ทช.เตือนสติ ศึกษาพฤติกรรมสัตว์ทะเล ไม่ซ้ำรอยฆ่า’ปลาวัวไททัน’ 

ชี้ อยู่ในช่วงฤดูวางไข่ แนะใช้โอกาสกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ เกิดองค์ความรู้อนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ

วันนี้ (30 เม.ย.2566) จากกรณีครูสอนดำน้ำรายหนึ่ง โพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์ว่าถูกปลาวัวไททันกัดขา บริเวณเกาะร้านเป็ด และจากนั้นได้ฆ่าปลาตัวดังกล่าว โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาไปกัดผู้อื่นอีก เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวร่วมกันอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เปิดเผยว่า “ปลาวัวไททัน” (Titan triggerfish) Balistoides viridescens เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแนวปะการังในมหาสมุทรเขตร้อนและเขตอบอุ่น ของอินโด-แปซิฟิก ในน่านน้ำไทยเป็นปลาที่พบได้บ่อยและพบได้ทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย กินสัตว์น้ำหน้าดินและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหาร จากการวิจัยพบว่ามีขนาดใหญ่สุดประมาณ75 เซนติเมตร ส่วนแหล่งที่อยู่อาศัย ชอบอาศัยอยู่บริเวณขอบแนวปะการังและกองหินใต้น้ำ และจะทำรังตามพื้นทรายใกล้กับแนวปะการังหรือกองหินใต้น้ำ ลักษณะของรังจะทำเป็นหลุมคล้ายๆ กับแอ่งกระทะ (ลักษณะเหมือนหลุมปลานิล) 

รรท.อทช. กล่าวต่อว่า เขาได้มอบหมายให้นายวิชัย สมรูป ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว พบว่าปลาชนิดนี้ไม่ได้เป็นสัตว์น้ำคุ้มครอง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่ได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียด เพี่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และจะเรียกตัวผู้ประกอบการรายดังกล่าวให้มารับทราบกฎระเบียบในการดำน้ำ และการท่องเที่ยวในทะเลที่ถูกต้อง ซึ่งภายหลังหากตรวจสอบแล้วว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยกรม ทช. ได้ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ พ.ศ. … โดยระบุข้อกำหนด และเงื่อนไขเกี่ยวกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำ กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนวิธีปฏิบัติที่ดีในการดำน้ำโดยไม่กระทบกระเทือนต่อปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล

ทั้งนี้ ยังได้ฝากถึงนักดำน้ำ และนักท่องเที่ยว ในการปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากสัตว์ทะเล ควรปฏิบัติต่อสัตว์น้ำด้วยเมตตา อย่ารังแก อย่ารบกวนโดยไม่จำเป็น 

“ในการดำน้ำต้องระมัดระวังอย่างยิ่งขณะดำน้ำในบริเวณที่น้ำขุ่นมาก ในการวางมือ วางเท้า หลีกเลี่ยงการใส่เครื่องประดับที่ห้อย และสะท้อนแสง ควรใส่ถุงมือ หรือชุดดำน้ำเพื่อป้องกันการทิ่มแทงและบาดเจ็บปรับการลอยตัวให้เป็นกลาง หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับพื้นใต้ทะเลเคลื่อนไหวช้าๆ ระมัดระวัง และดูให้ดีในพื้นที่ที่จะไป รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้และสัมผัสกับสัตว์ที่ไม่คุ้นเคยทุกชนิด จึงอยากฝากถึงนักท่องเที่ยวดำน้ำ มัคคุเทศก์ ครูสอนดำน้ำ ตระหนัก พร้อมทั้งเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ เพื่อให้การท่องเที่ยวดำน้ำด้วยความปลอดภัย แจ้งเตือนนักดำน้ำท่องเที่ยวในทีม และที่สำคัญจะเป็นโอกาสในการสร้างการเรียนรู้ธรรมชาติ พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ ทำให้การดำน้ำมีคุณค่านอกจากการชื่นชมธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ยังเกิดองค์ความรู้อีกด้วย” 

นายอภิชัย เอกวนากุล

ด้านพฤติกรรมของปลาวัวไททันนั้น เป็นปลาที่มีนิสัยหวงถิ่น และจะมีนิสัยก้าวร้าวเมื่อเข้าใกล้บริเวณที่เป็นอาณาเขตของมัน มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นปลาที่กินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง รวมถึงตัวอ่อนของเม่นทะเลและตัวอ่อนของดาวมงกุฎหนามซึ่งเป็นผู้ล่าของปะการัง ปลาวัวไททันจึงมีประโยชน์ในแง่ของการควบคุมสัตว์ในกลุ่มนี้ให้อยู่ในภาวะสมดุล นอกจากนี้ยังรวมถึงการควบคุมสัตว์จำพวกหอย และหนอนท่อที่เจาะตามก้อนปะการัง ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยคุกคามสุขภาพปะการังได้อีกด้วย ดังนั้นหากระบบนิเวศแนวปะการังขาดปลาวัวไททัน อาจทำให้มีศัตรูคุกคามปะการังมากขึ้นจนขาดภาวะสมดุล

โดยเฉพาะช่วงฤดูวางไข่ ปลาวัวไททันจะมีการวางไข่ไว้บนพื้นทราย และช่วงนี้ปลาวัวจะคอยเฝ้าระวังรัง คอยพ่นน้ำบริเวณรังที่มีไข่ถูกทรายกลบทับ และป้องกันการบุกรุกจากปลาหรือสัตว์อื่นๆ ที่จะเข้ามากินไข่ ช่วงเวลานี้ปลาวัวจึงมีพฤติกรรมหวงกันอาณาเขตและก้าวร้าว หากนักดำน้ำเรียนรู้พฤติกรรม และพบเห็นว่าปลาวัวแสดงพฤติกรรมพ่นน้ำลงพื้น หรือคอยไล่ปลาที่หากินออกจากพื้นที่ ก็ควรออกห่างจากอาณาบริเวณอาณาเขตของปลา ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้ถูกปลากัด 

การช่วยดูแลรักษาทรัพยากรในท้องทะเลไทยที่มีความสำคัญต่อประเทศ เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ตลอดจนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างมากมาย ปัจจุบันการพัฒนาประเทศทำให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ตลอดจนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อีกทั้งจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทะเลเป็นสิ่งสวยงาม สัตว์ทะเลและทรัพยากรใต้ท้องทะเล จึงควรจะอนุรักษ์ไว้ เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมทางทะเล มีความสวยงามและยั่งยืน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active