ชี้เลือกตั้งสะท้อนปรากฏการณ์ พลังภาคพลเมือง ย้ำแนวคิดประชาชนเป็นเจ้าของเมือง เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม ตรวจสอบ ติดตามฝ่ายนโยบาย เป็นหุ้นส่วนการพัฒนา กทม. อย่างแท้จริง
วันนี้ (13 พ.ค. 2565) สภาองค์กรชุมชนกรุงเทพมหานคร ที่ประกอบด้วยตัวแทนของทั้ง 6 โซน คือ โซนกรุงเทพฯ เหนือ, ใต้, กลาง, ตะวันออก, ธนบุรีเหนือ และ ธนบุรีใต้ รวมทั้งตัวแทนเชิงประเด็น ของแต่ละโซนพื้นที่ เช่น ประเด็นด้านที่อยู่อาศัย, เศรษฐกิจ, สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ร่วมกันประชุมจัดทำร่างข้อเสนอ ‘เมืองมีส่วนร่วม’ หนึ่งในข้อเสนอจากเวทีฟังเสียงกรุงเทพฯ ที่เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ กว่า 80 องค์กรจัดขึ้น เพื่อนำข้อเสนอเชิงนโยบายส่งถึงผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. ในกิจกรรม รวมพลัง “กำหนดอนาคตเมือง” ร่วมสร้างนโยบาย “เปลี่ยนเมืองใหญ่” วันที่ 16 พ.ค.นี้
โดยที่ประชุม เห็นตรงกันว่า การมีส่วนร่วมพัฒนา กทม. ของภาคประชาชน สะท้อนความคิดเห็นในฐานะผู้เป็นเจ้าของเมือง และร่วมกันตรวจสอบ ช่วยให้ ผู้ว่าฯ กทม. และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจความต้องการคนเมือง อีกทั้งเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา กทม.อย่างแท้จริง ทั้งนี้ได้สรุปความเห็นเป็นข้อเสนอ ‘เมืองมีส่วนร่วม’ เสนอต่อผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. ประกอบด้วย
1. ข้อเสนอการมีส่วนร่วมด้านนโยบายสาธารณะ
- ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องส่งเสริม/สนับสนุนให้มีเวทีกลางระดับเขต/จังหวัด และต้องมีระเบียบรับรอง เพื่อการมีส่วนร่วมจัดทำแผนพัฒนา กำกับ ติดตามความคืบหน้า และเสนอแนะของการดำเนินการบริหารและการพัฒนา
2. ข้อเสนอการมีส่วนร่วมด้านโครงสร้างการบริหารกรุงเทพมหานคร / เขต
- ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องออกคำสั่งแต่งตั้งผู้แทนสภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัด เป็นกลไกร่วมบริหารการพัฒนา กทม. โดยเฉพาะคณะกรรมการอนุมัติแผนงานพัฒนา และคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานการบริหารงาน กทม.
- ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องออกคำสั่งแต่งตั้งผู้แทนสภาองค์กรชุมชนระดับเขต เป็นกลไลร่วมบริหารการพัฒนาระดับเขต และคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานการบริหารงานระดับเขต
3. ข้อเสนอเชิงการพัฒนา
- จัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ครอบคลุมทั้งชุมชนที่จดแจ้งและไม่ได้จดแจ้งจาก กทม.
- ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข ให้เป็นโรงพยาบาลมาตรฐานทั้ง 50 เขต
- จัดตั้งศูนย์ชุมชนจัดการตนเองในระดับเขต และโซน เพื่อการแก้ไขปัญหา และพัฒนาชุมชน
- แก้ไขระเบียบการบริหารจัดการชุมชน กทม.ให้สอดคล้องกับวิถีความเป็นอยู่ของคน กทม. ที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เพื่อส่งเสริม / สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตมิติต่าง ๆ (เช่น ที่อยู่อาศัย, เศรษฐกิจ และทุนชุมชน, สิ่งแวดล้อม, ระบบสาธารณสุข, ความปลอดภัยชุมชน, การเพิ่มพื้นที่สีเขียว, การฟื้นฟู, ขนบธรรมเนียม ประเพณี, การจัดการพลังงาน เทคโนโลยี)
ณัชพล เกิดเกษม ประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพฯ บอกว่า ข้อเสนอที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งสะท้อนถึงความต้องการของประชาชน คน กทม. ซึ่งที่ผ่านมาการเข้าถึงกระบวนการมีส่วนร่วมแทบไม่เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญ ให้ประชาชนได้นำเสนอแนวทางเพื่อไปสู่การออกแบบ พัฒนา และแก้ไขปัญหาเมืองอย่างมีส่วนร่วม ด้วยพลังภาคพลเมืองอย่างแท้จริง
“ที่ผ่านมาคน กทม.เพียงแค่ร่วมรับรู้ แต่แทบไม่ได้ร่วมคิด ร่วมวางแผนพัฒนาเมือง เห็นเพียงแค่ว่า กทม. จะทำอะไร ผลกระทบจะเกิดขึ้นหรือไม่ แทบไม่ได้มีส่วนร่วม หรือมีสิทธิแสดงความเห็น การทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับเมืองได้จริง จึงเป็นสิ่งที่ว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ต้องให้ความสำคัญ”
ณัชพล เกิดเกษม ประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพฯ
ประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนกรุงเทพฯ ยืนยันด้วยว่า จากนี้กลไกเวทีกลางของภาคพลเมือง ผ่านกลไกของสภาองค์กรชุมชน จะต้องเกิดขึ้น ให้เป็นพื้นที่สำหรับประชาชน ได้ติดตามการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ รวมถึงผู้อำนวยการเขตฯ ถึงการผลักดันนโยบาย รวมถึงการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดย ผู้ว่าฯ กทม. อาจจำเป็นต้องออกระเบียบบังคับให้เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง และทำได้อย่างสม่ำเสมอ เหมือนอย่างในต่างประเทศ ที่ให้ผู้บริหารของเมือง มารับฟังปัญหาด้วยตัวเอง หรือที่เรียกว่า Town Meeting ที่สำคัญภายหลังการเลือกตั้งผ่านไป 3 เดือน สภาองค์กรชุมชน จะจัดเวทีกลางนี้ขึ้นเพื่อทวงถาม ติดตามนโยบายจากผู้ว่าฯ กทม. และจะเดินหน้ากลไกนี้เป็นระยะ ๆ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำกับ ติดตามการทำงานของผู้ว่าฯ กทม.อย่างมีประสิทธิภาพ
สอดคล้องกับ ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-net) ยืนยันว่า หลังการเลือกตั้งภาคประชาชน จะสร้างกลไกขึ้นมาติดตามการทำงานของผู้ว่าฯ กทม.อย่างเข้มข้น ทั้งในระยะ 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน เพื่อให้เห็นว่า ผู้ว่าฯ กทม. นำเสนอนโยบายที่สอดคล้องกับข้อเสนอ ข้อเรียกร้องจากภาคประชาชนหรือไม่ และ ทำได้ตามนโยบายที่ตัวเองหาเสียงหรือไม่ นี่คือแนวทางที่จะผลักดันไปสู่การสร้างสภาพลเมืองให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
เลขาธิการ P-net ยังเห็นว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ถือเป็นปรากฎการณ์ของความตื่นตัวภาคพลเมือง ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลง กทม. ไม่เพียงแค่ต้องการให้ กทม.เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่สิ่งเหล่านี้จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการระดับประเทศ ทำให้ทุกคนเริ่มตื่นตัว และอยากเห็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เกิดขึ้นในจังหวัดของตัวเอง เพื่อจะได้สะท้อนอย่างแท้จริงว่าประชาชนต้องการผู้ว่าฯ แบบไหน