“ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ขยาย430 แห่งในสังกัดกทม.

หวังสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก รับมือ อยู่รอด ท่ามกลางวิกฤติฝุ่น สู่การออกแบบนวัตกรรมแก้ปัญหาในอนาคต ‘ชัชชาติ’ ลุยแก้ฝุ่นที่ต้นตอ ทั้งการเผาชีวมวล รถยนต์ดีเซล  

(21 มี.ค. 67) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดกิจกรรม โครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี รองศาสตราจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เดินทางมากล่าวเปิดกิจกรรมดังกล่าว และได้เยี่ยมชมนิทรรศการ 7 โรงเรียนต้นแบบ ที่มีการวางแผนแก้ปัญหาฝุ่นควัน พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้จากเหล่าเยาวชนที่ร่วมกันระดมสมองในโครงการนี้

“ทั้ง 430 โรงเรียนของเรานั้น ต้องมีห้องเรียนที่สู้ฝุ่นได้ ห้องเรียนปลอดฝุ่น …เรากระจายห้องปลอดฝุ่นในทุกห้องเรียนแล้วก็อาจจะมีการทำนวัตกรรมใหม่ ๆ เสริมเข้ามา รวมทั้งศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนด้วย ก็จะเป็นนโยบายที่เราต้องทำให้ครบในปีนี้”

เมื่อถูกถามว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่น’ ในความคิดผู้ว่าฯควรจะเป็นห้องเรียนแบบไหน? ผู้ว่าชัชชาติตอบว่า ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพียงพอแก่นักเรียน สามารถป้องกันไม่ให้ฝุ่นเข้ามาได้อย่างจริงจัง ต้องเป็นระบบปิด มีเครื่องปรับอากาศ มีเครื่องกรองฝุ่น อาจจะไม่ต้องใช้ตลอด ใช้เฉพาะช่วงที่มันเป็นวิกฤตจริง ๆ แต่อาจจะไม่ใช่ทุกห้องเรียน ทุกห้องเรียนมันจะเยอะมาก ก็ต้องดูความจำเป็นอีกทีหนึ่ง อย่างน้อยก็ต้องมีห้องหลักหนึ่งห้อง ที่ถึงเวลาจำเป็นก็ให้เด็กมาอยู่ในห้องเหล่านี้ก่อน 

ด้านการเตรียมแผนรับมือของกทม. ผู้ว่าฯ ระบุเพิ่มเติมว่าจะต้องดู 2 ส่วน ส่วนแรกคือเรื่องของการกำจัดต้นตอที่ต้องทำ ได้แก่ การเผาชีวมวล เรื่องรถยนต์ดีเซล ลดการปล่อยควัน  และกรณีมีฝุ่นก็ต้องมีการป้องกันตัวเอง คือทำห้องเรียนสู้ฝุ่น ให้ความรู้ ให้อุปกรณ์ต่าง ๆสอดคล้องกับข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษที่ระบุว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกิดวิกฤติ PM 2.5 ในช่วงพฤศจิกายน – มีนาคมของทุกๆปี ๆ ปัญหาหลักมาจากการจราจรและยานพาหนะ โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล และโรงงานอุตสาหกรรม ตามมาด้วยปัญหาเผาแจ้งในที่โล่ง  ด้าน ผศ. นิอร สิริมงคลเลิศกุล ที่ปรึกษาโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น ระบุว่าห้องเรียนสู้ฝุ่น เป็นเรื่องที่จะต้องเรียนรู้เพื่อเตรียมการรับมือ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ 

โดยมีงานวิจัยชี้ชัดว่าเรื่องของฝุ่น เด็กมีโอกาสสัมผัส PM 2.5 ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา เพราะผ่านการแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับรกของคนเป็นแม่ ฉะนั้นการเรียนรู้เรื่องฝุ่น ไม่ควรจะเป็นเรื่องหลักสูตรที่เป็นเรื่องราวของการวัดผล เป็นเกรด เป็นคะแนน แต่มันเป็นเรื่องราวของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เราจึงอยากจะให้เรื่องราวเหล่านี้ ไปสู่นโยบายของการเรียนรู้เรื่องฝุ่นศึกษา

สสส. มีความคาดหวังว่า การเรียนรู้เรื่องฝุ่นจะเริ่มมาตั้งแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะเข้าไปหนุนเสริม ต้องเป็นหลักสูตรของท้องถิ่นไปด้วย แล้วจะไม่ใช่การเรียนรู้ตั้งแต่การที่เขาพูดได้ หรือว่าการที่เขาสามารถคิดคำนวณเลขได้ แต่มันควรจะเริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาล ที่เด็กสามารถแปลค่าคุณภาพอากาศได้ รู้ว่าวันนี้มีความหนาแน่นของอากาศอย่างไร ค่าฝุ่นเป็นอย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร

“เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าคนรุ่นใหม่จะต้องอยู่ในโลกที่วิกฤตอย่างนี้ ในสภาวะโลกที่แปรปรวน ส่วนคนรุ่นเราก็มีหน้าที่ที่จะต้องป้อนข้อมูล แล้วก็สร้างประสบการณ์ใหม่ ในการรับมือเหล่านี้ เพื่อลดผลกระทบที่ปลายทาง”

ที่ปรึกษาโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นยังระบุว่า สถิติของกรมการอนามัยโลกพบ 71% ของผู้เสียชีวิต ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ ซึ่ง กลุ่มเปราะบางที่สุดคือ กลุ่มเด็กและเยาวชน ท่ามกลางสถานการ์ณฝุ่น PM 2.5 ในทุกวันนี้ สสส. ก็ได้จัดกิจกรรมประชุมสร้างความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ภายใต้โครงการ ห้องเรียนสู้ฝุ่น หวังเปิดพื้นที่ให้เด็กๆผู้ได้รับผลกระทบรุนแรงได้เรียนรู้ และเตรียมตัวรับมือต่อสถานการ์ณฝุ่นในแต่ละพื้นที่ ซึ่งก็จะมีปัจจัยทางภูมิภาคที่แตกต่าง ส่งผลต่อรูปแบบการเรียนรู้และนวัตกรรมที่คิดค้นภายในโรงเรียน ซึ่งโครงการดังกล่าวริเริ่มปีแรกในพื้นที่เสี่ยงภาคเหนือก่อนจะขยายมาทำในโรงเรียนกรุงเทพมหานคร 32 แห่ง และปีนี้ตั้งเป้าขยาย 430 แห่ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active