70 องค์กร เปิดตัว “เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ” รวมเสียง ปชช. เสนอ 6 ภาพฝันเลือกตั้งผู้ว่าฯ

‘ไทยพีบีเอส’ ผนึกภาคีมากกว่า 70 องค์กร เปิดตัว “เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ” ปักหมุดวาระ “เลือกตั้งผู้ว่าฯ – ส.ก.” เปลี่ยนมหานครด้วยเสียงประชาชน เสนอ 6 ทิศทางการพัฒนา เฝ้าจับตาฝ่ายการเมือง

วันนี้ (31 มี.ค. 2565) ไทยพีบีเอส และองค์กรภาคีภาคประชาชนมากกว่า 70 เครือข่าย ร่วมกันจัดงาน “Bangkok Active : ฟังเสียงกรุงเทพฯ” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดตัว “เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ” ซึ่งเกิดจากการรวมตัวขององค์กร เครือข่ายภาคประชาชน และคนรุ่นใหม่กลุ่มต่าง ๆ ที่ต้องการให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นผู้กำหนดทิศทางผู้ว่าฯ กทม. ด้วยการนำเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเมืองจากการรวบรวมเสียงของประชาชน

เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ได้ชวนประชาชนและภาคประชาสังคมกลุ่มต่าง ๆ ผู้สนใจเข้าร่วมกำหนดวาระทางสังคม โดยเฝ้าจับตาการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ด้วยการตั้งคำถาม นำเสนอประสบการณ์และภาพฝันของเมือง 6 ลักษณะที่ต้องการปลุกผู้ว่าฯ ให้ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง หวังให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครได้อย่างมีคุณภาพ ตอบโจทย์ความเป็นเมืองระดับสากลของประเทศไทย ได้แก่ 


1. “เมืองน่าอยู่” เรื่องการจัดการน้ำท่วม น้ำเสียที่ดี ไร้ฝุ่นควันพิษ และขยะ

2. “เมืองปลอดภัย” ครอบครัวปลอดภัย สัญจรปลอดภัย ประชาชนเข้าถึงพื้นที่อาหาร

3. “เมืองทันสมัย” การเดินทางเชื่อมต่อทางหลักและรอง ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และเป็นเมืองแบ่งปันเทคโนโลยี

4. “เมืองเป็นธรรม” เมืองของทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย มีสิทธิในการอยู่ร่วมกันในเมืองอย่างเป็นธรรม

5. “เมืองสร้างสรรค์ เมืองในฝันของคนรุ่นใหม่” เพิ่มพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว พื้นที่ศิลปะ เพิ่มโอกาสให้ความคิดสร้างสรรค์กับทุกกลุ่ม

6. “เมืองมีส่วนร่วม” มีธรรมมาภิบาล เพิ่มอำนาจประชาชน ชุมชนร่วมพัฒนาเมือง


ในงาน “Bangkok Active : ฟังเสียงกรุงเทพฯ” ครั้งนี้ เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ได้เปิดพื้นที่ขับเคลื่อนภาพฝันของเมือง 6 ลักษณะดังกล่าว โดยดำเนินการรวบรวมเสียงจากเครือข่ายประชาชนและคนรุ่นใหม่เพื่อรวบรวมความคิดเห็นสำหรับจัดเวทีต่อเนื่องอีก 6 ครั้ง ในเดือนเมษายน – พฤษภาคม โดยจะกลั่นกรองออกมาเป็นคำถามหลักเพื่อส่งไปให้ถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. บนเวทีดีเบตใหญ่ ในวันที่ 16 พฤษภาคม เพื่อประชันวิสัยทัศน์โค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้ง 22 พฤษภาคม 2565

ทั้งนี้ เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการรวมตัวกันของภาคีภาคประชาชนมากกว่า 70 องค์กร โดยมีใจความสำคัญว่า จะเป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้าจับตาผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ตั้งคำถามถึงนโยบายสาธารณะ และผลักดันทุกปัญหาให้รับการแก้ไขด้วยพลังเสียงของประชาชน ให้เกิดพันธสัญญาทางการเมืองร่วมกับผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอนาคตกรุงเทพมหานคร โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ความหมายของการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครในวาระนี้ คือ โอกาสในการสื่อสารและแสดงออกถึงพลังของสังคมในการมีส่วนร่วมมหานครและเมืองใหญ่ ที่คนทุกกลุ่มทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือกัน
  2. เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ จะจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้ให้ปราศจากการซื้อสิทธิ ขายเสียง โดยสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกหนึ่งในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งของภาคประชาชน
  3. เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ อยากเห็นการเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องเปลี่ยนจากวัฒนธรรมการแข่งขันทางการเมือง เป็นความร่วมมือสมานฉันท์ของผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ทุกคน เพื่อให้นำไปสู่การส่งเสริมการเมืองระดับชาติอย่างสร้างสรรค์ ไม่ขยายความขัดแย้งทางสังคม
  4. เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ อยากเห็นนโยบายของกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่แห่งนี้ อย่างเป็นธรรม มีสุนทรียภาพ ปลอดภัย เป็นเมืองสร้างสรรค์ระดับโลกเกิดขึ้นได้จริง พร้อมเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกกลุ่มในเมือง รวมถึงประชากรแฝง เช่น กลุ่มแรงงาน, คนจนเมืองมีส่วนช่วยพัฒนาเมือง เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน
  5. รัฐท้องถิ่นต้องยอมรับความเข้มแข็งของ Active Citizen กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง และไม่แสดงออกถึงการต่อต้านเหมือนที่ผ่านมา
  6. เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ขอเชิญผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เข้าร่วมเวทีวิสัยทัศน์ 6 ครั้ง เพื่อตอบคำถามเชิงนโยบายว่าเมืองน่าอยู่ เมืองปลอดภัย เมืองทันสมัย เมืองเป็นธรรม เมืองสร้างสรรค์ และเมืองมีส่วนร่วมจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร เริ่มทำทันที ให้เป็นพันธะสัญญาทางการเมือง


นอกจากนี้เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ได้เปิดตัวเว็บไซต์ BKK FOLLOW-UP หรือ OPEN BANGKOK โดยความร่วมมือของสถาบันพระปกเกล้า จัดทำนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ได้มากขึ้น เช่น สำรวจย้อนหลัง 10 ปี กับปัญหาที่กวนใจชาว กทม. การใช้งบประมาณ เพื่อประเมินว่า กทม. มีการพัฒนาแค่ไหน และควรได้รับการพัฒนาอย่างไรในอนาคต รวมถึงเครื่องมืออย่าง Smart Vote เพื่อดูความต้องการที่ตรงกันระหว่างสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องการ กับนโยบายที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ใช้หาเสียง

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดวงเสวนา เมื่อ “ภาพฝัน” ปะทะ “ความจริง” (Dream Bangkok & Reality Check) โดยตัวแทนเครือข่ายฯ กับ ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ทวิดา กมลเวชช คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้านักวิชาการที่เข้าร่วมจับสัญญาณความหวังของพลเมืองต่อเวทีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ครั้งนี้


สำหรับเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ประกอบด้วย องค์กร ภาคี เครือข่ายภาคประชาชน และคนรุ่นใหม่กลุ่มต่าง ๆ มากกว่า 70 องค์กร ดังนี้


1. หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) 2. สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งเเวดล้อม (SCONTE) 3. สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ 4. Docomomo Thai 5. กลุ่ม We Park 6. ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม 7. ชุมชนพูนสุข Farm Sharing Market 8. กลุ่ม Urban Studies Lab 9. สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง 10. มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ (กลุ่มบิ๊กทรี) 11.สมาคมรุกขกรรมไทย 12.กลุ่มยังธน 13.กลุ่ม Urban Ally 14.กลุ่มบึงรับน้ำ 15. เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง 16.ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) 17.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร 18. หลักสูตรสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ม.ศิลปากร 19.คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 20.สถาบันอาศรมศิลป์ 21.โรงเรียนรุ่งอรุณ 22.โรงเรียนรุ่งอรุณนานาชาติ 23.โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ: HITAP 24.โครงการพัฒนาเจ้าพระยาเดลต้า 2040 25.แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้า สภาวิจัยแห่งชาติ 26.คณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้า วิศวกรรม สถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 27.สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) 28. เครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR) 29.สถาบันพระปกเกล้า 30. เครือข่ายสลัมสี่ภาค 31. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) 32.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) 33. มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย (FNF) 34.สํานักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 35. มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) 36.สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ โดย สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI) 37.ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (We Move) 38.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 39.สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย – TUDA 40. มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) 41.RTUS-Bangkok ริทัศน์บางกอก 42.สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) 43. บางกอกนี้…ดีจัง 44.ตัวแทนคนรุ่นใหม่นางเลิ้ง Comcovid 45.ตัวแทนคนรุ่นใหม่บางลําพูเสน่ห์บางลําพู 46. เครือข่ายแรงงาน พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย 47.สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) 48.สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 49.สภาองค์กรชุมชน 50.ThisAble.me 51. ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้| T4A (Transportation For All) 52.ศูนย์การดํารงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณฑล 53.สภาผู้ชมผู้ฟังไทยพีบีเอส กรุงเทพฯ และปริมณฑล 54. มูลนิธิอิสรชน 55.ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 56.โครงการจุฬาอารี (โครงการบูรณาการสหศาสตร์เพื่อรองรับสังคมสูงวัย) 57. เครือข่ายเด็กเท่ากัน 58.วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต 59. เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ 60. เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย 61.กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 62.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) 63.สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย 64.อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปีม.ธรรมศาสตร์ 65.โครงการสวนผักคนเมือง 66. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) 67. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล (มญช.) 68.กลุ่มนิเวศสุนทรีย์ 69.Thai PBS 70.The Active 71. Decode 72. C site 73.The Happening 74.The Matter 75.WeVis 76. CITY CRACKER

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม