“หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” สะท้อนการหล่อเลี้ยงวิญญาณ “จิตอาสา”​

ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก ​มองสิ่งที่ได้มากกว่าเงินบริจาคเกือบ 70 ล้านบาท จาก กิจกรรมOne Man & The River ​คือการพัฒนา “จิตอาสา” ของสังคมไทยให้เติบใหญ่ แข็งแรง ชี้ งบฯ ที่จัดให้สถานพยาบาลพอเพียงในระดับพื้นฐาน แต่ยังต้องการเงินทุนสนับสนุนอีกมาก

วันนี้ (24 ต.ค. 2565) นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ เปิดเผยว่า จากกิจกรรมว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขง ในโครงการ One Man & The River หนึ่งคนว่าย หลายคนให้ ซึ่ง โตโน่- ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ นักแสดงและนักร้อง ว่ายน้ำเป็นระยะระยะทาง 15 กม. เพื่อระดมทุนจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลไทย และ สปป.ลาวนั้น เราได้เรียนรู้ในหลายมิติ โดยต้นทุนพื้นฐานของสังคมไทยอย่างหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก คือ จิตวิญญาณของจิตอาสา ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ไม่มีเหมือน มีไม่เท่า

“ในยามที่ สังคม บ้านเมือง มีความทุกข์ร้อน วิญญาณจิตอาสาของคนในสังคมจะแสดงฤทธิ์เดช โดยมีตัวอย่างน้อยใหญ่ ปรากฏให้เห็นให้เห็น เช่น ภารกิจมากมายในพื้นที่ของ อสม ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19,  อาสาสมัครกู้ภัย ช่วง เหตุการณ์สึนามิ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ อาสาสมัครกู้ชีพ ที่ออกเหตุช่วยผู้ประสบเหตุ ป่วยฉุกเฉินทั่งประเทศ ฯลฯ”

นายแพทย์วิทยา ยังกล่าวอีกว่า คนที่มีจิตวิญญาณของจิตอาสา โดยพื้นฐานจะเป็นคนที่มีพรหมวิหาร 4 เป็นหลักยึดในการครองชีวิต ชุมชน สังคม องค์กรที่มีคนมีศีล มีพรหมวิหาร 4 มีจิตวิญญาณของจิตอาสา อยู่ในชุมชนนั้น ๆ มาก ๆ จะเป็นชุมชน สังคม องค์กร  ที่มีความสุข มีความเจริญก้าวหน้า มีทุกข์ร่วมทุกข์ มีสุขร่วมสุข ขาดเหลือแบ่งปัน มีปัญหาอุปสรรค มีภัยพิบัตินานา ก็ร่วมมือกันแก้ไข

ภาพของการแสดงออกของสังคมที่ผู้คนมีวิญญาณของจิตอาสา คือ มีเงินออกเงิน มีแรงออกแรง มีปัญญา เสนอ ปัญญ มีเวลา เจียดเวลามาให้ มีมุทิตาจิต เมื่องานประสบความสำเร็จ ด้วยความเต็มใจ โดยไม่มีเงื่อนไข

การรักษาพยาบาลเป็นภารกิจพื้นฐานที่สังคมจะต้องมี แต่งานรักษา บริการผู้ป่วยเป็นงานพลวัฒน์  มีผู้ป่วยรายใหม่มากมายมหาศาลต้องมาโรงพยาบาลเพื่อขอรับการรักษาทุกวัน ทุกเวลา ในขณะที่มีวิชาความรู้ใหม่ ๆ วิธีการใหม่ ๆ เครื่องมือใหม่ ๆ ในการรักษาพยาบาลเกิดขึ้น แทบจะทุกวัน หยูกยาที่ได้มาไม่นานก็ใช้หมดไป เครื่องมือที่ได้ไม่ช้าไม่นานก็ชำรุด อาคารสถานที่นานไปก็เก่าแก่ไม่เหมาะสมกับการให้บริการผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น  งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้สถานบริการ ก็พอเพียงในระดับพื้นฐาน แต่เครื่องไม้เครื่องมือที่ต้องการการทดแทนและพัฒนา ยังต้องการเงินทุนสนับสนุนอีกมาก เราจึงเห็นภาพที่โรงพยาบาลทุกแห่ง แม้กระทั่งโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ต้องมีมูลนิธิ เพื่อหารายได้เพิ่มเติมมาใช้ในภารกิจการให้บริการ

ทั้งนี้ เป็นความจริงที่ว่า เราต้องพยายามอย่างสุดกำลังที่จะป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย ไม่ให้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ความคิดที่จะต้องป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยเป็นความคิดที่ถูกต้อง เพราะ “prevention is better than cure” แต่แม้จะมีมาตรการการป้องกันการเจ็บป่วย การบาดเจ็บที่สุดอย่างไร ที่สุดการเจ็บป่วยก็ยังต้องเกิดขึ้น ยุทธศาสตร์การจัดการกับปัญหาทุกยุทธศาสตร์ทั้งระดับชาติถึงระดับโลก  จึงจะต้องมีการดูแลรักษาพยาบาลหลังเกิดเหตุ คู่ขนานไปกับการป้องกัน เพื่อรองรับเมื่อผู้คนเจ็บป่วย เพราะการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เจ็บ ตาย เป็นสัจธรรม คู่โลก คนในสังคมจึงต้องมีระบบเพื่อรับมือกับสัจธรรมนี้ให้เหมาะสม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active