Bangkok Design Week 2023 ชวนเรียนรู้ย่านหัวลำโพง ผ่านการเดินไปกินไป

วันแรก Bangkok Design Week 2023 ชวนคนเมืองร่วมเดินสำรวจย่าน ในทริปหัวลำโพงไม่หิวลำพัง ตอน ล้อ-ราง-เรือ สู่ Hub อาหาร เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เรื่องราวของคนในย่านหัวลำโพงตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน และชวนมองอนาคตร่วมกัน

วันที่ 4 ก.พ. 2566 ริทัศน์บางกอก Goethe institute และภาคี จัดกิจกรรม ชวนคนเมืองร่วมเดินสำรวจย่านในทริปหัวลำโพงไม่หิวลำพัง ตอน ล้อ-ราง-เรือ สู่ Hub อาหาร หนึ่งในกิจกรรม Bangkok Design Week 2023 ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4-12 กุมภาพันธ์นี้

ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์ ตัวแทนเยาวชนริทัศน์บางกอก ผู้จัดกิจกรรม กล่าวว่า เป็นกิจกรรมเพื่อพาผู้คนเดินทางไปยัง 6 จุดหมาย เริ่มจากสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือสถานีหัวลำโพง จุดเดินรถสำคัญตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แม้จะเริ่มลดบทบาทจากการย้ายปลายทางรถไฟทางไกลไปยังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์แทน จากนั้นเดินทางต่อไปยังซอยพระยาสิงหเสนี เป็นชุมชนซอยข้างเคียงกับสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่มีร้านอาหารของชุมชนในพื้นที่รองรับผู้มาเยือนจากสถานีรถไฟ ตรอกสลักหิน ชุมชนลึกลับที่ประกอบด้วยพื้นที่สร้างสรรค์ อย่าง Play Space เดินทางต่อไปยังพื้นที่สาธารณะริมคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของย่าน ในวันที่ยังใช้เรือเป็นการสัญจรหลัก และเดินผ่านถนนข้าวหลาม ตรอกโรงหมู จุดที่ในอดีตมีโรงฆ่าสัตว์ รับสัตว์ที่เดินทางด้วยรถไฟมาเป็นอาหารให้กับผู้คน และปลายทางสุดท้าย Recordoffee รับประทานอาหารที่ออกแบบเมนูตามวิถีของคนเดินทางด้วยรถไฟ

“กิจกรรมในครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อเชิญชวนผู้ที่สนใจเรื่องอาหารและการเดินเมือง ร่วมบันทึกสำรวจย่านหัวลำโพงผ่านอาหารการกิน พร้อมเรียนรู้เรื่องราวที่มาของอาหารก่อนถึงมือผู้บริโภค รวมถึงการสัมผัสมิติพื้นที่สาธารณะกับการเป็น street food ซึ่งเราคิดว่าหัวลำโพงมีศักยภาพมากกว่าแค่รถไฟเท่านั้น และเราตั้งข้อสังเกตว่าทำไมพื้นที่สาธารณะถึงมีน้อย จึงพยายามเชื่อมโยงพื้นที่น่าสนใจของย่าน จึงอยากชวนคนมาร่วมเดินทางสำรวจย่านกับเรา และอยากจะเชื่อมโยงย่านไปต่อถึงหัวลำโพง ตลาดน้อย ก่อนหน้านี้เรามีการพูดคุยกับชาวบ้านว่าถ้าเราใช้อาหารเป็นตัวเชื่อมโยงย่านได้หรือไม่ นำมาสู่กิจกรรมในวันนี้ เราอยากจะให้ทุกคนมาตามรอย ทำให้ที่นี่เป็นที่ฝากท้องได้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจย่าน และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนต่อไปในอนาคต”

ตัวแทนเยาวชนริทัศน์บางกอก กล่าวเพิ่มเติมว่า การเชื่อมต่อระบบสัญจร ล้อรางเรือในพื้นที่ย่านหัวลำโพงมีศักยภาพสูงมากมาตั้งแต่ในอดีต แต่ปัจจุบันศักยภาพนี้กำลังจะหายไป อยากให้มีการพัฒนาจุดนี้ และเสนอให้เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายการพัฒนาเมืองได้ในอนาคต

กัญญรัช โชติชยภิญโญ ผู้ประกอบการร้าน play space เล่าว่า ร้านคาเฟ่ของเธอเป็นบ้านเก่าแก่ ในอดีตเป็นโรงงานทำกระดาษห่อสำลี เมื่อบริบทพื้นที่เปลี่ยนแปลงธุรกิจก็เปลี่ยนตามไปด้วย ถึงวันนี้ทำเป็นร้านคาเฟ่ และพื้นที่แสดงงานศิลปะ ซึ่งการที่ร้านอยู่ใกล้กับชุมชนทำให้มีความใกล้ชิดกับชาวบ้าน โดยเมนูขนมหวานที่เสิร์ฟวันนี้ก็เป็นฟิวชัน ที่นำเอาไอศกรีมมะพร้าวอ่อนมาปรุงกับปลากริมไข่เต่า แรงบันดาลใจมาจากพ่อค้าขายปลากริมที่หาบเร่ขายอยู่ในย่านหัวลำโพง ซึ่งการที่สถานีหัวลำโพงเปลี่ยนแปลงบริบทอีกครั้งก็มีผลต่อย่านนี้เช่นกัน

“ชุมชนในย่านนี้มีการเปลี่ยนผ่านมาหลายยุคสมัย ถึงวันนี้ที่ย้ายเที่ยวรถไฟทางไกลไปยังบางซื่อ ร้านอาหารหลายร้านที่เคยมีลูกค้าประจำ เป็นพนักงานรถไฟ เมื่อรถไฟไม่เข้ามาลูกค้าก็หายไป หรือนักท่องเที่ยวแบคแพคที่เคยมานั่งกินเพื่อรอรถไฟก็หายไปเช่นกัน แต่ในช่วงหลังเปลี่ยนมาเป็นนักท่องเที่ยวเดินเล่นมากกว่า เราพยายามทำงานร่วมกับชุมชน สร้างกิจกรรมค้นหาศักยภาพของพื้นที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในย่านผ่านคุณค่าที่ยังคงอยู่ คิดว่านี่คืออนาคตของย่าน ซึ่งวันนี้เราเห็นแล้วว่ามีศิลปินนักสร้างสรรค์เริ่มเข้ามาอยู่ในพื้นที่”

ปฏิภาณ สมบูรณ์ผล หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม สะท้อนว่า เขาไม่คิดว่าย่านหัวลำโพงจะมีพื้นที่ตามตรอกซอยซอยที่น่าสนใจ และมีอะไรใหม่ มีหลายเมนูที่เราเซอร์ไพรซ์ เช่น ขนมปลากริม มีความผสมผสานระหว่างอาหาร-คนในพื้นที่-พื้นที่ เป็นมุมหนึ่งของพื้นที่กรุงเทพฯ ที่น่าสนใจ เราชอบความรุ่มรวยของอาหาร ซึ่งบ่งบอกถึงแพชชันของคน เพราะมีสิ่งนี้ทำให้เราได้กินสิ่งนี้ น่าจะทำให้เป็นอีกมุมเสน่ห์ของกรุงเทพฯ

“การใช้พื้นที่อย่างสร้างสรรค์น่าจะเหมาะกับย่านนี้มากๆ ระหว่างทางเราเห็นว่ามีหลายพื้นที่น่าจะทำเป็นพื้นที่สาธารณะสร้างสรรค์ได้ ซึ่งยังมีน้อยในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการเดินทาง กับการเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ก็นับเป็นโอกาสของเด็กๆ ในกรุงเทพฯ และน่าจะช่วยทำให้พื้นที่ที่ไม่มีใครรู้จักอย่างวันนี้ที่เรามาเจอ น่าจะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active