ชุมชนริมทางรถไฟ 4 ภูมิภาค ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ทางรถไฟ รวมตัวติดตามการแก้ไขปัญหา พบบางเรื่องเริ่มคืบหน้า แต่หาก สิ้นเดือน มี.ค. ยังไม่จบจะกลับมาทวงถามความคืบหน้าอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 66 เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) ใน กทม. และ ต่างจังหวัด รวมตัวที่หน้ากระทรวงคมนาคมเพื่อรอฟังสรุปผลการประชุมอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม ครั้งสุดท้าย ก่อนยุบสภาฯ โดยมีผู้แทนจากกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ผู้แทนภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยชาวบ้านเรียกร้องให้ที่ประชุมเร่งสรุปแนวแก้ปัญหาการเช่าที่ดิน และเรื่องที่อยู่อาศัยของชุมชนริมทางรถไฟในหลายพื้นที่
ทั้งนี้ ชาวบ้านชุมชนริมทางรถไฟ ได้ออกมาปักหลักตั้งช่วงเช้า ขณะที่ช่วงบ่ายมีการตั้งรถปราศรัย ขณะที่ ‘เครือข่ายสลัม 4 ภาค’ ซึ่งมีตัวแทนจากชุมชนริมทางรถไฟในพื้นที่ต่าง ๆ ออกมาพูดถึงปัญหาและความต้องการของชุมชนใน 4 กรณี ได้แก่ 1. ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟเชื่อมสามสนามบิน ย่านมักกะสัน เช่าที่ดินบริเวณริมบึงมักกะสัน – หมอเส็ง สร้างที่อยู่อาศัยตามนโยบายโครงการบ้านมั่นคง 2. ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟเชื่อมสามสนามบิน ใน จ.ขอนแก่น เช่าที่ดิน 2 แปลง บริเวณสถานีขอนแก่น 1 แปลง บริเวณสถานีสำราญ 1 แปลง 3. การแก้ปัญหาที่ดินตามโครงการย้านมั่นคงในแนวราบ การเช่าที่ดินของชุมชนโรงปูนตะวันออก ชุมชน กม. 11 และชุมชนบ้านพักรถไฟ 4. รฟท. ต้องลงนามสัญญาการเช่าที่ดิน 4 ชุมชน ใน จ.ตรัง เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง พร้อมย้ำว่าหากวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าชาวบ้านจะยังคงปักหลักหน้ากระทรวงคมนาคมต่อไป
ในช่วงเย็น ภายหลังการประชุมตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค เปิดเผย ข้อสรุปจากการประชุมซึ่งหลายข้อเรียกร้องถูกรับหลักการ อาทิ ทางการรถไฟฯ จะลงนามสัญญาเช่ากับเครือข่าย ชมฟ. ขอนแก่น ภายใน เดือน มี.ค. 66 โดยจะมีการดำเนินการเคลียร์พื้นที่เพื่อใช้รองรับชุมชนริมทางรถไฟ จ.สงขลา หากเรียบร้อยภายใน 2 ปี ก็จะสามารถใช้พื้นที่ได้ ส่วนชุมชนโรงปูนตะวันออก ที่ต้องการที่อยู่อาศัยในแนวราบ ทางการรถไฟฯ จะนำข้อเสนอแนะของชุมชนเข้าที่ประชุมของการรถไฟ ซึ่งชุมชนสามารถเสนอในที่ประชุมในวันที่ 3 มี.ค. นี้
อย่างไรก็ตาม ชุมชนริมทางรถไฟยังมีความหวังว่า ภายในเดือน มี.ค. ข้อเรียกร้องต่าง ๆ จะสามารถดำเนินการเสร็จสิ้น หากไม่เสร็จก็จะกลับมาถวงถามที่กระทรวงคมนาคมอีกครั้ง