ร.ฟ.ท. ยัน ไม่มีจับขังชาวบ้านบุญร่มไทร แต่ต้องย้ายออกก่อน 1 ต.ค. นี้

ชาวบ้านชุมชนบุญร่มไทร เฮ! ผู้ว่า ร.ฟ.ท. ควักกระเป๋าช่วยจ่ายค่าเช่าที่ดินชั่วคราวระหว่างรอรื้อย้าย เหตุ ต้องเร่งส่งมอบพื้นที่สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยืนยันไม่ดำเนินคดี หลังชาวบ้านกังวล จนท.ขู่ ต้องรื้อย้ายภายใน 22 ส.ค. 65

วันนี้ (1 ส.ค. 2565) ประชาชนชุมชนริมทางรถไฟ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เครือข่ายชุมชนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) รวมตัวกันหน้าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เรียกร้องขอเข้าพบตัวแทนเพื่อหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาคดีความกรณีชุมชนบุญร่มไทร

เชาว์ เกิดอารีย์ ประธานชุมชนบุญร่มไทร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคมที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯ ลงไปแจ้งหมายศาล และกล่าวว่าชาวบ้านต้องออกจากพื้นที่ ภายในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ กรณีบุกรุกที่ดินกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ไม่เช่นนั้นอาจต้องรับโทษทางคดี ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวและรู้สึกขาดความเชื่อมั่น เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีข้อตกลงร่วมกับการรถไฟฯ แล้วว่าจะไม่ดำเนินคดีชาวบ้าน และทางชาวบ้านเองก็เตรียมที่จะรื้อย้ายออก แต่เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการทำสัญญาขอเช่าพื้นที่ชั่วคราวที่ยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้ตัดสินใจมารวมตัวกับเพื่อขอหารือหาทางออกในเรื่องนี้

จากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ประธานชุมชนบุญร่มไทร ตัวแทนชาวบ้านและเครือข่าย ได้เข้าประชุมร่วมกับตัวแทนการรถไฟฯ นำโดย สมยุทธิ์ เรือนงาม ในฐานะประธานการประชุม โดยมีข้อสรุปว่า การรถไฟฯ จะเร่งทำสัญญาการใช้ประโยชน์พื้นที่ชั่วคราวของการรถไฟฯ ก่อน เพื่อให้ชาวบ้านเร่งออกจากพื้นที่เดิม ไปยังพื้นที่ข้างเคียงซึ่งเป็นของการรถไฟฯ เช่นกัน เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาพื้นที่ ส่วนสัญญาเช่าระยะยาวสำหรับให้การช่วยเหลือกรณีชุมชนริมทางรถไฟตามมติคณะกรรมการรถไฟฯ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 ที่ระบุ ให้ชุมชนสามารถเช่าที่ราคาถูกบนที่ดินการรถไฟฯ ได้ แต่คาดว่าต้องใช้เวลาการพิจารณาอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านสามารถจ่ายค่าเช่าเองได้ในราคาถูก จนกว่าอาคารที่อยู่อาศัยใหม่ตามโครงการเคหะสงเคราะห์จะแล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม สัญญาการใช้ประโยชน์พื้นที่ชั่วคราวที่จะทำเป็นลำดับแรกนี้ จะมีราคาค่าเช่าตามมาตรฐาน คือ 513 บาท ต่อตารางเมตรต่อปี จากการประเมินเบื้องต้น เฉพาะชาวบ้านทั้ง 16 รายที่ต้องเร่งย้ายออก ต้องจ่ายค่าเช่าประมาณ 21,000 บาท แต่ส่วนนี้ นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ประสงค์จ่ายให้ชาวบ้าน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ด้วยเงินส่วนตัว

สำหรับการก่อสร้างที่พักชั่วคราวบนพื้นที่ใหม่ตามสัญญานี้ เป็นต้นทุนที่ชาวบ้านต้องรับผิดชอบเอง แต่ทั้งนี้ ทางการรถไฟฯ ได้หารือกับบริษัทที่ปรึกษาฯ โดยได้ข้อสรุปว่า บริษัทฯ จะสนับสนุนเงินให้ทั้งหมด 100,000 บาท สำหรับ 16 ราย ไม่รวมกับเงินที่แต่ละรายจะได้รับจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) อีกรายละ 18,000 บาท สำหรับช่วยเหลือกรณีผู้ถูกไล่รื้อที่ดิน

ทั้งนี้ การรถไฟฯ ได้ชี้แจงชาวบ้านว่า มีความจำเป็นที่จะต้องส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ และจะต้องใช้เวลาเคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อย 100% อย่างน้อย 30 วัน ก่อนส่งมอบ มิเช่นนั้นการรถไฟฯ อาจจะเสียประโยชน์และรับโทษจากการผิดเงื่อนไขทางธุรกิจ จึงขอให้ชาวบ้านเร่งย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 1 เดือน

ส่วนเรื่องคดีความ การรถไฟฯ ระบุว่า ยังไม่สามารถถอนคดีได้ ต้องดำเนินต่อไป แต่ชาวบ้านจะไม่ต้องรับผิดเพราะเมื่อย้ายออกตามเงื่อนไขที่ตกลงในวันนี้ เท่ากับว่าคดีเป็นที่สิ้นสุดโดยปริยาย ด้าน ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวขอบคุณการรถไฟฯ พร้อมรับข้อเสนอดังกล่าว แต่มีการคาดการณ์ว่าอาจจจะต้องใช้เวลาในการรื้อย้ายเป็นเวลา 45 วัน ซึ่งการรถไฟฯ ระบุว่า เรื่องนี้ยังต้องหารือในรายละเอียดต่อไป

สำหรับบรรยากาศในการพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่น ตัวแทนการรถไฟฯ และชาวบ้านต่างกล่าวขอบคุณกันและกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้