WHO ชมไทย ต้นแบบสู้โควิด – ภาค ปชช. สวน ความจริงไม่ตรงปก

“กลุ่มคอมโควิด-19” ชี้ คำชมจาก WHO ย้ำให้ไทย ต้องเร่งผลักดันระบบสุขภาพประชาชนอย่างจริงจัง ยอมรับ ที่ผ่านมาภาคประชาสังคม ต้องช่วยปิดจุดอ่อนรับมือวิกฤตสุขภาพ ที่เกิดอุปสรรคจากกลไก หลักเกณฑ์ของรัฐ  

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เท็ดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghrebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) มีหนังสือส่งตรงถึง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงความคืบหน้าที่ WHO ได้เลือกประเทศไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศจากทั่วโลก และเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ดำเนินโครงการกลไกทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health and Preparedness Review : UHPR) และถอดบทเรียนความสำเร็จการรับมือวิกฤตโควิด-19

ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ยังได้ชื่นชมจุดเด่นของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ช่วยเหลือคนไทย และผู้อาศัยในประเทศไทยช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ไม่ว่าการได้รับสนับสนุนโดยผู้บริหารระดับสูง ที่กำหนดนโยบายประเทศ การมีระบบสาธารณสุขไทยที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม มีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนและชุมชน

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  บอกด้วยว่า ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ยังระบุว่าจากการนำเสนอการดำเนินงานของประเทศไทยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่อนามัยโลก (World Health Assembly :WHA) เมื่อเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับ และสนใจจากสมาชิกของ WHO เป็นอย่างยิ่ง ทำให้ขณะนี้ตัวอย่างของประเทศไทยถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของคู่มือแนะนำที่สมาชิก WHO จะนำไปปรับใช้การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับโลกอุบัติใหม่

“ขณะนี้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญของ WHO กำลังจัดทำคู่มือและปรับปรุงข้อแนะนำที่ได้จากกลไก UHPR และขอให้ประเทศไทยยังคงร่วมโครงการนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิก WHO และคนทั่วโลกต่อไป”

ไตรศุลี ไตรสรณกุล

แนะรัฐใช้คำชม WHO ต่อยอดการทำงานร่วมภาคประชาชน

ด้าน พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ตัวแทน “กลุ่มคอมโควิด-19” (Community-led COVID-19 Support Workforce) หนึ่งในเครือข่ายภาคประชาชน ที่ลุกขึ้นมาดูแล และจัดการผู้ติดเชื้อโควิด โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่แสดงอาการ ก่อนที่นโยบายระดับชาติจะขานรับ และหันมาใช้แนวทางเดียวกันนี้ จนรู้จักกันในนาม Home Isolation และ Community Isolation มองว่า คำชื่นชมจาก WHO เป็นผลดีสำหรับไทย เพราะหมายความว่าไทยได้รับการจับตาจากองค์กรระดับโลก ซึ่งอ้างอิงได้ว่าการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขของไทย ทำได้ดี และสามารถเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่น ๆ ได้

ดังนั้นเสียงชื่นชมนี้ รัฐบาลควรผลักดันให้การทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมเพื่อรับมือโรคอุบัติใหม่ในอนาคตมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะถ้ามองจากข้อเท็จจริง และการถอดบทเรียนรับมือโควิดที่ผ่านมาจะเห็นชัดเจนว่าบทบาทของภาครัฐยังเต็มไปด้วยช่องว่าง และข้อจำกัด

ความจริงกระบวนการ(ร้องขอ)มีส่วนร่วม สู้วิกฤตโควิด

พญ.นิตยา ยอมรับว่า ที่ผ่านมารัฐยังไม่ได้ทำให้ภาคประชาสังคมรู้สึกว่าเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อรับมือวิกฤตด้านสาธารณสุขได้จริง เพราะความร่วมมือที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ มาจากการที่ภาคประชาชนต้องไปร้องขอ ไปขออนุญาตให้รัฐช่วยทำ และสนับสนุน โดยกลไกรัฐเต็มไปด้วยข้อจำกัด หลักเกณฑ์ การทำงานกับภาคประชาชนจึงไม่ราบรื่น

“รัฐมองว่าตัวเองคือเจ้าของประเทศ ต้องรับผิดชอบและแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยตัวเอง ทั้ง ๆ ที่กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของราชการเต็มไปด้วยอุปสรรคที่ทำให้งานด้านสาธารณสุขไม่ราบรื่น สิ่งที่ภาคประชาชนทำอยู่ คือการทำงานที่สะท้อนความจริงจากชุมชน ที่ทุกคนร่วมมือกันจริง ๆ เพื่อให้รอดไปด้วยกัน การจะให้รัฐมาช่วยสนับสนุน จึงต้องไปขอร้อง คำชมจาก WHO ว่าไทยเห็นความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมจึงเป็นเรื่องรับไม่ค่อยได้”

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์



ระบบสุขภาพทิ้งคนไว้ข้างหลัง

พญ.นิตยา ยังระบุถึงประเด็นที่ WHO มองว่า ไทยดูแลคนทุกคนในที่อยู่ในประเทศให้ก้าวพ้นวิกฤตโรคระบาด นั้น เรื่องนี้ก็ยังเต็มไปด้วยคำถาม เพราะข้อเท็จจริงที่ทุกคนทราบคือ ระบบสาธารณสุขของรัฐ ยังมีปัญหา ยิ่งไม่ต้องพูดถึงกับระบบที่ไม่ได้รองรับคนที่ไม่ใช่คนไทย อย่าง แรงงานข้ามชาติ เห็นชัดเจนว่า โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งยังเลือกปฏิบัติ ยังเห็นการเรียกเก็บเงิน วางเงินการรักษาเมื่อพวกเขาติดเชื้อโควิด การเข้าไม่ถึงวัคซีน เข้าไม่ถึงยา ซึ่งถือว่าผิดเพี้ยนจากนโยบาย

ต่อยอดบทเรียนโควิด สู่ “คณะทำงานคลังสมองชุมชน”

ขณะเดียวกัน การที่ WHO ยกให้ไทยเป็นต้นแบบรับมือโรคอุบัติใหม่ที่ประเทศอื่น ๆ ควรเดินตามนั้น ถ้าดูจากข้อเท็จจริงแล้วภาครัฐเอง ยังแทบไม่ได้ให้ความสำคัญกับการถอดบทเรียนรับมือโควิด เพราะเห็นอยู่ว่าคนที่พยายามถอดบทเรียนคือภาคประชาสังคม และบุคลากรทางการแพทย์บางกลุ่มที่ทนไม่ไหวกับระบบ แต่ไม่เห็นความพยายามภาครัฐที่จะถอดบทเรียน

“เมื่อเกิดวิกฤตภาคประชาสังคมลุกขึ้นมาทำงานกันเอง โดยไม่ต้องรอให้ภาครัฐร้องขอ เพราะเราเห็นว่าระบบไม่ได้รองรับ และสนับสนุนมากพอ ซึ่งความเดือดร้อนของคนในชุมชน ประชาชนผู้มีรายได้น้อย รอไม่ได้ ถ้ารัฐอยากเป็นเจ้าของประเทศ และทำให้ทุกคนก้าวข้ามวิกฤตไปด้วยกันได้จริง ๆ ก็ควรต้องคิดถึงการลงทุนระยะยาว เพื่อให้เกิดระบบสุขภาพประชาชนที่ยั่งยืน และไม่ใช่แค่โควิด ยังมีอีกหลายวิกฤตทางสุขภาพที่ยังคงเกิดขึ้น รัฐจึงควรเตรียมความพร้อมร่วมกับภาคประชาชนให้มากกว่านี้”

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์

ตัวแทน “กลุ่มคอมโควิด-19” ยังบอกอีกว่า สิบเนื่องจากโควิด ทำให้ภาคประชาสังคม ตั้ง “คณะทำงานคลังสมองชุมชน” เพื่อนำเอาบทเรียนกระบวนการทำงานรับมือโควิด มาต่อยอดใช้กับการรับมือโรคอื่น ๆ เช่น การรับมือ HIV วัณโรค ไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังพบผู้ป่วยส่วนใหญ่ ติดปัญหากับข้อจำกัดในระบบบริการสาธารณสุข รวมทั้งคณะทำงานนี้จะร่วมกันจับตานโยบายต่าง ๆ ด้านสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากระบบสุขภาพอย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active