ปลุกกรุงเทพฯ ชูข้อเสนอ “สร้างเมืองปลอดภัย” ที่ยังไม่เห็นจากแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.

เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ สะท้อนประเด็นความรุนแรงต่อผู้หญิง ครอบครัว พื้นที่อาหารปลอดภัย ชุมชนแออัด เป็นวาระเร่งด่วน หลังไม่พบรูปธรรมในนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เพื่อสร้าง “มหานครปลอดภัย” อย่างแท้จริง

Bangkok Active Forum: ฟังเสียงกรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “เมืองปลอดภัย” เกิดขึ้นที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 21 เม.ย. 2565 โดยเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ เพื่อออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบาย ส่งถึงมือผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

“สอยดาว” หนึ่งในกิจกรรมของกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเสนอ โดยดาวแต่ละดวงจะแทนมิติความปลอดภัยในกลุ่มเปราะบาง เช่น ปัญหาการคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะแบบสอบถามที่ผู้หญิงร้อยละ 80 บอกว่าเคยเกิดขึ้นกับพวกเธอ และเสนอให้ กทม. มีระบบรับแจ้งเหตุที่เป็นธรรมต่อผู้เสียหาย การบรรจุนโยบายเรื่องความหลากหลายทางเพศเข้าไปอยู่ในองค์กรรัฐ รวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้คนพิการเดินทางปลอดภัย ไร้รอยต่อ

มิติอาหารปลอดภัย เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน ชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมปลูกผักแบบรู้ที่มา ไปจนถึงการสร้างพื้นที่อาหารที่ปลอดภัย เนื่องจากบทเรียนในสถานการณ์โควิด-19 ที่คนเมืองเข้าไม่ถึงอาหาร จึงเสนอให้ผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป มีนโยบายทำให้เมืองผลิตอาหารได้เอง มีระบบเฝ้าระวังวัตถุดิบและอาหารก่อนที่จะเข้ามาในเมือง รวมถึงสร้างให้เกิดระบบการเชื่อมโยงอาหารปลอดภัย เช่น ในศูนย์เด็กเล็ก โรงพยาบาล มีเม็ดเงินมากพอที่จะซื้ออาหารปลอดภัยเพื่อรองรับวิกฤตในอนาคต

มิติชุมชน ผังเมือง ถนน การเดินทาง ผ่านบัตรคำขนาดใหญ่ บอกสิ่งที่ฝัน สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในมหานครใหญ่แห่งนี้ มีทั้งเสนอให้ กทม. สนับสนุนระบบ อุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยในชุมชนแออัดที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กทม. ไปจนถึงการเปลี่ยนพื้นที่เปลี่ยว รกร้าง เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้

จิตติมา ภาณุเตชะ ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิง และความเป็นธรรมทางเพศ

จิตติมา ภาณุเตชะ ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิง และความเป็นธรรมทางเพศ หนึ่งในผู้นำกิจกรรม กล่าวว่า เวทีวันนี้ ช่วยตกผลึกข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง เพราะเมืองปลอดภัยไม่ได้หมายถึงเพียงถนนหนทาง หรือ ไฟฟ้าส่องสว่าง แต่หมายถึงความรู้สึกในการใช้ชีวิตของผู้คน ซึ่งต้องอาศัยผู้บริหารเมืองที่ทำงานร่วมกับภาคประชาชน

“ถ้าเราจะบริหารและนำพาเมืองให้ไปสู่เมืองที่เราบอกว่าเป็นเมืองแห่งสุขภาวะ เมืองที่ปลอดภัย เมืองที่จะพัฒนาผู้คน โดยเฉพาะในมิติเรื่องของคุณภาพชีวิต คิดว่าคงจะละเลยเสียงเหล่านี้ไม่ได้ คงจะต้องนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์และวางกลไก งที่จะสนับสนุนให้กลุ่มคนเล็กคนน้อยที่อาศัยอยู่ในเมือง แต่ไม่ใช่ปัญหาเล็กปัญหาน้อย ได้มีกระบวนการที่จะส่งเสียง ตรวจสอบการทำงานของคนที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารได้ตลอดการทำงาน ไม่ใช่แค่ฟังในเฉพาะช่วงที่เสนอนโยบายเท่านั้น”

จิตติมา ภาณุเตชะ

นักวิชาการ – ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ปัญหา ‘เมืองปลอดภัย

นอกจากกระบวนการระดมความเห็นของภาคประชาชนแล้ว ยังมี เวทีรวบรวมข้อเสนอเชิงนโยบายจากผู้เชี่ยวชาญ ในแต่ละด้านที่เกี่ยวกับเมืองปลอดภัย ประกอบด้วย ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด ปัญหาอุบัติเหตุ ปัญหาภัยพิบัติ อุบัติภัยจากการก่อสร้าง อาหารปลอดภัย และสุขภาพปฐมภูมิของกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี

วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิง และความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา สะท้อนปัญหาที่เกิดจากอาชญากรรม โดยมีข้อเสนอให้ กทม. ใช้เทคโนโลยีปักหมุดจุดเสี่ยงเกิดเหตุ และใช้พลังของชุมชนเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังชี้ให้เห็นปัญหา เรื่อง ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีปัญหาดังกล่าวเพิ่มขึ้น จึงควรใช้กลไกการทำงานของ กทม. ที่มีให้เกิดประโยชน์ อย่างสำนักพัฒนาสังคมที่กระจายอยู่ทุกเขต และกองทุนพัฒนาสตรี ที่ต้องเข้ามาแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะที่ เนืองนิช ชิดนอก ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัมสี่ภาค ร่วมสะท้อนปัญหาภัยพิบัติ ที่เกิดขึ้นในชุมชนของ กทม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนแออัด ที่มีข้อจำกัดเรื่องการเข้าให้ความช่วยเหลือ และระงับเหตุอย่างทันท่วงที ยกตัวอย่าง กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ในชุมชน ที่รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปได้ กทม. ควรสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นเบื้องต้นในทุกชุมชน เรือดับเพลิงกรณีชุมชนอยู่ติดแม่น้ำ ลำคลอง และให้ครอบคลุมชุมชนซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามระเบียบ เพื่อให้ได้รับงบประมาณการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง

ปัญหาใกล้ตัวคนกรุงเทพฯ อย่างอุบัติเหตุ ผศ.ณพงศ์ นพเกตุ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า กทม. ควรให้ความสำคัญ กับ คนเดินเท้าเป็นอันดับแรก ทั้ง เรื่องของทางเท้า ทางข้ามแยก หรือทางม้าลาย เป็นต้น แม้ปัญหาดังกล่าว อาจมีข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างที่ทับซ้อน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน แต่ ผู้ว่าฯ กทม. ควรทำหน้าที่ประสานงาน และลดข้อจำกัดการเดินทางของคนเดินเท้าให้ได้มากที่สุด

ผศ.ณพงศ์ กล่าวว่า บางเรื่องที่ กทม. มีอำนาจ และสามารถทำได้ทันที ก็ควรทำ อย่างเช่น การนำสิ่งกีดขวางออกจากทางเท้า หรือไม่ก่อสร้างสิ่งใดบนพื้นที่ทางเท้า การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และใช้กลไกของชุมชน ในการร่วมชี้จุดเสี่ยง จุดอันตราย เพื่อเฝ่าระวังกรณีเกิดเหตุซ้ำ เพื่อให้ประชาชนระมัดระวังตัวเอง

ปัญหาความปลอดภัยที่ควบคู่กับอุบัติเหตุ คือ ผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้าง สิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ ภายในพื้นที่ กทม. รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในพื้นที่ กทม. มีโครงการก่อสร้างนับพันโครงการ โดยที่มาตรฐานด้านการก่อสร้าง ของวัสดุอุปกรณ์ และเทคโนโลยีของไทยไม่ได้เป็นปัญหา เมื่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ปัญหาจะอยู่ที่ ‘ระหว่างก่อสร้าง’ ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

ทั้งเรื่องของ สิ่งแวดล้อม และอุบัติเหตุ กรณีดังกล่าว มีกฎหมาย ระเบียบในการควบคุมตรวจสอบแล้วอย่างชัดเจน แต่การเกิดเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบนั้น เป็นผลมาจากการควบคุม ดูแลที่ไม่เคร่งครัด การปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จึงต้องทำหน้าที่กวดขัน และออกแบบแนวทางให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ คือ เรื่องอาหารปลอดภัย ปรกชล อู๋ทรัพย์ จากมูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI นำเสนอข้อมูลว่าต้นทางของการประกอบอาหารของคนกรุงเทพฯ ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ล้วนมีสารพิษเจือปนอยู่ไม่น้อย กทม. มีภารกิจที่ต้องส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชน โดยเสนอให้มีมาตรการเฝ้าระวังอาหารที่อาจมีสารพิษเจือปน ก่อนมาถึงคนกรุงเทพฯ โดยใช้อำนาจผู้ว่าฯ กทม. ออกระเบียบ หรือข้อบัญญัติให้เกิดการบังคับใช้อย่างจริงจัง และสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัย เพื่อเป้นทางเลือกสำหรับคนกรุงเทพฯ

สอดคล้องกับรอง นพ.วิชช์  เกษมทรัพย์ รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ แพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีที่มองว่า กทม. ควรนำร่องพื้นที่อาหารปลอดภัย และส่งเสริมสุขภาพระดับปฐมภูมิสำหรับกลุ่มเปราะบาง อย่างเช่น ทางเท้าที่ช่วยให้การเดินของคนกรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้น พัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ให้มีระบบรองรับผู้ป่วยใกล้บ้าน มีระบบส่งต่อ ให้คนกรุงเทพฯ รู้ว่าเมื่อป่วยแล้วต้องเข้ารับการรักษาที่ไหน เพราะ เมื่อเทียบกับต่างจังหวัดแล้ว ระบบสุขภาพปฐมภูมิของ กทม. ควรได้รับการปฏิรูป

ช่วงท้ายของเวที เป็นการสรุปการขับเคลื่อนนโยบายจากภาคประชาชน โดย ผศ.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้มีส่วนจัดทำแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร มองว่าพลังของเครือข่ายจะมีความหมาย หากหลังจากนี้เราจะติดตาม และตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าฯ ว่าได้ทำตามที่รับปากเราไว้หรือไม่ และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องมองหาผู้สมัครที่รู้ถึงปัญหาของ กทม. ทุกซอก ทุกมุม และข้อมูลในเชิงนโยบาย รวมถึงมองเห็นปัญหาการบริหารจัดการภายในกรุงเทพฯ ที่ควรมีการสังคายนากันครั้งใหญ่

เวทีฟังเสียงกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ยังมีนักวิชาการ และเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนประเด็นเมืองปลอดภัยในแต่ละด้าน และที่ปรึกษาการจัดทำแผนพัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี รวมถึงผู้สมัครผู้ว่า กทม. และทีมนโยบาย เข้าร่วมรับฟังและให้ความคิดเห็น ขณะที่เวทีฟังเสียงกรุงเทพฯ ครั้งที่ 3 จะจัดขึ้นในหัวข้อ “เมืองทันสมัย” (Smart City) วันที่ 30 เมษายน และออนไลน์ผ่านเพจ The Active

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้