คนพิการไม่ทน! ร้อง คมนาคม ถูกสายการบินปฏิเสธ เพราะเดินเองไม่ได้

เจรจาวุ่น ก่อนจบลงด้วยดี มอบหมายการบินพลเรือน ขีดเส้น 7 วัน เรียกสายการบินชี้แจง พร้อมหาแนวทางแก้ไข ปรับปรุงบริการอย่างเท่าเทียม หากยังเมินเฉย อาจถึงขั้นพิจารณาใบอนุญาตประกอบกิจการการบิน

วันนี้ (28 ก.พ.67) ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนขนส่งมวลชนเพื่อคนทั้งมวล ประกอบด้วยองค์กรและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม 20 องค์กร ร่วมกันยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากกรณีที่ กฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล นักรณรงค์ ผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ ถูกสายการบินเอกชนแห่งหนึ่งปฏิเสธไม่ให้เดินทาง ด้วยเหตุผลว่าไม่สามารถเดินเองได้ ส่งผลกระทบต่อการทำงาน ที่สำคัญถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหรือไม่

โดยมีการประกาศข้อเรียกร้อง ขอให้กระทรวงคมนาคม ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีตามที่รับทราบจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยสั่งการให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ต้องยกเลิกใบอนุญาตการบินชั่วคราวจนกว่าสายการบินเอกชนดังกล่าว จะแก้ไขปัญหาเสร็จเรียบร้อย  

ตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมารับมอบหนังสือ แต่ไม่สามารถเจรจาเพื่อรับข้อเสนอของภาคประชาชน ที่ต้องการต่อสายพูดคุยกับ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.กระทรวงคมนาคม จึงเคลื่อนตัวพยายามที่จะเข้าไปในกระทรวงฯ​ ด้วยการแบก หามคนพิการขึ้นบันไดก่อนที่ สรวุฒิ  เนื่องจำนงค์ เลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะปรากฏตัวลงมาเจรจา และขอเป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ เพราะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง โดยข้อเรียกร้องจากเครือข่ายฯ​ ได้แก่

  • ขอให้กระทรวงคมนาคมเร่งแก้ไขปัญหา และปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีตามที่รับทราบจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยสั่งการให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก

  • ขอให้กระทรวงคมนาคมตั้งคณะทำงานโดยมีตัวแทนจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมถึงผู้แทนทุกสายการบินในตำแหน่งระดับสูงที่สามารถตัดสินใจได้ ร่วมคณะทำงาน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน เพื่อร่วมแก้ปัญหา ติดตาม รวมถึงดูแลสร้างมาตรฐานจัดการให้มีระบบการเข้าถึงขนส่งสาธารณะทุกประเภท ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม โดยตั้งเป็นชุดคณะทำงานที่ปรึกษาหรือแนวทางใดๆ ก็ได้ ให้มีการว่าจ้างทำงานไม่ใช่การทำงานฟรีเหมือนตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา 

  • คณะทำงานควรจะมีหน้าที่ร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ยั่งยืนอย่างเร็วที่สุด เร่งประกาศกฎ ข้อบังคับที่เป็นธรรม ทัดเทียมมาตรฐานสากล เพื่อไม่ให้ใครถูกละเมิดสิทธิ์ ด้านการเดินทางอีก

  • ขอให้มีการจัดอบรมเพื่อให้มีการบริการที่สะดวกสบายปลอดภัย ให้เกิดการปฏิบัติงานอย่างมีมาตรฐานร่วมกันระหว่างผู้โดยสารที่มีความต้องการพิเศษกับทุกสายการบิน มีการวัดคุณภาพ รายงานผลให้ทำได้อย่างต่อเนื่อง 

  • ในการให้บริการผู้โดยสารที่มีความต้องการพิเศษ ในส่วนของสายการบินหากเกิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม กระทรวงคมนาคมควรพิจารณาหาแนวทางเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
มานิตย์ อินทร์พิมพ์ 

มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและความเท่าเทียม ยังเล่าถึงปัญหาที่ตนเอง และกลุ่มคนพิการต้องเผชิญก่อนหน้านี้ในหลายกรณี เช่น สายการบินบางแห่งไม่มีรถเข็นภายในห้องโดยสาร (Cabin Wheelchair) ให้บริการ เจ้าหน้าที่ต้องใช้วิธีแบกหามเพื่อไปยังที่นั่ง แม้จะเป็นการให้บริการด้วยหัวใจ และไมตรีที่หวังดี แต่ไม่ใช่เรื่องน่าชื่นชมเพราะสายการบินมีหน้าที่อำนวยความสะดวกและจัดหารถเข็นมาอำนวยความสะดวก และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากความบกพร่องในหน้าที่ 

เช่นเดียวกับ ศิลปชัย วัชรชวกุล นายกสมาคมส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในประเทศไทย และเพื่อนสมาชิกคนตาบอด บอกว่า ถูกปฏิเสธการเดินทาง เส้นทางกรุงเทพฯ – หาดใหญ่ ด้วยเหตุผลว่า ในเที่ยวบินดังกล่าวจะมีผู้โดยสารตาบอด เกินจากเงื่อนไขในการจำกัดผู้โดยสารที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ทั้งที่เจ้าตัวจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าเป็นเวลานาน และได้โทรแจ้งโดยตรงกับสายการบินว่า เป็นผู้โดยสารตาบอดที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ รวมถึงอีกหลากหลายกรณีที่เกิดขึ้นในรอบ 20 ปี โดยไม่มีท่าทีปรับปรุงแก้ไข

ขณะที่ตัวแทนจาก สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมว่าสิทธิในการเดินทาง ถือเป็นสิทธิตามกฎหมาย และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ทุกคนมีสิทธิใช้สินค้า/บริการ ที่ทั่วถึงเป็นธรรม ดังนั้นในกรณีนี้ความเดือดร้อนเกิดขึ้นแล้ว กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานกำกับดูและควรเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบและแก้ปัญหา 

ด้าน สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังรับหนังสือร้องเรียนจากเครือข่ายว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เรียกสายการบินดังกล่าว เข้ามาชี้แจงรายละเอียดภายใน 7 วัน พร้อมหาแนวทางแก้ไข และปรับปรุงการให้บริการต่อกลุ่มคนพิการและคนทั่วไปอย่างเท่าเทียม แต่หากสายการบินยังคงเมินเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะพิจารณาเรื่องการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการการบินต่อไป

“หากการส่งหนังสือตักเตือนครั้งนี้ไม่คืบหน้าภายใน 1 อาทิตย์ และหากยังคงนิ่งเฉยจะเอาเรื่องถึงที่สุด โดยทางกระทรวงคมนาคมพร้อมดูแลประชาชนทุกภาคส่วน แต่ขอเวลาสักครู่เพื่อรอคำตอบจากสายการบินดังกล่าวเสียก่อน”

สรวุฒิ เนื่องจำนงค์

พร้อมกันนี้ยังได้กำชับให้ทุกสายการบินทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทางอากาศยานของผู้โดยสารที่เป็นคนพิการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการปฏิเสธการรับขนส่งผู้โดยสารที่เป็นคนพิการ จากเดิมตามกฎหมายนั้นทุกสายการบินต้องไม่ปฏิเสธการให้บริการผู้โดยสาร เว้นแต่กรณีที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัย

ขณะที่ในช่วงบ่าย เครือข่ายฯ ส่วนหนึ่ง เดินทางไปยื่นหนังสือถึง วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร บริเวณอาคารรัฐสภา โดยมีธงชาติ รัตนวิชา ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับมอบหนังสือ ขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรใช้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติในการช่วยกันขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขจัดความเหลื่อมล้ำในการใช้บริการโดยสารเครื่องบิน ขจัดการลิดรอนสิทธิในการเดินทาง ซึ่งมีรองรับไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญซึ่งออกโดยรัฐสภา อีกทั้งยังเป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำกิจการในประเทศไทย ได้รับผลประโยชน์จากประเทศไทย แต่เลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิคนไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่เคารพกติกาของประเทศไทยและกติกาสากล ขัดกับเจตนารมย์ของพันธกรณีระหว่างประเทศทุกฉบับ โดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active