สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง และภาคี จัดโครงการอบรมการตัดแต่งดูแลต้นไม้เบื้องต้น สร้างพลเมืองหัวใจสีเขียว ขับเคลื่อนเป้าหมาย ‘Green Space’ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของกรุงเทพฯ
วันนี้ (23 พ.ย. 65) สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง สมาคมรุกขกรรมไทย มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ กรุงเทพมหานคร สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดงาน “เปิดห้องเรียนวิชาต้นไม้ใหญ่” ภายใต้ โครงการอบรมดูแลต้นไม้ใหญ่ เบื้องต้น Thai PBS’s Green Space ณ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ประกอบด้วยเคล็ดลับวิชาการประเมินความเสี่ยงของต้นไม้เบื้องต้น การใช้แอปพลิเคชันลงทะเบียนต้นไม้ วิธีการปีนและตัดแต่งต้นไม้ ถ่ายถอดโดยรุกขกรวิชาชีพจากสมาคมรุกขกรรมไทย
รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า ไทยพีบีเอส มีนโยบายให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมของเมือง โดยที่ผ่านมาได้มีการระดมความคิดเห็นในเชิงนโยบายการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ในนามเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ และนำเสนอในรูปแบบของสมุดปกขาว ต่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเมื่อมีนโยบายต้นไม้ล้านต้น ก็ร่วมปลูกด้วยในจำนวน 1,000 ต้น นอกจากนี้ ยังเห็นความสำคัญของการมีต้นไม้สมบูรณ์แข็งแรง จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดพื้นที่เป็นห้องเรียนเรื่องวิชาต้นไม้ เพื่อส่งต่อความรู้ในการดูแลต้นไม้ในเมือง
“ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งได้มีการระดมความคิดเห็นของภาคประชาชนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การเพิ่มต้นไม้เพื่อสิ่งแวดล้อมในเมือง เมื่อท่านผู้ว่าฯ มีนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้นเราก็ร่วมได้ และมีการติดตามดูแลอยู่เสมอว่าต้นไม้ ทั้งที่ท่านผู้ว่าฯ ได้ปลูกไว้ และต้นไม้อื่น ๆ นั้นเติบโตแข็งแรง ยินดีที่ไทยพีบีเอสได้ทำหน้าที่เป็นห้องเรียนของสังคม ในการเรียนรู้วิชาต้นไม้ เพื่อเป็นหนึ่งแรงขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวในเมือง”
ช่อผกา วิริยานนท์ นายกสมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง กล่าวว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นโอกาสที่สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมืองและภาคีได้เข้ามาร่วมดูแลต้นไม้ของไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นเหมือนสวนสาธารณะขนาดย่อมแห่งหนึ่งของกรุงเทพหานคร เราจึงขอความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายมากมายมาร่วมมือกัน เปิดห้องเรียนให้ความรู้กับประชาชน และมีการลงพื้นที่จริงให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รู้ว่าจะประเมินความเสี่ยงต้นไม้อย่างไร มีการปีนต้นไม้เพื่อตัดแต่งต้นไม้ใหญ่เป็นตัวอย่างด้วย นับเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อที่จะขยายผลว่าถ้าเราจะดูแลต้นไม้ใหญ่ในเขตพื้นที่เมือง ที่มีองค์ประกอบมากมายที่ทำให้ต้นไม้แย่ และถ้าต้นไม้ไม่ให้ร่มเงาอย่างที่เขาต้องการ ที่สำคัญคือ ต้นไม้ใหญ่ที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีจะเป็นระเบิดเวลาที่อาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้คนได้
“ขอบคุณ The Active และ Thai PBS ที่เป็นเหมือนสนามทดลอง ให้เราได้รู้ว่าต้องทำอย่างไร ถ้าจะใช้โพรเจกนี้ให้ความรู้คนทั้งประเทศไทย ก็จะตอบสนองงานพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร ทั้งเรื่องของสวน 15 นาที และเรื่องของการมีรุกขกรในการดูแลต้นไม้ใหญ่ ในอนาคตเราหวังว่าจะได้มีเหมือนห้องแล็ปที่ทดลองงานได้จริงๆ แม้อาจจะเจอปมระหว่างการทำงานในระบบบริหาร ถ้าเรารู้วิธีแก้ไข นำเสนอวิธีเหล่านี้ โดยใช้พื้นที่สื่อสารสาธารณะสื่อสาร และขับเคลื่อนงานรุกขกร ความตั้งใจของเราก็จะประสบความสำเร็จในระดับประเทศได้เร็ว”
อานนท์ บุณยประเวศ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม บอกว่า เขาเป็นคนคนหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวเองได้ประโยชน์จากต้นไม้สาธารณะ เลยเข้าร่วมกิจกรรมนี้เพราะอยากรู้ว่าคนที่ต้องตัดแต่งดูแลต้นไม้ต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้เข้าใจกระบวนการทำงาน หรือหากว่ามีโอกาสและความสามารถเขาก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมให้ความช่วยเหลือเพื่อดูแลต้นไม้ของเมือง ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ทำให้เขามีความรู้ มีประสบการณ์ และคิดว่าถ้าประชาชนได้เข้ามาเรียนรู้เยอะๆ จะได้แบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่ได้บ้าง
“ที่ผ่านมาเราอาจจะเดินผ่านต้นไม้แล้วละเลยที่สังเกตมัน แต่จริง ๆ แค่เพียงโฟกัสนิดหน่อยก็จะสังเกตได้ว่ามีแมลงเจาะอยู่หรือเปล่า ข้อมูลพวกนี้มีประโยชน์ต่อการวางแผนดูแลต้นไม้ ตัดแต่งต้นไม้ในอนาคต ทำให้รู้สึกว่าต่อจากนี้หากเรามีเวลา น่าจะลองพักสายตาจากหน้าจอมาดูต้นไม้ และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อพี่ ๆ รุกขกรในอนาคต”