“คมนาคม” ล้อมคอก สั่งเช็ก “โมโนเรล” ยังเหมาะกับเมืองไทยหรือไม่

เดินหน้าปรับแผนตรวจสภาพ-ซ่อมบำรุงใหม่ทั้งหมด หวังเรียกความเชื่อมั่นประชาชน หลังกรณีสายสีเหลือง “ล้อประคอง” หลุด พร้อมส่งชิ้นส่วนที่มีปัญหาตรวจสอบต่างประเทศ พิสูจน์สาเหตุเชิงลึก ด้าน นักวิชาการ วอนรัฐสร้างมาตรฐานระบบราง

ภายหลังเกิดกรณีล้อประคอง ของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุดเมื่อวานนี้ (2 ม.ค.67) ล่าสุดวันนี้ (3 ม.ค.67) ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งให้กรมการขนส่งทางราง, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท อิสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ในฐานะผู้รับสัมปทานเดินรถ ได้ตรวจสอบรถ และอุปกรณ์ทุกชิ้น แบบ 100% ก่อนปล่อยรถไฟฟ้าสายสีเหลืองออกให้บริการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยแก่ประชาชน

ส่งผลให้ในวันนี้ ผู้ใช้บริการต้องรอรถรอบละ ไม่ต่ำกว่า 30-55 นาที เนื่องจาก มีรถพร้อมให้บริการ เพียง 3 ขบวน โดยรถได้ทยอยเข้าระบบเพิ่มขึ้น จนกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือ วิ่งให้บริการรอบละ 5 นาที ชั่วโมงเร่งด่วน ในวันเสาร์ ที่ 6 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ในระหว่างที่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ยังไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติ บริษัทผู้รับสัมปทาน ไม่สามารถเรียกเก็บค่าโดยสาร และรัฐบาล จะไม่ตั้งงบประมาณ ขึ้นมาอุดหนุนชดเชยค่าเสียโอกาสดังกล่าวเช่นกัน

แจงเหตุล้อประคองหลุด-สั่งปรับแผนซ่อมบำรุงใหม่ เรียกความมั่นใจ

ส่วนปัญหาล้อประคองหลุดนั้น เบื้องต้น เกิดจากข้อบกพร่องในขั้นตอนการผลิตจากโรงงงาน เนื่องจาก ล้อถูกใช้งานเพียง 62,000 ชั่วโมง ซึ่งอยู่ในกรอบการใช้งานปกติ ที่ 300,000 ชั่วโมง จึงได้สั่งการให้ ระงับการใช้ล้อ และอุปกรณ์ ที่ผลิต ในล็อตเดียวกันแล้ว 

รวมทั้ง ปรับแผนตรวจสภาพและซ่อมบำรุงให้เข้มข้นมากขึ้น เช่น การลดระยะเวลาเปลี่ยนล้อลูกปืน จากเดิม หากพบช่องว่างเกิดขึ้น 1 มิลลิเมตร เหลือ 0.5 มิลลิเมตร ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ทันที  เช่นเดียวกับ การเพิ่มความถี่การตรวจสอบสภาพ จากเดิมทุก ๆ 15 วัน เหลือ 7 วันต่อครั้ง เพื่อป้องกันเหตุซ้ำรอย และเรียกความเชื่อมั่นผู้ใช้บริการ

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ยังสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ เช่น การติดตั้งโครงสร้างรองรับ หากมีวัตถุหล่นลงมาจากระบบรถไฟฟ้า แต่ต้องใช้เวลาศึกษาความเหมาะสมทางวิศวกรรมด้วย

สั่งศึกษาโมโนเรลยังเหมาะกับเมืองไทยหรือไม่

รวมทั้ง พิสูจน์สันนิษฐานอื่น ๆ เนื่องจาก อุบัติเหตุ ทั้งกรณีรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง ล้วนเป็นรถไฟฟ้าระบบรางเดี่ยว หรือ  โมโนเรล ที่นิยมใช้ในประเทศที่มีสภาพอากาศเย็น จึงสั่งให้ รวบรวมชิ้นส่วน ที่เกิดเหตุ ส่งเข้าห้องปฏิบัติการทางวิศวกรรมในต่างประเทศ เพื่อพิสูจน์หาสาเหตุเชิงลึกทางวิทยาศาสตร์ ทั้งความทนทานในสภาพอากาศร้อน ความชื้น และการวิ่งให้บริการระยะทางต่อเนื่อง ก่อนพิจารณาว่า รถไฟโมโนเรล ยังเหมาะกับประเทศไทย หรือไม่

รมช.กระทรวงคมนาคม ชี้แจงด้วยว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ถูกออกแบบให้ใช้ ระบบรถไฟรางเดี่ยว หรือ โมโนเรล ตั้งแต่ปี 2552 เนื่องจาก โครงสร้างพื้นฐาน สอดรับกับพื้นที่เขตชุมชน ที่มีระยะกว้างไม่มากนัก มีระยะเลี้ยวสั้น สามารถไต่ขึ้นทางชันได้ ประกอบกับ ระบบนี้ ถูกใช้ในประเทศพัฒนามานานแล้ว ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในระบบโมโนเรล เกิดขึ้นที่ประเทศจีน เมื่อ 2 ปีก่อน ขณะที่ รถและอุปกรณ์ที่ใช้ในไทย มาจากบริษัทแม่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตที่ได้รับการยอมรับระดับสากล เพียงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นข้อบกพร่อง หรือ defect ที่มีโอกาสเกิดขึ้น ซึ่งหากพบก็ต้องดำเนินการ คืนชิ้นส่วนล็อตที่มีปัญหา หรือ recall กลับไป และส่งชิ้นส่วนล็อตใหม่ให้ไทย

เล็งขึ้นบัญชีดำเอกชน-ผู้รับสัมปทาน

ส่วนบทลงโทษผู้รับสัมปทานนั้น สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้รอข้อสรุปจากห้องปฏิบัติการอย่างเป็นทางการ เพราะ หากเป็นความผิดพลาด และบกพร่องของผู้รับสัมปทาน ก็จะถูกขึ้นบัญชีดำ ห้ามเข้าร่วมประมูลงานภาครัฐอีก ขณะเดียวกัน กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กำลังพัฒนาระบบ และหลักเกณฑ์การตัดแต้มผู้รับเหมางานภาครัฐ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่ง ในการกำกับดูแลเอกชน ให้รับผิดชอบต่องานประมูลของรัฐมากขึ้น

นักวิชาการ รับ “โมโนเรล” เทคโนโลยีใหม่ ต้องสร้างมาตรฐาน เตรียมระบบให้พร้อม

ผศ.ศิรดล ศิริธร หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล

ด้าน ผศ.ศิรดล ศิริธร หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกับ The Active ถึงเหตุผิดปกติที่เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าโมโนเรลทั้งสายสีชมพู และสีเหลือง ที่เกิดเหตุในช่วงใกล้ ๆ กัน โดยมองว่า จริง ๆ แล้วถือเป็นความท้าทายสำหรับการมีเทคโนโลยีที่ไทยเพิ่งเริ่มใช้ ซึ่งต่างจากระบบขนส่งทางรางอื่น ๆ เช่น รถไฟฟ้า BTS และ รถไฟฟ้าใต้ดิน BRT ซึ่งเข้าใจระบบกันมานานกว่า จึงไม่แปลกที่ระบบโมโนเรลจะต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ระบบที่มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งการใช้งาน การดูแลรักษา และระบบการซ่อมบำรุง โดยยอมรับว่า ไม่ว่าระบบใดก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นใช้งาน อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดสูง แต่เชื่อว่าความเสี่ยงจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อดำเนินการไปสักพัก ซึ่งที่ผ่านมาข้อผิดพลาดอาจยอมรับได้ ไม่รุนแรง แต่สำหรับทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่พบรางไฟฟ้าหลุดล่วงลงมา และ ล่าสุดกับกรณีล้อประคอง ของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุดนั้น กลายเป็นความเสี่ยงที่รุนแรง ส่งผลกระทบกับประชาชนชัดเจน ดังนั้นสามารถเรียนรู้ ถอดบทเรียน และหามาตรการป้องกันเพื่อทำให้การบริการมีเสถียรภาพมากขึ้น จนไปถึงระยะหนึ่งที่อุปกรณ์หมดอายุ ก็ต้องกลับมาตรวจสอบกันอีกครั้งให้เกิดความปลอดภัย

“ทุก ๆ ฝ่ายอยากเห็นภาพขนส่งมวลชนมีประสิทธิภาพ เพราะต้องยอมรับว่า ในช่วง 10 ปีมานี้ ระบบขนส่งทางรางของเราพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีส่วนทำให้คุณภาพชีวิตผู้คนดีขึ้น แต่พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ จึงกระทบต่อความน่าเชื่ออย่างไม่ต้องสงสัย เป็นหน้าที่ของภาครัฐ และเอกชน ต้องร่วมมือกันตรวจสอบทุกขบวน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น”

ผศ.ศิรดล ศิริธร

ขณะที่ระยะยาว เอกชนต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ และมีประสบการณ์ในกระบวนการตรวจสอบมากขึ้น พร้อมทั้งต้องจัดลำดับความสำคัญความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นไปสู่การบำรุงรักษารายวันที่เข้มงวดมากขึ้นด้วย รวมทั้งระยะยาวกว่านั้น กรมการขนส่งทางราง ต้องมีบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน เพื่อกำกับดูแล มี พ.ร.บ.ขนส่งทางราง เพื่อให้มีอำนาจเข้ามาตรวจสอบระบบขนส่งสาธารณะ “เรื่องแบบนี้ ไม่เคยเป็นเรื่องเล็ก ถ้าเกิดขึ้นกลางเมืองกระทบผู้คน จริง ๆ ไม่ว่าขนส่งประเภทไหนก็เกิดอุบัติเหตุ เพียงแต่ว่าเราคุ้นชินกับมันไปแล้ว ดังนั้นเมื่อเป็นระบบราง เวลาเกิดเหตุ เกิดความเสียหายจึงถือเป็นเรื่องใหญ่ เชื่อว่าในอนาคตภาครัฐต้องมีกลไกเข้ามาช่วยภาคเอกชนดูแล ตรวจสอบ ให้เกิดเป็นมาตรฐาน”

เสนอพักการเดินรถ ตรวจเช็กให้ชัวร์ก่อนให้บริการ

สอดคล้องกับ รศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์​ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การเกิดปัญหา 2 กรณีในระยะเวลาใกล้ ๆ กันของรถไฟฟ้าโมโนเรลทั้งสายสีชมพู และสายสีเหลือง ไม่ได้มาจากการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์อย่างแน่นอน เพราะนี่คือระบบใหม่ของขนส่งมวลชนไทย ดังนั้นมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้น อาจมาทั้งจากการใช้งาน และการติดตั้งระบบ ที่เกิดข้อผิดพลาดในบางจุด

“หลายคนที่ใช้บริการบอกตรงกันว่า โมโนเรลในบ้านเรามีความสั้นสะเทือนมากกว่าโมโนเรลที่เคยใช้บริการในต่างประเทศ สิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกต คือ กระบวนการติดตั้งอุปกรณ์ และระบบล้อต่าง ๆ อาจยังไม่สมบูรณ์หรือไม่ จึงอยากเรียกร้อง ให้บริษัทเจ้าของสัมปทานเดินรถทั้ง 2 สาย ตรวจสอบการติดตั้งใหม่ทั้งหมด เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต หากพบข้อผิดพลาดมากกว่าหนึ่งจุด อาจเสนอให้หยุดพักการเดินรถไปก่อน เพื่อให้เกิดกระบวนการตรวจสอบระบบจนกว่าจะมั่นใจได้ว่าจะสามารถกลับมาให้บริการได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งยังจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันเหตุเฉพาะหน้า เช่น มีราง หรือ ตาข่าย ตะแกรง ป้องกันอุปกรณ์ตกลงมา”  

รศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์

ทีมข่าว The Active ยังรายงานด้วยว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค เตรียมเชิญตัวแทนเอกชนเจ้าของสัมปทานเดินรถไฟฟ้าโมโนเรลทั้ง 2 สาย มาพูดคุย หารือ ถึงกรณีความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เบื้องต้นคาดว่าในวันที่ 15 ม.ค.นี้ เพื่อร่วมหาแนวทาง มาตรการลดความเสี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน รวมถึงอยากทราบถึงแผนรับมือหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นซ้ำ  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active