“อีโบลา” กลับมาระบาดอีกครั้ง

WHO ประกาศภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค คัดกรองเข้มผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะประเทศยูกันดาทุกราย ขณะเดียวกันพบผู้ป่วยฝีดาษลิงเพิ่มในประเทศอีก 1 คนจากประเทศโอมาน

วันนี้ (25 ต.ค. 2565) องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์ ถึงสถานการณ์การระบาดของโรคอีโบลา ในยูกานดา โดยมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา ยูกานดา ได้ประกาศว่าเกิดการระบาดของโรคอีโบลา ซึ่งมีสาเหตุมาจากไวรัสในซูดาน และมีการยืนยันทางห้องทดลองว่า พบผู้ป่วยจากหมู่บ้านท้องถิ่นแห่งหนึ่งในประเทศ

ต่อมาวันที่ 25 ก.ย. พบผู้ป่วยเพิ่มเติม 18 คน  จาก 3 เขต ในประเทศ ได้แก่ มูเบนเด เค-เยเก-กวา และคาซันดา พร้อมทั้งมีผู้เสียชีวิตอีก 23 คนจากไวรัสตัวนี้ จึงนับเป็นการระบาดครั้งแรกในรอบ 12 ปี ในยูกานดา 

องค์การอนามัยโลก ระบุว่า การระบาดครั้งนี้มีความเสี่ยงสูงในระดับระหว่างประเทศเพราะ  1.ยังขาดวัคซีนที่ได้รับการรับรองสำหรับการป้องกันไวรัสซูดาน 2. พบว่ามีความเป็นไปได้ที่เกิดติดเชื้อกัน 3 สัปดาห์ก่อนหน้าที่จะมีการพบเคสแรก และไม่สามารถติดตามต้นตอการแพร่ระบาดได้ และ 3. พบผู้ป่วยในหลายพื้นที่ และยังขาดระบบการป้องกันและอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ (ชุดพีพีอี) และผู้ป่วยที่เสียชีวิตก็ถูกเผาตามประเพณีซึ่งมีคนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่มีในขณะนี้  องค์การอนามัยโลกยังไม่มีการแนะนำจำกัดการเดินทาง หรือติดต่อค้าขายกับยูกานดา ในขณะนี้

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค

ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศทวีปแอฟริกาที่เริ่มต้นในเดือนกันยายน 2565 โดยข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขประเทศยูกันดาและองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2565 มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศยูกันดาหลายเมือง จำนวน 90 คน และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 44 คนอัตราป่วยตาย  49% ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อ 11 คน และเสียชีวิต 5 คน ซึ่งการระบาดครั้งนี้เป็นการระบาดของไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซูดาน ซึ่งมีความรุนแรงเป็นอันดับสอง (อัตราป่วยตายเฉลี่ย 53%) รองมาจากสายพันธุ์ซาอีร์ (อัตราป่วยตายเฉลี่ย 68%) 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือน ก.ย. กรมควบคุมโรคได้ยกระดับมาตรการป้องกันที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เนื่องจากโรคอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยดำเนินการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศยูกันดา ทุกรายจะต้องได้รับการคัดกรองสุขภาพและลงทะเบียน ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนเข้าประเทศไทยทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ไทยพบผู้ป่วยฝีดาษรายที่ 12 จากโอมาน

ขณะเดียวกัน กรมควบคุมโรคยังตรวจพบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานรรายที่ 12 เป็นนักท่องเที่ยวเพศชาย อายุ 25 ปี สัญชาติโอมาน เดินทางมาจากประเทศโอมาน มากับเพื่อน 4 คน สอบถามข้อมูลเบื้องต้นที่อยู่ใน จ.ภูเก็ต ผู้ป่วยมีประวัติไปเที่ยวสถานบันเทิง ไปร้านอาหารอาหรับ ปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ปฏิเสธเพศทางเลือก ต่อมาวันที่ 11 ต.ค. 65 เริ่มมีอาการไข้ ไอ ปวดศีรษะ มีตุ่มหนองขึ้นตามลำตัว อวัยวะเพศ ขา และหน้าอก ต่อมาวันที่ 18 ต.ค. 65 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลป่าตอง จ.ภูเก็ต และทางโรงพยาบาลได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจเชื้อที่ห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11/1 จ.ภูเก็ต ผลตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อ Monkeypox virus ส่วนเพื่อนอีก 3 คน ไม่มีอาการสำหรับปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้ออยู่ระหว่างการสอบสวนโรค

สถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ต.ค. 65) พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรยืนยัน จำนวน 75,345 คนพื้นที่การระบาดส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบทวีปยุโรป ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 27,774 คนบราซิล 8,778 คน สเปน 7,277 คน ฝรั่งเศส 4,084 คน และสหราชอาณาจักร3,686 คน มีผู้เสียชีวิต 32 คน จากประเทศไนจีเรีย 7 คน บราซิล 7 คน กานา 4 คน สหรัฐอเมริกา 4 คน สเปน 2 คน  แคเมอรูน 2 คน  เบลเยียม 1 คน  เอกวาดอร์1 คน   อินเดีย 1 คน  ซูดาน 1 คน  คิวบา 1 คน  และเช็กเกีย 1 คน

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องที่ประชาชนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิธีป้องกันโรคฝีดาษวานร คือการใช้ถุงยางอนามัย แม้ถุงยางอนามัยจะป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หลายโรค แต่ถุงยางอนามัยยังไม่สามารถป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ เพราะการสัมผัสชิดเนื้อแนบเนื้อก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้ การป้องกันจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีอาการไข้ มีผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองบริเวณร่างกาย งดการมีเพศสัมพันธ์หรือสัมผัสใกล้ชิดคนแปลกหน้าหรือไม่รู้ประวัติมาก่อน สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ใกล้ชิดผู้อื่น หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล  ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รับประทานอาหารปรุงสุกสะอาด เลี่ยงการไปสถานที่แออัดหรือเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดโรคฝีดาษวานร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active