว่ารัฐประหารเป็นสิ่งที่เสียมากกว่าได้ ไม่ใช่เครื่องมือเพื่อตอบโจทย์ให้กับความขัดแย้ง แตกแยกทางการเมือง อาจจะแก้ไขได้เพียงเฉพาะหน้าแล้วซุกไว้อยู่ใต้พรม แต่จะปะทุออกมาไม่วันใด ก็วันหนึ่ง ในเวลานี้และต่อไปสังคมไทยต้องร่วมกันหาวิธีการอื่นเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง 

รัฐบาลต้องเรียนรู้ว่ายิ่งทำตัวแข็งกร้าว ไม่ฟังเสียงท้วงติง และมองคนเห็นต่างเป็นศัตรูทั้งหมด ไม่ยอมรับกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะไม่เช่นนั้น จะเป็นการบีบให้ไม่เหลือช่องทางสร้างความสมานฉันท์ และช่องทางในการหาทางออก แต่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าเพื่อห้ำหั่นกัน แล้วเกิดการสูญเสียนองเลือดอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

ส่วนฝ่ายเห็นต่าง, ก็ต้องเรียนรู้ว่า ทุกการต่อสู้เรียกร้องควรเป็นไปตามวีถีทางประชาธิปไตย ไม่เล่นนอกกติกา และไม่ใช้วิธีนอกระบบอันหมายถึงสนับสนุนให้มีการรัฐประหารนั่นเอง


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้