‘สวนสานสาธารณะ’ พลิกที่ดินรกร้างเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้

UDDC และเครือข่ายพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ในเมือง จับมือ กทม. พลิกที่ดินรกร้างเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ในงาน Plearn In Soi ย่านกะดีจีน-คลองสาน

วันนี้ (21 ส.ค. 2565) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ Urban Design and Development Center (UddC) สำนักงานเขตคลองสาน กทม. และภาคีเครือข่ายพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ในเมือง เปิดกิจกรรม Plearn In Soi ย่านกะดีจีน-คลองสาน พร้อมเวทีเสวนากระบวนการพัฒนาเมืองบนฐานความรู้ ย่านกะดีจีน-คลองสาน (Talk In Soi) ณ สวนสานธารณะ เขตคลองสาน กทม.

อุดม ศรีศุภภักดี ประธานชุมชนช่างนาคสะพานยาว เขตคลองสาน เล่าว่า พื้นที่ตรงนี้แต่ก่อนเป็นโกดังเก่า ภายหลังเจ้าของพื้นที่เลิกกิจการแล้วขายทอดตลาด เจ้าของกรรมสิทธิ์คนใหม่ก็ยังไม่ได้มาสานต่อหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่เป็นอย่างอื่น ที่นี่จึงรกร้าง มีคนเอาขยะมาทิ้งกลายเป็นกองขยะ และเกิดอัคคีภัยหลายครั้ง แต่ปัจจุบันเมื่อมีแนวคิดจากภาคประชาสังคมและนักวิชาการมาร่วมออกแบบพื้นที่ใหม่ให้ใช้ประโยชน์ได้ ก็เป็นความยินดีของชุมชน ส่วนความคาดหวังต่อจากนี้ ตนอยากให้สวนที่นี่มีประโยชน์ต่อประชาชน ให้นักท่องเที่ยวได้มาพักผ่อนเรียนรู้ และทำกิจกรรมหลากหลาย

สอดคล้องกับ สัมฤทธิ์ เอื้อโชติพณิช ประธานชุมชนสวนสมเด็จย่า เขตคลองสาน เล่าถึงมิติเชิงสังคมว่า พื้นที่โดยรอบสวนนี้ เป็นชุมชนเก่าแก่ร้อยปี มีคนไทย จีน อิสลามอาศัยอยู่ร่วมกัน ว่ากันว่าพระเจ้าตากสินฯ มาสักการะศาลเจ้ากวนอูที่อยู่ใกล้เคียง พร้อมกันนี้ยังมีมัสยิด บ้านเรือนเก่าแก่ และสิ่งที่น่าสนใจมากมาย โดยตนคาดหวังว่า ต่อไปจะมีการเชื่อมโยงพื้นที่กับจุดสำคัญอื่น ๆ เช่น สวนสมเด็จย่า สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา และกิจกรรมที่ชวนให้คนมาใช้พื้นที่เพิ่มขึ้น

ปาจริยา มหากาญจนะ ผู้อำนวยการสวนสาธารณะ 1 สำนักสิ่งแวดล้อม ระบุว่า กทม. มีการก่อตั้งโครงการ green bangkok ตั้งแต่ปี 2563 เมื่อมีการเผยแพร่สาธารณะ เจ้าของที่ดินทราบข่าว ก็นำพื้นที่แห่งนี้เข้าร่วมโครงการ จากนั้นได้มีการลงพื้นที่ พบว่าเป็นกองขยะมหาศาล แต่เราเห็นศักยภาพที่อยู่โดยรอบ ทั้งประวัติศาสตร์ชุมชน ต้นไม้ใหญ่ จึงตกลงตอบรับเข้าร่วมโครงการ และได้มีการตกลงจดทะเบียนสิทธิ์ 12 ปี ให้ กทม. และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้เข้ามาพัฒนา ตามมาด้วยกิจกรรมมากมาย ทั้งการสำรวจข้อมูล การเดินสำรวจย่าน เพื่อให้การพัฒนาสอดรับกับความต้องการชุมชน

”โจทย์ใหญ่คือการพยายามทำให้พื้นที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน ชุมชนมีส่วนร่วม เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราทำได้นอกจากมิติของการเป็นพื้นที่สีเขียวแล้วยังต้องทำให้ยั่งยืนด้วย อยากให้ที่นี่เป็นกรณีตัวอย่าง โครงการนำร่อง ให้เกิดการมีส่วนร่วม และให้ท้องถื่นพื้นที่อื่น ๆ เห็นว่าการฟังชุมชนสำคัญ และการสานพลังช่วยพัฒนาจะทำให้การขับเคลื่อนพื้นที่ประสบความสำเร็จ”

ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้งกลุ่ม We! Park กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เกิดขึ้นจากการผนวกงบประมาณกับทรัพยากรหลายภาคส่วน ให้การสนับสนุนต่างกันไป แต่ยังเป็นการพัฒนาเพียงแค่ 1 ใน 4 ของพื้นที่จริงที่จะมีแผนการปรับปรุง อยากเห็นการต่อยอดเปลี่ยนวิธีการทำงานสวน 15 นาที ไม่ได้มีกรอบว่าพื้นที่ร้างเป็นได้แค่สวนอย่างเดียว แต่มันเป็นอะไรก็ได้ เห็นโอกาสมากมาย ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่จึงต้องมีตัวเลือก และคิดนอกกรอบไปกว่าการเป็นสวนเพียงอย่างเดียว

”ความเข้มแข็ง จุดสำคัญคือท้องถิ่น คือสำนักงานเขต เพราะถ้าท้องถิ่นบริหารจัดการในการทำให้พื้นที่อยู่อย่างยั่งยืนต่อไป”

ผศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UDDC ระบุว่า เมื่อคนต้องการความรู้ เมืองต้องมีศักยภาพ สนับสนุนให้คนเข้าถึงหรือหาความรู้นั้นได้ ในต่างประเทศเราจะเห็นว่ามีพื้นที่สนับสนุนการเรียนรู้มากมาย เช่น พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ แต่เมื่อมาดูพื้นที่ในกรุงเทพฯ พบว่า มีเมืองย่อย ๆ ที่มีระบบสังคม การเมือง วัฒนธรรม แต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน และมีความพร้อมในการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มีความพร้อมมากกว่าพื้นที่อื่น ซึ่งเขตคลองสานมีศักยภาพในการเมืองเมืองของการเรียนรู้อันดับ 2 ของ กทม. และอันดับ 2 ของประเทศ ประกอบด้วย สถานเรียนรู้ที่เรียนพิเศษ ศูนย์ศึกษาต่าง ๆ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนในย่านสามารถเข้าถึงพื้นที่เชิงการเรียนรู้ได้ในระยะ 500-800 เมตร เห็นได้ชัดว่าพร้อมโดยกายภาพสูงมาก

“แต่การสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ ต้องอาศัยทั้งการสนับสนุน เชิงกายภาพ และสังคม การจัดทำผังย่านเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยวางเส้นทางการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ และหลักการการส่งเสริมการเดินเท้าที่ดีคือต้องทำให้ทางเดินสะดวก ปลอดภัย น่าเดินเป็นสิ่งที่จะต้องปรับปรุงในพื้นที่บริเวณนี้ต่อไป”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการ กทม. รู้สึกดีใจ ที่มีตัวอย่างของการปรับปรุงพื้นที่ คิดว่าเป็นจุดเร่ิมต้นที่จะต่อยอดต่อไป ในส่วนของการขับเคลื่อน นโยบายเส้นเลือดฝอย คือการจะทำให้จุดเล็ก ๆ ของย่าน-เมือง มีความเข้มแข็งขึ้นจะต้องกระจายอำนาจให้ในระดับพื้นที่ และเราพยายามเริ่มต้นเรื่องนี้กับย่านสร้างสรรค์ต่าง ๆ ให้ชุมชนที่คิดว่ามีศักยภาพ เสนอตัวเองขึ้นมา และเสนอว่า กทม. ควรจะส่งเสริมอย่างไร ตอนนี้จึงมีการสนับสนุนให้เกิดถนนคนเดิน สนับสนุนการทำงานของคนพื้นที่ตัวจริง เป็นมิติที่เขตต้องลงมาทำงานร่วมกันชุมชน การขับเคลื่อนจึงมองว่ามีมิติอื่น ๆ มากมาย ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน ต้องเร่ิมจากชุมชนเข้มแข็ง บ้านต้องมั่นคงก่อน กลไกที่ดูแลครบมิติ แล้วชุมชนจึงจะเข้มแข็งตามมา

“กทม. มีโรงเรียนขยายโอกาสทั่ว กทม. มีห้องสมุด 34 แห่ง บ้านหนังสือ 142 แห่ง ศูนย์เด็กเล็ก 200 กว่าแห่ง แหล่งเรียนรู้มากมาย และเราจัดกิจกรรมส่งเสริมพื้นที่ต่อเนื่องแล้ว 12 สัปดาห์ การทำเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์ต้องทำต่อเนื่อง และต้องสร้างความอยากเรียนรู้ให้ประชาชนเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ด้วย”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้