วิกฤต! เด็ก-เยาวชน 61.4% อยู่ในครอบครัวยากจน

พรรคการเมือง-ภาคประชาชน เสนอ ขยายเงินอุดหนุนถ้วนหน้า สู่ หญิงตั้งครรภ์ เพิ่มจาก 600 เป็น 3,000 บาท/คน/เดือน TDRI เผยเด็กเกิดใหม่มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน ย้ำปัญหาการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้าคนจนยังตกหล่น

วันนี้ (21 พ.ย.65) เครือข่ายทำงานด้านเด็ก จัดเวทีเสวนานำเสนอข้อมูลงานวิจัยเด็กเล็ก และเปิดให้ ตัวแทนจากพรรคการเมือง นำเสนอนโยบายที่เกี่ยวกับสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อหยุดวิกฤตเด็กและเยาวชน

สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ระบุถึง ความจำเป็นเร่งด่วนที่เด็กเล็ก 0-6 ปี ต้องมีสวัสดิการถ้วนหน้า โดย เจมส์ เจ เฮคแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล และผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนามนุษย์ รับรองแล้วว่าการลงทุนในเด็กวัยนี้มีผลตอบกลับที่คุ้มค่ามากที่สุด และเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ขณะที่ สวัสดิการของเด็กและเยาวชนก็ยังถูกให้ความสำคัญ เห็นได้จากกฎกติการะหว่างประเทศ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่เน้นย้ำการไม่เลือกปฏิบัติ และให้รัฐภาคีต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก

โดยมีข้อเสนอใหม่หลังเดินสายพบพรรคการเมือง และคณะทำงานปรับเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าใหม่ในปี 2565 คือ การให้สวัสดิการแบบถ้วนหน้า โดยเด็กทุกคนบนแผ่นดินไทยต้องได้รับการดูแล ขยายการดูแลตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์ และเปลี่ยนตัวเงินจาก 600 บาท เป็น 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน

สวัสดิการเด็กเล็ก 3,000 บาท ตัวเลขอ้างอิงงานวิจัย TDRI

สุนี อธิบายถึงที่มาของตัวเลข 3,000 บาท คือ ผลการศึกษาของ TDRI ระบุ ค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูเด็กเล็กตามแนวทาง Minimum Income Standard (MIS) รายจ่ายที่จำเป็นต้องเลี้ยงดูเด็กในครัวเรือน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเด็ก 1 คน อยู่ที่ 3,373 บาทต่อคน ต่อเดือน ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ซ้ำเติมปัญหาให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบัน TDRI ระบุ เด็กที่เกิดในช่วงนี้มีหลายคนที่ครอบครัวมีความไม่พร้อม หรือเป็นครอบครัวที่อยู่ 40% ล่างของประเทศ ภาพใหญ่ที่เราเริ่มเห็นปัญหาช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ คือ คนจนในประเทศไม่ลดลง ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นในไทยมานานกว่า 40-50 ปี

การให้สวัสดิการแบบพุ่งเป้า ตามมาด้วยปัญหาตกหล่น และคนที่ตกหล่น มักจะเป็นคนที่จนที่สุด จึงมีข้อเสนอแนะที่สอดคล้อง กับ อ. สุนี ไชยรส คือ เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า ต้องขยายเงินอุดหนุนสู่หญิงตั้งครรภ์ และเพิ่มยอดเงิน โดยย้ำความจำเป็นการมีสวัสดิการถ้วนหน้า เพราะข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการ จาก Unicef พบว่า เด็กเกิดใหม่ยังคงมีน้ำหนักต่ำเกินกว่ามาตรฐาน แสดงถึงการขาดสารอาหารในหญิงตั้งครรภ์ อีกเรื่อง คือ หญิงตั้งครรภ์ 40% ไม่ได้ทำงาน จึงจำเป็นต้องได้รับเงินสับสนุนจากรัฐบาลให้ดูแลลูกในท้องได้ 

“600 บาท เป็นสวัสดิการเด็กเล็กที่ต่ำกว่า จำนวนเงินที่เหมาะสม ต่ำกว่าเด็กเล็กหลายประเทศ… อีกประเด็น คือ เงินเฟ้อ และไทยมีคนจนเรื้อรังเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานานกว่า 40-50 ปี”

สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบัน TDRI

ข้อมูลที่น่าสนใจเวทีเสวนาในครั้งนี้ ยังพบสวัสดิการวันลาคลอดของไทยที่น้อยกว่าหลายประเทศ เช่น สวีเดน ให้สิทธิลาคลอดสูงถึง 390 วัน, เวียดนาม 180 วัน, ขณะที่ไทยลาได้เพียง 98 วัน รวมถึงการส่งเด็กเล็กเข้าสู่ระบบการดูแล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในไทยก็ยังช้ากว่าหลายประเทศ ส่งผลต่อพัฒนาการเด็กเล็ก และคุณภาพชีวิตของแรงงานหญิงที่เข้าสู่ระบบแรงงานได้ช้ากว่าหลายประเทศ ซึ่งเป็นผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่ ฉัตร คำแสง ผอ.ศูนย์ความรู้นโยบายเด็ก และครอบครัว เผยข้อมูลเด็กเยาวชน 61.4% อยู่ในครัวเรือนยากจนรายได้ต่อหัวต่ำกว่า 6,250 บาท ต่อเดือน การตกหล่นโดยแม่และเด็กเข้าไม่ถึงสวัสดิการถ้วนหน้า จึงเป็นวิกฤตของประเทศอย่างแท้จริง

โจทย์ใหญ่ฝ่ายการเมือง จัดสรรงบประมาณเพื่อ “สวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า”

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรจะมีงบประมาณในการดูแลมนุษย์มากกว่านี้หรือไม่ เป็นคำถามใหญ่ที่เกิดขึ้นในงานแถลงนโยบาย ฟังพรรคการเมืองเรื่องสวัสดิการเด็กเล็ก ซึ่งในครั้งนี้มีตัวแทนจากหลายพรรคการเมืองที่ออกมาแสดงท่าทีเห็นด้วยต่อนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า The Active รวบรวมบางข้อเสนอจากบางพรรคการเมืองที่มาร่วมแถลงในเวทีนำเสนอนโยบาย หยุดวิกฤตเด็กเล็ก… ด้วยนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้า

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุงบประมาณการคลัง ของ พรรคก้าวไกล วางแพ็กเกจสำหรับสวัสดิการถ้วนหน้าอยู่ที่ งบประมาณ  690,000 ล้านบาท นำเงินมาจาก 3 ทาง คือ ตัดลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น, เร่งการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินที่เป็นรายได้, ภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สินอื่นๆ เพื่อทำให้เรามีงบประมาณในการสร้างสวัสดิการ และจำเป็นต้องมีเจตจำนงทางการเมือง แม้ว่าเด็กกลุ่มนี้จะไม่ใช่ฐานเสียงในทางการเมืองก็ตาม รวมถึงการให้ความสำคัญกับเด็กไร้สัญชาติได้รับสิทธิสวัสดิการที่เท่าเทียม

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย ระบุ 3 คำ คือ ถ้วนหน้า เพียงพอ ทันที สิ่งต่าง ๆ จะต้องบรรจุอยู่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ในวันแรกที่แถลงต่อรัฐสภา 1 เดือนหลังการเลือกตั้ง และเป็นสิ่งที่ผูกพันทำทันที โดยสามารถใช้งบประมาณกลางเพื่อทำให้สัมฤทธิ์ผลได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ เมื่อรู้ปัญหา ต้องเร่งช่วยแก้ปัญหา

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุ ต้องทำประเทศให้เป็นรัฐสวัสดิการให้ได้ สวัสดิการคือสิทธิถ้วนหน้าเสมอกันไม่ใช่สิทธิสงเคราะห์ และเด็กเป็นการลงทุนที่สำคัญมากที่สุด โดยมองว่ารัฐจัดสรรงบประมาณที่ไม่เคยนึกถึงประชาชน สะท้อนความไม่จริงใจ ประชาชนจึงจำเป็นต้องเลือกตั้งพรรคที่มีนโยบายสร้างความอยู่ดีกินดีให้ประชาชน

ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุ นโยบายของทุกพรรคที่ประกาศมาดี แต่ทำได้จริงหรือไม่ โดยทางพรรคฯ เน้นแนวทางกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นได้ดูแลใกล้ชิดเด็ก และเยาวชน เน้นสวัสดิการที่ดีของบุคลากรครู ผู้ดูแลเด็กและเยาวชน

มนัส โกศล หัวหน้าพรรคแรงงานสร้างชาติ ระบุสิ่งที่หลายคนยังไม่พูดถึง คือ การมองไปถึงความปลอดภัยของศูนย์เด็กเล็ก สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นนโยบายพรรคแรงงานสร้างชาติให้ความสำคัญ โดยช่องทางการเงิน เน้นการให้ความสำคัญกับการเก็บภาษี

ขณะที่ ศร.กำพล ปัญญาโกเมศ ประธานคณะกรรมการวิชาการเพื่อการสร้างอนาคตไทย พรรคสร้างอนาคตไทย ระบุ มีหลายตัวเลขที่หลายพรรคเห็นตรงกันว่า สวัสดิการเด็กเล็กต้องถ้วนหน้า และควรต้องเพิ่มจำนวนเงิน หากดูค่าเฉลี่ยรายได้ปานกลาง คาดว่าให้ได้ 1,200-1,300 บาทแบบถ้วนหน้า ถัดไปคือ 3,000 บาทถ้วนหน้า และควรขยายไปสู่ช่วงฝากครรภ์ เพื่อทำให้มารดาตั้งครรภ์มีพื้นฐานที่ดีไปสู่เด็ก

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active