‘ก้าวไกล’ ฟัง Voter พลิกวิกฤต กดดันพรรคอื่นปรับตัว รับการเมืองยุคใหม่

นักนิเทศศาสตร์-นักวิเคราะห์การเมือง ย้ำ ‘ก้าวไกล’ ยุติดีล ‘ชาติพัฒนากล้า’ สะท้อนการสื่อสารฉับไว ฟังเสียงสังคม สร้างการเมืองขับเคลื่อนโดยประชาชน ประชาธิปไตยทางตรง รักษาอุดมการณ์ มากกว่าต่อรองอำนาจ

จากกรณีเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์จน #มีกรณ์ไม่มีกู ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่งตลอดคืนที่ผ่านมา ภายหลังพรรคก้าวไกล เจรจากับพรรคชาติพัฒนากล้า เพื่อตกลงโหวตให้ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี และเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งภายในเวลานาน พรรคก้าวไกล ต้องออกแถลงขอโทษประชาชน พร้อมยืนยัน ไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคชาติพัฒนากล้าแล้ว โดยอ้างถึงการประชุมว่าที่ ส.ส.ของพรรค เห็นสอดคล้องกับ ประชาชน เจ้าหน้าที่พรรค คณะทำงานจังหวัด และสมาชิกพรรค ไม่สามารถยอมรับการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคชาติพัฒนากล้าได้

แถลงของพรรคก้าวไกล ยังขอน้อมรับคำวิจารณ์ทั้งหมด ขอโทษประชาชน และขอโทษพรรคชาติพัฒนากล้าที่ต้องยุติการเจรจา พร้อมยืนยันว่า การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล จะอยู่บนพื้นฐานจุดยืนทางการเมืองตามที่เคยหาเสียงไว้  

ยอมถอยรักษาอุดมการณ์-ฐานเสียง

วันนี้ (20 พ.ค.66) รศ.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยกับ The Active ยอมรับว่า พรรคก้าวไกลสื่อสารกับกระแสสังคมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งโลกออนไลน์ถือเป็นฐานที่มั่นของพรรคมาตลอด โดยเฉพาะฐานในทวิตเตอร์ ที่พรรคใช้สื่อสาร ถกเถียง นโยบายต่าง ๆ กับประชาชน จนสร้างแฟนคลับ และแปรเปลี่ยนเป็นฐานคะแนนสำคัญสำหรับการเลือกตั้งที่ผ่านมา นั่นทำให้พรรคทราบดีถึงกระบวนการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการการตอบรับแบบฉับไว รวดเร็ว ถ้าพูดถึงประชาธิปไตย อุดมการณ์ของพรรค ก็ต้องยึดถือบนหลักการให้แน่น ยอมรับว่า อาจเป็นอีกบทบาทที่ก้าวไกลต้องเหนื่อยกับกระบวนการเข้าใจ Voter แต่ถือว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญที่พรรคการเมืองต้องทำ

รศ.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ

“พรรคก้าวไกลคงชั่งน้ำหนักแล้ว คิดว่าในโลกความจริง การเมือง การตั้งรัฐบาล คือการต่อรองเชิงอำนาจ แต่ท้ายสุดถ้าต้องการมิติใหม่จริง ๆ ก็จำเป็นที่พรรคต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ ถ้าเรื่องไหนขัดกับความรู้สึกประชาชน ไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ของตัวเอง ก็จำเป็นต้องถอย เพราะยังไง Voter คือสิ่งสำคัญที่ต้องยึดไว้ให้แน่น”

รศ.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ

คำ “ขอโทษ” วิถีทางการเมืองยุคใหม่

คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ นิด้า ยอมรับด้วยว่า หลาย Message ที่พรรคก้าวไกลปล่อยออกมาในช่วงที่ต้องทำการสื่อสารในภาวะวิกฤต ผ่านการคิด การวางแผนมาเป็นอย่างดี เช่น “ประชาชนใหญ่กว่าพรรค” และการ “ขออภัยประชาชน” “ขอโทษ” ซึ่งคำเหล่านี้สามารถตอบสนองต่อความรู้สึกของสังคมได้อย่างรวดเร็ว และสามารถช่วยลดความรู้สึกไม่พอใจของแฟนคลับได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือตอบสนองเร็ว และเป็นผู้นำของพรรคที่ออกมาสื่อสารด้วยตัวเอง

“คำว่าขอโทษ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเมืองยุคนี้ ผิดยอมก็รับผิด ไม่อายที่จะขอโทษ เป็นสิ่งที่จะทำให้การเมืองไทย มีมิติที่พัฒนาขึ้นด้วย”

รศ.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ

แนวโน้มการเมืองขับเคลื่อนโดยประชาชน

รศ.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ยอมรับว่า เป็นเรื่องดีที่พรรคก้าวไกลรับฟัง เสียงสะท้อนจากการเมืองภาคประชาชน เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากว่าพรรคก้าวไกลจะมาถึงจุดนี้ได้ เสียงประชาชนในโลกออนไลน์ก็มีส่วนสำคัญกับกระแสครั้งนี้ จนนำมาซึ่งคะแนนเสียงที่ถล่มทลาย สิ่งนี้ทำให้คาดหวังถึงการทำงานการเมืองที่ขับเคลื่อนโดยประชาชนเสียงส่วนใหญ่มากขึ้น เป็นประชาธิปไตยทางตรง ในรูปแบบการปรึกษาหารือกันได้ ที่มีแนวโน้มเกิดได้จริง คำถามคือในระยะต่อไป ถ้าเสียงประชาชนได้รับการตอบสนองแบบนี้ สถาบันการเมืองอาจจำเป็นต้องปรับตัว เพราะหากไม่ปรับการทำงาน ยังใช้การเมืองแบบเดิม ๆ รวมกลุ่มก้อน หวังแต่ต่อรองกัน ส.ส.ไม่ปรับปรุงคุณภาพการทำงาน สถาบันการเมืองปรับตัวไม่ทันกับการถูกจับตา ถูกตรวจสอบ ก็อาจต้องค่อย ๆ สูญพันธุ์ไปในที่สุด

“จริง ๆ แล้วนี่คือวิถีทางที่พรรคการเมืองต้องฟังเสียงประชาชน แต่เราอาจไม่คุ้นชินกับการเมืองทางตรงแบบนี้ มีคนบอกว่าอย่าไปฟังโลกโซเซียลมากนัก ก็คงต้องตั้งคำถามกลับว่า นี่คือสัญญาณที่พรรคการเมืองต้องตระหนักมากกว่า ว่าจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อตอบรับกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อทำให้เกิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือกันได้ ต้องถือว่าหมดยุคที่ให้อำนาจประชาชนแค่ 4 วินาทีเข้าคูหาเลือกตั้ง ต่อจากนั้นตลอด 4 ปีประชาชนหมดสิทธิ์ต่อรอง แล้วพรรคการเมืองก็ค่อยกลับมาขอเสียง ขอคะแนนใหม่ เป็นวงจรแบบนี้มาตลอด สิ่งที่เกิดขึ้นกับก้าวไกลจึงถือเป็นสัญญาณของการปรับเปลี่ยนการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้”  

รศ.ธนพร ศรียากูล
รศ.ธนพร ศรียากูล

แนะ ‘ก้าวไกล’ หยุดปิดดีลพรรค หันทำความเข้าใจ ส.ว.

รศ.ธนพร ยังให้ความเห็นถึงการเดินหน้ารวบรวมเสียงของพรรคก้าวไกลในเวลานี้ โดยมองว่า ก้าวไกลไม่ควรเจรจาหาพรรคมาร่วมรัฐบาลอีกแล้ว ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าหนีระบอบประยุทธ์ ที่พวกเขาเคยวิพากษ์วิจารณ์ว่าตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย มาสู่ระบอบพิธาหรือไม่ เพราะแทบกลายเป็นพรรคเสียงข้างมากในสภาฯ ไปแล้ว ดังนั้นเวลานี้สิ่งที่ก้าวไกลควรทำไม่ใช่การดีลพรรคการเมือง แต่ควรเร่งเจรจา ทำความเข้าใจกับ ส.ว. รวมถึงพบปะแกนนำ ผู้คนในภาคส่วนต่าง ๆ รับทำให้เชื่อว่าจะเป็นพลังสนับสนุน เพื่อให้ส่งผลต่อการตัดสินใจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. แต่ส่วนตัวก็ยังเชื่อว่า ส.ว.ล้วนเข้าใจความรู้สึกของสังคมเป็นอย่างดี เพียงแต่เวลานี้อาจเร็วเกินไปที่จะยอมรับในบางเรื่อง เพราะเพิ่งผ่านการเลือกตั้งมาแค่เพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น มั่นใจว่าพรรคก้าวไกลยังเหลือเวลาให้เดินสายทำความเข้าใจ

“เข้าใจว่าในวันที่ 23 พ.ค.นี้ คุณพิธา จะไปคุยกับ ส.ว.โดยประสานกับประธานฯ พรเพชร ซึ่งเป็นวิถีทางที่ถูกต้องที่สุด กับการใช้ทุกทางเพื่อประสานความร่วมมือ สร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น ตรงนี้อยากให้ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลติดตามสถานการณ์อย่างใจเย็น ๆ เพราะยังพอมีเวลา”

รศ.ธนพร ศรียากูล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active