15 ปีผ่านไปเรายังเรียกร้องกันเรื่องเดิม | ทายาทคนเดือนตุลากับเบื้องหลังเข้าร่วมพันธมิตร

“15 ปี 19 กันยา : 15 ปี ใต้เงารัฐประหาร” EP.7

พลีธรรม ตริยะเกษม หนึ่งในผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ชวนสังคมตั้งคำถามว่าปัจจุบันการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การเรียกร้องยังคงเหมือนยุคก่อนหน้าอย่างไม่เปลี่ยนแปลง แม้การตื่นตัวทางการเมืองจะมีมากขึ้น แต่ยังมีคนจำนวนมากที่ขาดความเข้าใจแก่นแท้ของประชาธิปไตย การป้องกันรัฐประหารทำได้เมื่อสร้างการศึกษาทางการเมืองให้กับประชาชนในสังคม

เข้าร่วมชุมนุมพันธมิตร เพราะมองเห็นปัญหาและอยากมีส่วนร่วม

พลีธรรม เป็นคนหนึ่งซึ่งเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี 2549 พร้อมกับเครือข่าย “กลุ่มแรงคิดต้นกล้าประชาธิปไตย” ที่จับมือกับลูกหลานคนเดือนตุลาด้วยกัน เข้าไปมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเริ่มแรกนั้นเหตุผลของการชุมนุม เพราะมองเห็นปัญหาการทุจริตในเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นจากการบริหารของรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่คนรุ่นใหม่จะได้ใช้การชุมนุมเพื่อเรียนรู้วิถีการแสดงออกทางประชาธิปไตยร่วมกัน

บรรยากาศของการชุมนุมในตอนนั้น กลุ่มแรงคิดฯ ของพลีธรรม ได้กลายเป็นศูนย์ประสานงานของคนรุ่นใหม่ หรือเยาวชนที่มาเข้าร่วมชุมนุมกับผู้ใหญ่ในครอบครัว พ่อแม่มาชุมนุม ก็นำลูกหลานมาฝากไว้ในศูนย์ประสานงานนี้ เกิดกิจกรรมทางการเมือง แลกเปลี่ยน พูดคุยกัน ถือเป็นมิติใหม่มากในตอนนั้น ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ซึ่งบางคนอยู่ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และที่น่าสนใจคือ ณ วันนี้ที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง เด็กในวันนั้น กลายมาเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในวันนี้ด้วย

หากถามถึงเป้าหมายทางการเมืองของกลุ่มแรงคิดฯ ขณะนั้น ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรฯ เท่าไรนัก แต่สิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากกว่า คือโอกาสในการเรียนรู้และเข้าใจประชาธิปไตย มองเห็นปัญหาในสังคมแล้วไม่นิ่งเฉย ออกมาแสดงออกทางการเมือง พูดคุยกันด้วยเหตุผลอย่างที่ไม่เคยได้สัมผัสในห้องเรียน ครั้งหนึ่ง “ใจ อึ๊งภากรณ์” ได้เคยเขียนไว้ในงานของตัวเองว่า “กลุ่มแรงคิดต้นกล้าประชาธิปไตย” ถึงเป็นกลุ่มที่จุดประกายให้คนรุ่นใหม่ในยุคนั้นมาสนใจการเมืองมากขึ้น

วาระซ่อนเร้นของแกนนำ ลบล้างภาพการเรียกร้องของประชาชน

พลีธรรม กล่าวว่าในตอนนั้นกลุ่มของตนไม่ทราบว่าการชุมนุมจะนำไปสู่การรัฐประหาร เพราะผู้ชุมนุมในตอนนั้นเกือบทั้งหมดมีปัญหาที่มองเห็นร่วมกัน และอยากให้ปัญหานั้นมันหายไป ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่าการรัฐประหาร อาจเป็นการจบปัญหาที่มีอยู่ จึงสนับสนุนแนวทางนั้น แต่มีอีกหลายกลุ่มเช่นกันที่ปฏิเสธแนวทางนี้ และแยกตัวออกมาทันทีหลังเกิดการรัฐประหาร

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะไปชุมนุมพันธมิตรไหม? พลีธรรม ตอบว่า ถ้าเอาปัญหาที่เกิด ณ ตอนนั้นเป็นตัวตั้ง ตนก็ยังคงไปเข้าร่วมชุมนุมเหมือนเดิม เพราะเหตุในการเคลื่อนไหวของประชาชนมีประโยชน์ต่อการขจัดปัญหาที่มีในตอนนั้น คือเริ่มต้นด้วยเหตุผลที่ดี แต่พอมีวาระซ่อนเร้นของแกนนำ จังหวะต่อเนื่องมีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ความสวยงามของการชุมนุมหายไป และลบล้างภาพการเรียกร้องของประชาชน แต่หลักการของตนคือ “รัฐประหารไม่ใช่ทางออก” จุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุดแบบนี้ยังเกิดขึ้นกับอีกหลายม็อบ รวมถึง กปปส. ในปี 2557 ด้วย แต่พอเกิดเหตุและเราเห็นปัญหาบางอย่าง ทำให้เราเข้าร่วมแค่ช่วงแรกเท่านั้น

“ขึ้นอยู่กับว่า คุณมองการแก้ปัญหานี้เฉพาะหน้า หรืออยากแก้ปัญหาระยะยาว”

ภายหลังการรัฐประหาร 2549 พลีธรรม ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ อีกเลย เพราะตนปฏิเสธการแก้ปัญหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ที่จะสร้างปัญหาต่อไปอีกในอนาคต งานของกลุ่มแรงคิดฯ จึงเดินหน้าต่อหลังรัฐประหาร จัดเสวนาประชาธิปไตย เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มาเรียนรู้ทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

ผ่านมาแล้ว 15 ปี ขบวนการเรียกร้องของประชาชนเป็นอย่างไร ?

หลายคนมองเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทางการเมืองในปัจจุบัน แต่พลีธรรมมองว่า แท้จริงปัญหาทางการเมืองของไทยทอดยาวมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2516 ที่เกิดขบวนการเรียกร้องทางการเมือง เพราะรากฐานทางประชาธิปไตยไม่มั่นคงเรื่อยมา เสถียรภาพทางการเมืองไม่แน่นอนมาโดยตลอด เพราะการเรียกร้องยังให้ความสำคัญกับ “รูปแบบ” มากกว่า “แก่นแท้” ของประชาธิปไตย

เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ขับไล่รัฐบาลทหาร ขอให้จัดการเลือกตั้งใหม่ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงรูปแบบทางการเมืองเท่านั้น แม้จะดีมากเพียงใด แต่คนในสังคมยังไม่เข้าใจแก่นแท้ของประชาธิปไตย การเมืองก็จะยังคงวุ่นวายต่อไปไม่จบสิ้น หากเรายังเรียกร้องโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้อื่น จำกัดเสรีภาพความเห็นต่างของผู้อื่น และไม่สามารถพูดคุยกับขั้วตรงข้ามทางการเมืองของตนเองได้ เรียกร้องเท่าไรก็ไม่มีวันจบ

สังคมต้องเรียนรู้อะไรจากการรัฐประหาร 2549 ?

แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องเรียนรู้คือ “รัฐประหาร” เป็นประตูที่ทำให้กลุ่มทหารเข้ามามีอำนาจในทางการเมืองมากขึ้น สภาพทางรัฐศาสตร์ของไทยตอนนี้กลับมีเสาหลักเพิ่มขึ้นมา ก็คือทหาร ที่ผ่านมาอาจมีกลุ่มคนที่รับได้กับเรื่องนี้ ว่าจำเป็นต้องให้ทหารเข้าใช้อำนาจจัดการ เพราะอาจจะมีข้อมูลไม่มากพอ ไม่คุ้นชินกับการแก้ไขปัญหาในระบบประชาธิปไตบ แต่ในปัจจุบันคิดว่าไม่ใช่อีกต่อไป การเข้าถึงข้อมูล การเรียนรู้มีมากขึ้น การชุมนุมใหญ่เพื่อเรียกร้องไม่สามารถทำได้ และการรัฐประหารก็ไม่ใช่ทางออก 

จะป้องกันรัฐประหารได้ ต้องให้การศึกษาทางการเมืองกับประชาชน แทบทุกประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านประชาธิปไตย ล้วนลงทุนกับเรื่องนี้มหาศาล เพื่อสร้างรากฐานทางประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง การสร้างพลเมืองให้เข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก ระดับอนุบาล ประถม เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะเมื่อประชาชนไม่สนับสนุน จะไม่มีเหตุแห่งการยึดอำนาจเกิดขึ้น สำหรับหลายฝ่ายที่มองว่าเรื่องนี้เป็น DNA ของทหารไปแล้ว ก็ต้องไปแก้ที่ตัวทหาร ไม่ใช่การต่อสู้ห้ำหั่นกัน

ชวนติดตามบทสัมภาษณ์เต็มของ พลีธรรม ตริยะเกษม : 15 ปีผ่านไปเรายังเรียกร้องกันเรื่องเดิม | ทายาทคนเดือนตุลากับเบื้องหลังเข้าร่วมพันธมิตร ผ่านทุกช่องทางของ The Active เร็ว ๆ นี้

Author

AUTHOR