เจาะลึกท่าทีผู้นำ อาเซียนสไตล์ | เทพชัย หย่อง

“อาเซียน ก็ยังเป็น “อาเซียนสไตล์” คือ ฉันไม่ยุ่งเรื่องของเธอ แต่ในอนาคตถ้าฉันมีเรื่อง เธอก็อย่ามายุ่งเรื่องของฉัน แต่หากอาเซียนไม่แก้ปัญหาเมียนมา อนาคตเมียนมา ก็จะกลายเป็นปัญหาของอาเซียน”

จำนวนคนที่ออกมาร่วมชุมนุมในเมียนมามีมากขึ้นทุกที และกระจายไปในหัวเมืองใหญ่ แม้แต่พระสงฆ์ที่เคยออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ 10 ปีก่อน ที่ถูกเรียกว่า “ปฏิวัติผ้าเหลือง” รวมทั้งคนทุกชนชั้นในเมียนมา ก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนี้

ขณะเดียวกัน กลุ่มทหารที่เคยจัดการกับชนกลุ่มน้อย เริ่มปรามการชุมนุมของประชาชน มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการใช้กระสุนจริง เรื่องนี้เป็นที่จับตาของคนทั่วโลกและกลุ่มประเทศอาเซียน

เพื่อนบ้าน “อาเซียน” กับการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา

ประเทศไทย โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้การต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของทั้ง “เมียนมา” และ “อินโดนีเซีย” ทั้งโลกจับตาว่ามีการพูดคุยอะไรกันหรือไม่ และ “อาเซียน” ก็คาดหวังให้ “ไทย” แสดงบทบาทผู้นำอาซียนในการแก้ไขปัญหา

ที่ผ่านมา แม้ “อินโดนีเซีย” จะเป็นประเทศประชาธิปไตย ที่มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา แต่การแถลงข่าวว่าขอให้ทหารจัดการเลือกตั้งตามที่สัญญาเอาไว้ คือ ในอีก 1 ปี ทำให้ “คนเมียนมา” ไม่พอใจ เพราะคิดว่ารัฐบาลอินโดนีเซียเข้าข้างและให้โอกาสกองทัพตามสัญญา ซึ่งในความรู้สึกของคนเมียนมา ต้องการประชาธิปไตยทันที และขอให้มีการปล่อยตัว “อองซานซูจี” ซึ่งกลับไปเป็นนักโทษการเมืองอีกครั้งในเวลานี้

บทเรียนจากท่าทีของรัฐบาลอินโดนีเซีย ทำให้ทางการไทยต้องคิดและต้องระมัดระวัง แต่ที่ผ่านมาฝ่ายไทยก็ไม่เคย “ประณาม” การยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา โดยบอกแต่เพียงว่า “เป็นการเปลี่ยนแปลงภายใน” เท่านั้น เช่นเดียวกับท่าทีของ “จีน” ที่บอกผ่านสื่อว่าสถานการณ์การเมืองในเมียนมา เป็นเพียง “การปรับคณะรัฐมนตรี” อย่างไรก็ตาม ท่าทีของจีนเที่ยวนี้ไม่ผลีผลาม และแสดงจุดยืนว่า “ไม่ต้องการเห็นความรุนแรง” เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา

ส่วนอาเซียน ก็ยังเป็น “อาเซียนสไตล์” คือ ฉันไม่ยุ่งเรื่องของเธอ แต่ในอนาคตถ้าฉันมีเรื่อง เธอก็อย่ามายุ่งเรื่องของฉัน แต่หากอาเซียนไม่แก้ปัญหาเมียนมา อนาคตเมียนมาก็จะกลายเป็นปัญหาของอาเซียน

น่าจับตามองว่า “การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน” ที่จะมีขึ้นปลายปีนี้ จะต้องมีการเชิญสหรัฐอเมริกา และประเทศในสหภาพยุโรปเข้าร่วมประชุม อาจมีท่าทีต่อรองว่าไม่ให้เมียนมาเข้าร่วม เหตุเพราะมีการทำรัฐประหารอย่างไม่ชอบธรรม

ปัจจุบันสถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมายังคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของประชาชน การนำเสนอของสื่อไทยให้ความสำคัญพอสมควร แต่ยังคงพึ่งพาข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ เช่น Reuters / AFP อาจเพราะขาดแหล่งข่าวที่ลึกซึ้งเพียงพอ ทำให้มุมมองที่มาจากประชาชนจริง ๆ ไม่ชัดเจน


เทพชัย หย่อง สื่อมวลชนอาวุโส วิเคราะห์การยึดอำนาจเมียนมากับกระแสแรงต้านจากทั่วโลก พร้อมจับตาบทบาทรัฐบาลไทย จะมีมากกว่า “ลอยตัว” หรือไม่? ใน “Active Talk” EP.8 “รัฐประหารเมียนมา แรงต้านจากทั่วโลก” (24 ก.พ. 2564)

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS