ประมงพื้นบ้าน ขอนายกฯ ฟังรอบด้าน แก้ปัญหาประมงให้ตรงจุด

ห่วงรัฐบาลสลายขั้ว ผสมหลายพรรค ทำนโยบายประมงไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหา ชี้หลายเรื่องขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารใช้อำนาจตัดสินใจ แนะกำหนดกระบวนการ สร้างการมีส่วนร่วมทั่วถึง

ตามที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ เดินทางไปที่ จ.สมุทรสงคราม เมื่อวานนี้ (1 ก.ย.66) เพื่อพบปะพูดคุยสอบถามถึงปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมง ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศของ IUU และแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ซึ่งการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย นับว่าเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่พรรคเพื่อไทย ได้หาเสียงเอาไว้ 

นายกรัฐมนตรี ยืนยัน เรื่องประมงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ จึงต้องการเข้ามาแก้ไขบูรณาการคู่ขนานกันไปทั้งกฎหมายในประเทศและเจรจาการค้าต่างประเทศ และขอให้มั่นใจว่า มารับฟังปัญหาเพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวประมงอย่างเต็มที่  

มงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม และที่ปรึกษาสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด ขอให้นายกรัฐมนตรี เร่งแก้ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ที่ยังมีโทษรุนแรงเกินไป โดยเฉพาะกรณีเรือประมงทําผิดโดยไม่เจตนา ต้องถูกปรับหลายล้านบาท และระหว่างพิจารณาแก้กฏหมายประมง ขอให้แก้กฎหมายลูกที่มีปัญหาในการทำประมงภายใน 90 วัน รวมถึงการช่วยเหลือนำเรือออกนอกระบบ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น  พร้อมเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง แต่มองว่าควรจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อย

ล่าสุดวันนี้ (2 ก.ย.66 ) วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี  นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยกับ The Active ถึงกรณีนายกรัฐมนตรี เดินทางไปพบเครือข่ายประมง จ.สมุทรสงคราม ว่า ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหน ก็มักเลือกลงไปฟังเสียงแค่คนฝ่ายนึง ไม่ได้ฟังคนอีกหลายส่วน อย่างประมงพื้นบ้านในท้องถิ่น รวมถึงผู้บริโภค ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่  ซึ่งจะบอกว่าเข้าถึงได้ยาก อาจเป็นแค่ข้ออ้าง ถ้าจะทำงานจริง ๆ ก็แค่กำหนดกระบวนการที่จะไปฟังพวกเขาอย่างมีเหตุผลรอบด้าน และแม้ที่ผ่านมาจะอ้างว่าก็มีไปฟังบ้าง แต่ก็เป็นการรับฟังแบบกระบวนการไม่ชัดเจน ไปเอาข้อมูลมาประกอบกอบการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง  ที่ต้องถามต่อคือผู้บริโภคในประเทศเขาจะได้อะไร เพราะตอนนี้อาหารทะเลก็อย่างที่เห็นไม่มีคุณภาพ และราคายังสูง ซึ่งไม่เป็นธรรม 

“ที่อ้างว่าตอนนี้มีปัญหา ต้องนำเข้ามาในประเทศก็พูดไม่หมด คือ ที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นทูนา เอาเข้ามาทำส่งออกไปเหมือนเดิม ไม่เกี่ยวการบริโภคในประเทศ  แต่ในส่วนของปลาทูไทย กลับปล่อยให้ประมงผิดกฎหมายทำลาย เปิดทางให้กลุ่มทุนนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งคุณภาพก็ไม่ดี ไม่สด ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก ไม่รู้อะไรปลาทูแช่แข็ง หรือปลาทูสดในประเทศ” 

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย 

ส่วนเรื่องการเสนอแก้ไขกฎหมาย ในแง่หลักการมองว่าเดินหน้าได้ ถ้าจะปรับปรุงแก้ไข เป็นอำนาจสภาฯ อยู่แล้วที่จะพิจารณา แต่ไม่ควรแก้ด้วยอำนาจฝ่ายบริหาร และส่วนที่เป็นรายละเอียดหลักการต่าง ๆ ที่เสนอมาไม่ว่าเรื่องลดบทกำหนดโทษ การปรับปรุงข้อกำหนดต่างๆ อันนี้เป็นรายละเอียดที่ควรไปถกกันในกระบวนการแก้ไขกฎหมาย บางอันไม่ได้อยู่ในกฎหมายหลัก ในระดับ พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ. แต่มันอาจจะอยู่ในระดับประกาศกระทรวง กฎกระทรวง หรือระเบียบกรม  อันนี้เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร จะเป็นประเด็นว่า ถ้าจะปรับปรุงแก้ไขมันจะมีโอกาสไปกระทบอย่างอื่นหรือไม่ ไม่ควรมองประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายเดียว ต้องมีความสมดุล 

สำหรับการมอบหมาย ร.อ.ธรรมนัส นั่งหัวโต๊ะกรรมการแก้ปัญหา ถือเป็นครั้งแรกที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะได้ดูแลแก้ปัญหาประมง  สิ่งแรกที่เป็นความท้าทาย คือ ไม่รู้ว่ามีมือไม้ หรือที่ปรึกษาจะมาช่วยกันทำงานมากน้อยแค่ไหน จะครบถ้วนสมบูรณ์รอบด้านหรือไม่ 

“เนื่องจากเป็นรัฐบาลผสมพรรคร่วม ในขณะที่นโยบายหลัก ๆ ก็มาจากอีกพรรคนึง หรือหลายพรรคที่ต้องทำร่วมกัน ความสามารถการบริหารความแตกต่างทางนโยบาย จะออกมาเป็นยังไง”  

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี

นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย บอกด้วยว่า ปัญหาทั้งหมดที่กลุ่มประมงส่วนหนึ่งที่เข้าพบนายกฯ สะท้อน แท้จริงแล้วลึก ๆ ไม่ได้เป็นปัญหาที่กฎหมาย แต่เป็นปัญหาที่ฝ่ายบริหาร เช่น การกำหนดให้โควตาจับปลาเป็นจำนวนวัน 240 วัน กฎหมายไม่ได้ระบุ หรือ แม้แต่เรื่องเขตทะเลชายฝั่ง เป็นอำนาจฝ่ายบริหารไปกำหนด ถ้าเปลี่ยนคือฝ่ายบริหาร ก็มีอำนาจพิจารณาปรับปรุงใหม่ ไม่ได้แก้กฎหมายเพราะกฎหมายเดิมก็เปลี่ยนได้อยู่ หรือเรื่องแรงงาน ที่มีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง เผลอ ๆ อาจจะมีมากกว่ากฎหมายประมงด้วยซ้ำ ทั้งแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง ระเบียบมหาดไทย ก็เป็นความท้าทายเพิ่มไม่ใช่แค่ประมง ต้องอาศัยทั้ง ครม.

“เรื่องปัญหาแรงงานนั้น ไม่ปฏิเสธหากขาดแคลนก็ต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่กังวลการค้าแรงงานทาส จะมีมาตรการอย่างไร กระบวนการนำเข้าที่เป็นหลักประกัน ว่า ตัวแรงงานซึ่งแม้ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นมนุษย์คนนึง จะได้รับความเป็นธรรมการจ้างงานอย่างไร ไม่ถูกเอาไปทิ้งที่อินโดนีเซียตามที่ปรากฎในข่าวที่ผ่าน ๆ มา หรือจะมีกระบวนการอะไรมาป้องกัน  ซึ่งจริง ๆ การติด VMS บนเรือทำให้ติดตามได้ว่าเรือไปไหน พาแรงงานไปไหน แต่กลับมีการเสนอให้ยกเลิกก็เป็นคำถามว่าจะยกเลิกทำไม ส่อเจตนาไม่บริสุทธิ์ หรือมีเจตนาอยากทำความผิดอะไรหรือไม่ จึงล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันจับตาท่าทีและนโยบายด้านประมงของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลใหม่” 

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active