แคมเปญ #เลือกตั้งผู้ว่าฯทั่วประเทศ ความหวัง กระจายอำนาจสู่ต่างจังหวัด

ภาคประชาสังคม ในนาม กลุ่ม We’re All Voters ผุดแคมเปญ #เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา หวังให้ประชาชนที่เห็นด้วย ส่งเสียงไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพรรคการเมือง ช่วยผลักดันกฎหมายให้ทุกจังหวัดมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นของตัวเอง

ผ่านไปเพียงไม่กี่วัน แคมเปญ เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ นี้ มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้วเกือบ 400 รายชื่อ โดยผู้ที่ร่วมลงชื่อ ให้เหตุผลว่า จังหวัดอื่นก็น่าจะเลือกตั้งได้เหมือนกัน “ประชาชนในท้องถิ่นใด ก็อยากเลือกผู้นำของตัวเองเช่นกัน และอยากเห็นทุกพรรคการเมืองบรรจุการแก้ไข รธน.ให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ทั่วประเทศ เป็นนโยบายพรรคก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า”

โดยแคมเปญนี้ อธิบายข้อดีของระบบการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แทนระบบการแต่งตั้งหลายประเด็น เช่น

  • ถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จะเกิดกลไกที่เรียกว่า “สภาพลเมือง” และมีกลไกที่ท้องถิ่น สามารถเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ ปชช. รับรู้ได้ง่ายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การตรวจสอบการทุจริตจะทำได้ง่ายกว่าผู้ว่าฯ ในระบบแต่งตั้ง
  • ทำให้ประชาชนมีตัวเลือก และเกิดการแข่งขันเชิงนโยบายที่เข้มข้น
  • ผู้ว่าฯ แต่งตั้ง มาพร้อมกฎหมายที่จัดสรรส่วนแบ่งรายได้ของแต่ละจังหวัดอย่างไม่เท่าเทียม ส่วนกลางได้ร้อยละ 65 ท้องถิ่นร้อยละ 35 และยังใช้งบประมาณอย่างไม่เป็นอิสระ แต่ถ้าเรามีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ จะสามารถกำหนดได้ว่าในวาระ 4 ปี ที่ดำรงตำแหน่งจะทำอะไรบ้างให้ประชาชน และจัดสรรงบได้เอง
  • จากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทำให้เราได้เห็นผู้สมัครอิสระหลายคน ลงรับสมัครอย่างเท่าเทียม หากมีการเลือกตั้งทั่วประเทศจริงอาจจะทำให้ คนรักษ์บ้านเกิดมีโอกาสเลือกตั้งและเป็นผู้บริหารที่จะขึ้นมาพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง นอกจากนี้ยังช่วยตัดปัญหาการโยกย้ายผู้ว่าฯ ที่ไม่เคยจะตรวจสอบได้ด้วย

“การได้เลือกคนที่เราชอบจากนโยบาย มันดีกว่า การแต่งตั้งใครก็ไม่รู้ ข้อดี คือ ยึดโยงและรับฟังเสียงประชาชน ถึงจะได้นั่งตำแหน่งนี้ได้

…ถ้าอยู่ในระบอบประชาธิปไตย การตรวจสอบโดยภาคประชาชนจะทำได้มีประสิทธิภาพมากกว่า ข้อเสนอยุบส่วนภูมิภาครุนแรงเกินไป และเกิดเสียงต่อต้าน การเลือกตั้งผู้ว่าฯ จึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นนำความเจริญมาสู่ต่างจังหวัด”

สันติสุข กาญจนประกร – ผู้ก่อตั้งแคมเปญ We’re all voters เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง

สันติสุข กาญจนประกร ผู้ก่อตั้งแคมเปญ We’re all voters เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง เปิดเผยว่า แคมเปญนี้ เกิดช่วงใกล้เลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. และเกิดคำถามว่า จังหวัดอื่นที่เสียภาษี ทำไมจึงไม่มีสิทธิเลือกผู้ว่าของตัวเองบ้าง เพราะผู้ว่าที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ค่อยได้ยึดโยงกับประชาชน

นอกจากนี้ หากเราได้เลือกตามระบอบประชาธิปไตย ผู้ว่าจะต้องเข้าหาประชาชน ซึ่งแตกต่างจากผู้ว่าที่มาจากส่วนกลาง ที่รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี เป็นจุดเริ่มต้นของการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น จุดประกายเล็กๆ เพื่อกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น การปกครองไทย แบ่งเป็นส่วนกลาง ภูมิภาคและท้องถิ่น

สันติสุข กล่าวอีกว่า แม้การเลือกตั้งแบบนี้อาจมีข้อเสีย หากการกระจายอำนาจไม่สมบูรณ์ และมีความเป็นไปได้ยากแต่ก็จะพยายามเดินหน้า รวบรวมรายชื่อยื่นให้พรรคการเมืองขับเคลื่อนต่อในสภาฯ และอาจจะยกระดับไปสู่การทำร่างกฎหมายเพื่อเป็นข้อเสนอของภาคประชาชนในอนาคต

ข้อดีข้อดี
1. ตรวจสอบทุจริตง่ายกว่าระบบแต่งตั้ง1. อาจเกิดการครอบงำจากการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น
2. เกิดการแข่งขันเชิงนโยบายสูง กระจายทรัพยากรทั่วถึง2. การกระจายอำนาจ อาจไม่สมบูรณ์ เสี่ยงล้มเหลว เช่น การแทรกแซงจากการเมือง การทุจริตคอมรัปชั่น
3. คนธรรมดารักษ์บ้านเกิด มีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ
4. ตรวจสอบปัญหาการโยกย้าย ผู้ว่าฯ ได้
5. ส่งเสริมการกระจายอำนาจในมิติอื่น ๆ เช่น เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ
6. ลดการบิดเบือน (distortion) และการเลือกปฏิบัติ (discretion) ของรัฐราชการ
7. ส่งเสริมอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นซึ่งถูกปิดกั้นจากภาวะรัฐรวมศูนย์มายาวนาน
รศ.ยุทธพร อิสรชัย

ความเป็นไป (ไม่)ได้? เลือกตั้งผู้ว่าฯทั่วประเทศ

ถ้าย้อนกลับไปดูข้อมูลจะพบว่า การเลือกตั้ง เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2518 จาก พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ซึ่งกำหนดให้ กทม. มีผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้ง วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี เช่นเดียวกับเมืองพัทยา ด้วยเหตุผล กทม. เป็นเมืองหลวง และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับ เมืองพัทยา ทั้งสองแห่งจึงมีการปกครองในลักษณะท้องถิ่นพิเศษ เพื่อความคล่องตัวโดยมีอิสระในการบริหาร และมีอำนาจในการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นด้วยตนเอง ขณะที่ในจังหวัดอื่นก็ยังคงให้มีการแต่งตั้งจนถึงปัจจุบัน

แม้หัวใจสำคัญของ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ คือ การกระจายอำนาจ เพิ่มอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และลดอำนาจรัฐราชการรวมศูนย์ แต่ รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักรัฐศาสตร์ มองว่า การเลือกตั้งในจังหวัดอื่นๆ ทำได้ยาก เพราะต้องรื้อกฎหมายกันใหม่ อย่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รัฐส่วนกลางก็คงจะไม่ยอมสูญเสียโครงข่ายเชิงอำนาจ โดยเฉพาะกลไกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านที่ใช้เป็นมวลชนจัดตั้งรัฐบาลระดับชาติ แต่นี่เป็นอีกความเคลื่อนไหวที่จุดประกายให้เราเห็นถึง ความต้องการกระจายอำนาจในระดับท้องถิ่นอีกครั้ง ผ่านข้อเสนอการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน