“Political Safety Net” ตาข่ายนิรภัยสังคมประชาธิปไตย รองรับการเปลี่ยนผ่านหลังเลือกตั้ง

ภาคประชาชน เสนอสร้างความยั่งยืนรองรับสังคมประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ แม้สถานการณ์การเมืองไม่แน่นอน แต่ตาข่ายนิรภัยจะแข็งแกร่งถักทอ เดินหน้าต่อสู่นโยบายสาธารณะ ที่เสียงของประชาชนไม่ใช่แค่ตัวประกอบในฉากการเมือง 

13 มิ.ย. 2566 ไทยพีบีเอส ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงาน Post Election ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง ต่อยอดข้อมูลนโยบายสาธารณะหลังร่วมกันเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงงาน Hack Thailand 2575 โดยครั้งนี้ชวนคิดต่อในการถักทอตาข่ายนิรภัยสังคมประชาธิปไตย รองรับการเปลี่ยนผ่านหลังเลือกตั้งให้ยั่งยืน หรือ “Political Safety Net”

ศศิธร ศิลป์วุฒยา ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุว่า รูปแบบงาน Post Election มีทั้งหมด 4 รูปแบบเวที ได้แก่ เวทีภูมิภาค, เวทีเฉพาะประเด็น, เวที Hack Thailand และเวที Pitching (เวทีการนำเสนอไอเดีย) มีลักษณะเป็นพื้นที่ปรึกษาหารือ ให้คำแนะนำมากกว่าการให้ข้อมูล และเป็นการตัดสินใจจากล่างสู่บน หรือจากประชาชนสู่ข้อเสนอพรรคการเมือง ขณะที่ประเด็นความสนใจของผู้เข้าร่วมหลัก ๆ คือ สังคมและการศึกษาราว 52-53% รองลงมาคือ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการเมือง

ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ถูกคัดเลือกมาจากองค์กรผู้จัดงาน เป็นนักขับเคลื่อนและสนใจในประเด็นนั้นอยู่แล้ว ขณะที่ข้อค้นพบที่ได้ในเชิงคุณภาพมี 3 องค์ประกอบ คือ เป้าหมายประชาธิปไตย การมีส่วนร่วม และสามารถปรึกษาหารือได้ ขณะที่การให้อำนาจประชาชนมีน้ำหนักมากที่สุดด้วยรูปแบบของเวที ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมครอบคลุมกลุ่มความหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่มาจากองค์กรจึงไม่สามารถครอบคลุมได้เท่าที่ควร ทำให้มีน้ำหนักน้อย แต่กระบวนการเหล่านี้เป็นการสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยที่ควรได้รับการกำหนดให้เป็นวาระทางสังคม

“เสนอให้รูปแบบกระบวนการเหล่านี้ถูกกำหนดเป็น ”วาระทางสังคม” เพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะยกระดับการเรียนรู้ของสังคมร่วมกันและเป็นวงกว้าง”

ด้าน ธีรพัฒน์ อังศุชวาล อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การเกิดฉันทามติร่วมกันจากรูปแบบของการมีส่วนร่วมในการทำนโยบายสาธารณะ แม้ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ถือเป็นการจำลองพื้นที่ทางประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วม แตกต่างจากการทำนโยบายในอดีต ที่ส่วนใหญ่พรรคการเมือง จะทำนโยบายที่เน้นการรวมศูนย์ แก้ปัญหาปากท้องประจำวัน สอดคล้องกับแผนหลักของรัฐและพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่เคยยึดโยงกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ได้เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่กระบวนการใน Post Election กำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางนโยบายและการมีส่วนร่วมที่ไม่เหมือนเดิม 

“Post Election เป็นจุดเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมทางนโยบาย ที่สำคัญตรงการ empower ประชาชนและพรรคการเมือง ยกระดับคุณภาพประชาธิปไตย ที่มาจากประชาชน สื่อร่วมกำหนดทิศทาง ตาข่ายนิรภัยสังคมประชาธิปไตยจึงเสมือนการกรองสิ่งที่อยากได้ ออกมาจากประชาชน แต่มันควรจะเป็นลูกศรที่กำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอนาคต การทำให้พรรคการเมืองฟัง ปรับวิธีคิดการสร้างนโยบาย ที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน และการคุยนโยบายในลักษณะนี้เกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญช่วงการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยด้วย” 

ด้าน ผศ.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์ ผู้อำนวยการโปรแกรมคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) สะท้อนว่า สิ่งที่ได้จากการลงพื้นที่คนส่วนใหญ่ไม่มีความหวังว่าอนาคตจะเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งที่ดีกว่า โดยยึดโยงกับอดีตและสถานการณ์ปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนไม่กล้าหวัง

“ผลการพูดคุย คนคิดไปไม่ถึงการเปลี่ยนผ่าน มองว่าตอนนี้ไทยอยู่แค่เรื่องที่แก้ไม่ได้ ฟ้ามืด จึงมองว่าเอาแค่ภาพเมฆบังไปก่อนไหม แต่สิ่งที่ประชาชนอยากให้เป็นในอนาคต จาก 8 เวที  เช่น การศึกษา ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย เรียนจบแล้วมีความหมาย มีอาชีพและเข้าใจตนเอง มีความสุข สถานศึกษาเปิดกว้างมากขึ้น ทางเลือกการเรียนรู้หลากหลาย ครูเก่ง สังคมมีความเชื่อใจ ผู้นำรุ่นใหม่พี่งพาได้ เคารพสิทธิเสรีภาพ คุณภาพชีวิตดี  คนมีความรู้ สวัสดิการดี”

ส่วนด้านสุขภาพ อยากให้คนมีความรู้สุขภาพ ไม่พึ่งหมอมาก ไม่เสี่ยง NCDs เข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่ายและทั่วถึง มีสวัสดิการดี บุคลากรมีคุณภาพและศักยภาพ รัฐทันสมัย โปร่งใส ใส่ใจประชาชน เป็นธรรม กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากขึ้น ให้ภาคประชาชนเข้มเเข็งและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและยืนหยัด เศรษฐกิจ ไม่ต้องไปหางานข้างนอก อยู่ในพื้นที่แล้วมีงาน เกษตรกรมีคุณค่าขึ้น ยั่งยืนตรงตาม SDGs มีความรู้เรื่องการเกษตร มีความยั่งยืนทางอาหารและการเกษตร และสิ่งแวดล้อม มลพิษ ความเสื่อมโทรมลดลง มีการคุ้มครอง มีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตัวเอง

ขณะเดียวกันมีข้อเสนอว่า มีคนอยากช่วยเหลือสังคมและมีความหวัง แต่ขาดแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือ พรรคการเมืองขนาดเล็กได้ประโยชน์เพราะไม่มีพื้นที่ฟังเสียงประชาชน อยากให้มีแบบนี้ทุกปี จะได้บันทึกสิ่งที่ประชาชนต้องการ สื่อสาธารณะและภาคการศึกษาควรนำมาใช้ประโยชน์เป็นแพลตฟอร์ม มีการเชื่อมต่อระหว่างระบบพรรคและกลไกทางการเมือง รวมถึงรักษาความเป็นกลางและใช้ประโยชน์ของความเป็นภาควิชาการและสื่อสาธารณะอย่างเป็นกลางต่อไป

Post Election จุดเริ่มของการถักทอ “Political Safety Net”   

รูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองในการทำนโยบายสาธารณะโดยภาคประชาชน จะทำอย่างไรให้รูปแบบเหล่านี้ยังคงอยู่ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไรก็ตาม ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ถ่ายทอดผ่านประสบการณ์การทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้  ซึ่งมีความขัดแย้ง ความรุนแรง เกิดความเสียหายเยอะมาก หากมองในแง่การเปลี่ยนแปลงคือกระบวนการเปลี่ยนความขัดแย้งจากความรุนแรงมาสู่ความไม่รุนแรง แม้ไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมด แต่เหตุการณ์ก็ลดลง กระบวนการสันติภาพ เกิดการผลักดัน ขับเคลื่อนกลไกและกระบวนการที่เกิดจากคนข้างล่างช่วยกันสร้างขึ้นมา นำไปสู่การแก้ปัญหาไม่ใช้ความรุนแรง 

“ตาข่ายนิรภัยเกิดขึ้นจากกระบวนการนี้ด้วย เกิดจากพลังขับเคลื่อนทางสังคมที่อยู่ข้างล่าง รองรับสนับสนุนการพูดคุยในกระบวนการสันติภาพ มาจากภาคประชาสังคม การแก้ไขวิกฤตทางการเมือง ตาข่ายนิรภัยทางการเมือง คือ พวกเรา คนที่อยู่ข้างล่าง ช่วยกันขับเคลื่อนไปในทิศทางที่เราต้องการ ทั้งเรื่องของสื่อ ข้อมูลข่าวสารที่จะออกมาสู่พื้นที่สาธารณะ ทำให้การรับรู้ของคนเราเปลี่ยนไป พื้นที่กลาง พื้นที่สาธารณะต้องได้รับการคุ้มครอง เป็นหนึ่งในการถอดบทเรียนของพื้นที่ภาคใต้” 

เมื่อถามว่าแล้วจะทำอย่างไรให้ประชาชนไม่ตื่นตัวอย่างฉาบฉวย? ผศ.ศรีสมภพ แนะว่าเริ่มจากการแสดงออก การแลกเปลี่ยนความคิดผ่านการสื่อสาร ต้องมีพื้นที่ในการสื่อสาร มีตาข่ายนิรภัยเพื่อชะลอความคิด สิ่งที่พยายามรักษาคือพยายามอย่าเสียพื้นที่กลางที่ใช้ในการสื่อสาร ผลักดัน หรือ ปัญหาต่าง ๆ หากรักษาพื้นที่ได้จะสามารถผลักดันสู่อนาคตได้ รวมถึงเครือข่ายการร่วมมือกัน และโอกาสในการขยายพื้นที่

ด้าน นเรศ ดำรงชัย Co-Founder Accel Group Co.,Ltd ระบุว่าผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว การเลือกตั้งคือการมีส่วนร่วมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เราเก็บกดมา 9 ปี บางคนอยู่ได้สบาย บางคนสิ้นหวัง เชื่อว่าทุกคนไปเลือกตั้ง 14 พ.ค. ด้วยหัวใจพองโต เชื่อว่ายังมีน้องอีกหลายคนอายุไม่ถึง แต่คนมีสิทธิ์ มีส่วนร่วมได้แค่กากบาท นั่นคือการมีส่วนร่วมที่ยิ่งใหญ่ สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง Post Election ยังไม่เห็นอนาคต การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นผลกระทบใหญ่น่าจะเท่ากับ 2475 เรามีการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดประชาธิปไตย และจุดพลิกผัน คือ 2490 นักอนาคตศาสตร์ จะบอกว่าเราต้องมองอนาคตหลายแบบ เสียงที่ไปหย่อนบัตร หากไม่สะท้อนเสียงส่วนใหญ่ก็อาจจะหมุนวนอยู่กับที่ เราอาจจะต้องรออีก 4 ปี 

ขณะที่ รุ่งมณี เมฆโสภณ ที่ปรึกษาองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) มองว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีความแน่นอน มาถึงจุดที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งมิติการเมืองและสังคม แต่ที่สำคัญคือเทคโนโลยีและภูมิทัศน์สื่อก็เปลี่ยนไปเช่นกัน คนมักจะไม่คุ้นชินกับการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะมาในเชิงบวกหรือเชิงลบก็ตาม แต่หากเราเข้าใจ พร้อมจะเผชิญหน้า ก็จะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ในทุกสถานการณ์ 

“การเมืองไม่ต่างจากโควิด-19 ป้องกันความเสี่ยงได้อาจต้องมีส่วนร่วมในการสร้างนโยบายทางสังคม บทบาทของสื่อสาธารณะ The Active และภาคีเครือข่าย เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ทำสำเร็จ ท้าทายพลังที่มีอยู่ทั้งหมดช่วยกัน ย้อนพูดถึงจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองต้องเอาใจใส่ และได้ให้สิ่งที่ดีที่สุดใหักับพลเมือง”

ผศ.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคม Thai Startup  ระบุว่าสตาร์ตอัปเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาบางเรื่องเพื่อใครบางคน เห็นปัญหาแล้วพยายามแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ และต้องไม่เคยชินกับการประสบปัญหา มองนโยบายเป็น product แล้วมาระดมความคิด ไม่เอาเครื่องมือเป็นตัวนำ แต่หาเหตุผลที่แท้จริงของปัญหาก่อน คิดแบบลูกค้า ทำยังไงให้นโยบาย ตอบโจทย์ประชาชน แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ทุกคน 100% แต่มีการจัดร่วมกัน

“ในอนาคต เราเป็น supply หนึ่งในการเปลี่ยนเเปลง ให้ความเห็น ความร่วมมือ หรือชัดความคิดที่เป็น inspire ให้คนอื่นในการสร้างโอกาสสร้างอนาคต กล้าตั้งคำถามหาคำตอบ และร่วมกันไปสู่ทางออกใหม่บนเครื่องมือใหม่” 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active