10 เส้นทางท่องเที่ยวไร้คาร์บอน

‘เที่ยวไทยอย่างยั่งยืน’ ททท. สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนทั่วไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมๆ กับการขับเคลื่อนแนวคิดปรับ ลด ชดเชยคาร์บอน เพื่อให้นักท่องเที่ยวและชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์โมเดล BCG

วันนี้ (26 พ.ย.2566) ขณะที่ประเทศไทยกำลังพยายามกระตุ้นการท่องเที่ยว คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็มีมติฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน แต่จะท่องเที่ยวอย่างไรให้ยั่งยืน เป็นอีกโจทย์ท้าทาย นอกจากการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อผลทางเศรษฐกิจ ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็พยายามจะจัดการท่องเที่ยวภายในประเทศให้เป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จับมือกับชุมชน จัดกิจกรรมเปิดตัว 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยวไทยไร้คาร์บอน ในโครงการ No Carbon Village Challenge เพื่อนำเสนอชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยวไทยไร้คาร์บอนอย่างยั่งยืน สนับสนุนแนวคิดการลดการปล่อยคาร์บอนจากการท่องเที่ยว โดยใช้พลังงานทดแทน และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมในชุมชน ประกอบด้วย

1.เที่ยวสุขใจไร้คาร์บอน @จอมบึง ณไร่สุขพ่วง โดย วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างสรรค์รักษ์จอมบึง จ.ราชบุรี

อภิวรรษ สุขพ่วง ประธานวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวไร้สุขพ่วง กล่าวว่า ชุมชนตั้งใจชูแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างสรรค์ เรียนรู้วิถีเกษตรกรรมแบบสีเขียว ผ่านศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ อย่าง “การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง”

“ไร่สุขพ่วงเป็นการท่องเที่ยวเชิงที่ชวนให้เห็นว่า ตัวเราเองมีความสามารถในการ ปรับ ลด ชดเชย เรื่องคาร์บอนด้วยการสร้างป่า เป็นต้นแบบให้ชุมชนได้เห็นว่ามีอาชีพแบบใหม่ นอกเหนือจากอาชีพเกษตรกรรมที่ชาวบ้านทำเป็นเชิงเดี่ยว เมื่อได้เปลี่ยนมาทำเกษตรแบบผสมผสาน นอกจากจะมีอาหารไว้กิน มีรายได้ตลอดทั้งปี และยังเรื่องใหม่ๆเข้ามาในชุมชนอีกด้วย คือสามารถดึงคนข้างนอกเข้ามาเรียนรู้ เป็นกึ่งการท่องเที่ยงเชิงให้ความรู้ การท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่การท่องเที่ยวเชิงสนุกสนานเพียงอย่างเดียว สิ่งนี้ทำให้คนในชุมชนมองเห็นว่าตนเองได้มีส่วนร่วม ได้นำผลผลิตของตนเองมาจำหน่าย ได้มาสร้างเป็นตลาดนัดชุมชนและวิสาหกิจชุมชน”

อภิวรรษ สุขพ่วง ประธานวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวไร้สุขพ่วง

2. บุกป่าพาฟิน ถิ่นม่วงกลวง วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนม่วงกลวง จ.ระนอง นำเสนอเส้นทางการท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยมีการสื่อสารความรู้เรื่องการปล่อยคาร์บอนในระหว่างทาง ลดการใช้พลังงาน ปรับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ใช้เป็นแนวธรรมชาติ และชวนนักท่องเที่ยวปลูกต้นโกงกางกันคนละ 1 ต้น นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน โดยเน้นให้สมาชิกทุกคนในชุมชนได้ร่วมพูดคุยกัน เพื่อออกแบบวางแผนในอนาคตเส้นทางการท่องเที่ยว การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ประเพณี วัฒนธรรม รวมถึงการแปรรูปสินค้าจำหน่ายต่างๆ

3. สัมผัสประเพณีล้านนารวมศรัทธาฮีลใจในเวียงเก่า จ.เชียงราย

มัชฌิมา ยกยิ่ง ประสานงาน วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน จ.เชียงราย กล่าวว่า ชุมชนอยากชวนนักท่องเที่ยวปั่นจักรยานรอบเส้นทางเชียงแสน พร้อมกับการทำเครื่องสักการะที่เป็นวิถีวัฒนธรรม โดยเน้นว่าในเส้นทางการท่องเที่ยวจะไม่ใช้พลาสติก และลดการผลิตขยะในน้อยที่สุด 

“นักท่องเที่ยวจะได้ปั่นจักรยานชมโบราณสถานที่งดงาม ชมเมืองเก่าของเชียงแสนเพราะเชียงแสนเป็นเมืองโบราณ ปั่นจักรยานชมเมืองพร้อมถวายเครื่องสักการะ เส้นทางการท่องเที่ยวเชียงแสนจะเป็นการท่องเที่ยวเชิง “มูเตลู” อย่างเครื่องสักการะเราจะมีการไปซื้อมาจากชาวบ้านที่เขาปลูก เช่น ต้นกล้วย ดอกไม้ อาหารที่ใช้ในการรับรองแขก ก็จะนำมาจากคนในท้องถิ่น จะไม่ได้นำมาจากที่อื่นเพราะเมื่อไหร่ที่ “มีการใช้ก็จะมีการปลูก” ทำให้เกิดการหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เป็นการกระจายรายได้สูงสุด เพราะชาวบ้านทุกคนจะมีส่วนร่วมในการช่วยทำคนละอย่าง สองอย่าง ทั้งเครื่องสักการะ ตัวย้อมผ้า รวมไปถึงสินค้าต่างๆ”

มัชฌิมา ยกยิ่ง ประสานงาน วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน จ.เชียงราย

4. ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยชุมชนบ้านไร่กองขิง จ.เชียงใหม่ ชวนนักท่องเที่ยวปั่นจักรยานในการทำกิจกรรมต่างๆ ในเส้นทางการท่องเที่ยวบ้านไร่กองขิง เน้นการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาคนส่งต่อองค์ความรู้ เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และร่วมรักษาวัฒนธรรมประเพณีของล้านนาเอาไว้ ทั้งวิถีชีวิต การเป็นอยู่ อาหารของชาวล้านนา โดยมีการจัดการขยะเหลือทิ้งทุกส่วน นำไปใช้ประโยชน์ เช่น เป็นปุ๋ยอินทรีย์

5. บ้านน้ำเชี่ยวเที่ยวรักษ์โลก จ.ตราด

รสริน วิรัญโท ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว บอกว่า ชุมชนแบ่งปันประสบการณ์ด้วยการชวนนักท่องเที่ยวนั่งแพไปปลูกป่าแทน นำลูกปูไปปล่อย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอีกมากมาย เช่น ทำขนมบ้านน้ำเชี่ยว โดยการใช้ฟืน ใช้เตาถ่าน แทนการใช้เชื้อเพลิงจากแก๊ส มีจุดเด่นคือ ผลิตภัณฑ์หอยคราฟแปรรูป โดยจะเป็นการนำเปลือกหอยที่ปกติคนกินเสร็จแล้วทิ้ง เช่น หอยเซลล์ นำไปบดเป็นผง และนำมาขึ้นรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นต่างหู กิ๊บติดผม พวงกุญแจ และอีกมากมาย สำหรับอาหารที่เลี้ยงต้อนรับล้วนนำวัตถุดิบที่หาได้ในชุมชนมานำไปประกอบเป็นอาหารเพื่อความปลอดภัยและยั่งยืน

“เป็นอาชีพเสริมที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะคนที่มีอายุมากแต่ยังมีใจรักในการทำงาน เด็กๆ และเยาวชนที่อยู่ในชุมชนก็ได้มีการมาทำจิตอาสา ได้ความรู้และประสบการณ์ไปพร้อมๆ กัน และยังมีกิจกรรมที่สามารถทำเป็นกลุ่มทำให้คนในชุมชนเกิดความสามัคคีกันภายในชุมชน เมื่อมีการทำกิจกรรมด้วยกันก็จะทำให้คนในชุมชนมีความสุขไปด้วยกัน”

รสริน วิรัญโท ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว

6. เพิ่มพลังชีวิตภายในหนึ่งวัน ณ บ้านภู จ.มุกดาหาร เป็นลักษณะการท่องเที่ยวแบบ Slow life ชวนชมระบบนิเวศที่สวยงาม ชูจุดขายเชิงวัฒนธรรม อย่างเช่น การฟ้อนรำ แล้วสอดแทรกเรื่องราวภูมิปัญญาของชุมชน มีการจัดทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นผ้าที่ผลิตโดยชุมชน และให้นักท่องเที่ยวได้มาย้อมสี ในการต้มผ้าใช้ฟืนแทนการใช้แก๊สเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ในเรื่องของอาหารวัตถุดิบที่ใช้ล้วนมาจากชุมชน ในส่วนของการจัดการขยะ ภายในชุมชนมีการจัดการขยะในระดับครัวเรือนด้วยตนเอง เน้นหลักการ Reuse และ Recycle

7. เที่ยวภูเก็ตให้ครบ จบที่ย่านเมืองเก่าสุดปัง…อาหารอาภรณ์ จ.ภูเก็ต ใช้การท่องเที่ยวมาเป็นเครื่องมือในการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนย่านเมืองเก่าของเมืองภูเก็ต นำเสนออาคาร สถาปัตยกรรมที่สวยงาม อาหาร เสื้อผ้าอาภรณ์ โดยเน้น walking tour สามารถประเมินการวัด carbon footprint ได้ ในเรื่องอาหารการกิน อย่างเช่น การออกแบบภาชนะที่ใช้ก็มีความสวยงาม ให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ย่านเมืองเก่าภูเก็ต และความรู้สึกถึงการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางการท่องเที่ยว ตะลุยบ้านถ้ำเสือสุดโก้ซีโร่คาร์บอน จ.เพชรบุรี โดย โฮมสเตย์บ้านถ้ำเสือ จ.เพชรบุรี ล่องเรือเรียนรู้ BCG chill chic พิชิตคาร์บอนคนเดียวก็เที่ยวได้ โดย วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลบ้านแหลม จ.สุพรรณบุรี และท่องเที่ยวบางกอบัว @คุ้งบางกะเจ้า

สำหรับแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนถูกกำหนดไว้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ.2561-2580 ในด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เรื่องการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และในแผนแม่บทประเด็นการท่องเที่ยว ประกอบไปด้วยยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค และการพัฒนาระบบนิเวศการท่องเที่ยว สอดรับกับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 30 จากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 (222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) และยุทธศาสตร์โมเดล BCG ของประเทศไทยอีกด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active