จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบ ‘พุ่งเป้า’ เหมาะกับสถานการณ์ประเทศ

นักวิชาการอาวุโส TDRI  แนะหากต้องการเพิ่มสวัสดิการต้องมาพร้อมกับการเก็บภาษีที่สูงขึ้น มองเก็บภาษีต่ำแต่สวัสดิการสูงเสี่ยงเกิดภาวะ “Pink Tide” ประเทศล่มสลาย ระบบเศรษฐกิจพัง

วันนี้ (16 ส.ค. 2566)  นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  กล่าวว่า ทางเลือกการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่ว่าจะแบบถ้วนหน้า หรือ แบบพุ่งเป้า มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ต่างกันไป แต่การจ่ายแบบถ้วนหน้าในอนาคตมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นภาระทางการเงินการคลังของประเทศ เนื่องจาก ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งรัฐบาลต้องตอบคำถามให้ได้ว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาจ่ายให้สวัสดิการนี้ 

อย่างไรก็ตาม การจ่ายแบบ “พุ่งเป้า” อาจจะเหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทยมากกว่าที่จะจ่ายแบบ “ถ้วนหน้า” ซึ่งมีข้อดีคือจ่ายให้กับทุกคน แต่ข้อเสียคือใช้เงินสูง ขณะที่การจ่ายแบบพุ่งเป้า ข้อเสีย คือความยากที่พิสูจน์และระบุกลุ่มคนที่ควรได้รับ 

นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  

มีงานวิจัยที่ทำร่วมกับ สสส. พบว่า สวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้าสามารถจ่ายเพิ่มเป็น 1,000 กับผู้สูงอายุทุกคนต่อเดือนโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการคลังปัจจุบัน  แต่หากมองไปในอนาคต มีความเสี่ยง คือ จำนวนผู้สูงอายุอีก 20 ปี จะมีจำนวน 20 ล้านคน ต้องเพิ่มเงินอีก 70% อีกส่วนที่น่ากังวลคือ ข้อเสนอเบี้ยผู้สูงอายุ หรือที่เรียกว่า บำนาญแห่งชาติถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน อาจต้องใช้เงินถึง 7 แสนล้านบาทกับจำนวนผู้สูงอายุในอีก 4 ปี ซึ่งรัฐจะหาเงินมาได้หรือเปล่า 

ขณะที่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่จ่ายอยู่ในปัจจุบันมาจากเงินภาษี นั่นหมายความว่าหากรัฐเลือกที่จะจ่ายแบบถ้วนหน้า ก็จำเป็นต้องขึ้นภาษีเพิ่ม 

“เราอยู่ในประเทศที่เก็บภาษีต่ำ แรงงาน 40 ล้านคนเสียภาษีจริง ๆ 4 ล้านคน ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT ก็เก็บอยู่แค่ 7% ถือว่าต่ำมากบางประเทศ 20-30% ภาษีเงินได้ประเทศเราต่ำมาก เพราะฉะนั้นถ้าอยู่ได้สวัสดิการ ต้องจ่ายภาษีที่สูงขึ้น ถ้าเราขยับสวัสดิการอย่างเดียวไม่ขยับรายได้ ประเทศเจ๊ง” 

ส่วนกรณีที่มีการเปรียบเทียบ สวัสดิการบำเหน็จ บำนาญที่ให้กับข้าราชการที่ครอบคลุมคนจำนวนน้อยกว่า แต่ใช้เงินมากกว่าเบี้ยยังชีพแบบผู้สูงอายุ มองว่าข้าราชการมีรายได้น้อยกว่าเอกชนในระยะสั้น แต่แลกมาด้วยสวัสดิการในระยะยาว

นณริฏ ยังบอกอีกว่า ท้ายที่สุดนโยบายสวัสดิการที่ออกมา ต้องบอกได้ ว่าจะหาเงินจากไหนมา โดยเฉพาะในระยะยาว ภาษีตัวไหนต้องจัดเก็บเพิ่ม เพราะในโลกความจริงประเทศที่เก็บภาษีสูงเท่านั้นจึงจะมีสวัสดิการที่ดี ขณะที่ประเทศที่เก็บภาษีต่ำ อาจนำไปสู่ความเสี่ยงทางวิชาการที่เราเรียนว่า Pink Tide (พิ้งไทด์) หรือ คลื่นสีชมพู ซึ่งเคยเกิดขึ้นในประเทศแถบลาตินอเมริกา ซึ่งจัดให้มีสวัสดิการมากแต่ไม่มีรายได้ ท้ายที่สุดต้องไปกู้หนี้ยืมสินจนประเทศล่มสลายระบบเศรษฐกิจพัง เช่น เวเนซูเอล่า อาเจนติน่า ศรีลังกา เป็นต้น

ภาพของประเทศเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลายคนมองไม่เห็น ในช่วงที่เกิด Pink Tide สิบปีแรกทุกคนมีความสุขหมดจนประเทศล่มสลาย จนคนที่ชนชั้นกลาง เจอเงินเฟ้อเพราะเงินอ่อนค่า จึงอยากให้วางแผนให้ดี ๆ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active