อนาคตเด็กไทยกับความปลอดภัยบนท้องถนน

ภาคีเครือข่ายร่วม เวทีเสวนาสาธารณะ กระตุ้นสังคมตระหนัก เร่งมือสร้างความปลอดภัยการเดินทาง ถอดบทเรียนสู่นโยบายที่ทำได้จริง

วันนี้ (18 ต.ค. 67) ที่โรงแรม เดอะพาลาสโซ กรุงเทพฯ (ถนนรัชดาภิเษก) มีการจัดเวทีเสวนาสาธารณะ “อนาคตเด็กไทยกับความปลอดภัยบนท้องถนน” โดยมีตัวแทนจากหลายภาคส่วนเข้าร่วม อาทิ คณะทำงานขับเคลื่อนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าฯ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักสนับสนุนสุขภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ฯลฯ

โดยในช่วงแรก สุนี ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าฯ ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า หลาย ๆ ส่วนมาร่วมกันเพื่อที่จะบอกว่า สิ่งที่ท้าทายทางสังคมก็คือ “ความปลอดภัยบนท้องถนน” สถิติทั้งของผู้ใหญ่ และเด็ก แม้จะไม่ชัดลงไปทั้งหมด แต่สถิติก็คือมีเด็กจำนวนมากที่เจออุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งถ้าเจาะลึกลงไปก็คงมีอีกหลายมิติ

พลังของการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะสังเกตว่า บางเรื่องเราสามารถทำได้ทันที ถ้าเราสามารถให้ความรู้กับเด็ก ๆ อย่างสนุกสนานตามวิถีของเขา ฉะนั้น มูลนิธิเด็กก็มีกระบวนการเล่น กระบวนการอ่าน ซึ่งวันนี้เริ่มตั้งแต่เด็กอนุบาล เริ่มตั้งแต่คุณครูพี่เลี้ยง ผู้ปกครองที่สามารถทำอะไรได้ ด้วยกิจกรรมบางอย่างที่เป็นแบบอย่าง และสอง เราจะไปที่มุมมองของหลาย ๆ ส่วน ก็หวังว่าเรื่องเล็ก ๆ ของเด็ก ๆ แต่จริง ๆ แล้วเราไม่ต้องการเกิดโศกนาฏกรรม เราต้องการการป้องกัน ต้องการพลังจากทุกฝ่าย ซึ่งก็เป็นความคาดหวังของการเสวนานี้

“วัตถุประสงค์ของงานคือความร่วมไม้ ร่วมมือ การวิเคราะห์ การหาทางออก ตั้งแต่ระดับเล็ก ไปจนกระทั่งถึงระดัยนโยบาย”   

ในช่วงของการเสวนา หัวข้อ “พลังนโยบาย และปฏิบัติการสร้างสรรค์เพื่อทำได้จริง” สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน กรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เกริ่นถึงสถานการณ์ กรณีรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ ทำให้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ขึ้น สร้างความสะเทือนใจให้สังคมอย่างมาก หลายครั้งเกิดสถานการณ์ที่เด็กตกเหยื่อ เมื่อวันเวลาผ่านไปก็ทำให้ข่าวเงียบหายไป จึงต้องคำถามว่าแล้วเราจะทำอย่างไรต่อ ? เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก รวมถึงการขับเคลื่อนไปสู่ระดับนโยบาย ซึ่งเป็นภาระกิจเร่งด่วน

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. บอกว่า เมื่อเป็นสังคมสูงวัย อัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตาย แปลว่าจำนวนประชากรไทยกำลังน้อยลงเรื่อย ๆ ทุกปี แรงงานก็จะน้อยลง คุณภาพชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ การเพิ่มประชากรเป็นเรื่องยากมาก ฉะนั้น เราต้องโฟกัสที่คุณภาพ แต่หลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์การสูญเสีย อันที่จริงแล้วป้องกันได้ ทำให้เรารู้ว่าคำว่าคุณภาพก็หมายถึงความปลอดภัย

ในภาพรวมเกือบ 2 หมื่นชีวิต ทุก 5 คนที่เสียชีวิต 1 คน นั้นเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน เป็นสัดส่วนที่สูงมาก และไทยติดอันดับต้น ๆ ของเอเชียที่มีปัญหาความไม่ปลอดภัยทางถนนมากที่สุด ซึ่งเป็นสถิติแบบนี้มานับสิบปี ไม่มีรัฐบาลไหนหยิบยกความปลอดภัยทางถนนมาเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องลงมือทำทันที

สสส. มีแผนงานที่ทำเรื่องความปลอดภัยทางถนน ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งประเทศ รวมถึงเครือข่ายนักวิชาการ ข้อมูลมีเยอะ งานวิจัยมีพร้อม มีท้องถิ่นเข้าร่วมร้อยกว่าท้องถิ่น

“ทุกอย่างพร้อมแล้ว เหลืออย่างเดียว จะทำเมื่อไหร่ นั่นเป็นคำถามสำคัญที่อยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ขบคิดกับเรื่องนี้” 

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค พูดถึงในมุมมองของผู้บริโภค ว่าจริง ๆ ยานพาหนะก็ต้องปลอดภัย และควรจะมีระบบขนส่ง ก็ต้องเรียนว่า สภาองค์กรผู้บริโภค ก่อนนี้หน้ามีการทำงานเรื่องรถโดยสาร รถรับส่งสาธาธารณะที่ต้องปลอดภัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. มาอย่างเนื่อง 

รถรับส่งนักเรียนต้องปลอดภัยอย่างไร ? ซึ่งขณะนี้มีต้นแบบรถรับส่งนักเรียนที่โรงเรียนสามารถนำไปใช้ได้ และประเด็นที่สองก็คือ นอกจากรถรับส่งนักเรียนที่ต้องปลอดภัยแล้ว ต้นทางของความไม่ปลอดภัยบริการขนส่งมวลชนที่ไม่ดี และขณะนี้ทุกคนต้องพึ่งตัวเอง ลองนึกภาพว่าถ้าไม่มีมอเตอร์ไซค์หรือรถส่วนตัว แล้วต้องใช้ชีวิตในชนบท จะใช้ชีวิตไม่ได้เลย

อุบัติเหตุต่าง ๆ ก็มากมาย เราจะลดก็ทำได้ยาก จึงต้องมาทำงานอีกมุมว่าสาเหตุการตายก็คือมอเตอร์ไซค์ ฉะนั้น ก็ได้ทดสอบหมวกกันน็อคประมาณ 25 ยี่ห้อ ก็พบว่า หมวกกันน็อคที่ใช้ก็ไม่ได้มาตรฐานเลย การทำงานเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน จริง ๆ ต้องทำงานให้เกิดระบบขนส่งมวลชนที่ดี ขณะนี้เรามีนโยบายเสนนอต่อคณะรัฐมนตรีไปแล้ว เพราะสภาสามารถเสนอนโยบายต่อครม.ได้

“เราเสนอไปว่า บริการขนส่งมวลชนต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ จะมีบริการขนส่งอย่างไรที่ทำให้ทุกคนขึ้นรถได้ทุกวัน”

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค

ด้าน ประภาส ปิ่นตบแต่ง กรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส สมาชิกวุฒิสภา บอกว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันเพื่อที่จะสรุปบทเรียน รวมทั้งข้อสังเกต และข้อเสนอแนะ

ประเด็นแรกมีการพูดคุยเรื่องเหตุผล ความจำเป็นของกิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่นั้นมีความจำเป็น แต่ในแง่ของการดูแลก็ต้องมีความเข้มงวด ส่วนประเด็นที่สอง ก็พบว่า กฎหมาย กฎระเบียบ ทั้งกระทรวงการศึกษา กระทรวงคมนาคม ก็คงมีครบ แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย

และอีกประเด็น คือ เรื่องการให้ความรู้ตามหลักสูตร ซึ่งก็มีหลักสูตรวิชาลูกเสือ – เนตรนารี แต่ก็มีความเห็นร่วมกันว่าอาจจะยังไม่พอ ถ้าเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ อย่างในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจริงจังเรื่องนี้มาก อาจจะบริบทต่างกันด้วย

โดยประเด็นนี้กระทรวงศึกษาก็จะรับไปพัฒนาไปสู่การยกระดับหลักสูตร เพื่อที่จะให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น จากที่ได้ฟังประเด็นในวันนนี้ในส่วนของกรรมาธิการก็จะมีการเก็บประเด็นต่าง ๆ เอาเข้าเสนอเพื่อที่จะให้กรรมาธิการได้ติดตามการทำงาน

ช่วงท้ายของกิจกรรมมีการสรุปบทเรียนได้ว่า การต่อจิ๊กซอว์ที่จะไปต่อ ต้องเสริมพลังให้ใหญ่ขึ้น เรื่องอนาคตเด็กไทยกับความปลอดภัยบนท้องถนน ถ้าเห็นว่ามีความสำคัญ ต้องมีต่อว่ามันจำเป็นด้วย พอจำเป็นจะทำให้ต้องเร่งมือทำ และอย่าให้เรื่องนี้หายไปจากสังคม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active