สจล. เปิดศูนย์ศึกษามรดกดิน น้ำ ลม ไฟ เปิดมุมคิดพัฒนาเมืองยั่งยืน เชื่อมโยงผู้คน ธรรมชาติ ฐานทรัพยากรของโลก

คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สจล. วางหลักสูตรการศึกษา เรียนรู้ วิจัยการพัฒนาเมืองรอบด้าน เตรียมเสนอแผน “จินตมหานคร” พัฒนากรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน ถึงผู้ว่าฯ กทม. สมัยหน้า

วันนี้ (14 พ.ค. 65 )คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดศูนย์ศึกษามรดกดิน น้ำ ลม ไฟ หน่วยงานเพื่อการเรียนรู้ ให้บริการด้านวิชาการ หลักสูตรการเรียนการสอน การค้นคว้า และศึกษามรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม เพื่อเป็นฐานองค์ความรู้ด้านการออกแบบ พัฒนาและต่อยอดการบริหารจัดการเมืองและภูมิทัศน์ของเมือง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในวิสัยทัศน์  “Innovative design, smart art, and creative craft for sustainable society”

ผศ.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดี คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาถูกคาดหวังจากสังคมถึงการนำความรู้ในสถาบันการศึกษาไปสู่การปฏิบัติจริง ศูนย์ศึกษามรดกดิน น้ำ ลม ไฟ จึงเกิดขึ้น เพื่อศึกษาเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการเมืองโดยคำนึงถึงฐานทรัพยากร หวังเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้นำไปสู่การพัฒนาเมืองครบมิติรอบด้าน

“ยกตัวอย่างเช่นปัญหาน้ำท่วม ที่ผ่านมาก็มักจะคิดแต่เรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งที่จริงแล้วเกี่ยวข้องกับการวางผังเมืองที่บางครั้งทำให้เกิดการก่อสร้างขวางทางน้ำที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ ถึงเวลาที่เราจะได้ทบทวนการวางผังเมือง อีกตัวอย่างคือลม เรื่องของอากาศ การจัดการฝุ่นในเมือง ไม่เคยถูกนำมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทำกันแค่ในช่วงที่สถานการณ์วิกฤตเท่านั้น เพราะฉะนั้นศูนย์ศึกษามรดกดินน้ำลมไฟ คาดหวังว่ามหาวิทยาลัยของเราจะทำหน้าที่ ถ่ายทอด สิ่งที่เรียกว่าความรู้สู่การใช้จริง”

ผศ.อันธิกา สวัสดิ์ศรี

ผศ.อันธิกา กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์วิจัยฯ มีทั้งนักวิจัย นักวิชาการที่มีประสบการณ์ และเป็นคนรุ่นใหม่ เพื่อส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น และจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเมืองในอนาคต ซึ่งมีปัจจัยความท้าทายอย่างมากในเรื่องของการขยับขยายความเป็นเมือง (urbanization) ปัญหาโลกร้อน (climate change) และคุณภาพชีวิตของคนเมือง

“เร็วๆ นี้จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทางศูนย์ก็จะมีการนำเสนอแนวทางการพัฒนาเมือง เช่น การแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนควรทำอย่างไร เช่น เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนทิศทางการวางผังเมือง หรือการจัดการปัญหาฝุ่น ในเชิงนโยบายควรจะมีอะไรบ้าง ศูนย์แห่งนี้ก็จะเสนอไปยังผู้มีอำนาจในการจัดการเมือง”

อ.รณฤทธิ์ ธนโกเศศ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษามรดกดิน น้ำ ลม ไฟ ระบุว่า ศูนย์ศึกษามรดกดิน น้ำ ลม ไฟ จะเป็นจินตมหานคร คือจินตนาการและความรู้ในการพัฒนากรุงเทพฯ โดยในช่วงใกล้เลือกตั้งเราก็มีโจทย์ในการพัฒนาเมืองถึงผู้ว่าฯ กทม. ด้วยเช่นกัน เพราะมองว่าที่ผ่านมาการพัฒนามักนำไปสู่การทำลายไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง จึงต้องตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ที่ผ่านมาการพัฒนาเมืองไม่ได้คำนึงถึงความยั่งยืน ทิศทางการพัฒนาที่เน้นผลประโยชน์ของมนุษย์ อุตสาหกรรม การพาณิชย์ และการล่าทรัพยากร ยิ่งพัฒนาโลกยิ่งแย่ เราจึงต้องให้ความรู้ สร้างการตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีต และมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มจากการทำความเข้าใจสังคม เมือง โลก พร้อมจินตนาการความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในโลกนี้ อย่างถูกต้องเหมาะสม ในพลังงานดิน น้ำ ลม ไฟ และความอุดมสมบูรณ์ของโลก สู่การบริหารจัดการอย่างเคารพต่อธรรมชาติอันยิ่งใหญ่”

อ.รณฤทธิ์ ธนโกเศศ

หลังจากนี้ ศูนย์ศึกษามรดกดิน น้ำ ลม ไฟ เตรียมนำเสนอแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ในรูปแบบ “จินตมหานคร” ถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมานคร หลังการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้