เวทีสุดท้าย “เมืองมีส่วนร่วม” เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ แนะ สร้างกลไกการมีส่วนร่วม ติดตามผลการปฏิบัติตามนโยบายที่เป็นรูปธรรมหลังการเลือกตั้ง พร้อมส่งคำถามตรงถึงผู้สมัครฯ บนเวทีดีเบต
วันนี้ (16 พ.ค. 2565) ไทยพีบีเอส ร่วมกับภาคประชาชน 84 องค์กร ในนาม “เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ” จัดกิจกรรมและเวทีนำเสนอนโยบายถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในหัวข้อ “เมืองมีส่วนร่วม” ซึ่งเป็นเวทีสุดท้ายของกิจกรรม “ฟังเสียงกรุงเทพฯ” และเป็นเวทีสำคัญในการประมวลผลจัดทำ “สมุดปกขาว” เพื่อเป็นข้อเสนอนโยบายของภาคประชาชนในการระดมเสียง สร้างการมีส่วนร่วมนำเสนอนโยบายสาธารณะต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่
‘ฐิติกร สังข์แก้ว’ นักวิจัยเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (TPD) ในฐานะตัวแทนทีมนักวิชาการร่างสมุดปกขาว กล่าวถึงที่มาที่ไปของสมุดปกขาวว่า เนื่องจาก กทม. ไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ตั้งแต่ปี 2556 ระหว่างนั้นสังคมเกิดการพลวัต และโจทย์ท้าท้ายใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะโควิด-19 ที่ทำให้ปัญหา ช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยิ่งทวีความสลับซับซ้อน เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทำให้ผู้สมัครหลายคนชูนโยบายแข่งขันกันในหลากหลายประเด็น ด้วยเหตุนี้เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ จึงร่วมกับไทยพีบีเอส จัดเวทีฟังเสียงกรุงเทพฯ มา 5 เวที ต่อเนื่อง ได้แก่ เมืองน่าอยู่ เมืองปลอดภัย เมืองทันสมัย เมืองเป็นธรรม เมืองสร้างสรรค์ นำมาสู่เวทีสุดท้าย เมืองมีส่วนร่วม เพื่อให้ความต้องการ ภาพฝัน ของประชาชนที่มีความซับซ้อน ถูกเพิ่มเติมเข้าไปเป็นนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ นอกเหนือจากแผนยุทธศาสตร์พัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580)
“การที่มีข้อเสนอของภาคประชาชนเข้าไป อย่างแรกหมายความว่าเราต้องไปทบทวนแผนยุทธศาสตร์พัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี ว่ามีความครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน อย่างที่สองแผนฯ อาจจะทำไว้ดีแล้ว เพียงแต่เป็นแผนฯ ระยะยาว ในขณะที่สมุดปกขาวมาจากความต้องการวันนี้ และมี 4 ประเด็นที่ไปไกลกว่าแผนฯ ระยะยาวยาวของกรุงเทพฯ ฉะนั้น ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็น่าจะรับฟังไว้”
ฐิติกร สังข์แก้ว
โดยประเด็นที่เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ เสนอเพิ่มเติมจากแผนยุทธศาสตร์พัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี คือ
- พื้นที่สาธารณะคนรุ่นใหม่ จากเวทีเมืองน่าอยู่
- ความรุนแรงทางเพศ ในครอบครัว ที่ กทม. ต้องให้ความสำคัญในการมีระบบเฝ้าระวัง รับแจ้ง ฟื้นฟู จากเวทีเมืองปลอดภัย
- ความเท่าเทียมทางเพศ จากเวทีเมืองเป็นธรรม
- ยกระดับศักยภาพชุมชน จดทะเบียนชุมชน จากเวทีเมืองเป็นธรรม
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญ จำเป็นของการที่ภาคประชาชน ควรเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ข้อเสนอเชิงนโยบาย อย่างแรก คือ สมุดปกขาวเล่มนี้ เป็นกลไกนโยบายเชิงวิพากษ์ ในสังคมประชาธิปไตย ที่ไม่ได้ยึดมั่นกับคำสัญญาของผู้สมัครเท่านั้น แต่เป็นการร่วมคิด ร่วมตรวจสอบ มองความเป็นไปได้เชิงนโยบาย โดยมุ่งให้อำนาจกับประชาชน
“เราจำเป็นต้องมีกลไกการวิพากษ์ในระดับนโยบายที่มุ่งให้อำนาจกับประชาชน ไม่อย่างนั้นคุณก็จะได้นโยบายที่เหมือนกับสินค้าที่เข้าไปยืนชี้ แล้วใครสัญญาว่าจะให้อะไรก็เอาพอถึงเวลา 4 ปี ก็เลือกตั้งใหม่ เพราะฉะนั้นนโยบายแบบที่ภาคประชาชนกำลังทำกันอยู่ นอกจากมาจากตัวเรายังส่งเสริมให้ประชาชนสามารถที่จะมีอำนาจในการติดตาม เงื่อนไขเหล่านี้จะทำให้ประชาธิปไตยมีคุณภาพเพิ่มขึ้น”
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
ตัวแทนภาคประชาชนจาก 6 เมือง ยังร่วมกันสรุปข้อเสนอในสมุดปกขาว เช่น
เมืองน่าอยู่ มีข้อเสนอ เพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการน้ำ จัดการฝุ่น จัดการขยะ ไปจนถึงการเพิ่มพื้นที่สาธารณะ
เมืองปลอดภัย เน้นการพัฒนาระบบสุขภาพ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดอาชญากรรมในเมืองและช่วยเหลือพิบัติภัยในชุมชนแออัด ความเสมอภาคระหว่างเพศ ผ่องถ่ายงานให้ภาคประชาชนที่มีความสามารถ เข้าใจในปัญหาเป็นคนทำ
เมืองทันสมัย ที่การขับเคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล
เมืองเป็นธรรม การดูแลกลุ่มเปราะบางให้มีชีวิตอย่างเท่าเทียม รวมถึงความเป็นธรรมของเมือง อยู่ร่วมในเมืองอย่างไรโดยไม่ถูกเบียดขับ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยที่มั่นคง
เมืองสร้างสรรค์ เช่น การเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชน และการพัฒนาระบบศิลปวัฒนธรรมอย่างครบวงจร
เมืองมีส่วนร่วม เน้นการสร้างกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะโดยภาคประชาชน
เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ยังร่วมกันวางเส้นทางและตัวชี้วัดการมีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบนโยบายผู้ว่าฯ กทม. หลังเลือกตั้งว่าจะขับเคลื่อนร่วมกันต่ออย่างไร เช่น การเสนอให้มีการประชุมเป็นประจำ เช่น ทุก 3 เดือน กทม. พบประชาชน หรือมีธรรมนูญระดับเขต เปิดเวทีกลางในเขตในเมือง มีตัวแทนของประชาชน เข้าไปร่วมคิด ร่วมทำกับผู้ว่า ทีมผู้สมัคร ข้อเสนอเชิงนโยบายจาก 6 เวที จะถูกนำไปเป็นประเด็นคำถามในเวทีแสดงวิสัยทัศน์ผู้ว่าฯ กทม. ที่ไทยพีบีเอส อาทิ “การสร้างเมืองประชาธิปไตยจากการมีส่วนร่วม” ผู้สมัครแต่ละคนมีอะไรเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม พร้อมมอบ “สมุดปกขาว: ข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน” สัญญาประชาคมเพื่อเปลี่ยนมหานคร ให้กับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.