วิกฤตแรงงาน STEM คนไม่พอ-ไร้ทักษะ-การศึกษาไม่ทันโลก

TDRI เผย ไทยขาดแคลนแรงงาน บัณฑิตจบใหม่ด้าน STEM ต่ำสุด พบทำงานไม่ตรงสาย สะท้อนการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่แข็งแรง หวังหนุนอาชีวะให้ทันสมัย ยึดโยงตลาดแรงงาน เสนอทางออกการศึกษาไทย ปรับหลักสูตรใหม่ให้ทันโลก ให้อำนาจโรงเรียนจัดการศึกษา

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 67 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ “ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยการยกระดับการศึกษาและกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM)” พร้อมกับนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์ความพร้อมและแนวทางการยกระดับกำลังคนด้าน STEM ของประเทศไทย เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนากำลังคนด้าน STEM โดยทีมวิจัยทีดีอาร์ไอ

การศึกษา STEM คืออะไร ? สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร ?

การศึกษา STEM หรือ ‘สะเต็มศึกษา’ คือ แนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ (S – Science) วิศวกรรม (E – Engineering) เทคโนโลยี (T – Technology) และคณิตศาสตร์ (M – Mathematics) โดยเน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และการทำงาน

โดยแนวทางการศึกษาดังกล่าวนั้นถูกนำมาปรับใช้และนำร่องในหลายสถานศึกษาตั้งแต่ปี 2544 เพื่อผลิตแรงงานในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้แต่ละประเทศจึงมุ่งพัฒนาหลักสูตร STEM กันอย่างกว้างขวาง

เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน TDRI เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง จำเป็นต้องปรับโครงสร้างทางเศษฐกิจ สู่เศรษฐกิจที่เน้นสร้างองค์ความรู้ เน้นนวัตกรรมมากขึ้น การศึกษา STEM จึงเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะผลผลิตของ STEM จะช่วยผลิตกำลังแรงงานที่ต่อยอดนวัตกรรม (เช่น นักวิจัย, ผู้สร้างนวัตกรรม, วิศวกร ฯลฯ) สร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้ทันโลก สร้างบริษัทที่เดิบโตเร็ว ซึ่งเป็นแรงชับเคลื่อนในการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

จากแผนภาพแสดงให้เห็นว่าประเทศไทย มีสัดส่วนการจ้างงานอาชีพสาย STEM และอัตรารายได้ต่อหัวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ประเทศที่มีสัดส่วนแรงงานด้าน STEM สูงกว่า 10% อย่างสหราชอาณาจักร ออสเตรีย อิสราเอล สหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มของอัตรารายได้ต่อหัวที่ค่อนข้างสูง

บัณฑิตจบใหม่ STEM น้อยสุดเป็นประวัติการณ์-ทำงานไม่ตรงสาย

งานศึกษาด้านกำลังคนของสภาเศรษฐกิจโลก WEF ระบุชัดเจนว่า สาขา STEM เป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่ผลการศึกษาล่าสุด ในปี 2564 ประเทศไทยมีบัณฑิตจบใหม่ด้าน STEM น้อยกว่าแสนคน (ลดลงจาก 1.15 แสนคนในปี 2560 เหลือ 0.99 แสนคนในปี 2564) และมีแนวโน้มลดลงในแทบทุกสาขา ซึ่งสาขาที่มีแนวโน้มของจำนวนบัณฑิตลดลงมากคือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, เกษตรศาสตร์ วนศาสตร์ และการประมง, วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิทยาศาสตร์กายภาพ

ขณะที่ประเทศไทยมีจำนวนแรงงานอาชีพ STEM (เช่น วิชาชีพทางวิทยาศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, เทคโนโลยีสารสนเทศ และสุขภาพ) อยู่ทั้งสิ้น 1.4 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้มีถึง 4 แสนคน ที่ไม่ได้จบการศึกษาสาย STEM มาโดยตรง และในทางตรงกันข้าม ในจำนวนแรงงานอาชีพที่ไม่ใช่ STEM ที่มีอยู่ 38.1 ล้านคน กลับมีถึงบัณฑิตที่จบการศึกษาสาย STEM ทำงานไม่ตรงสายอยู่ถึง 3.3 ล้านคน ทั้งที่แรงงานอาชีพ STEM มีรายได้สูงกว่าอาชีพอื่น เสาวรัจ จึงตั้งข้อสังเกตต่อข้อค้นพบดังกล่าวว่า เหตุใดบัณฑิตสาขา STEM ถึงเลือกทำงานในสายอื่นที่มีระดับรายได้ต่ำกว่า

เสาวรัจ ชี้ว่า ประเทศไทยมีปัญหาด้านกำลังคนในระดับอุดมศึกษาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ดังนี้

  • ในเชิงปริมาณ:
    • บางสาขามีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น พยาบาลศาสตร์ ขณะที่ในบางสาขาก็ผลิตมากเกิน เช่น สาขาเกษตรศาสตร์ วนศาสตร์ การประมง และหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขา ICT
  • ในเชิงคุณภาพ:
    • นักศึกษาสาขา STEM หยุดเรียนหรือลาออกกลางคัน
    • ระดับวุฒิการศึกษาไม่สอดคล้องกับระดับทักษะของงาน (Qualification mismatch)
    • สาขาการศึกษาไม่สอดคล้องกับสาขางานที่ทำ (Field of education to occupation mismatch)
    • ทักษะแรงงานที่มีไม่สอดคล้องกับทักษะของงาน (Skills gap)

“ประเทศไทยมีปัญหาด้านกำลังคน STEM ในระดับอุดมศึกษาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยในเชิงปริมาณ บางสาขามีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น พยาบาลศาสตร์ ขณะที่ในบางสาขามีปริมาณมากกว่าความต้องการ เช่น สาขาเกษตรศาสตร์ วนศาสตร์ และการประมง และหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขา ICT ส่วนในเชิงคุณภาพพบปัญหาการลาออกกลางคันของนักศึกษาสาขา STEM”

เสาวรัจ รัตนคำฟู

ห้องเรียนไทยอ่อน STEM ส่งผลเรียนต่ออาชีวะ-อุดมศึกษา

พงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโสด้านการปฏิรูปการศึกษา TDRI เปิดเผยว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การผลิตและพัฒนากำลังคนด้าน STEM เกิดจากการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ไม่แข็งแรง จากผลสอบคะแนน PISA ในวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ พบว่าเด็กไทยมีค่าเฉลี่ยคะแนนที่ตกต่ำลง และผลปีล่าสุดต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ส่งผลให้เด็กมีพื้นฐานความรู้ไม่พอต่อการเรียนต่อ และเมื่อเข้าสู่ระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ทำให้ประสบปัญหาในการเรียน เมื่อจบออกมา ทักษะที่มีก็ไม่ตอบตลาดแรงงาน

นอกจากนี้ พงศ์ทัศ ยังระบุว่า หลักสูตรการสอนของไทยมีหลายองค์ประกอบน่ากังวล ยังขาดกลไกที่จะส่งเสริมให้มีการปรับหลักสูตรให้ทันโลกอยู่เสมอ เห็นได้จากการที่ไทยไม่มีการปรับหลักสูตรแบบปรับใหญ่มาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว ทำให้เป้าหมายการเรียนรู้ในปัจจุบันไม่เอื้อให้เด็กเกิดสมรรถนะหรือคิดขั้นสูงได้มากนัก แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการเปิดโอกาสให้โรงเรียนบริหารโครงสร้างเวลาเรียนเต็มที่ แต่ในทางปฏิบัติกลับพบปัญหาเรื่องการสื่อสารทำให้โรงเรียนไม่กล้าดำเนินการ อีกทั้งยังขาดการประกันคุณภาพผู้เรียนและคุณภาพครูที่ดี เนื่องจากแต่ละระบบยังไม่เชื่อมต่อกัน ส่งผลให้ระบบการศึกษาไทยขาดกลไกรับผิดรับชอบ

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยอาวุโสด้านการปฏิรูปการศึกษา TDRI ยังเสริมว่า มีโรงเรียนบางแห่งสามารถก้าวข้ามความท้าทายได้ เช่น กลุ่มโรงเรียนที่เน้นวิทย์-คณิต แต่การขยายผลจากตัวอย่างที่ดีนี้ยังทำได้ยาก เพราะผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ม.3 และ ม.6 ของโรงเรียนกลุ่มนี้ มีจำนวนไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักเรียนสังกัดสพฐ.ทั้งหมด นอกจากนี้โรงเรียนเหล่านี้มีลักษณะพิเศษต่างจากโรงเรียนปกติ เช่น มีการคัดเลือกเด็กเก่งมาเข้าเรียนและใช้มีต้นทุนจัดการศึกษาสูงกว่าโรงเรียนรัฐปกติมากกว่า 10 เท่าตัว

หลักสูตรอาชีวะ ไม่ตอบโจทย์เอกชน ผลสอบมาตรฐานวิชาชีพไม่เป็นที่ยอมรับ

ขณะที่ ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยด้านการปฏิรูปการศึกษา TDRI ระบุว่า อาชีพ STEM มีความต้องการแรงงานที่จบจากการศึกษาอาชีวะ แต่ปรากฎว่ามีผู้จบการศึกษาอาชีวะสาย STEM เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้ทำงานสาย STEM ทั้งที่มีรายได้และความก้าวหน้าสูงกว่าอาชีพสายอื่น ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาสำคัญ คือ หลักสูตร ปวช. ที่ผ่านมา ยังไม่ให้ความสำคัญกับการปูพื้นฐานนักเรียนเท่าที่ควร ซึ่งนักเรียนสายอาชีพเข้าเรียนด้วยพื้นฐานที่ต่ำกว่าสายสามัญ ในขณะเดียวกันคณะผู้วิจัยยังพบว่าหลักสูตรที่มีการได้พัฒนาขึ้นจากส่วนกลาง ไม่ตอบโจทย์ภาคเอกชนทั้งความเข้นข้นและตัวเนื้อหาที่เรียน

นอกจากนี้ระบบประกันคุณภาพของอาชีวศึกษายังไม่สะท้อนคุณภาพผู้เรียนและสถาบันการอาชีวศึกษาได้เท่าที่ควร ทั้งผลการสอบมาตรฐานวิชาชีพที่ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการ และ สภาวะการมีงานทำที่ไม่มีการติดตามอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันครูที่สอนอาชีวะซึ่งควรเป็นผู้มีประสบการณ์จริงจากการทำงาน แต่ด้วยระบบการผลิตและคัดเลือกครูที่เป็นอยู่ ยังไม่ให้ความสำคัญกับครูที่มีประสบการณ์ภาคปฏิบัติ อีกทั้งไม่มีการลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพครุภัณฑ์การศึกษาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้นักเรียนไม่ได้ฝึกกับอุปกรณ์ที่ทันสมัย

ข้อเสนอปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน สู่ อาชีวะ-อุดมศึกษา

การจะยกระดับการศึกษาให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจฐานความรู้ โดยพึ่งกลไกอย่าง STEM เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ จำเป็นต้องอาศัยนโยบายใน 3 ระดับด้วยกัน การศึกษาขั้นพื้นฐานสร้างให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะเชิงวิทย์-คณิตที่เอาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ขณะที่อาชีวศึกษาเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญในการสร้างกำลังคนในอุตสาหกรรม STEM ตลอดจนการอุดมศึกษาไทยที่ควรเน้นผลิตบัณฑิตตามความต้องการตลาด พร้อมแนะ กระทรวง อว.ทำแผนพัฒนาทักษะด้าน STEM ในระดับอุดมศึกษา มีข้อสรุปทางนโยบาย ดังนี้

การศึกษาขั้นพื้นฐาน
อาชีวะศึกษา
อุดมศึกษา
1. เร่งสื่อสารเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างเวลาเรียนให้โรงเรียนมีความกล้ามากขึ้น
1. ปรับหลักสูตร ปวช. ให้น้ำหนักกับวิชาพื้นฐานมากขึ้น โดยพัฒนาให้อิงกับสายอาชีพมากขึ้น
1. สนับสนุนการผลิต การรักษา และพัฒนากำลังคนในสาขาที่ขาดแคลนอย่างตรงจุด
2. ลดภาระงานครู ที่ผ่านมามีสัญญาณที่ดี แต่ยังสามารถทำได้มากขึ้น
2. ปรับระบบประกันคุณภาพการศึกษา โดยดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินมาตรฐานวิชาชีพ
2. สนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่องผ่าน 4 นโยบายหลัก เพื่อยกระดับโครงสร้างตลาดแรงงาน ที่มุ่งเน้นงานทักษะ STEM ขั้นสูง
3. สร้างกลไกปรับหลักสูตรให้ทันสมัยอยู่ตลอด ไม่ควรเก่ากว่า 10 ปี
3. เพิ่มการลงทุนในครุภัณฑ์ อุปกรณ์ต้องทันสมัยอยู่เสมอซึ่งควรจัดสรรงบประมาณเพิ่ม
3. มหาวิทยาลัยควรจัดทำระบบเฝ้าระวังความเสี่ยง สำหรับนักศึกษาที่มีแนวโน้มลาออกกลางคัน มีระบบให้คำปรึกษา และหาทุน
4. ส่งเสริมการผลิตครู STEM ระบบปิด และส่งเสริมให้ครูมีเวลาพัฒนาตัวเอง
4. ตั้งสถาบันวิชาชีพครูอาชีวศึกษา เพื่อวางแผนผลิตและพัฒนาครูอาชีวศึกษา
4. สร้างนโยบายรัฐ เชื่อมโยงสถานศึกษากับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาคุณภาพและปรับทักษะของบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน
5. รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบเพื่อส่งเสริมด้าน STEM
5. จัดตั้งกองทุนอาชีวทวิภาคี เพื่อระดมทรัพยากรจากภาคเอกชน พร้อมทั้งวางระบบอาชีวศึกษาทวิภาคีให้บริหารอย่างมีประสิทธิภาพ
5. อว. ควรมีระบบประเมินทักษะที่ต้องการเป็นประจำรายปี รายสาขาอุตสาหกรรม และจัดทำแผนพัฒนาทักษะกำลังคนด้าน STEM รวมทั้งส่งเสริม Reskill/ Upskill อย่างต่อเนื่อง
6. พัฒนาการทดสอบระดับชาติให้เน้นประเมินสมรรถนะ พร้อมกับนำมาใช้เป็นการสอบไล่เมื่อจบช่วงชั้น เพื่อประกันคุณภาพผู้สำเร็จการศึกษา เน้นประเมินเพื่อพัฒนา ไม่ใช่ให้คุณและโทษ  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active