ภาคประชาชน เสนอ นายกฯ ทบทวน “แลนด์บริดจ์” ตั้ง คกก.ศึกษาทุกข้อกังวล

วอนมองภาพรวมโครงการรอบด้าน สร้างทางเลือกพัฒนาภาคใต้ในมิติอื่น ๆ ด้วย ขณะที่ “นายกรัฐมนตรี” รับปากนำ ข้อเสนอไปพิจารณา ไขข้อข้องใจ ยันเดินหน้าพัฒนาภาคใต้ไม่ได้มีแค่ “แลนด์บริดจ์”

วันนี้ (23 ม.ค. 67) ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จ.ระนอง แล้วเสร็จ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาพบภาคประชาชนในนาม เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ซึ่งยื่นหนังสือขอให้รัฐบาล “ใคร่ครวญอย่างรอบคอบก่อนจะเกิดความผิดพลาดจากการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง – ชุมพร”

สมโชค จุงจาตุรันต์ คณะทำงานเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ระบุว่า ทราบดีถึงความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งหวังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ เพื่อทำให้ประเทศดีขึ้นมากว่าที่ผ่านมา เช่น นโยบายเงินดิจิทัล10,000 บาท, นโยบายด้านสุขภาพ, ด้านการเกษตรการประมง และอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงนโยบายการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ที่กำลังผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง – ชุมพร ที่ถูกมองว่า จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของภูมิภาค และประเทศนี้ได้ ขณะเดียวกันนายกฯ ได้นำเสนอความคิดนี้กับผู้นำรวมถึงนักธุรกิจใหญ่ในหลายประเทศ แม้จะมีเสียงทักท้วงอย่างหนักจากหลายภาคส่วน ที่สวนทางกับแนวคิดของนายกฯ แต่ถึงที่สุดแล้วชาวบ้านก็เป็นเพียงผู้เสียสละให้กับการพัฒนา ที่จะต้องสูญเสียอาชีพ การดำรงชีวิตในถิ่นฐานเดิม รวมถึงต้องสูญเสียฐานทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การได้อยู่ในสภาพอากาศที่ดี ปลอดภัยและการต้องสูญเสียสังคมวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเราไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งทราบดีว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะลบล้างความคิด และความเชื่อดังกล่าวของนายกฯ ได้ในเวลานี้

“พวกเรายังหวังที่จะให้ท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรดเอียงหูรับฟังเสียงและความคิดของพวกเรา ในฐานะประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ อันเป็นที่ตั้งโครงการแลนด์บริดจ์ตั้งแต่อ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด จ.ระนอง ที่ทอดผ่าน อ.พะโต๊ะ และ อ.หลังสวน ตรงแหลมริ่ว จ.ชุมพร รวมระยะทางกว่า 90 กิโลเมตร ซี่งเป็นน้ำเสียงที่อาจจะดูแผ่วเบาในความรู้สึกของท่าน และนักธุรกิจทั้ง 2 จังหวัดนี้อีกจำนวนหนึ่ง ที่อยากเห็นความเจริญรุ่งเรือง จนลืมไปว่าสิ่งเหล่านั้นจะต้องแลกด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของพวกเราด้วยเช่นกัน”

เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จึงเสนอข้อสังเกตต่อการดำเนินงานและดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ พร้อมกับข้อเสนอแนะเพื่อให้นายกฯ และรัฐบาลได้พิจารณา ดังนี้

  1. กระบวนการศึกษาที่ผ่านมา ถือว่าด้อยมาตรฐานทางวิชาการและไม่เคารพการมีส่วนร่วมของประชาชน หากนับตั้งแต่วันเริ่มต้นในการศึกษาออกแบบและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละโคงการย่อย ถือว่าเป็นกระบวนการที่มาตรฐานด้านวิชาการและด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนตกต่ำเป็นอย่างมาก จนมีคำถามว่า ในขณะที่โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ ทำไม่กระบวนการศึกษาถึงไม่สมราคา ซึ่งพวกเราเห็นว่ารัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับขั้นตอนนี้เป็นอันดับแรก เพราะจะเป็นการเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ผ่านการศึกษาและการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงรอบด้าน อันจะทำให้รัฐบาลได้รับข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาจากกระบวนการที่ดี เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจดำเนินโครงการอย่างถูกต้อง หาใช่เพียงแค่การสร้างพิธีกรรมเพื่อให้เสร็จตามกฏหมายบังคับ หากแต่ต้องสร้างมาตรฐานให้ดีกว่าโครงการอื่นๆที่เคยทำมา ที่ควรจะผิดแผกแตกต่างจากยุครัฐบาลอื่นใดก่อนหน้านี้

  2. โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องประกอบด้วยโครงการย่อยอีกหลายโครงการ แต่กลับไม่มีการศึกษาผลกระทบและผลสัมฤทธิ์ในภาพรวม ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และด้านสุขภาพ กลับพบว่าเป็นการแยกกันศึกษาเป็นรายโครงการย่อยที่ต่างคนต่างทำ อย่างเช่น โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอ่าวอ่าง โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมริ่ว โครงการรถไฟรางคู่ โครงการมอเตอร์เวย์ โครงการนิคมอุตสาหกรรม (ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต) และเชื่อว่าจะมีโครงการอื่นๆตามมาอีกหลายโครงการ ซี่งวิธีการศึกษาเช่นนี้จะไม่ทำให้เห็นภาพใหญ่ของโครงการทั้งหมด อันจะทำให้ขาดระบบการประมวลผลกระทบและผลสมฤทธิ์ของโครงการที่แม่นยำ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจและการดำเนินโครงการที่ผิดพลาดได้ง่าย ซี่งรวมไปถึงการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาที่ได้สรุปรายงานไปแล้ว ซึ่ถูกมองว่าเป็นรายงานที่ทำขึ้นเพียงเพื่อเอาใจท่านนายกฯ แต่กลับไม่ได้นำเสนอข้อสังเกตสำคัญที่พวกเราพยายามให้ข้อมูลไปแล้วแต่อย่างใด

  3. นายกรัฐมนตรีต้องคำนึงถึงศักยภาพการพัฒนาจังหวัดระนอง ชุมพร และภาคใต้ในมิติอื่นๆด้วย กล่าวคือ ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ ท่านนายกรัฐมนตรีเคยคิดไว้หรือไม่ว่า ท่านจะพัฒนาจังหวัดระนอง ชุมพร และจังหวัดอื่นๆในภาคใต้ไปในทิศทางใดนอกจากนี้ ซึ่งพวกเรามีความเชื่อว่าจังหวัดระนอง ชุมพร และภาคใต้ ยังมีศํกยภาพอีกมากที่ไม่ถูกพัฒนาอย่างจริงจัง อย่างเช่นมิติของการท่องเที่ยว การประมง และการเกษตร ที่เพียงรัฐบาลกล้าคิดแตกต่างจากรัฐบาลอื่นๆที่ผ่านมา ก็จะสามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับภาคใต้ได้ไม่ยาก ด้วยเพราะภาคใต้ไม่เคยถูกส่งเสริมการพัฒนาอย่างเป็นระบบเพื่อให้ศักยภาพที่มีอยู่แปล่งประกายได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเรายังเชื่อว่าหากมีรัฐบาลที่ฉลาดมากพอ ก็จะสามารถสร้างการพัฒนาที่จะทำให้คนในพื้นที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน มากกว่าโครงการแลนด์บริดจ์หลายเท่า

ทั้งนี้จากข้อสังเกตดังกล่าว เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ จึงมีข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการ ดังนี้

  1. ต้องตรวจสอบและสั่งทบทวนกระบวนการศึกษาโครงการที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด โดยการสร้างมาตรฐานทางวิชาการและมาตรฐานของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เกิดขึ้นจริง ทั่วถึง เป็นธรรม โดยต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

  2. ต้องยกระดับกระบวนการศึกษาภาพรวมของโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง – ชุมพร ทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคมวัฒนธรรม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยให้มีกลไกและกระบวนการศึกษาที่จะทำเกิดการประมวลผลการศึกษาภาพรวมโครงการทั้งหมด อันจะทำให้ท่านได้เห็นภาพและข้อมูลผลกระทบและผลสัมฤทธิ์อย่างแม่นยำในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของโครงการ

  3. ควรศึกษาทางเลือกในการพัฒนาจังหวัดระนอง ชุมพร และภาคใต้ในมิติอื่น ๆ ด้วย อันรวมถึงการศึกษาศักยภาพที่แท้จริงของภาคใต้ในมิติการท่องเที่ยว การประมง การเกษตร ซึ่งรวมถึงมิติทางด้านสังคมวัฒนธรรม โดยการใช้นโยบายตามแนวคิด “ซอฟต์พาวเวอร์” ทำการยกระดับการพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าแต่ละมิติให้เกิดประโยชน์สูงสุด

  4. เพื่อให้ข้อเสนอดังกล่าวเบื้องต้นเกิดขึ้นได้จริง จึงขอเสนอให้นายกรัฐมนตรี จัดตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด ที่มีองค์ประกอบของหลายภาคส่วน เช่น นักการเมือง ข้าราชการ ท้องถิ่น ท้องที่ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เป็นกลไกในการดำเนินงานตามข้อเสนอทั้งหมดให้เป็นที่ประจักษ์ จะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความไม่เข้าใจที่ไม่ตรงกันของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ และเพื่อช่วยค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงได้ร่วมออกแบบการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของท่านและรัฐบาลตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา

“พวกเรามีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านนายกฯ จะรับฟังเสียงของพวกเราที่พยายามนำเสนอความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ทั้งยังเชื่อว่าท่านยังไม่เคยได้รับข้อเสนอแนะเช่นนี้มาก่อน ซึ่งเรายังยืนยันว่า โครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง – ชุมพร เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่จะส่งผลได้ผลกระทบอย่างกว้างขวางกับประชาชนทั่วไป ท่านจึงควรพิจารณาไตร่ตรองเรื่องนี้ด้วยตนเองอย่างรอบคอบ และควรจะหาโอกาศศึกษาข้อเสนอเหล่านี้ของพวกเราอย่างละเอียดทั้งด้วยตนเองและจากกลไกที่ท่านสามารถไว้วางใจได้ เพื่อที่จะทำให้ท่านเกิดความมั่นใจในการตัดสินใจต่ออนาคตของโครงการนี้ได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ต้องแบกรับภาระความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นกับท่านโดยไม่จำเป็น”

สมโชค ยังบอกด้วยว่า สิ่งสำคัญของการยื่นหนังสือครั้งนี้ คือ ข้อเสนอที่ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และลงมาศึกษาในพื้นพื้นที่จริง ที่ไม่ใช่การลงพื้นที่เพียงไม่กี่ชั่วโมง แล้วรีบกลับไปทำข้อสรุป โดยขอให้ได้คำตอบเรื่องนี้ภายใน 30 วัน

เมื่อถามถึงท่าทีของ นายกฯ ทำให้รู้สึกมีความหวังหรือไม่นั้น คณะทำงานเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ บอกว่า มีความคาดหวังว่าทั้งนายกฯ และคณะทำงานรับฟังประชาชน อย่าฟังแต่ภาคธุรกิจ เพราะภาคประชาชนลำบาก และในอนาคตหากมี พ.ร.บ. SEC อาจทำให้ประชาชนจะตกที่นั่งลำบากอย่างแน่นอน

นายกฯ พร้อมรับฟังข้อเสนอไปพิจารณา ไขข้อข้องใจ “แลนด์บริดจ์”

ด้าน นายกรัฐมนตรี ระบุหลังรับหนังสือจากภาคประชาชน ยืนยัน รัฐบาลพร้อมรับข้อเสนอ และจะนำไปประกอบการพิจารณาศึกษา เพื่อให้ทุกฝ่ายกระจ่างในจุดประสงค์ของโครงการแลนด์บริดจ์ รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคใต้นอกเหนือจากโครงการแลนด์บริดจ์ด้วย

“มั่นใจว่า รัฐบาลจะทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว การสร้างสนามบินอันดามัน ที่ จ.พังงา ซึ่งดำเนินการแล้วในรัฐบาลนี้ รวมถึงเรื่องการประมง ตลอดจนเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ วัฒนธรรม อาหาร กีฬา ถูกบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่า ทุกเสียงของประชาชน จะได้รับการรับฟัง ไตร่ตรองที่ดีจากรัฐบาล”

เศรษฐา ทวีสิน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active