ชงพรรคการเมืองชู “นโยบายบำนาญถ้วนหน้า”

สภาผู้บริโภคฯ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ย้ำจับตานโยบายทุกพรรคจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง ไม่ช้าก็เร็วใครก็เป็น “คนสูงวัย” แต่ต้องเป็น “สูงวัย (ไม่) ไร้บำนาญ”

สังคมไทยอยู่ในยุคสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์อย่างเต็มรูปแบบ และคนสูงวัยหลายคนเจอกับวิกฤต ความลำบาก-ยากจน ไม่มีเงินออม และหลักประกันความมั่นคงชีวิตหลังวัยเกษียณ บางคนอยู่กับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได 600-1,000 บาท ซึ่งทั้งตัวแทนผู้สูงอายุ ภาคประชาชน ภาควิชาการ ฯลฯ เห็นตรงกันว่าเป็นตัวเลขที่ไม่เพียงพอ และควรพิจารณาปรับเพิ่มให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้รับ บำนาญถ้วนหน้า เพราะประชาชนทุกคนในประเทศทำงานอย่างหนักเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน 

งานแถลงข่าว ร่วมผลักดันบำนาญถ้วนหน้า สู่นโยบายสำคัญพรรคการเมือง (12 ม.ค. 2566)

สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกับ สมาชิกองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดแถลงข่าว ‘ร่วมผลักดันบำนาญถ้วนหน้า สู่นโยบายสำคัญของพรรคการเมือง’ เพื่อผลักดันให้มีนโยบายการสร้างความมั่นคง ทางด้านรายได้ของผู้สูงวัย หรือ บำนาญประชาชน โดย เตรียมจับตาทุกพรรคการเมืองหากมีนโยบายที่ประชาชนต้องการก็จะยิ่งมีโอกาสได้ใจจากการเลือกตั้งรอบใหม่

สภาองค์กรผู้บริโภค เตรียมวิจัยดัน “บำนาญถ้วนหน้า” สู่ พรรคการเมือง

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุ เป็นครั้งแรกที่สภาองค์กรผู้บริโภค เข้ามาผลักดันเรื่องบำนาญให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยเล็งเห็นแล้วว่า บำนาญเป็นเรื่องสำคัญและเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคทุกคนโดยตรง และมีความเป็นไปได้ในเชิงงบประมาณที่รัฐสามารถจัดสรรได้จริง ขณะนี้ สภาผู้บริโภคได้จัดทำงานวิจัยเกี่ยวกับแหล่งเงินเพื่อนำมาทำบำนาญถ้วนหน้า และเพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ให้กับภาครัฐ และพรรคการเมือง อีกทั้งจะมีการหารือกับเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคทั่วประเทศในช่วงนี้เกี่ยวกับการรณรงค์กับพรรคการเมืองแต่ละจังหวัดอย่างไร เพื่อทำให้เกิดบำนาญถ้วนหน้า โดยมองว่า หากทำได้จริงประชาชนทุกคนจะได้รับประโยชน์และลดความเหลื่อมล้ำได้จริง 

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ระบุชัด รัฐต้องสนับสนุน “บำนาญถ้วนหน้า”

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปรียบเทียบการผลักดันเรื่องหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุหรือบำนาญถ้วนหน้า กับ การผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยกล่าวถึง 3 ปัจจัยที่ส่งเสริม และคาดว่าจะทำให้การผลักดันบำนาญถ้วนหน้าให้เกิดขึ้น ได้แก่ 1) บำนาญเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ 2) รัฐบาลมีการจ่ายเงินเพื่อสร้างระบบย่อยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเบี้ยยังชีพของประชาชนอยู่บ้างแล้วพอสมควร ขาดแค่เพียงปฏิรูปภาพใหญ่ของระบบ และ 3) ประชาชนไทยกำลังเจอวิกฤตเรื่องคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ซึ่งปัจจุบันมีนักวิชาการ ภาคประชาสังคม รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำการสำรวจก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ขาดเพียงเรื่องการรวมกลุ่ม จึงเป็นหน้าที่ของ สช. ที่ต้องรวบรวมความเห็นของภาพส่วนต่าง ๆ จนกระทั่งกลายเป็นนโยบายทางการเมือง

ทั้งนี้ จากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยเรื่องหลักประกันแห่งชาติว่าด้วยเรื่องคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ มี 5 สิ่งที่ต้องทำทั้ง 1) ระบบสนับสนุนความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้เมื่อเข้าช่วงสูงวัย 2) สนับสนุนให้มีการออมระยะยาว 3) รัฐต้องจัดสวัสดิการทางการเงิน ซึ่งจะมีเรื่องของบำนาญถ้วนหน้าอยู่ด้วย 4) เกิดการเข้าถึงหลักประกันเรื่องระบบบริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 5) ระบบสนับสนุนให้ครอบครัวและท้องถิ่นเข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ โดยย้ำว่าเรื่องบำนาญ เป็นเรื่องที่แม้แต่เด็กและเยาวชนในสังคมไทยก็เริ่มเข้าใจและเห็นด้วยกับการผลักดันเรื่องนี้

นักวิชาการ ชี้ “บำนาญถ้วนหน้า” ต้องใช้กลไกการคลังช่วย
ติงพรรคการเมืองต้องทำได้จริง ไม่ขายฝัน!

ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องบำนาญถ้วนหน้า เป็นสิ่งที่ถูกพูดคุยในแวดวงวิชาการมานานกว่า 10 ปี หากต้องการให้เกิดบำนาญถ้วนหน้า รัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อทำเรื่องดังกล่าว เช่น ปฏิรูปงบประมาณ การยกเลิกการลดหย่อนภาษีคนรวย ซึ่งตัวเลขของอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า มีประมาณร้อยละ 20 ของคนทั้งประเทศ รวมถึง การใช้เครื่องมือทางการคลังในการจัดสรรทรัพยากร เช่น การเก็บภาษีทรัพย์สินให้มากขึ้น เป็นต้น ซึ่งจากการศึกษาตัวเลขพบว่าการให้บำนาญถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาทเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และอาจเพิ่มสูงขึ้นได้มากกว่านั้นหากมีการกำหนดเงื่อนไขเรื่องการออมเพิ่มเติม

การให้บำนาญแบบถ้วนหน้านี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคน หากใช้กลไกทางการคลังเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ก็จะเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะแก้ปัญหาขั้นรากฐานของความเหลื่อมล้ำ

อยากสื่อสารถึง พรรคการเมือง นำนโยบายเรื่อง บำนาญถ้วนหน้า มาใช้ในการหาเสียงว่า อย่าขายฝันให้กับประชาชน เมื่อหาเสียงแล้วก็อยากให้มีแนวทางการจัดการงบให้สามารถทำได้จริง” 

ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อ.ทีปกร อธิบายอีกด้วย ว่า การใช้งบประมาณสำหรับบำนาญถ้วนหน้า แม้จะจ่ายในอัตรา 3,000 บาทต่อเดือนต่อคน ก็ยังน้อยกว่างบประมาณสำหรับบำนาญข้าราชการในระยะยาว และจากการคำนวณพบว่าบำนาญประชาชนสามารถขึ้นไปได้ถึง 6,000 บาท โดยคนที่อยากได้มากกว่า 3,000 บาทจะต้องจ่ายออมเอง และรัฐบาลช่วยสมทบส่วนที่เหลือ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น รวมถึงประเทศในยุโรปใช้อยู่ในปัจจุบัน

หากไม่เปลี่ยน ‘เบี้ยยังชีพ’ เป็น ‘บำนาญ’ มีโอกาสสูงที่ประชาชนจะไม่เลือก!

นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ระบุ อุปสรรคที่ทำให้ขับเคลื่อนบำนาญถ้วนหน้าไม่สำเร็จ เป็นเพราะประเทศยังถูกครอบงำโดยรัฐราชการ หรือ รัฐเผด็จการ ซึ่งคนที่กุมอำนาจอยู่ยังไม่พร้อมกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม

ขณะนี้ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการจึงสร้างเครือข่ายทั่วประเทศ และสร้างความเข้าใจว่าทำไมต้องทำให้ทุกคนได้บำนาญถ้วนหน้า อีกทั้งเริ่มขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปข้างหน้า ตอนนี้จะเริ่มผลักดันในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดย ตั้งคำถามกับพรรคการเมืองแต่ละพรรคว่ามีนโยบายเกี่ยวกับบำนาญถ้วนหน้าหรือไม่ รวมถึงมีจดหมายถามไปที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคว่ามีนโยบาย และทำหน้าที่ฉายภาพว่าพรรคเหล่านั้นมีหรือไม่ หรือมีข้อสังเกตนโยบายของพรรคเหล่านั้นว่าอย่างไร นิมิตร์ กล่าวอีกว่า ฝากถึงประชาชนให้ช่วยส่งเสียงถึงพรรคการเมืองว่าต้องทำบำนาญถ้วนหน้า โดยที่จะทำได้ขณะนี้ คือ การเข้าคูหาเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายทำบำนาญถ้วนหน้าและมีแนวโน้มว่าจะทำจริง ไม่ใช่การขายฝันนโยบายให้ประชาชน

อยากให้รัฐคิดว่า การทำบำนาญถ้วนหน้า เป็นการลงทุนที่สำคัญในการพัฒนามนุษย์ ซึ่งการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพ เป็น บำนาญถ้วนหน้า คือ เครื่องมือที่สามารถเปลี่ยนประเทศได้ เพราะคนทุกวัยรอนโยบายนี้อยู่ 


นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ

เบี้ยสูงอายุ 600 บาท ไม่เพียงพอต่อการดูแลสังคมสูงวัย

หนูเกณ อินทจันทร์ ตัวแทนผู้สูงอายุเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐให้เบี้ยยังชีพกับผู้สูงอายุเพียง 600 บาท ซึ่งไม่เพียงพอ ผู้สูงอายุบางรายอยู่ตัวคนเดียวและยังต้องทำงานอยู่ เพราะเงินที่ได้จากรัฐไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงอยากฝากนักการเมืองทุกคนเห็นความสำคัญและทำบำนาญถ้วนหน้าให้เป็นจริง ไม่ใช่ทำเพียงขายฝันนโยบาย แต่เมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วกลับทำไม่ได้จริง

การให้เบี้ยยังชีพ ทำให้คนจนตกหล่น เพราะรัฐมานั่งคัดกรองว่า ใครจนหรือไม่จนจริง แต่การทำบำนาญถ้วนหน้า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้ และยังเป็นการลงทุนที่สำคัญ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้นได้ด้วย

หนูเกณ อินทจันทร์ ตัวแทนผู้สูงอายุเครือข่ายสลัมสี่ภาค

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active